ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของนามปากกา “พนมเทียน” ถูกยกย่องให้เป็นนักเขียนแห่งชาติ ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2540 งานเขียนของเขามีหลากหลายแนว ทั้งจินตนิยาย แนวสืบสวนสอบสวน อาชญนิยาย แนวผจญภัย แนวพาฝันไปจนถึงสาระนิยายโลกแห่งจินตนาการ ที่ใช้ภาษาลีลาเร่าร้อน งดงาม อ่อนช้อยโรแมนติกแฝงในความกล้า แข็งกร้าว แต่ก็ถ่ายทอดอารมณ์ละเอียดอ่อน มองเห็นภาพที่เด่นชัด มีมิติอลังการ อักษรอิ่มเอิบ งานจึงส่งผลสืบเนื่องไปถึงการสร้างงานวรรณศิลป์แขนงละครวิทยุ ละครเวที เพลงประกอบละคร ในยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์ จนกระทั่งถูกรังสรรค์มาเป็นภาพยนตร์
เขาเป็นบุตรคนสุดท้องของภรรยาคนแรกของขุนวิเศษสุวรรณภูมิ อาชีพรับราชการและนักธุรกิจ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน อยู่บ้านตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ถนนปากน้ำ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เจ้าของเหมืองทองคำโต๊ะโมะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ทำมาตั้งแต่ยุคคุณทวดมาถึงคุณปู่ แล้วมาต่อรุ่นพ่อ ในสมัยที่ปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราช เริ่มแรกมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงหนีสงครามมาอยู่กับคุณตาคุณยาย และเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 5 ขวบ โดยเรียนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่อำเภอสายบุรี วัยเด็กชอบยิงนก ตกปลา ดูหนังอ่านหนังสือมาก ช่วงหนึ่งของชีวิตเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน จนทำให้ได้ประสบการณ์มาเขียนนิยายฃ
ปี พ.ศ.2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ จึงกลับกรุงเทพฯ มาศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม พอจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เรียนต่อที่เตรียมอักษรศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ราวปี พ.ศ. 2492 และเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาสันสกฤตและประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จนจบการศึกษาปี พ.ศ.2498 จึงเดินทางกลับประเทศไทย และตัดสินใจเขียนหนังสือเป็นงานอาชีพ
เขาเริ่มงานเขียนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2484 ด้วยนวนิยายเรื่อง “เห่าดง” อาชญนิยายประเภทสวมหน้ากากแบบเพ้อฝันของเด็กๆตอนอยู่ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ลงในสมุดอ่านเล่นระหว่างเพื่อน ก่อนจะมีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” สร้างชื่อเสียงให้กับเขา ระหว่างเรียนที่อินเดีย ได้เขียนนวนิยายรักเรื่อง “มัสยา” เมื่อกลับมาจากอินเดีย นิยายเรื่อง “เห่าดง” ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือเพลินจิตรายวันในปี พ.ศ.2504 ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะนักประพันธ์เรื่อง “เด็กเสเพล” นวนิยายอมตะได้อรรถรสและการผจญภัยเรื่อง “เพชรพระอุมา” ที่ใช้เวลาเขียนนานถึงเกือบ 26 ปี นำมาพิมพ์ยาวถึง 48 เล่ม จึงเป็นที่มาของนิยาม“อินเดียน่า โจนส์เมืองไทย”
นอกจากนั้นยังมีนวนิยายอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น เล็บครุฑ, ละอองดาว, รัตติกาลยอดรัก, ศิวาราตรี, อุษาสาง, กัลปังหา, สิงห์สั่งป่า, แววมยุรา, มัจจุราชสีรุ้ง, เด็กเสเพล ฯลฯ ล่าสุดเขียน “ปฐพีเพลิง” ถูกตีพิมพ์จนสร้างชื่อเสียงโด่งดัง มีผลงานจารึกให้คนรุ่นหลังได้ติดตามไม่รู้ลืม โดยเฉพาะ “ทูตนรก” เป็นเรื่องที่เขาเขียนสะท้อนเหตุการณ์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ มีนามปากกาหลากหลาย อาทิ พนมเทียน ใช้สำหรับนวนิยายทุกประเภท รพินทร์ เกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับของฮินดู ก้อง สุรกานต์ ตอบปัญหาทั่วๆ ไป และ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ใช้กับงานเขียนเกี่ยวกับอาวุธปืน
ภายในบ้านย่านพัฒนาการของพนมเทียน ดูอบอุ่น มีมนต์ขลัง สอดประสานกลิ่นอายของภาพถ่ายขาวดำ การควงปืนในอดีต ตัดกับศิลปะปูนปั้นนารายณ์บรรทมศีล มีพญานาค 7 เศียรอยู่ด้านบน สร้างสรรค์โดยศิลปินของกรมศิลปากร โดยเฉพาะการประทับคาลิเบอร์ปืนไรเฟิล .458 ที่ “รพินทร์ ไพรวัลย์” แห่งเพชรพระอุมาใช้ประจำกาย
วันนี้เราจะได้พูดคุยตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้นี้กัน
ก่อนสายพิมพ์จะสูญพันธุ์
“ในอดีตผมเป็นนักล่าสัตว์มาก่อน หลังจากผมเลิกล่าสัตว์ผมก็มาเขียนหนังสือ และเป็นนักทดสอบอาวุธปืน ผมเป็นผู้บุกเบิกเขียนตำราเกี่ยวกับสารคดีปืนเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็มีคนมาทำตาม จากหนังสือจักรวาลปืน ปัจจุบันผมเขียนอยู่ที่ Guns & Tactics ตอนนี้ลูกศิษย์มาทำต่อ นานๆ ผมจะเขียนบทความสักครั้ง ขณะนี้ผมไม่ได้เขียนเรื่องยาวเป็นกิจจะลักษณะ เพียงแต่เขียนเป็นสารคดี บทความและวิชาความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนให้กับ Guns & Tactics บ้าง บางครั้งก็เขียนให้หนังสือ ’ต่วยตูนเรื่องล่าสุดที่ผมเขียนไว้ ใช้เวลานานเกือบ 26 ปี นั่นคือเรื่อง เพชรพระอุมา
“ในเรื่องเพชรพระอุมา มันเป็นเรื่องที่รวบรวมวิชาการทุกชนิด รวบรวมความน่าสงสัยต่างๆ ที่คนสงสัยว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ในนั้นมากที่สุด ผมจึงมาเขียนอินไซด์เพชรพระอุมา เป็นคู่มือของการอ่านเพชรพระอุมา เขียนลงในนิตยสารขวัญเรือน เรานำมาขยายความว่าเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร เป็นคอลัมน์ประจำ ถ้าเขียนอินไซด์เพชรพระอุมาจบ ผมก็จะเขียนถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านอะไรต่ออะไรมา ลงในคอลัมน์ ก่อนสายพิมพ์จะสูญพันธุ์ ผมเป็นนักเขียนที่โบราณหน่อย ใช้พิมพ์ดีดรุ่นเก่าพิมพ์ดีด ไม่ได้เขียนด้วยการพิมพ์คอมพิวเตอร์
“พิมพ์ดีดปัจจุบันไม่ค่อยมีใครเขาใช้กันแล้ว เวลาเสียก็หาที่ซ่อมลำบาก หมึกพิมพ์หมด จะซื้อผ้าพิมพ์ดีดมาใส่ก็ลำบาก จึงตั้งหัวคอลัมน์ว่า ก่อนสายพิมพ์จะสูญพันธุ์ หรือก่อนที่พนมเทียนจะตาย จะว่าอย่างนั้นก็ได้ มีประสบการณ์อะไรก็จะเขียนลงไป ครั้งหลังสุด เขาให้ผมเขียนเรื่อง เบื้องหลังเพชรพระอุมา ทำไมถึงต้องเป็นอินไซด์เพชรพระอุมา ก็เพราะเรื่องนี้มันยาวเหลือเกิน และเต็มไปด้วยวิชาการทุกชนิด ที่ผมมีอยู่ ผมก็นำใส่ลงไปในนั้น ที่คนอื่นเขายังไม่เคยเขียนออกไป เกี่ยวกับอาวุธปืน เกี่ยวกับการล่าสัตว์
“ส่วนที่มาของนามปากกาพนมเทียนนั้น หมายถึงแสงสว่าง ความโชติช่วงที่มันติดอยู่ในใจผมมานานแล้ว เมื่อตอนเด็กๆ อยู่ชั้นม.3 เรียนวิชาเคมี ฟิสิกส์ มันมีคำว่า พนมเทียน แล้วเขาก็อธิบายว่า พนมเทียนคือเปลวไฟที่ติดอยู่บนปลายเทียน ในเมื่อมันติดไฟแล้ว มันจะเป็นประกายขึ้นไป ปลายมันเรียวแหลม ตรงกลางมันป่อง ตรงที่ติดกับไส้ก็เรียวลงมาอีก เมื่อมันป่องอย่างนี้ จึงเป็นลักษณะของพนมเทียน ผมจึงเอาคำนี้ไปใช้เป็นนามปากกา
“เมื่อมาถึงปัจจุบันมา คำนี้เด็กจะไม่รู้จัก เพราะคนทั่วไปยังเข้าใจผิด เข้าใจว่านำเทียนมาใส่มือแล้วพนม ศิลปะของพนมเทียน ถ้าจ้องให้ดี เราจะเห็นว่าข้างนอกมันสีแสด ค่อยหรี่เป็นน้ำเงิน เป็นสีแดง มันมีหลายสีอยู่ในนั้น ผมมีความรู้สึกว่า ฉันอยากจะเป็นนักเขียนนะ แต่ตอนนั้นเป็นนักอ่าน นักค้นคว้าแล้ว โดยไม่รู้ตัว ไปเที่ยวกลับมา ก็ต้องมาเข้าห้องสมุด ผมอ่านตั้งแต่นวนิยายวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี สกุนตลา ผมเก็บอ่านหมด”
แก้วฟ้า พนมเทียน
“การเป็นนักประพันธ์ในสมัยก่อน มันไม่ใช่อาชีพ มันเป็นวิชาการชั้นสูง แต่รายได้ต่ำ คนจะเข้าไปมันยาก ในทางตรงกันข้ามกลับถังแตกไส้แห้ง จนกระทั่งคนเรียกติดปากกันว่า นักประพันธ์ไส้แห้ง สมัยนั้นผมเขียนเรื่อง เห่าดง เรื่องแรก เพื่อนๆ ก็วิจารณ์ว่าจะเป็นนักประพันธ์ได้หรือ ผมก็จะอายๆ แต่มันเป็นสัญชาตญาณอยู่ในใจที่ว่าเราอยากจะเขียน โดยที่ตัวเราเองก็ไม่รู้ตัว
“ระหว่างที่ผมเรียนเตรียมอักษรศาสตร์ของโรงเรียนสวนกุหลาบ ย้อนไปถึงตอน ม.6 มันมีตอนหนึ่งของ กามนิต วาสิฎฐีพูดกับกามนิตถึงเรื่อง จุฬาตรีคูณ แล้ววาสิฎฐีอธิบายให้กับกามนิตฟังว่ามันเป็นการพบกันระหว่างแม่น้ำ 3 สาย คือ คงคา ยมนา สุรัสวดี มารวมเป็นคงคาสวรรค์ เป็นแหล่งน้ำวนอยู่ที่กรุงพาราณสีในแคว้นกาซี ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรดี อยากจะเขียนเรื่องนี้ ก็แอบๆ กระมิดกระเมี้ยนเขียน แต่ก็ศึกษาไปด้วย มันเป็นจินตนาการ ผมต้องศึกษาทางด้านภารตะวิทยาและทางด้านเทววิทยา ว่ามีเทพอะไรบ้าง ฝ่ายหนึ่งของซิกข์ ฝ่ายหนึ่งของฮินดู มีเทพบุตรอีกคนหนึ่งชื่อ นาซีซัสรูปหล่อมาก มองเห็นเงาในน้ำก็เกิดหลงเงาตัวเอง มันแปลกผมมาคิดดูว่า ถ้าแต่งเป็นผู้หญิง เห็นเงาตัวเองแล้วเกิดเกลียด มันคงจะเข้าที เราก็ต้องจินตนาการว่า แม่เขาสวยมาก อะไรแบบนี้ แต่งเสร็จก็เก็บเอาไว้อีกสักพักหนึ่ง ก่อนจะไปศึกษาต่อที่อินเดีย ผมก็เอาไปเสนอหนังสือ เริงอารมณ์ สมัยนี้เขาเรียกว่าอยากปล่อยของ ก็ไปเจอคุณเสนีย์ บุษบาเกศ เขาไม่เอา ผมก็ไปหาคุณชั้น แสงเพ็ง ก็ไม่รับอีก ใครต่อใครเขาก็โยนทิ้งออกมา เขาไม่สนใจไอ้เด็กอายุ 16-17 ปี เขียนหนังสือไม่เคยมีใครสนใจดู เรื่องมันไม่สามารถไปได้
“วันหนึ่งผมไปเจอพี่วรุณ ฉัตรกุล ก็นำบทประพันธ์ไปให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เจ้าของละครคณะแก้วฟ้า เป็นคนแต่งเพลงที่ดังที่สุดให้กับวงสุนทราภรณ์ ครูแก้วอ่านแล้วชอบใจ จะเอามาทำเป็นละครวิทยุ ท่านเรียกผมไปพบ ผมคิดว่าเอาอย่างไรก็ได้ ขอให้ได้ออกไปเถอะ แต่ท่านมีเงื่อนไขว่าจะแต่งเพลงร่วมกับวงสุนทราภรณ์ให้ไพเราะที่สุด มีอยู่ 5 เพลง ตั้งแต่เพลง จุฬาตรีคูณ, เจ้าไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมรุรี, ปองใจรัก ห้าเพลงนี้ดังไปทั้งประเทศ ครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงเรียกผมไปพบ แล้วชมว่าไอ้เด็กคนนี้มันเก่ง จึงให้ผมร่วมมือกันแต่งเพลง พอแต่งเสร็จแล้วก็ออกเป็นละครวิทยุของกรมโฆษณากลาง ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมประชาสัมพันธ์ เดือนหนึ่งออกอากาศ 1 ครั้ง 2 ตอนจบ ครูเอื้อเล่นเป็นตัวเจ้าชายอริยวรรต เป็นพระเอก คุณมัณฑนา โมรากุลเป็นเจ้าหญิงดารารายพิลาส เพราะร้องเพลงอยู่ก่อนแล้ว แต่ก่อนที่จะออกเป็นละคร เพลงมันออกมาก่อน แล้วเพลงดังมาก คนชอบกันมาก
“หลังจากที่เพลงดังแล้ว ก็นำมาเป็นละครวิทยุ พอละครวิทยุออกมา ครูแก้วเรียกผมไปพบอีก ท่านบอกว่า เอ็งมันเด็กเมื่อวานซืนนามปากกา พนมเทียน ออกมาเฉยๆ คนเขาไม่สนใจหรอก มันต้องบวกกับแก้วฟ้าด้วย เอาแก้วฟ้านำไป ผมบอกว่าเอาอย่างไรก็เอากัน จุฬาตรีคูณ เป็นละคร ก็มีคำว่า “แก้วฟ้า พนมเทียน” ต่อไปอีก หลังจากเล่นเป็นละครวิทยุ คนติดกันทั้งเมือง นำไปทำเป็นละครใหญ่ คุณฉลอง สิมะเสถียร เล่นเป็นตัวเจ้าชายอริยวรรต สง่า อินทรวิจิตร เป็นขัตติยะ ชูศรี โรจน์ประดิษฐ์ เป็นตัวพระพี่เลี้ยง เจ้ากรุงพารามสี คือ สหัส บุญหลง ปรากฏว่าเมื่อมาเป็นละครแล้ว กลับพบกับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จึงขึ้นป้ายว่า แก้วฟ้า พนมเทียน
“เมื่อชื่อพนมเทียนออกไปแล้ว แต่มันก็ไม่ดัง เพราะเรายังเรียนหนังสืออยู่ นุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ เสื้อขาว ติดหน้าอก ส.ก. (สวนกุหลาบวิทยาลัย) ผมไปที่โรงละคร เด็กจัดฉากไล่ผมออกมาว่ามายืนเกะกะอะไรอยู่ตรงนี้ ตอนนั้นพี่ที่อยู่วงการละครท่านหนึ่งชื่อคุณมนัส หลักโยธิน จับมือผมไปหาคนจัดฉากไปต่อว่าว่าเอ็งไปไล่เขาได้อย่างไร ไอ้เด็กคนนี้เขาเป็นคนแต่งละครเรื่องนี้นะ(หัวเราะ)
นักประพันธ์ อัศจรรย์ใจ
“หลังจากงานนั้นเสร็จเรียบร้อย เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะเหตุว่าตลอดเวลาผมนับถือรัชกาลที่ 6 เหมือนกับผมเคยเกิดในสมัยของพระมหาธีรราชเจ้า ผมกราบไหว้พระองค์ท่านทุกวัน ไม่รู้ว่ามีอะไรดลบันดาลใจ ผมขอกับท่านว่าขอให้ลูกได้เขียนหนังสือและทำเรื่องนี้ให้สำเร็จต่อไปข้างหน้า ขอให้ลูกได้เป็นนักประพันธ์ ทุกเย็นผมจะไปวิ่งเล่นรอบๆ ฐาน พระบรมรูปพระองค์ที่หน้าโรงแรมดุสิตธานี ผมก็ไม่รู้อะไร ไม่ได้นัดแนะกัน ปรากฏว่าเงินที่เขาได้จากการเล่นละครวันนั้น เขานำเงินเหล่านั้นมาเสริมสร้างฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ฟังแล้วขนหัวลุกเลย นี่ท่านศักดิ์สิทธิ์ถึงขนาดนี้เลยหรือ
“หลังจากผมเรียนจบจากประเทศอินเดีย ผมมาเขียนเรื่องมัสยา ให้หนังสือเพลินจิต ปี พ.ศ.2497 เมื่อมัสยาดังอีก ผมมาเขียนเรื่องเล็บครุฑ เป็นเรื่องของการต่อสู้ เป็นเรื่องเล่ห์เหลี่ยมของตำรวจ และตำรวจของผมก็คือ ชีพ ชูชัย เป็นตำรวจลับจริงๆ ตำรวจเองด้วยกันยังไม่รู้เลย ในระหว่างที่ไปปล้นถูกยิง แล้วถูกจับติดคุก จางซูเหลียงที่สนิทกัน ถึงไปแหกคุก เอาตัวออกมาทำงานจากสาเหตุนี้เขาจึงปราบโจรได้หมด กว่าจะรู้ก็ตอนจบว่า ชีพ ชูชัย มันเป็นตำรวจ จากนั้นก็มาเขียนเรื่อง ปฐพีเพลิง
“ก่อนหน้านั้นสมัยที่ผมไปถึงอินเดียแล้ว ปรากฏว่าที่เราคิดจินตนาการอะไรต่างๆ ในเรื่องจุฬาตรีคูณ มันมีจริงๆ มันเป็นแม่น้ำใหญ่3 สายมาบรรจบกัน เวลากลางคืนเดือนมืด มีทางช้างเผือก มันก็คือกลุ่มดาวเยอะๆ ที่มันเกาะหมู่กันมา นั้นคือคงคาสวรรค์ แขกทุกวันนี้ ไม่รู้จักหรอก คงคาสวรรค์ เขาบอกว่าข้างล่างเป็นแม่น้ำใต้แผ่นดินชื่อ สุรัสวดี โผล่ขึ้นมาตรงนั้น แต่ที่ผมเรียนมา คงคาสวรรค์ หมายถึงทางช้างเผือก มันมีอยู่จริง ไม่รู้ว่ารัชกาลที่ 6 ท่านมาดลใจอะไร ผมเชื่อเรื่องสิ่งปาฏิหาริย์เหล่านี้ มันจะกำหนดมา
“ปัจจุบันนี้คนไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ เพราะมันมีทางเลือกทางด้านความบันเทิงสูง แต่ก่อนนี้ทีวีไม่มี มามีตอนกลางๆ ของเรื่องเล็บครุฑ แล้วถึงเกิดทีวีขึ้น ราตรีสโมสรที่เที่ยวกลางคืน นับแห่งได้ มีไม่เกิน 4-5 แห่งในกรุงเทพฯ พวกนี้ผมไปตะลุยมาหมดแล้ว ไม่มีมากดาษดื่นเหมือนทุกวันนี้ พวกอาร์ซีเอหรือย่านทองหล่อยังเป็นป่าอยู่เลย สรุปรวบความว่าในสมัยนั้นเมื่อการบันเทิงไม่มี ก็จะฟังวิทยุ ฟังละครหลังข่าว ปัจจุบันนี้ใครฟังละครวิทยุถือว่าเชย หรือไม่ก็ดูหนัง อ่านหนังสือ บันเทิงอย่างอื่นยังไม่มีประชาชนคนไทยยังมีน้อย จึงอ่านมาก
“เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของนักประพันธ์ในอดีตจึงไม่ดุเดือดเท่าปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้เด็กนักเขียนต่อสู้กันมาก กว่าจะดังได้ เมื่อก่อนนี้เรียกว่าพอมีทางบ้าง ถึงอย่างนั้นผมก็เหงื่อแตกเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เดินไปเสนอขาย โรงพิมพ์โน้น โรงพิมพ์นี้ เขาก็ไม่เอาแต่คุณชั้น แสงเพ็ง ท่านสุภาพมาก ท่านบอกว่า ‘เรื่องทำนองนี้ มันไม่ถูกกับหนังสือเรานะ’ หนังสือสยามสมัย เขียนเป็นเรื่องนวนิยายเรื่องสั้นๆ แนวเรียลลิสติก ทุกวันนี้ผมยังเก็บลายมือสั้นๆ ของคุณชั้น แสงเพ็ง เขียนให้ผม บอกไว้ว่า ‘คุณพนมเทียน ผมเสียใจด้วยนะที่ลงไม่ได้’
อินเดียน่า โจนส์เมืองไทย
“ตั้งแต่ผมกลับไปอยู่กับคุณตาที่สายบุรี ก็เข้าป่าล่าสัตว์ ผมเริ่มต้นจากหนังสติ๊ก แล้วมาเป่าไม้ซาง ปืนกระบอกแรกของผมคือปืนลม เบอร์ 2 ของวีเอสเอ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมล่ามาเรื่อย สมัยก่อนผมเป็นนักเดินป่าล่าสัตว์ ในช่วงฤดูร้อนทีไรก็มักจะเข้าป่าเป็นอาทิตย์ๆ แล้วไปประทับใจหนองแห้งหรือหนองน้ำแห้ง เนื่องมาจากพรานมือดีที่สุดที่ผมไปพบชื่อหนานไพร เขาอยู่ที่นั่น เป็นคนไปก่อตั้งหนองน้ำแห้งขึ้นมา เพราะแกเป็นคนหนีคดีฆ่าคนตาย แล้วหนีเข้าป่า จนกระทั่งพ้นคดี ไปตั้งเป็นหมู่บ้านหนองน้ำแห้ง
“เวลาที่ผมเข้าไปทีไร แกก็พาเที่ยวเข้าไปในดงลึก สมัยปี พ.ศ.2500 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ายังไม่มี ป่าเมืองไทยยังดิบทึบ มีสัตว์ป่าอยู่มากมาย ยังล่าสัตว์ได้ แวดวงเพื่อนพ้องผมล้วนแล้วแต่มีประวัติในการเดินป่า คุณหมอบุญส่ง เลขะกุลท่านเป็นอาผม ท่านเคยล่าสัตว์มาก่อน จนกระทั่งท่านรู้ว่าต่อไปข้างหน้าป่าและสัตว์ มันจะแย่ ท่านจึงเสนอให้รัฐบาลออกพรบ.เกี่ยวกับสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
“สำหรับเรื่องเพชรพระอุมาที่ผมเขียน บรรดาประสบการณ์ในชีวิตต่างๆ ที่มีอยู่ ผมทุ่มเทรวบไปอยู่ในเพชรพระอุมา ส่วนตัว รพินทร์ ไพรวัลย์ ในเรื่องนั้น ผมเอาความรู้สึกนิสัยใจคอของผมเข้าไปสู่ในตัว รพินทร์ ไพรวัลย์ แต่ความสามารถในเรื่อง มันต้องมากกว่า ความต่างของผมกับรพินทร์ ไพรวัลย์ ผมยังเดินป่าไม่เก่งเท่ากับรพินทร์ ไพรวัลย์ ในเรื่อง ผมถือหลักมนุษยธรรม เป็นส่วนใหญ่ การเขียนหนังสือของผม อย่างอื่นจะเป็นอะไรก็ช่าง ขออย่างเดียวมีมนุษยธรรมมากกว่า เพราะผมถือว่าคนเรา เมื่อมีมนุษยธรรมแล้ว จริยธรรมและคุณธรรม มันจะตามมา แต่ว่าศีลธรรมมันไม่แน่ เพราะมนุษยธรรมกับศีลธรรมบางขณะมันแยกจากกัน
“การที่จะเป็นนักเขียนนักประพันธ์ที่ดี เราสามารถที่จะล้วงลึกเข้าไปในทุกสาขาวิชา ทั้งเรื่องรักหรือเรื่องอะไรต่างๆคุณต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ ผมยอมรับว่าโดยวิธีทั่วๆ ไป ลูกเมียผมอาจจะนินทาผม แต่ลูกเมียผมสบายทุกคน ผมมีเรื่องผู้หญิงเยอะ ถ้าผมไม่มีผู้หญิงเยอะ แล้วผมไม่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงเลย ผมจะเขียนเรื่องประเภท มัสยา, ละอองดาว, สกาวเดือน เรื่องพวกนี้ออกมาไม่ได้
“เวลาผมจะไปบรรยาย การเป็นนักเขียน นักประพันธ์ที่ดี คุณต้องเป็นพหูสูต ต้องรู้หมดทุกอย่าง แม้ว่าคนเราจะรู้หมดทุกอย่างไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายาม อย่างผม อะไรๆ ผมก็รู้ แต่อันไหน ผมไม่รู้ ผมต้องถามผู้รู้ ผมรู้เรื่องอาวุธปืน รู้เรื่องผู้หญิง รู้เรื่องเล่ห์เหลี่ยมนักเลง รู้เรื่องการเดินป่า แต่ผมไม่รู้เรื่องการแพทย์ ผมก็ไปถามอาจารย์ คณะแพทย์ ผมไปเจอกับลูกศิษย์เขา แล้วเอามาสร้างใหม่ สร้างเป็นแพทย์หญิง เป็นนักมนุษยวิทยา พูดถึงอากัปกิริยา ภาษาเทคนิค อย่างวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์ผมก็เรียนมา หรืออะไรก็ตามที่มันเกินกว่าความรู้ผม ผมก็ไปถามผู้ที่เขามีความรู้มากกว่าผม”
อวสานการผจญภัย
“เมื่อบทประพันธ์ไปอยู่ในแนวทางซึ่งเรามีความรู้และอยากกระจายความรู้นี้ให้คนทั่วๆ ไปได้รู้ เราจึงเขียนได้ละเอียดขึ้น เป็นต้นว่าวิธีล่าสัตว์ต่างๆ วิธีขัดห้าง แล้วรอสัตว์ วิธีการตามรอยสัตว์ คนอื่นเขาบอกไปถึงก็ยิง โป้ง! ยิงเสร็จตายแล้วก็จบ แต่ของผมเฝ้ารอสัตว์ป่าอยู่ มันเข้ามาอย่างไร เสียงเป็นอย่างไร มันมาจากประสบการณ์ แล้วที่คนอ่านก็จะไม่เบื่อ เพราะมันเป็นเทคนิคพิเศษในการเขียนของเรา เขียนแล้วให้คนเขาสนุก ถ้าเขียนแล้วคนอ่านไม่สนุก มันก็เป็นการบรรยายที่น่าเบื่อที่สุด”
“ถ้าจะให้ผมเขียนเรื่องป่าอีก ก็หมดไส้หมดพุงแล้ว เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเพชรพระอุมา ผมเอาไปใส่ไว้เต็มที่เลย ทีแรกผมจะเขียนเป็นตอนๆ เหมือนกับสงครามชีวิต ผมพิมพ์ออกมาได้ 5 เรื่อง แต่เมื่อผมพิมพ์ออกมาแล้ว มีบรรยากาศของการต่อต้านอย่างแรง ต้องรักษาสัตว์ป่า ต้องรักป่า ห้ามยิงสัตว์ป่าอะไรอย่างนี้ ก็เลยทำให้ไม่กล้าเขียนให้มันทะลักออกมาอีก เพราะชีวิตประสบการณ์ในการล่าสัตว์ ผมพิมพ์อยู่ได้เพียงแค่ 5 เรื่อง มี จับตาย: ไอ้ลายที่บางลาง, จับตาย:เสือดำที่มายอ , จับตาย:ช้องหมู มฤตยูเขี้ยวตัน และอาถรรพ์ป่า: เมื่อคุณหมอหลงป่า
“สาเหตุที่ผมเลิกเข้าป่าล่าสัตว์นั้น ผมมาสำนึกเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2511 ปีที่ลูกชายผมเกิด ผมเข้าป่าปีนั้นปีสุดท้าย ผมรู้สึกว่าผมเกิดอุบัติเหตุบ่อย เริ่มเจ็บป่วย เริ่มเป็นไข้ เรื่องในสิ่งที่ไม่ดี จะมาสู่ตัวผมอยู่บ่อยๆ จึงมีความรู้สึกว่า มันจะเกิดมาจากบาปกรรมที่เราล่าสัตว์ตัดชีวิตหรือเปล่า มีผมคนเดียวที่รับเรื่องล่าสัตว์ มาจากบรรพบุรุษ นอกนั้นไม่มีแม้กระทั่งลูกตัวเอง หรือญาติพี่น้องก็ไม่มีใครชอบล่าสัตว์ ผมรับมาคนเดียว
“หลังจากนั้น ผมมาสำนึกว่าตอนที่เราเจ็บ จะตายมิตายแหล่ หายใจไม่ออก เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตอนนั้นอายุ 40 ปี ถ้าหากจะตายตอนนั้น ก็ตายเลย อย่าได้ให้ทรมาน ถ้าหากรอดตอนนี้ไปได้ ผมจึงตัดสินใจเด็ดขาด ยุติการล่าสัตว์ตัดชีวิตอีกเลย ผมจับหนูที่บ้านมาได้ก็เอาไปปล่อย ไม่ฆ่าแม้กระทั่งสัตว์เล็ก จะมีก็แมลงสาบ ก็จะตีมันบ้าง แต่ยุงนี่จะไม่ตี ที่ไม่ตีเพราะสายตาผมมันไม่ดีแล้ว (หัวเราะ)
“แต่ก่อนสายตาผมคมเฉียบ เล็งศูนย์ปืนอย่างชัดเจน เดี๋ยวนี้ตามันพร่าๆ ยิงได้เฉพาะเป้าใหญ่ๆ ทุกวันนี้ผมให้ความเมตตาปราณีต่อสัตว์ ถ้ามีโอกาสช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ได้ ผมจะช่วยทันที ช่วยไถ่ชีวิต อะไรทำนองนี้ และผมเลิกกินสัตว์ใหญ่จำพวกเนื้อวัวเป็นการให้ทานกับชีวิตมากกว่า
“รพินทร์ ไพรวัลย์ เป็นพรานชำนาญป่า แต่มีความคิดลึกซึ้ง มีความโรแมนติก ความแข็งกร้าว ไม่อยากทำร้ายคนอื่น แม้แต่การฆ่าสัตว์ ก็จะไม่ยิงทิ้ง ยิงขว้าง จะยิงเฉพาะนำมาเป็นอาหารหรือป้องกันชีวิตคนอื่น ผิดกับบางคนที่ยิงกันคะนองมือ ถ้าหากใครยังคิดล่าสัตว์ป่าอยู่ ผมก็อยากให้เลิกเถอะอย่าไปล่ามันอีกเลย
“สำหรับเรื่องเพชรพระอุมา ที่จะนำไปทำเป็นภาพยนตร์ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้ไปแล้ว แต่ที่ยังทำไม่ได้ เพราะยังกำกับเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรยังไม่จบ ส่วนประกอบอื่นๆ ท่านก็เตรียมไว้ค่อนข้างจะพร้อมหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปืนไรเฟิลทุกชนิด ราคาเป็นล้าน ท่านก็ซื้อหาเตรียมไว้แล้ว แม้กระทั่งบุหรี่เก่าๆ ที่รพินทร์ ไพรวัลย์ ใช้อยู่ท่านก็ไปจ้างเขาทำมา ทั้งบุหรี่ยี่ห้อพระจันทร์บ้าง บุหรี่เกร็ดทองบ้างสมัยพรานป่าใช้สูบ
“ผมมีความหวังว่าภาพยนตร์เรื่องเพชรพระอุมาจะต้องเป็นคนไทยสร้างแน่ ท่านวางพระเอกนางเอกมาแคสต์หน้ากล้องอยู่เรื่อยๆ การประพันธ์สมัยก่อนเมื่อนำมาทำเป็นภาพยนตร์ เขาจะไม่นำไปแต่งใหม่หรือแก้ไขดัดแปลง หนังสมัยก่อนอย่างเรื่องเล็บครุฑ คุณสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์นำมาสร้างทำได้ถึง 60% ของเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้บางคนนำบทประพันธ์ของนักประพันธ์ไปเปลี่ยนแปลงหมด นำมายำเละจะไปบอกว่าตามยุคตามสมัย มันก็ไม่ถูกต้องนัก มันอยู่ที่ผู้เขียนสคริปต์ เขียนบท ก็มักจะอ้างความต้องการของตลาด แต่ความเป็นจริงความต้องการของตลาดคือคุณเป็นนักเขียนให้คนอื่นต่างหาก”
สำหรับชีวิตของพรานผู้ยิ่งใหญ่ รพินทร์ ไพรวัลย์ ในนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา ได้สิ้นสุดการผจญภัยอย่างบริบูรณ์แล้ว แต่ในส่วนชีวิตของพนมเทียน ผู้ประพันธ์กลับยังคงสร้างสรรค์วรรณกรรมด้วยจิตวิญญาณ เพื่อให้ความสุขกับผู้อ่านอย่างอมตะตลอดกาล