อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร
อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือ เล็ก Greasy Café คือคนที่ทำให้เราเชื่ออย่างนั้น
เขาชื่นชอบในการถ่ายภาพและหลงใหลการเล่นดนตรีควบคู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เนื้อหาของบทเพลง
ทั้ง 3 อัลบั้มเด่นชัดถึงเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ บวกกับเสียงร้องซึ่งสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแบบไม่เสแสร้ง แต่ก่อน
จะมาถึงจุดนี้ เขาคือช่างภาพที่หล่อเลี้ยงตัวตนด้วยกล้องบันทึกความรู้สึกในสิ่งที่เห็นให้ออกมาเป็นภาพ
“Nikon FM2 เป็นกล้องตัวแรกในชีวิตการ
ถ่ายภาพ ในช่วงที่เรียนก็ได้ทดลองเยอะ เป็นการเรียนที่เราทำได้ดีที่สุดในชีวิต มันทำให้เราหมกมุ่นบ้าคลั่ง
ไปกับมันได้มากๆ”
เขาเล่าผ่านท่วงท่าที่ดูผ่อนคลายภายในสตูดิโอของค่ายสมอลล์รูมแห่งใหม่
“เมื่อก่อนผมเคยแอนตี้เวลาถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอลหรือทำเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ตอนนี้รู้สึกว่า
ตัวเองตื้นเขินมาก เราจะแอนตี้ทำไม หลายเรื่องมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน อยู่ที่เราจะอยู่กับมันยังไง พอได้ถ่ายจากกล้องมือถือดูจริงๆ มันก็สนุกมาก ทำให้เรากลับมาถ่ายรูปเล่นๆ แบบจริงๆ ได้อีกครั้ง ออกจากบ้านก็จะ
ถ่ายนู่นถ่ายนี่ไปเรื่อย
“การถ่ายด้วยฟิล์มมันเป็นความตั้งใจอีกแบบนึง
กล้องฟิล์มมันเป็นเหมือนการจีบผู้หญิงที่ต้องค่อยๆ ละเมียดละไมไปกับมัน ต่อให้เราทำดีที่สุด ระวังทุกอย่าง ร้านล้างฟิล์มก็อาจจะล้างฟิล์มเราเสียก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจบเลยที่เราอุตส่าห์ทำทุกอย่าง ทั้งเลือกฟิล์มที่ดีที่สุด ทั้งตั้งหน้ากล้องเลือกมุมของแสงให้ดีที่สุด คำตอบมัน
อาจจะออกมาว่าเธอดีเกินไป แต่กล้องดิจิตอลมันคือ
การจีบๆ กันไปก่อน ไม่ได้ก็เลิกไป กดลบภาพนั้นทิ้งไป”
ได้ยินเช่นนั้นเราพยักหน้าเล็กน้อย ด้วยชื่นชม
ในความคิดที่เข้าใจเปรียบเทียบจนเห็นภาพชัดเจน ก่อนที่เขาจะบอกกับเราต่อไปว่า “ผมเป็นคนที่ทำอะไรด้วยความรู้สึกมาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องไม่ดีก็ได้” เราเลยถามเขาทันทีว่าที่ผ่านมามันก็ดีไม่ใช่หรือ เขาหัวเราะ
“ผมไม่ใช่ศิลปินแน่นอน ใครเรียกอย่างนั้นก็เขินอยู่ดี รู้สึกไม่สบายตัวกับคำคำนี้ คนที่จะถูกเรียกได้อย่างนั้นเขาน่าเก่งกว่าเราเยอะ”
ถ้าย้อนกลับไปหลังจากที่เขาเรียนจบวิชาถ่ายภาพจากอังกฤษ ก็เข้ามาโลดแล่นในวงการภาพนิ่งอยู่เป็น 10 ปี ทั้งงานสัมภาษณ์แฟชั่น หรือแม้แต่การเป็นช่างภาพประจำกองถ่ายภาพยนตร์ แต่น่าเสียดายว่าบทบาทของช่างภาพแนวนี้ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญเท่าที่ควร ไม่อย่างนั้นเราคงเห็นเขามีชื่อยืนอยู่แถวหน้าของวงการอย่างไม่มีข้อสงสัย
“บางคนอาจคิดว่าการถ่ายภาพนิ่งให้ภาพยนตร์คือการถ่ายเบื้องหลัง แต่จริงๆ มันโคตรจะเบื้องหน้าเลย ภาพนิ่งของหนังบางเรื่องที่ไม่มีพลังเพียงพอก็ไม่สามารถทำให้คนกำเงินเดินออกจากบ้านไปดูได้ แต่ถ้ารูปมันแข็งแรง มันสามารถจูงคนได้เลย ส่วนการถ่ายเบื้องหลังมันจะเป็นอีกแบบ ถ่ายให้เห็นว่าทีมงานในกองทำอะไรกัน นักแสดงนั่งกินข้าวกันหรืออะไรอย่างนี้ นั่นแหละคือเบื้องหลังจริงๆ
“หลายครั้งรูปที่เราถ่ายจากกองถ่ายมันดีพอแล้ว ไม่ต้องมาเซ็ตไฟแข็งๆ แต่งหน้าเยอะๆ แล้วถ่ายใหม่ในสตูดิโอ ผมเสียดายมากๆ ที่โปสเตอร์หนังบางเรื่องออกมาดูแข็งทื่อ ไม่ได้สื่อสารหรือส่งอารมณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเลย อยากจะบอกคนที่ถ่ายภาพนิ่งภาพยนตร์อยู่ว่าอย่าหมดกำลังใจ พยายามทำให้ดีที่สุด ควรทำการบ้านให้เยอะ อ่านบทแล้วตีโจทย์ให้ออกว่าควรจะให้ภาพออกมาในรูปแบบไหน”
หากความฝันของการเป็นนักดนตรีของใครบางคนคือการได้ออกอัลบั้ม คนเป็นช่างภาพก็หนีไม่พ้นที่อยากจะมีนิทรรศการภาพถ่ายเป็นของตัวเองซักครั้งในชีวิต อภิชัยกำลังรอนิทรรศการของตัวเองให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
“ผมเคยอยากถ่ายภาพสงครามมาก ส่วนนิทรรศการภาพถ่ายก็เป็นอะไรที่อยากทำ ซึ่งผลงานโปรเจ็กต์ล่าสุดมันเป็นภาพและเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อตอนออกไปหาโลเคชั่นของหนังเรื่อง ชัมบาลา ในทิเบต ช่วงนั้นผมก็ถ่ายภาพบางส่วนเก็บเอาไว้ แต่ในขณะถ่ายสิ่งที่เห็นก็ดันได้ยินเสียงด้วย แม้แต่การเข้าวัดแล้วได้เห็นว่าพระเป่าเครื่องเป่าที่ทำจากกระดูกคนเพื่อพิธีการอะไรบางอย่าง เสียงพวกนั้นมันถูกเก็บกลับมา เสียงลำธารเสียงนก หรือเสียงร้องเพลงพื้นบ้านของชาวบ้าน เหล่านี้ก็จะถูกทำขึ้นเป็นอัลบั้มเพลงด้วย ซึ่งไม่ใช่ Greasy Café แต่เป็นอภิชัย มันคืองานถ่ายรูปที่ผมอยากให้คนได้ยินเสียงด้วยนั่นเอง”