คณิตา คนิยมเวคิน

คณิตา คนิยมเวคิน

“ถ้ามีคนทำแบบนี้แล้วเราจะไม่ทำ เพราะจะทำให้เดินตามรอยเขาอยู่เรื่อยๆ” 

คณิตา คนิยมเวคิน (ฉัตร) เล่าถึงโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายตัวเองว่าต้องการความแตกต่าง โดยพยายามออกแบบผลงานออกมาเพียงเห็นแค่ครั้งแรกก็รู้สึกเลยว่าใช่ รูปลักษณ์และสีสันจึงต้องมาก่อน หากแต่ในเรื่องของฟังก์ชั่นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเธอถึงได้มาคลุกคลีกับสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ตอนนี้ ด้วยหลังจากที่เธอเรียนจบในสาขา Product Industrial Design จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เริ่มทำงานที่แรกเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทที่ทำอยู่แถวถนนเสือป่า แหล่งค้าวัสดุเครื่องหนังแหล่งใหญ่เธอจึงลองซื้อมาทำเล่น เช่น พวงกุญแจ ทำของขวัญปีใหม่ให้พี่ๆ ในออฟฟิศ 

จนเธอย้ายมาทำงานกราฟฟิกให้รายการโทรทัศน์ เพื่อนๆ ที่ออฟฟิศรู้ว่าเธอมีความสามารถทำของใช้จากหนัง ต่างก็ขอให้เธอทำให้บ้าง จากเริ่มต้นทำเล่นๆ แล้วแบ่งปันให้เพื่อนฝูง จนมาหลังๆ เธอก็ทำขาย ในช่วงนั้นเรียกได้ว่ารายได้ต่อวันมากกว่ากว่าเงินเดือนที่ทำเลยทีเดียว 

เธอเริ่มรู้สึกว่าการทำในสิ่งที่รักและมาจากตัวตนของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อหน่ายและสามารถสนุกกับมันได้ทุกครั้งที่คิดงานใหม่ๆ ออกมา ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจลาออกมาทำเครื่องหนังอย่างเต็มตัว เพียงคอลเล็กชั่นแรกผลิตภัณฑ์ของเธอก็สามารถเรียกความสนใจจากคนทั่วไปได้ไม่ยากกับ ‘เครื่องหนังในรูปทรงขนมไทย’  

“ผลงานแต่ละชิ้นมีรายละเอียดแตกต่างกัน อย่างตัวขนมใส่ไส้ที่มองว่าถอดแบบมาจากห่อของขนมใส่ไส้นั้น มันไม่สามารถทำตามของจริงได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าทำได้ก็อาจจะใช้งานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับให้สามารถใช้งานได้จริง รูปทรงก็ต้องใช่ และขนาดต้องพอเหมาะ อย่างข้าวต้มมัดถือว่าเป็นชิ้นที่ยากมาก เพราะเราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เป็นสองมัดเหมือนของจริง”

เนื่องจากวัสดุที่เป็นหนังนั้นข้อจำกัดมีอยู่มาก ทำให้เธอต้องคอยหาวิธีแก้ปัญหาอยู่เป็นระยะจนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งหลาย จนสร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานเครื่องหนังขนมไทยมากมาย เช่น ขนมเทียน ขนมจาก กระทงใบตอง ข้าวต้มมัด ขนมใส่ไส้  

ซึ่งเจ้าขนมใส่ไส้นี่เองที่เธอบอกว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีชของแบรนด์ เพราะเป็นผลงานตัวแรกและเป็นตัวกระตุ้นให้เธอสร้างสรรค์ผลงานชิ้นอื่นๆ ตามมา และผลงานชิ้นนี้ยังถูกการันตีด้วยรางวัล Demark ปี 2011 มอบให้โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจะมอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในเรื่องของดีไซน์        

เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อ Kanita Brand ที่เธอปั้นมากับมือ เธอบอกว่าอยากให้เหมือนกับเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้คือ “อยากให้งานของเราเป็นของฝากสำหรับชาวต่างชาติเพื่อซื้อกลับไป

”ถึงตรงนี้เราไม่เพียงสัมผัสได้แค่เสน่ห์ของเครื่องหนังหากยังสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของการสร้างสรรค์ที่เมื่อถูกจับคู่กับสิ่งใดก็ล้วนแต่ออกมาน่าสนใจ เฉกเช่นผลิตภัณฑ์เครื่องหนังรูปทรงขนมไทยผลงานของเธอ 

เครื่องใช้คู่กายเราต้องมีสักชิ้นที่ทำขึ้นจากหนัง