บ้านป่าหมาก

บ้านป่าหมาก

หากเป็นฤดูฝนโปรยไพร หนทางที่ลากเราเข้ามาคงฉ่ำชื้น ไร่สวนบ่มเพาะรอฤดูเก็บดอกผล ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3219บ่ายตัวเองจากเส้นบายพาสหัวหิน มุ่งหน้าในทิศทางที่สวนความสูงขึ้นไปยังน้ำตกป่าละอู ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี รถราในช่วงก่อนปีใหม่เบาบาง ช้างป่าลัดเลาะแนวหากินลงมาเนิบนาบอยู่ริมถนน ชีวิตซ้อนทับระหว่างการทำกินและอนุรักษ์ตกสะท้อนอยู่ตรงหน้า

ก่อนถึงป่าละอูราว 16 กิโลเมตร ใครสักคนตีไฟเลี้ยวซ้ายก่อนถึงบ้านป่าละอูน้อย ตรงกิโลเมตรที่ 44 ฉีกเราออกจากทางหลวงเรียบกริบ มุ่งหน้าผ่านบ้านห้วยผึ้ง บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ สู่หนทางแอสฟัลต์มากหลุมบ่อ รอบด้านแผ่กว้างด้วยไร่สับปะรด ข้าวโพดและภาพการอยู่กินตามชายขอบอุทยานฯ ทางเดินอันต้องการการจัดการระหว่างป่ากับชุมชน หากรอยยิ้มเป็นอีกเรื่องอันแสนจริงแท้ ยามเราแวะซื้อเสบียงและถามไถ่ถึงทิศทาง “อีกไกลละ ป่าหมาก แต่ช่วงนี้ทางแห้ง ไปสบาย” ลุงปกากะญอที่บ้านคลองน้อยบอกเล่าถึงหนทางที่รอเราอยู่ข้างหน้า เราจากลาพร้อมกับภาพชายชราเดินลงไปสู่ไร่ ชีวิตตามป่าเขาเปลี่ยนหน้าตาไปไม่น้อยยามที่เขาเลือกปักหลักทำกิน ไร้การเร่ร่อนรุกทำลายผืนป่าที่โอบอุ้มชีวิตมาหลายรุ่น

โลกกว้างและทางไกล สำหรับใครบางคนอาจเป็นเรื่องเดียวกับวิถีชีวิต ยามที่เลือกเดินอยู่บนหนทางอันอาจจะอยู่นอกกรอบ หากแต่ชัดเจนจุดหมายปลายทาง

ปราการขุนเขาในเขตตะนาวศรีโอบล้อมเราไว้ทุกทิศทาง ที่ราบจากการทำกินเพาะปลูกสลับกับบ้านเรือนเรียบง่ายตลอดสองข้างทางเป็นระยะ ราวกับรถจี๊ปคันเล็กทั้ง 3 คันกำลังผ่านเลยไปในแดนนิรนาม แดดบ่ายไล้ภาพทางตาอุ่นงาม อากาศเย็นชื่นยามลดกระจกลงและปล่อยให้สายลมข้างนอกหน้าต่างทายทัก

ถึงบ้านแพรกตะคร้อ กิโลเมตรที่ 64 แยกเราแยกซ้ายและทิ้งแนวเสาไฟฟ้าอันมาสิ้นสุดลงที่นั่น ความโดดเดี่ยวกันดารพานพบตลอดทางลูกรังขุ่นแดง รถมอมฝุ่น ทว่าเรื่องราวของการผจญภัยคล้ายค่อยๆ ชัดเจนตามรอยล้อ

ด้วยความแปลกใหม่ในดวงตา หลายคนเผลอไผลไปกับวิวภูเขางดงาม เส้นทางคดโค้งเป็นแนวสวย ใกล้เย็นย่ำเรามาถึงได้เพียงบ้านแพรกตะลุย หมู่บ้าน “สุดท้าย” บนที่ราบกลางแนวเขาตะนาวศรี เพื่อนร่วมทางตัดสินใจตั้งแคมป์ในไร่อันแสนโรแมนติกกระแตแต้แว้ดร้องเสียงแหลมยามก่อนเสียงเครื่องยนต์เงียบสิ้น เต็นท์และเปลถูกเลือกทำเลก่อนมืด สวนทุเรียนวัยละอ่อนไล่แถวเป็นแนวแปลง ธารน้ำฉ่ำเย็นไหลเอื่อยอยู่แนบใกล้

มื้อค่ำอันแสนพิเศษผ่านพ้นอยู่ตรงลานกว้าง ฟ้าก่อนสิ้นแสงฉายสีม่วงแดงคลุมผืนเขา ตะเกียงและเทียนเล่มเล็กๆ คือแสงสว่างชั่วคราว ก่อนที่ใครสักคนจะค้นพบว่าจันทร์ฉายกลางเดือนมืดค่อนดึกนั้นสว่างนวลและน่าแหงนมองกว่าแสงสว่างอื่นใด

รุ่งเช้าเราพรากแคมป์หลังจากเพื่อนช่างภาพเก็บทางเดินของดวงดาวไว้ในหน่วยความจำของกล้องดิจิทัล เขาอมยิ้มกับภาพไม่เคยคุ้น เช่นเดียวกับผมที่ปล่อยให้หมอกชื่นยามเช้าค่อยๆ เคล้ากาแฟกรุ่นหอม

เรากลับสู่หนทางที่เลือก ไต่สันเขาขึ้นลงเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เรียกกันหลวมๆ ว่าจุดมุ่งหมาย

หนทางผ่านบ้านแพรกตะลุยและเริ่มเปลี่ยนสัมผัสของผิวถนนไปสู่ความรกเรื้อ ธารน้ำสายแรกทอดผ่านสะท้อนความอุดมชุ่มของป่าเขาตะนาวศรี ที่ไหลแรงแม้ในฤดูน้ำน้อย รถคันเก่าค่อยๆ หยอดตัวเองไปบนหินลอยสีดำคล้ำ โดดดิ้นไปมาก่อนจะผ่านพ้นขึ้นอีกฝั่งธาร รอบด้านร่มรื่นและเงียบงัน นานๆ ทีจะมีรถของพี่น้องปกากะญอสวนมาสักคัน

ฤดูแล้งเชื่อมโยงคนของขุนเขาออกสู่ภายนอกด้วยหนทางที่สะดวกสบายขึ้น หลังจากพวกเขาถูกม่านฝน และหล่มโคลนกักขังให้โดดเดี่ยวตัวเองกลางขุนเขามาตลอดฤดูกาล

ข้ามธารที่สองด้วยเวลาและการขับรถแบบเชื่องช้าเช่นเดียวกัน เราก็ใช้เวลาไปกับทางภูเขาอีกจนถึงกิโลเมตรที่ 77 ต้นน้ำปราณบุรีจากสายธารน้อยใหญ่ไหลเย็นให้ใครสักคนนั่งมองมันแม้ในยามบ่ายแดดแรง

ทางดินดิ่งชันเหนือความสูงราว 400 เมตรจากระดับทะเลปานกลางอาจไม่ยากนักสำหรับคนที่มีทักษะ แต่สำหรับผมและเพื่อนบางคน มันดูเหมือนบททดสอบเล็กๆ ยามที่เลือกเดินออกมาจากหนทางปกติที่คุ้นเคย กล่าวกันอย่างถึงที่สุด ทุกทางคดโค้งที่ตัดเลาะไปตามหุบเขาอาจคือเสน่ห์ที่ดึงดูดวิญญาณของคนรักการขับรถให้โลดแล่นพรึงเพริด

เสียงจอแจของเด็กๆ เปลี่ยนภาพทางป่าให้มีสีสัน เรามาถึงบ้านป่าหมาก ในเขตของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์หมู่บ้านสุดท้ายชายแดนไทย-พม่าเหนือเขตเขาตะนาวศรี ชีวิตของผู้คนปกากะญอราว 559 คนของที่นี่ห่มคลุมอยู่ด้วยความเรียบง่าย ศรัทธาทางศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ และความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีบรรพบุรุษอันเกี่ยวโยงกับป่าเขาล้วนหล่อหลอมให้ชีวิตงดงามดำรงอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น

แนวหมากเสียดยอดสูงเด่นไปตามทางเดินเล็กๆ ที่เวียนเป็นวงกลมกลางหมู่บ้านราว 117 หลังคาเรือน กระท่อมไม้ไผ่สับฟากมุงตับหญ้าข้างในทึบทึมทว่าที่ก้อนเส้าไม่เคยจางหายควันไฟ บางหลังเปลี่ยนแปลงสู่ความมั่นคงแข็งแรงตามชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการเพาะปลูกและพืชผลอย่างกาแฟโรบัสตา งานจักสานจากหวาย

“เดี๋ยวนี้ดีกว่าที่ผมขึ้นมาเมื่อก่อนเยอะครับ” ผู้ใหญ่เยี่ยม โต๊ะไธสง หนุ่มใหญ่จากที่ราบสูงที่หันเหชีวิตมาอยู่ร่วมกับคนที่บ้านป่าหมากร่วม 20 ปี เล่าสบายอารมณ์ระหว่างเคี้ยวหมากสลับใบยาสูบควันหอม

จะว่าไป บ้านป่าหมากเกิดการก่อร่างชุมชนมาไม่นาน จากการอพยพย้ายถิ่นทำกินของพี่น้องชาวปกากะญอจากบ้านสวนทุเรียนแถบทางไปน้ำตกแพรกตะคร้อ ผู้คนอาศัยป่าเพื่ออยู่กินและผูกพันกับมันมาเนิ่นนาน หากแต่ชีวิตกลางป่าเขาล้วนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกที่ก้าวเดินแตกต่างกันอย่างสุดขั้วไปลิบลับ

ราวปี พ.ศ.2549 ยามที่สายพระเนตรของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทอดผ่านจากมุมมองเหนือป่าเขาตะนาวศรี  เมื่อเฮลิคอปเตอร์นำเสด็จหย่อนลงจอด คล้ายชีวิตกลางแดนไพรกลับเย็นชื่นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

“ตอนนั้นป่าหมากเป็นหมู่บ้านเล็กๆ โดดเดี่ยวครับ มีเพียงศูนย์ ตชด. มาตั้งระวังภัย เราอยู่กันลำบาก” ยามนั้นผู้ใหญ่เยี่ยมยังเป็นเพียงคนนอกที่รอนแรมจากข้างล่างขึ้นมาใหม่ๆ “พระองค์ดำริให้สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก ครูอาสาทั้งที่เป็น ตชด. และคนข้างล่างล้วนเริ่มกันมาก็คราวนั้น”

จากพระมหากรุณาธิคุณ สืบต่อถึงงานพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ ที่ทยอยกันขึ้นมา ปรับเปลี่ยนภาพเมืองไกลของบ้านป่าหมากให้ก้าวเดินไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย พืชพรรณต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นด้วยการส่งเสริมการยังชีพ กาแฟโรบัสตารวมถึงพืชไร่ต่างๆ ได้หยั่งรากและแนะนำ รวมไปถึงงานฝีมืออันตกทอดอยู่ในสายเลือดของพวกเขา ทั้งผ้าทอผืนสวยมากมายลวดลาย ทักษะการสานหวายเป็นตะกร้า เปล ทั้งหมดหลอมรวมเป็นทางเลือกอีกหนึ่งเส้นที่เคียงคู่ไปกับการเพาะปลูก

จากลานเฮลิคอปเตอร์อันเป็นสนามกว้างหน้าโรงเรียน ตชด. บ้านป่าหมาก เราเดินลัดเลาะไปตามชีวิตจริงแท้ที่โอบล้อม ท้ายบ้านบางหลัง หญิงชราและลูกหลานผลัดกันเหยียบยืนบนคานกระเดื่องของครกไม้ตำข้าวเก่าคร่ำ ลานดินกว้างหน้าบ้านคือแผงตากผลสุกของกาแฟ ไล่ลึกไปตามสันเนินคือสวนกาแฟติดผลสุก รอความหวังที่แปรรูปมาสู่ชีวิตที่พวกเขาคาดหวังว่ามันคือความยั่งยืน

เสียงร้องเพลงของเด็กๆ กลางโบสถ์ที่เป็นอาคารไม้ไผ่เรียบง่ายในช่วงคริสต์มาสแสนอ่อนหวาน สื่อสารถึงความรักของพระเจ้าและความเชื่อความศรัทธาที่บางคนยึดมั่น

ใกล้อาศรมภาวนาวัดป่าช้างขาว เราขออนุญาตหลวงพ่อตั้งแคมป์กันริมธาร เด็กๆ ตามมาเล่นน้ำและช่วยหาผักกูดรวมถึงผักสวนครัวยามใครสักคนเปลี่ยนตัวเองจากเจ้าของร้านอาหารในเมืองกลายเป็นพ่อครัวใหญ่กลางป่าเขา

มื้อค่ำแสนพิเศษอีกครั้งด้วยความเงียบงันหนาวเย็น กองไฟไม่เคยมอดฟืนตลอดที่เดือนดาวยังสะท้อนตัวเองลงบนธารน้ำ เสียงสุดท้ายที่ได้ยินกลางบทสนทนาคือไม้ไผ่แตกประทุ หลังจากนั้น ค่ำคืนแสนสงบของบ้านป่าหมากก็หลอมรวมทั้งพี่น้องปกาะญอศรัทธาทางศาสนาและความเป็นอยู่ รวมถึงผู้มาเยือนจากพื้นล่างให้หลับใหลไปริมลำธารอันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรี

บางมุมในยามเช้าของบ้านป่าหมากงดงามอยู่บนสะพานไม้ขึงสลิงสีเหลืองสด พระสงฆ์ 3 รูปเดินผ่านเหนือธารน้ำเข้าไปในหมู่บ้านศรัทธาของพวกเขาต่อพระพุทธศาสนาเพิ่มความสงบร่มเย็นนอกเหนือไปจากป่าเขาอันแสนสมบูรณ์

เราจากลาบ้านไกลกลางตะนาวศรีกันอย่างยากเย็น เด็กๆ เวียนแวะมาหาใครบางคนพอๆ กับที่เปลหวายของพี่สาวชาวปกากะญอนั้นงดงามละเอียดลอออย่างน่าทึ่งให้นั่งมองการจักสานอันมีชีวิตชีวา

หลังพร้อมกันทั้งใจและรถ เราใช้เส้นทางสายเดิมที่พาเราขึ้นมารู้จักพวกเขา มันไม่ใช่หนทางแปลกเปลี่ยวอีกต่อไป บางคนจดจำคดโค้งและสันเนินได้พอๆ กับที่จดจำรอยยิ้มและมิตรภาพแสนสั้นในถ้อยคำของหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาที่เรามาอาศัยแรมนอน

กลับสู่หนทางสายเดิม แง่มุมป่าและภูเขาหยุดเราเป็นช่วงๆ ตามความงดงามของมัน ทั้งโตรกผา สายธาร หรือคดโค้งของภูเขา

บางนาทียามขับรถตามเพื่อนร่วมทาง ผ่านคดโค้งที่เราไม่อาจคาดเดาถึงอะไรก็ตามแต่ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า ผมคิดถึงหลายชีวิตที่วางแนบตัวเองอยู่กลางความยิ่งใหญ่ของผืนป่า

หากภูเขาเปิดช่องว่างให้ใครหลายคนรู้จักเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่าชีวิต หนทางของพวกเขาอาจไม่ตายตัว ไร้ตัวเลขมากำกับ และอยู่ที่ว่าใครจะแต่งเติมมันลงไปด้วยความคิดความเชื่อประเภทใด

มากไปกว่านั้น คุณค่าคำตอบของแต่ละคนล้วนแปลกแยกแตกต่าง ทว่าเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด 

 

How to Go?

จากทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษมเส้นบายพาสหัวหิน) แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3219 มุ่งหน้าสู่น้ำตกป่าละอู ก่อนถึงบ้านป่าละอูน้อย แยกซ้ายผ่านบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ บ้านห้วยผึ้ง เส้นทางลาดยางทว่ามีหลุมบ่อ หลังบ้านห้วยผึ้งเข้าสู่ทางลูกรังมุ่งไปบ้านคลองน้อย บ้านแพรกตะคร้อ แยกซ้ายผ่านบ้านแพรกตะลุย จากนั้นเส้นทางลัดเลาะผ่านสันเขา ข้ามห้วยธารอีก 2 ห้วย สู่บ้านป่าหมาก

สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้เราก้าวเดินจากถิ่นฐานที่มา