อลงกรณ์ หล่อวัฒนา
“การเป็นศิลปินไม่ได้พูดเฉพาะว่าการเขียนรูปต้องทำอย่างไร แต่การเป็นศิลปินนั้นต้องรู้ว่าทำอะไรบ้าง หนึ่งคือต้องมีวินัย สองต้องอดออม และสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนก็คือ Vision กับ Managements ศิลปินหลายคนมักจะมองเรื่องการจัดการไม่เป็น เช่น ไม่มีอารมณ์ก็เขียนรูปไม่ได้ มันต้องมีวินัย สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือไม่ใช่แค่ฝีมือ ฝีมืออาจมีการเรียนรู้แล้วไล่กันได้พรสวรรค์ก็มี แต่ถ้าอาศัยพรแสวงจะไปได้ไกลกว่า คนที่มีพรสวรรค์ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป แต่คนที่อาศัยพรแสวงจะมีความมานะ วิริยะ และนำไปสู่ความเพียร”
อลงกรณ์ หล่อวัฒนา คือศิลปินคนหนึ่งที่มีผลงานการจัดแสดงมาแล้วหลายครั้ง และยังได้รับรางวัลอาทิ รางวัลชนะเลิศ การแสดงนิทรรศการศิลปกรรม “Reeae” กรุงเทพฯ รางวัลที่ 1 ศิลปกรรมล้านนา ของกลุ่มศิลปินล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลที่3 เหรียญทองแดง จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 9 กรุงเทพฯ
อลงกรณ์เรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทสาขาจิตรกรรมที่ประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าต่างจากนักศึกษาทั่วไปที่นิยมไปเรียนศิลปะเพิ่มเติมในแถบยุโรป ประเทศอินเดียจึงเสมือนเป็นการเปิดความคิดอีกด้านหนึ่งของงานศิลปะไทย ที่ทำให้เขาได้รับรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม
“ผมตั้งเป้าหมายที่จะไปอินเดีย เพราะงานเราเป็นจิตวิญญาณไทย เป็นพุทธปรัชญา เพราะฉะนั้นเราควรกลับไปสู่รากเหง้า อีกส่วนหนึ่งเราก็คิดว่าเวลาเราไปอยู่ต่างประเทศ เราจะอยู่กับตัวเองมากขึ้น มีโอกาสสร้างงานที่ได้มากขึ้น อย่างการเขียนรูปพระพิฆเนศนั้น บ้านเรามักจะติดอัตลักษณ์ คือมีเครื่องประดับ สังวาล มีภาคนั้นภาคนี้ แต่ที่อินเดียไม่ใช่ มันเป็นลักษณ์ที่ง่ายๆ และเรียบๆแต่เราดูรู้ว่านี่คือพระพิฆเนศ เขาไม่ได้ทำด้วยความรู้อย่างเดียว แต่เขาทำด้วยความรักและความเข้าใจ ของเราอาจยังติดเรื่องรูปลักษณ์อยู่ แต่ของอินเดียมันเลยไปจนเรียกว่าอุดมคติ แล้วถ้าพูดถึงศิลปินที่ประสบความสำเร็จเขาไปไกลกว่าเราเยอะ เหมือนดาราคนหนึ่งเป็นซูเปอร์สตาร์มีรถตำรวจนำอย่าง ฮุสเซน เบอร์หนึ่งของเขา แม้กระทั่งศิลปินของเขาก็ยังต้องมาขอลายเซ็น”
งานที่เป็นจุดเด่นของเขาในช่วงแรกจะมีลักษณะของลายเส้นไทยประเพณี ก่อนจะมาเป็นไทยร่วมสมัย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่เทคนิคและความเป็นตัวตนก็ยังเป็นตัวเขาอยู่ดี เขาเผยว่างานแต่ละชิ้นมักเกิดขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อมที่มากระทบกับจากที่แต่เดิมเขามักจะทำแต่เรื่องพุทธศาสนา แต่เมื่อเรื่องของสังคมเกิดเยอะขึ้น กระบวนการคิดการทำงานชุดอุปมาอุปไมยที่มีการวิพากษ์สังคมจึงกำเนิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภาพเขียนของเขาน้อยมากที่มีคนอ่านสิ่งที่สื่อความหมายออก แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ดูออก นั่นจึงเป็นความภูมิใจของเขาที่ว่าในจำนวนคนที่น้อยแต่มันยังมีอยู่ จึงเป็นเหตุผลยืนยันที่เขายังเขียนงานเชิงสัญลักษณ์ เพียงแต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป
หลายๆ ครั้งเมื่อทำงานลายเส้นมากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้คนบางส่วนไม่เข้าใจว่ากลุ่มศิลปินที่ทำงานประเภทนี้นั้นสามารถเขียนงานที่เป็นรูปเหมือนจริงได้หรือไม่ นั่นเองจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาอยากจะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสักเล็กน้อย องกรณ์จึงเขียนภาพเหมือนจริงขึ้นมาบางภาพในผลงานชุด The Abiding Faith หรือ ศรัทธาที่ไม่มีวันลืมเลือน
“บางทีมักจะมองว่าคนที่ทำงานด้านศิลปะไทย จะเขียนได้แต่ลายเส้น สงสัยเขียนรูปอย่างอื่นไม่เป็นจริงๆ แล้วคนที่เขียนเป็นจริงๆมันจะต้องถึงขั้นแอดวานซ์ มันต้องผ่านพื้นฐานไปก่อน คือการเขียนรูปที่เหมือนจริง รูปที่ออกมา บางคนถามว่าเอาภาพถ่ายมาทำไม ก่อนที่จะไปขั้นครีเอทีฟ ซึ่งคนที่เขียนเป็นไม่เป็นดูแค่เส้นก็พอ ถ้าเส้นยังกึกกักอยู่จะรู้ เหมือนคนที่มีความมั่นใจในการเล่นดนตรี พอตัวโน้ตขึ้นมาจะรู้ว่าจะทำอะไรต่อไป คนเขียนรูปเป็นจะคล้ายๆ กัน งานของผมเป็นงานไทยเชิงสัญลักษณ์ ไม่ชอบงานง่ายๆ คือไม่ชอบเขียนงานที่เล่าเรื่องอย่างการเขียนต้นไม้ ผมไม่ได้เขียนต้นไม้นะ แต่ผมเขียนคนหรือจักรวาล”
ส่วนงานมาสเตอร์พีชนั้นเขากลับเลือกงาน Symbiosis ความสัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้ในชื่อรูปที่ว่า Thing and Doing Together โดยในชุดนี้มีทั้ง 18 ภาพ ใช้เทคนิคสีน้ำมันในการวาด รวมระยะเวลาในการทำประมาณ 1 ปี
“มันพูดถึงเรื่องของมนุษย์มีทั้งผู้หญิงผู้ชายการมีชีวิตคู่บางครั้งผู้หญิงเป็นแสง ผู้ชายเป็นเงา บางครั้งผู้หญิงเป็นตาแทนผู้ชายความอ่อนโยน ผู้ชายเป็นความเข้มแข็ง คือมันพูดถึงความสัมพันธ์ของการเป็นมนุษย์ บางครั้งแข็งก็กร้าวก็ต้องอาศัยความนุ่มนวลแต่บางครั้งผู้หญิงก็ต้องการความเข้มแข็งของผู้ชาย มันต้องพึ่งพาอาศัยกันชีวิตคู่ที่อยู่ได้ไม่ใช่ความรักอย่างเดียวแต่ต้องมีการเกื้อกูลกันให้อภัยกัน เอื้ออาทรต่อกัน อีกจุดเด่นหนึ่งคือ เราเป็นประเทศสยามเมืองยิ้ม ซึ่งยิ้มที่วาดจะกว้างมาก เพราะเราผ่านความทุกข์มาแล้ว”