“เดอะดวง” วีระชัย ดวงพลา

“เดอะดวง” วีระชัย ดวงพลา

และแล้ววันนั้นก็มาถึง “เดอะดวง” วีรชัย ดวงพลา คือนักเขียนการ์ตูนไทยคนหนึ่งที่มีรางวัลการันตีความสำเร็จที่แม้แต่ต้นแบบการ์ตูนอย่างประเทศญี่ปุ่นยังยอมรับ แม้เขาจะมีอายุเพียงยี่สิบต้นๆ แต่ด้วยฝีไม้ลายมือจากการสร้างสรรค์ผลงานมากว่าสิบปี ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง

 

เขาเริ่มต้นวาดรูปตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จากการเขียนการ์ตูนแบบเด็กๆ แต่เมื่อมีคุณพ่อ (คุณเรืองศักดิ์ ดวงพลา) เป็นนักเขียนการ์ตูน ก็ทำให้เขาเองซึมซับความเป็นนักเขียนการ์ตูนและฝึกฝนฝีมืออยู่เรื่อยมา จากที่เคยเขียนแบบเด็กๆ ก็เขียนการ์ตูนแบบจริงจังมากขึ้น พออายุ 14 ก็ได้เข้าวงการเขียนการ์ตูนเป็นครั้งแรก โดยมีการ์ตูนเรื่องแรกคือ “มันอยู่ในหู” ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร C-kids จากนั้นก็มีผลงานทยอย ตามมาอีกมากมาย

 

“การ์ตูนที่ผมชอบอ่านเรื่องแรกก็คือ ดรากอนบอล แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะเจริญรอยตามเป็นนักเขียนการ์ตูน พอมาอ่าน วันพีซ ก็เลยกลายเป็นว่ามันเป็นการ์ตูนที่ทำให้ผมอยากเขียนการ์ตูน ตอนนั้นผมศึกษาเรื่องภาพว่าทำไมนักเขียนการ์ตูนวันพีซถึงเป็นคนเขียนภาพเก่ง ดูแล้วตื่นเต้น คิดว่าจะทำยังไงให้การ์ตูนเราน่าติดตามแบบนั้นบ้าง แต่หลังๆ ผมก็ศึกษาจากอย่างอื่น พยายามดูงานมากขึ้น แล้วก็ดูหนังเยอะ แต่จะเป็นแนวแก๊งสเตอร์อย่าง Snatch มันมีตัวละครเป็นสิบๆ คน แต่ทุกคนสำคัญหมด วิธีการเล่าเรื่องจะโยงไปโยงมา แล้วสไตล์หนังพวกนี้เราไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้”

 

เขายังบอกต่ออีกว่าการเขียนการ์ตูนนั้นสามารถนำพล็อตเรื่องมาจากทุกอย่างที่รายล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะเดินอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร เรื่องราวต่างๆ สามารถนำมาเขียนได้ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ต้องมีบ้างที่เกิดอาการไอเดียไม่ลื่นไหล

 

“หลังๆ ผมก็เป็นนะ เพราะทำงานมา 11 ปีแล้ว มันก็มีตันบ้าง จริงๆ เรื่องมันมีสูตรอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเราไม่คิดอะไรมาก ก็เขียนได้ไม่ตัน แต่ที่ตันทุกวันนี้คือมันคิดไม่ออกว่าเราจะทำให้มันดีกว่าเดิม เราคิดว่าจะเสนออะไรใหม่ๆ ให้คนอ่านมากกว่า”

 

ถามถึงงานมาสเตอร์พีซในใจเขา เดอะดวงเลือกงานที่สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมากที่สุดในตอนนี้ นั่นคือผลงานหนังสือ “เรื่องมีอยู่ว่า” ที่สามารถไปคว้ารางวัล Silver Award จากเวทีประกวดการ์ตูนนานาชาติครั้งที่ 4 International MANGA Award ณ ประเทศญี่ปุ่นมาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ยังคว้ารางวัลในประเทศไทยมาแล้วจากเวที Seven Book Awards

 

“จริงๆ มันเริ่มมาจากความไม่ตั้งใจ ตอนแรกผมไม่ได้อยู่ในสังกัดขายหัวเราะ ก็ทำงานของตัวเองไปเรื่อยๆ  พอวันนึงก็มีการเชิญไปเขียนตอนพิเศษให้ขายหัวเราะ ผมเขียนไปสิบกว่าหน้า พอรู้ตัวอีกทีก็เขียนมาได้ปีสองปี มันเกินกว่าตอนพิเศษไปแล้ว ภายหลังก็เลยมีการรวมเล่มไปสี่เล่ม ทั้งที่เริ่มมาจากความไม่ตั้งใจ ตอนแรกก็จับทางไม่ถูกเพราะเราไม่ได้เขียนการ์ตูนตลก แล้วก็ไม่เก่งด้วย ผมเลยไปเน้นเรื่องตลกร้าย เราก็ทำตลกแบบของเรา

 

“ฉบับแรกผมจะทำออกมาเน้นให้กำลังใจกับใครที่กำลังท้อแท้ ได้ยินบางคนบอกว่าชีวิตเขาเจอเรื่องเลวร้ายมา แล้วหยิบมาอ่านแล้วรู้สึกว่าอยากจะสู้ชีวิตต่อไป คือประมาณสามสี่คนที่พูดแบบนี้กับผม ผมก็คิดว่ามันควรจะให้แง่คิดอะไรบ้างในตอนจบ ก็เลยเพิ่มสาระเข้าไป บางอันอาจจะเป็นสาระให้กำลังใจชีวิต บางอันอาจจะซึ้ง คือไม่จำเป็นจะต้องตลกเสมอไป ส่วนเรื่องสาเหตุที่ได้รางวัลนั้น คนที่ญี่ปุ่นเขาบอกว่าเป็นเพราะการ์ตูนไม่ได้หนักไปทางสัญชาติใด อ่านแล้วสนุก เรื่องราวลื่นไหลดี

 

สิบปีบนเส้นทางการเขียนการ์ตูนของเขานั้นถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าจะเรียกว่าเป็นความฝันชิ้นถัดไปของเขานั้นก็คือการ์ตูนภาพเคลื่อนไหว (Animation) อีกไม่นานนักเราคงได้เห็นการ์ตูนของเขาในรูปแบบใหม่ๆ ที่คงสร้างสีสันให้วงการอีกเช่นเคย

หลายสิบปีที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาครองตลาดในบ้านเรา