แม่น้ำสงคราม

แม่น้ำสงคราม

น้ำหลากล้นและทรงตัวอยู่หลายเดือนแล้ว ยามที่ผมและเพื่อนไปถึงอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ที่ราบไร่นาหลอมเลือนอยู่ด้วยมวลน้ำ ถนนเล็กๆ จากอำเภอริมโขงอย่างท่าอุเทนที่เราใช้มาถึงศรีสงครามทางบ้านเสียวจมหายเป็นระยะ รายทางคือภาพเหวี่ยงแหในหนองน้ำ หรือยกสะดุ้ง-ยอขนาดเล็กของชาวบ้านผู้ที่รู้ว่า ยามน้ำมากเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าเข้าใจมันและหากินด้วยอุปกรณ์ที่เคยยังชีพมาแต่โบราณ

 

เมื่อเข้าเขตอำเภอ เราข้ามแม่น้ำสายโบราณในยามบ่าย มันเอ่อล้นท้นฝั่ง เมื่อเข้าสู่ตัวอำเภอ ความเป็น ‘เมืองปลา’ ชัดเจน เมื่อใครสักคนยิ้มรับผมที่บ้านท่าบ่อสงคราม แผงปลาสดๆ เพิ่งราไปไม่นาน ตามบ้านเรือนชัดเจนด้วยกลุ่มทำปลาร้า ปลาส้ม และส้มฟัก ที่ต้นทางของมันอยู่ในสายน้ำอันเคียงคู่พวกเขาที่ทอดตัวสงบนิ่งอยู่ใกล้ๆ

 

กล่าวสำหรับลำน้ำสงคราม จากต้นกำเนิดแถบเทือกเขาภูพาน แม่น้ำสายนี้ทอดตัวไหลผ่าน 4 จังหวัดของภาคอีสานคือ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย ก่อนหลอมรวมไปหล่อเลี้ยงผู้คนสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอท่าอุเทนของจังหวัดนครพนม หลังจากผ่านการเดินทาง 420 กิโลเมตร และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ 12,367 ตารางกิโลเมตร ก่อเกิดเป็นเรื่องราวทางวัฒนธรรมระหว่างคน ปลา และแม่น้ำ มาเนิ่นนานเกินกว่าใครสักคนจะคาดเดาวันเวลา

อำเภอศรีสงครามจัดเป็นช่วง ‘ท้ายๆ’ ของแม่น้ำสงคราม หรือที่เรียกกันว่าลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ด้วยสภาพที่แผ่กว้าง แบนราบ ใครสักคนที่นี่บอกว่าภูมิประเทศแบบนี้แสนจะเอื้อต่อการหาปลา เช่นนั้นอดีตของพรานปลาผู้ช่ำชองของลุ่มน้ำสงครามจึงหยั่งรากขึ้นที่นี่มากมาย

ยามน้ำทรงแห่งปลายฤดูฝน สุรชัย ณรงค์ศิลป์ จมหายไปในระดับน้ำมาแล้วหลายเดือน ผมเรียกชื่อจริงเขาแค่ตอนทำความรู้จัก โมงยามหลังจากนั้น เขาคือ’พ่อหนอก’ ของเราและคนที่นี่

เราและพ่อหนอกออกมาวางตุ้มในยามเย็น หลายคนของบ้านท่าบ่อสงครามก็เช่นกัน พวกเขาพาอุปกรณ์หาปลาหลากหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากไผ่กะซะ แรงมือ และทักษะอันน่าทึ่งในการคิดสร้างอุปกรณ์หาปลาที่เปลี่ยนเวียนชนิดไปตามฤดูกาล “หากมาหน้าน้ำลด จะหลายกว่านี้ ตอนนี้มีแต่เบ็ด มอง ตุ้ม” พ่อหนอกมีมองหรือข่ายลูกโตแน่นท้ายเรือ จุดยาสูบขึ้นแดงวาบ พ่นควันสีนวลไปในอากาศขุ่นๆ

ผืนน้ำแผ่กว้างตรงหน้ากระจ่างตา ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ เหลือแต่ยอดอินทนิลน้ำให้เป็นสีสันม่วงสวย ยามนาทีนี้มวลน้ำหลอมจมป่าบุ่งป่าทามเบื้องล้างไว้ทั่วถ้วน หากเป็นหน้าน้ำลด ชายน้ำสงครามอันมีป่าบุ่งป่าทามคือ ‘ลิ้นชัก’ ชั้นดีที่พวกเขามักเข้ามาเสาะหาของกินนานา ทั้งหน่อไม้ เห็ด พืชผัก รวมไปถึงสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลคืออาหารอันโอชะ

“บ่มีไม้ตายในป่าทามหรอก ตอนน้ำท่วม ลดลงมันก็ฟื้น กลายเป็นแหล่งของกินของใช้” พ่อหนอกเล่าเพลินๆ ยามเราอยู่เหนือป่าทามสักผืน ที่หากใช่คนที่นี่ ก็ยามจะจำทิศทางได้ เพราะมันคล้ายกันหมดยามป่าทามกลายเป็นทะเลสาบเช่นนี้

ป่าบุ่งป่าทามคือป่าไม้พุ่มผลัดใบลักษณะป่าดิบ ที่เรียกว่า ‘ป่าบึงน้ำจืด’ เป็นป่าธรรมชาติอันเกิดจากกระบวนการน้ำไหลและทับถมของตะกอนแม่น้ำ บางจุดทับถมมากจนกลายเป็นที่ดอน ดินทามยังประกอบด้วยทรัพยากรหลายชนิด เช่น ไผ่กะซะ และพืชทนน้ำท่วมขังกว่า 100 ชนิด และสัตว์อย่างเต่านา ไก่ป่า กระต่าย อีเห็น กระรอก กระแต หนู งู และนก

“ช่วงนี้ปลามันขึ้นจากน้ำโขงมาวางไข่ รอน้ำลดโน่น ถึงช่วงจับมากๆ มันกลับลงโขง” กว่า 170 กิโลเมตรที่เชื่อมโยงกันจากปากน้ำสงครามที่ปลายโขงถึงศรีสงคราม ว่ากันว่าความหลากหลายของพันธุ์ปลามีมากกว่า 183 สายพันธุ์ ซึ่งพวกเขารู้จักมันหมด และส่วนใหญ่อยู่ในชื่อพื้นบ้าน

เช่นเดียวกันกับพ่อหนอก พี่น้องบ้านท่าบ่อสงครามแอบเรือไว้ตามเรือนยอดของป่าบุ่งป่าทามที่โผล่พ้นน้ำ แนวไม้ไผ่ที่กระจายกันเสียดยอดทั่วผืนทะเลสาบกลายๆ ล้วนคือ ‘หมาย’ ของใครของมัน บางคนวางตุ้มเกือบสิบลูกลงช้าๆ เฝ้ารอที่จะมา ‘ยาม’ หรือเก็บมันในรุ่งเช้า ชีวิตเวียนวนอยู่เช่นนี้ทุกฤดูกาล

ยังไม่ทันต้องออกไปสู่เขตแม่น้ำสงคราม การงานช่วงน้ำทรงของคนศรีสงครามก็มากมายราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ยามเย็นที่พวกเขาออกมาวางเบ็ดวางมองล้วนเฝ้ารอให้ถึงพรุ่งนี้

ฟ้าเริ่มสิ้นแสง ผู้คนในลำเรือกลายเป็นเงาดำอยู่ในผืนน้ำ พ่อหนอกพาเรากลับขึ้นฝั่ง ตามบ้านหลายหลังเรียงรายด้วยโอ่งและไหปลาแดก สะท้อนความต่อเนื่องจากในลำน้ำขึ้นมาสู่ชีวิตด้านบนเป็นทอดๆ

เมื่ออยู่ต่อหน้าโอ่งอันเรียงราย ผมคิดไปถึงคำว่า ‘วัฒนธรรมปลาแดก’ ที่หลายคนให้คำนิยาม มันมักมีที่มาจากหมู่บ้านเล็กๆ ชายน้ำ ต่อยอดออกไปสู่สังคมชนบทแบบอีสาน และบางทีอธิบายได้ถึง ‘ภาพใหญ่’ อย่างของการติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนหลายทิศทาง

ปลาแดกหรือที่คนเมืองเรียกกันว่าปลาร้า คนของลุ่มน้ำสงครามให้ความสำคัญกับมันมากในยามที่ ‘น้ำแดง’ หรือท่วมอยู่นานนับเดือน การถนอมปลาไว้กินมากกว่าขายล้วนมีที่มายาวนาน

 

“แต่ก่อนปลาแดกมีไว้กิน ใครขยันก็ย่างปลา ขี้เกียจหรือมีมากหลายก็ลงไหหมักเกลือทำปลาแดก” ย่ายายตามร้านปลาส้มเล่าในยามเย็น พวกเธอว่าเกลือจากหัวแฮด ในเขตบ้านท่าสะอาด อำเภอพรเจริญ ของหนองคายนั้น คือเกลือชั้นดีที่ต่างสืบทอดเชื่อมโยงคนของลุ่มน้ำสงครามเข้าด้วยกัน

ว่ากันว่าจุดที่เรียกกันว่าหัวแฮดนั้น คือจุดที่แม่น้ำสงครามเลี้ยวจากทิศเหนือมาสู่ตะวันออก มีตาน้ำที่ละลายเกลือออกจากชั้นหิน ผู้คนที่นั่นต้มน้ำเกลือจากบ่อจนเป็นเกลือสินเธาว์ด้วยเชื้อเพลิงจากป่าบุ่งป่าทาม และคนของสองพื้นที่ในลุ่มน้ำสงครามก็เชื่อมโยงกันด้วยการทำปลาแดก

 

“แต่เดิมผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อกันกว่าเกลือหัวแฮดทำปลาแดกได้แซ่บกว่าที่อื่น เฮาก็ใช้กันต่อมา” นอกจากปลาแดกตามไหตามตุ่ม ปลาส้มและส้มฟักที่กลายเป็นของดีของคนบ้านท่าบ่อสงครามก็มีที่มากไม่แตกต่าง คือผ่านจากเรี่ยวแรงในแม่น้ำ ฤดูกาล และการถ่ายทอดสั่งสมเปลี่ยนผ่านสู่วัฒนธรรมอาหาร

ปลาแดกของพวกเขาเป็นปลาจำพวกเนื้ออ่อนอย่างปลานาง ปลาปีกไก่ ซึ่งไม่มีเกล็ด พวกเขาว่ามัน ‘นัว’ กว่าปลามีเกล็ดหลายต่อหลายเท่า “พวกมีเกล็ดขี้มันขม ไว้ทำน้ำปลาสิดีกว่า”

 

เราจมอยู่ในกลิ่นอันเป็นทิศทางหนึ่งของพวกเขาเนิ่นนาน มันอวลอยู่ในหลายชนิดกับข้าวของมื้อเย็น หรือกลายเป็นส่วนผสมของปลาร้าบองเคียงคู่ข้าวเหนียวกระติ๊บของเด็กๆ ยามไปโรงเรียน

พูดตามตรง สิ่งเหล่านี้คงอยู่มาแสนนาน จากสินค้า ‘ชั้นดี’ ที่ตกทอดอยู่ในวัฒนธรรมการค้าขายจากแม่น้ำสู่กองเกวียนของคาราวานอีสาน สู่วันที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนแห่งหมู่บ้านริมน้ำสายโบราณ มากไปกว่าคำว่าอยู่กิน เรื่องราวเหล่านี้อาจนิยามได้ถึงคำว่า ‘ตัวตน’

อากาศเช้าแสนชื่นสัมผัสได้ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ลมละมุนพัดเย็นพร้อมพี่น้องบ้านท่าบ่อสงครามที่ล่วงหน้าออกมาก่อนแล้ว ตรงโน้นลำ ตรงนี้ลำ ตามแนวไผ่คือตุ้มและมองที่จมอยู่เบื้องล่าง พ่อหนอกแวะไปยามเบ็ดที่ทิ้งไว้ข้ามคืน ลุงบ้านข้าง ๆ ได้ปลาเต็มตุ้ม มันดิ้นขลุกขลักอยู่ในนั้น แกว่าเช้านี้คุ้มหลาย หากเทียบไปกับการวางตุ้มเกือบสิบลูกจากเมื่อวาน

ในปีหนึ่ง ๆ มีหลายคำตอบให้คนของที่นี่ได้เรียนรับและปรับใช้ พ่อหนอกว่าแม่น้ำก็มีวันเปลี่ยน และ ‘บนฝั่ง’ นั้นยิ่งกว่า ที่มากไปด้วยการเปลี่ยนแปลง “ไร่มะเขือเทศ สับปะรด ที่ปลูกส่งโรงงานนั้นมากด้วยสารพิษสารเคมี แน่นอน น้ำกับปลามันก็ต้องรับ” ในอีกบทบาทหนึ่งของนักวิจัยไทบ้าน พ่อหนอกและอีกหลายคนหันมาใส่ใจกับเรื่องราวใกล้ตัวเช่นนี้มากขึ้น เคียงคู่ไปกับการหากินในแม่น้ำทุกคืนวัน

เช่นนั้นคนศรีสงครามหลายหมู่บ้านจึงเกิดเครือข่ายเล็กๆ คอยดูแลแม่น้ำและบ้านของพวกเขา โครงการต่างๆ ล้วนได้รับการผลักดัน เช่นการแยกชนิดพันธุ์ปลา เฝ้าระวังกันเองในเรื่องการใช้อุปกรณ์ใหญ่ หรือแม้กระทั่งเดินทางออกไปเล่าเรื่องราวของคนแห่งแม่น้ำให้คนนอกรับรู้ในหลายครั้งคราว

เรากลับเข้าฝั่งเมื่อควันไฟตามครัวลอยลำสีขาวพวยพุ่ง พร้อมกับปลาในฤดูน้ำล้นของคนบ้านท่าบ่อสงคราม หลายอย่างเฝ้ารออยู่ที่ริมฝั่ง ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งสานตุ้มตามชานบ้าน แผงปลาสดในยามเช้า หรือเด็กๆ ที่รอเวลาเดินไปโรงเรียน

ความหวังจากในลำเรือล้วนกำลังเดินทางกลับไป ‘ขับเคลื่อน’ อีกหลายเรื่องราวให้ดำเนินต่ออย่างคงทนและมีที่ทางของตนเอง เท่าที่โลกใบเล็กของพวกเขายังวิ่งหมุน

ห่างออกมาตามเส้นทาง มุ่งสู่อำเภออากาศอำนวยของอุดรธานี หมู่บ้านประมงเล็กๆ อีกแห่งของศรีสงครามก่อร่างความเป็นชีวิตอยู่ริมน้ำยาม-ลำน้ำสาขาหลักของแม่น้ำสงคราม ยามสายบ้านปากยามเงียบเชียบ สงบงามด้วยภาพที่หลายคนพยายามไขว่ขว้าจะพบเห็นท่ามกลางโลกปัจจุบัน

ตามใต้ถุนเรียงรายอยู่ด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำนานารอการใช้อันเหมาะสมกับฤดูกาล ตุ้มเอียนทรงสวยที่ไว้ดักปลาไหลตามตลิ่งโคลนก่ายกอง แงบ-ผิวไผ่สานเป็นกับดักไว้รอกบในนาห้อยเป็นพวง เฒ่าชราตรวจตราความเรียบร้อยของมันก่อนที่จะให้หลานๆ หิ้วมันออกไปวาง

 

“หน้าน้ำล้นเป็นช่วงหาปลาเล็กๆ ครับ คอยซ่อมแซมเครื่องมือ ตระเตรียมรองานใหญ่ยามน้ำลด” สุริยา โคตะมีเล่าให้เราฟังเมื่อผมมาถึงหมู่บ้านแห่งพรานปลาลุ่มน้ำสงคราม สักพักผมก็เรียกแกว่า ‘อ้ายข้อง’ โดยใจวรรค์ โคตะมี คู่ชีวิตชวนดื่มน้ำในขันเงิน เธอดูจะอิ่มใจยามผมและเพื่อนดื่มน้ำใจของเธออย่างชื่นเย็น

เช่นเดียวกับบ้านท่าบ่อสงคราม บ้านปากยามหมุนวนคืนวันอยู่ด้วยแม่น้ำ หมู่ปลา และการหากิน “ที่นี่ไม่ได้ใช้ตุ้มหรือมองมากนัก เราหาปลาใหญ่กันมากกว่า” อ้ายข้องเสียดายที่เราไม่ได้มายามน้ำลด ผมหมดโอกาสจะได้เห็นโต่ง-โพงพางขนาดใหญ่ที่ว่ากันว่ายามน้ำลง พวกเขายื่นมันออกไปครึ่งแม่น้ำสงคราม และปลาประดามีในนั้นก็พูนเพียบ

นาทีนี้ตามหมู่บ้านคล้ายกำลังอยู่ในช่วงบำเพ็ญภาวนา ตามใต้ถุนบ้านคือตุ่มปลาแดกและน้ำปลาเรียงรายรอวันได้ที่ ตามที่นาที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วม ฝูงวัวไล่เล็มหญ้าเพลินอารมณ์ ข่ายความยาวหลายสิบเมตรสำหรับทำโต่งถูกขึงบนบก ตรวจตราซ่อมแซม ทาน้ำมันเบนซินเพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่กินง่ายๆ พวกเขาว่าโต่งลูกหนึ่งลงทุนหลายหมื่น แต่ก็แสนคุ้มยามมันหาปลาให้พวกเขาได้ถึงสองปี

 

“ยกโต่งมื้อหนึ่ง ถ้าปลาติดมากๆ ก็เป็นพันเป็นหมื่นละ” อ้ายข้องว่าถึงความคุ้มของมันยามที่คนหาปลาบ้านปากยามและรายรอบเริ่มเอาโต่งลงเรือและออกไปตามวังน้ำ “ช่วงน้ำไหลลงโขงนี่ล่ะ คนศรีสงครามไม่เป็นอันพักผ่อน เช้า บ่าย เย็น อยู่แต่ในแม่น้ำ”

โต่งที่กว้างราว 20 เมตร และยาวเกือบ 40 เมตร และสูงราว 4 เมตร ยื่นออกไปทีกินความกว้างเกือบครึ่งแม่น้ำ คือภาพที่คนแม่น้ำสงครามเคยชินและยินดีจะเรียนรู้มัน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าอย่างอ้ายข้อง ถึงแม้ว่าทางราชการหรือคนภายนอกจะบอกว่ามันคือการหาปลาแบบ ‘ทะลักทลาย’ ทว่าน่าแปลกที่คนที่นี่เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์และดูแลอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อนที่จะให้ใครเข้ามาบอก

 

“ทางการเขาก็มาทำลายโต่ง ทำลายกัดที่ขึงดักปลาเล็กปลาน้อย เขาว่ามันทำให้ปลาหายไปทีละมากๆ แต่เรารู้ละว่า หาเมื่อไหร่ ยามไหนใช้อะไรหา ใช้ตุ้ม ใช้ไซ เอาพอกินพออยู่ป่าทาม แม่น้ำ หมู่เฮาก็เคารพดูแลกันเอง

กำหนดเอาคร่าวก็หลัง 15 กันยายนของทุกปี ที่หมดฤดูปลาวางไข่ พวกมันล่องกลับโขงเมื่อไหร่ก็ถึงเวลาของเรา ดูปลาที่เริ่มบ้วนน้ำนั่นละ แปลว่าระดับน้ำเริ่มได้ มันเริ่มไหลลง” พรานปลาชราว่าใครจะมาเข้าใจแม่น้ำเท่าคนที่ลืมตาเห็นมันตลอดช่วงชีวิต

หากไม่ลงมาในลำน้ำเดียวกันและทำความเข้าใจดูเหมือนหลายคนจะมองแม่น้ำไปคนละทิศทาง

บ้านปากยามมีภูมิประเทศอันแสนเอื้อต่อการมีอยู่ของพรานปลาและผู้คนของแม่น้ำ มีแม่น้ำสงครามอยู่ทางด้านตะวันตก น้ำยามอันเป็นลำน้ำสาขาไหลมาจากตะวันออก และล้อมไปออกแม่น้ำสงครามทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ทิศใต้เป็นสายห้วยเอี่ยน ยามน้ำลดหรือน้ำล้อมก็มากมายความสมบูรณ์

วิถีประมงและการทำปลาแดกสืบต่อจากการเป็นเมืองท่าล่องซื้อขายสินค้าในอดีต แม้การสัญจรเปลี่ยนรูปแบบไปไม่หวนคืน แต่คนที่นี่กลับหันหน้าลงแม่น้ำสายเดิมที่เคยหล่อหลอมพวกเขามารุ่นต่อรุ่น “จะไปไหนได้ เลี้ยงลูกหลานก็ด้วยปลา” อ้ายข้องนั่งอยู่ริมน้ำยาม เตรียมปลาเล็กให้หลานออกไปวางเบ็ดในบ่ายที่จะมาถึง

เราลงเรือลำใหญ่ขนาดที่รองรับโต่งได้ยามน้ำลด ล่องออกไปวางเบ็ดกับจตุพร อุดทุมธิสาร นาทีที่อยู่เหนือป่าทามหนองใต้ของบ้านปากยาม แดดบ่ายหลบหลังม่าเมฆ สองชั่วโมงกลางความเวิ้งว้างยามดูเข้าปักแนวไผยาวร่วมร้อยเมตร ผูกเบ็ดเป็นร้อยตัวไปบนความยาวของเอ็น และค่อยๆ เกี่ยวปลาเล็กทีละตัว ห้วงยามนั้นคำตอบที่ว่าเรารู้จักที่มาของตัวเองดีแค่ไหนเริ่มคลี่คลาย

 

“ผมเองกลับจากเมืองหลวงเพราะไม่ไหว มันเหนื่อย” ทั้งๆ ที่เรียนจบอนุปริญญา แต่หนุ่มช่างกลไฟฟ้าอย่างเขากับเลือกทิศทางที่คนรุ่นปู่ย่าวางเอาไว้มากกว่าจะบ่ายหน้าไปสู่เมืองอันห่างแม่น้ำ

ชีวิตตามริมน้ำ ตามห้วยหนอง ว่าไปมันก็ทรหดและห่างไกลคำว่าสะดวกสบาย “แต่หายใจแล้วโล่งครับ อย่างไรก็มีกิน” เราทำความรู้จักกันในลำเรือที่ลอยนิ่งร่วมสองชั่วโมง บางสนทนาเขาบอกให้ผมดูรอบๆ ตัว “หนู งู ขึ้นตามดอนน้ำจะท่วมครับ นกอพยพมาเมื่อไหร่ก็เข้าหนาว น้ำลง หาปลาได้” มันน่าทึ่งไม่น้อยที่คน ‘รุ่นใหม่’ สักคนจะหันหน้ากลับหาทิศทางเดิมที่กำลังค่อยๆ หายสูญ และยิ้มรับกับมันราวของขวัญชั้นดี

ดูเหมือนชีวิตที่พยามทำความเข้าใจตัวเองอาจต้องขัดเกลาด้วยฤดูกาลอีกหลายห้วงตอน

 

HOW TO GO?

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงสระบุรี บริเวณ กิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านมหาสารคาม ทางหลวงหมายเลข 213 แล้วแยกขวาเข้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นภูพาน และผ่านจังหวัดสกลนคร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 22 มุ่งหน้าไปที่บ้านท่าแร่ แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2132 มุ่งหน้าสู่อำเภอศรีสงคราม รวมระยะทางราว 711 กิโลเมตร

 

แวะไปเที่ยวบ้านท่าบ่อสงคราม เที่ยวชมหมู่บ้านประมงริมแม่น้ำสงคราม แวะซื้อปลาร้า ส้มฟัก และปลาส้ม อันเป็นผลิตคุณภาพดีของกลุ่มแม่บ้านท่าบ่อสงคราม

 

มีเวลาไปเที่ยวหมู่บ้านปากยาม หมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่ที่มากมายด้วยเรื่องเล่า เครื่องไม้เครื่องมือจับปลาอันน่าทึ่ง 
รวมไปถึงวิวแม่น้ำสงครามอันงดงาม

เราอยู่กันที่ห้วงหนึ่งของแม่น้ำสงคราม