นิวัติ กองเพียร

นิวัติ กองเพียร

ท่ามกลางความวุ่นวายของข่าวสารเรื่องน้ำท่วม มีข่าวเล็กๆ ในสายตาของคนทั่วไปเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ของแวดวงคนทำหนังสือ ข่าวรายงานว่าบ้านของ นิวัติ กองเพียร (หรือที่เรารู้จักกันในนาม “เกจินู้ด”) ที่อยู่ ณ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวดปทุมธานี นั้นก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ฟังเผินๆ ก็แค่ข่าวน้ำท่วมบ้านคนมีชื่อเสียง ใช่ มันคงจะแค่นั้น ถ้า “เฮือนสวาง” บ้านริมคลองพระอุดม ที่นิวัติเรียกว่า “เรือนตาย” แห่งนี้เป็นเพียงบ้านพักอาศัยธรรมดาๆ หลังหนึ่ง แต่ความจริงก็คือบ้านหลังนี้บรรจุไปด้วยหนังสืออันทรงคุณค่าที่หาที่ไหนมิได้ที่นิวัติเก็บสะสมมาทั้งชีวิตนับพันนับหมื่นเล่ม และปัจจุบันมันจมอยู่ใต้น้ำเกือบทั้งหมด

บางคนอาจคิดในใจ จะอะไรกันนักหนาก็แค่หนังสือ บางทีคุณอาจต้องรู้ว่าผู้ชายคนนี้รักหนังสือแค่ไหน คำตอบน่าจะร่วงหล่นอยู่ใน “จดหมายจากนิวัติ กองเพียร” บันทึกออนไลน์ที่เขาเขียนขึ้นเมื่อคราวอพยพหนีน้ำไปอยู่หัวหินและนี่คือบางช่วงบางตอนของความรู้สึกที่เขาบันทึกไว้เมื่อคราวกลับไปเห็นหนังสืออันเป็นที่รักต้องจมอยู่ในน้ำนานนับเดือน

“พื้นที่ผมย่ำลงไปมีแต่หนังสือที่จมอยู่ มันละลายเลื่อนไหลไปกับเท้าที่ย่ำไป จนผมต้องเดินออกมาด้วยเศร้าสะเทือนใจแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ผมจะรักหนังสือได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ จะไม่รักมันอย่างไรได้ ที่นั่งเขียนเป็นเรื่องเป็นราวอยู่นี่ก็เพราะหนังสือที่จมอยู่ในน้ำไม่ใช่หรือ ความรู้ทั้งหมดที่ได้มาก็หนังสือทั้งนั้น เก็บหอมรอมริบเงินกว่าจะได้ซื้อหนังสือสักเล่ม ทะนุถนอมหอบหิ้วกันไปทุกที่ทุกแห่งที่ต้องโยกย้าย จนมาถึงวันนี้ที่เป็นเรือนตาย ก็ต้องมาจ่อมจมล่มสลายลงเสียแล้ว

“หนังสือที่เคยรักเคยหวงมาจากไปด้วยน้ำ ที่ไม่สามารถเอากลับคืนได้ แต่ยังมองเห็นอยู่เต็มตา ไฟไหม้ไปเสียทั้งหมดไม่ให้เห็นยังดีเสียกว่า”

สาบานว่าประโยคสุดท้ายสะเทือนใจเรา-คนทำหนังสือ-จนภาพพร่าเลือนเพราะม่านน้ำตา ใจคิดว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้พูดคุยกับคนรักหนังสือผู้นี้ ยังไม่นับว่าเขาคือนักวิจารณ์ภาพแฟชั่นของสาวเซ็กซี่ที่ MiX เองก็เคยถูกเขาหยิบยกไปพูดถึงอยู่หลายครั้งนั้น ยิ่งเป็นเหตุผลที่เราควรจะพบเจอกันเข้าไปอีก

เราลองแจ้งความจำนงไปยัง ปริทัศน์ กองเพียร ลูกชายของเขาที่เราเป็นมิตรน้ำหมึกกันอยู่ว่าอยากจะขอสัมภาษณ์พูดคุยกับเจ้าของเฮือนสวางแล้วบ่ายวันหนึ่งเราก็ได้รับโทรศัพท์ ปลายสายบอกว่า นิวัติ กองเพียร พร้อมแล้ว 

เรานัดเจอเขาที่คอนโดแถวๆ ศรีสมาน ย่านติวานนท์ ที่ๆ เขามาพักเป็นการชั่วคราว ห่างจากจุดนั้นไปไม่กี่กิโลเมตรคือถนนสรงประภาที่น้ำยังท่วมสูงจนรถผ่านไม่ได้ ทีมงานยังกังวลว่าเราจะต้องฝ่าน้ำท่วมเข้าไปหาเขาหรือไม่ แต่ลูกชายของเขาก็ยืนยันว่าตรงนั้นน้ำไม่ท่วม

ไม่นาน นิวัติในชุดสบายๆ เสื้อยืดสีขาว กางเกงสีม่วงหลวมๆ ผมเผ้ามัดเป็นระเบียบ สะพายย่ามมาหนึ่งใบ ก็เดินมา เราเลือกร้านกาแฟเป็นที่นั่งสนทนา

สำหรับคนที่รักหนังสือประหนึ่งลูกในไส้ การต้องสูญเสียมันไปกับสายน้ำ ความรู้สึกมันคงไม่ต่างอะไรกับโดนมีดกรีดกลางใจ เราเปิดประเด็นเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แม้จะอ่านมาจากสิ่งที่เขาบันทึกไว้แล้วก็ตาม นิวัติตอบประเด็นนี้มาหลังม่านควันบุหรี่

“ผมรู้ว่าน้ำในคลองมันสูงเท่าไร เวลาน้ำจะท่วมมันก็ควรจะท่วมเท่ากับระดับน้ำที่คลองมีอยู่ แต่ปรากฏว่าน้ำไม่ได้มาจากคลอง มันเป็นน้ำจากทุ่งซึ่งมาจากหน้าบ้าน มันเลยเกินกว่าที่ผมคาดไว้ ทั้งๆ ที่เตรียมตัวไว้หมดแล้วนะครับ ผมคิดว่าอย่างมากก็สักเมตรห้าสิบ เราก็เอาของขึ้นเท่านั้น

“สิ่งแรกที่ผมคิดก็คือ ถึงผมกลับไปก็ไม่อยากจะดู อยากจะให้คนอื่นเข้าไปจัดการกับมันแทน เราขอไม่เห็นดีกว่า แต่สุดท้ายก็ต้องเห็น เพราะตอนที่ผมเข้าไปกับไทยพีบีเอส เขาอยากให้ผมเข้าไปดูด้วย ผมก็เลยยอมเขาหน่อย อุตส่าห์เสี่ยงตายด้วยกัน ลำบากลำบน 2 ชั่วโมงกว่าๆ ที่นั่งเรือ ยังไม่นับที่นั่งรถอีกเป็นชั่วโมง แต่ผมก็ไม่เข้าไปนะ ยืนดูอยู่ห่างๆ แล้วเอามือถือถ่ายรูปไว้ เท่านั้นแหละครับ ผมไม่อยากไปเห็น ไม่อยากไปจับ ไม่อยากไปเอาขึ้นมา”

ในโชคร้ายก็ยังมีโชคดี อย่างน้อยๆ ในเวลาต่อมา นิวัติได้พบกับผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันที่ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับกรรมวิธีการกู้หนังสือที่ยังไม่เปื่อยยุ่ยเอาไว้ว่าสามารถทำได้ โดยต้องล้างน้ำสะอาดเพื่อเอาเชื้อราออกเสียก่อน จากนั้นจึงนำไปแช่ในห้องเย็นในระดับอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นอย่างน้อยๆ ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าหนังสือบางส่วนคงจะกู้กลับมาได้ เราได้ฟังก็พลอยโล่งใจตามเขาไปด้วย ว่าแต่มีใครรู้บ้างว่าอะไรที่ทำให้ผู้ชายคนนี้หลงรักหนังสือได้ถึงเพียงนี้?

“ผมคิดว่าหนังสือเป็นครูของผม ผมเกิดมาเพราะหนังสือ ผมขี้เกียจเรียนมาก เรียนจบนะครับ แต่เรียนๆ ไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ชีวิตนี้ผมจึงได้จากการอ่านทั้งหมด ไม่ว่าความรู้เรื่องอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นหนังสือจึงมีอิทธิพลกับผมสูงมาก แล้วความรู้ในห้องเรียนมันก็ตอบโจทย์ผมไม่ได้เสียด้วย

“ส่วนเรื่องความรักในการอ่านหนังสือ ผมคิดว่าได้จากแม่ ทั้งๆ ที่แม่เรียนจบ ป.4 เท่านั้น แต่แม่เป็นคนอ่านหนังสือ แล้วถ่ายทอดให้พี่สาวผมซึ่งก็เป็นคนที่อ่านหนังสือและเก็บหนังสือ พี่ผมเป็นคนต่างจังหวัดที่มีตู้หนังสือ ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดานะครับ ขนาดผมขอหนังสือ เขายังไม่ให้เลยสักเล่ม บอกว่าตายก่อนแล้วค่อยมาเอา แต่อย่างอื่นให้หมดนะ ทอง แหวน อะไรก็ให้หมด ยกเว้นหนังสืออย่างเดียวที่ไม่ให้ (หัวเราะ)

“ตอนเด็กๆ ผมอ่านหนังสือทุกประเภทนั่นแหละครับ แต่มันก็เปลี่ยนไปตามอายุ การอ่านหนังสือมันเปลี่ยนไปตามความอยากรู้ อย่างล่าสุด ผมสนใจเรื่องของสถาปัตยกรรม ผมก็ซื้ออย่างเดียวเลย อ่านเรื่องสถาปัตยกรรมอย่างเดียว บางทีชอบมาก ผมก็เดินทางไปดูงาน ต่างประเทศผมก็ไปดู จะลำบากลำบนแค่ไหนก็ไป”

แม้ชื่อของ นิวัติ กองเพียร จะว่ายเวียนอยู่ในวงการหนังสือให้คนได้ยินอยู่มาหลายสิบปี แต่น่าแปลกที่ประวัติความเป็นมาของเขาไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก สารานุกรมออนไลน์อย่าง วิกิพีเดีย บอกไว้สั้นๆ แต่เพียงว่าเขาเกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2489 เป็นคนจังหวัดอำนาจเจริญ ชีวิตในวัยเด็กจบการศึกษาระดับมัธยมตอนต้นจากโรงเรียนทวีธาภิเศก จากนั้นจึงไปศึกษาต่อที่เพาะช่าง จนกระทั่งไปทำงานและเรียนศิลปะที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ.2520-2522

เมื่อมีโอกาสพบกันคราวนี้ เราจึงขอให้เขาย้อนอดีตให้ฟัง

“ผมชอบวาดเขียนตั้งแต่เด็กๆ ได้คะแนนดีอยู่วิชาเดียว นอกนั้นวิชาอื่นใช้ไม่ได้เลย แต่มันไม่ใช่พรสวรรค์หรอกครับ ผมแค่ชอบเฉยๆ ตอนเด็กๆ ผมอยู่กับโรงหนัง ชอบดูหนัง ก็ไปเขียนคัทเอ้าท์โรงหนัง เพื่อจะได้ดูหนังฟรี ผมเป็นคนเขียนหนังสือสวย ก็เลยไปรับจ้างเขียนตัวหนังสือ รับจ้างเขียนป้ายตามร้านอะไรต่างๆ อย่างตอนสมัยเรียนเพาะช่าง เวลางานกาชาด ผมก็ถือพู่กันกับไม้บรรทัด เดินรับจ้างวาดรูปเลย ผมกับพรรคพวก 4-5 คน เขียนกันไม่หวัดไม่ไหว

“แต่ที่บอกว่าผมไปเรียนศิลปะที่ลอนดอนนั้น ผมไม่ได้ไปเรียนศิลปะหรอกครับ หนีตายไป ตอนนั้นมันช่วง 6 ตุลา 2519 ผมเข้าป่าไม่ได้ เพราะเป็นคนกินยาก อยู่ยาก ชอบสบาย และความคิดก็เป็นเสรีชน ผมก็เลยขอไปที่อื่น เขาก็ให้ตระเวนเลือกก่อน คนที่ช่วยผมก็คือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเป็นคนจัดการเรื่องนี้ เพื่อจะให้พวกที่เข้าป่าไม่ได้มีที่ไป ซึ่งก็มีเยอะนะครับ สิบกว่าคนได้

“ผมก็คิดว่าจะไปปารีสก่อน เขาจะให้ผมไปอยู่กับท่าน ติช นัท ฮันห์ ผมก็ไปบ้านท่าน ติช นัท ฮันห์ ผ่านไปวันเดียวผมก็โทรแจ้งเลยว่าผมอยู่ที่นี่ไม่ได้ครับ ผมไม่สามารถตื่นตี 4 มาขุดดินได้ ไม่สามารถนั่งสมาธิได้ จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังนั่งสมาธิไม่ได้ ผมไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้

“เขาก็เลยให้ผมไปอยู่ในหมู่บ้านพลัม ผ่านไปสักอาทิตย์ ผมก็อยู่ไม่ได้อีก สุดท้ายก็เลยไปอังกฤษ ผมก็ไปด้วย ไปพบอาจารย์ป๋วย ท่านตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยเหลือคนไทยที่หนีออกมาชื่อว่า มิตรไทยทรัสต์ ทีนี้ผมจะอยู่อังกฤษได้อย่างไร เพราะผมไม่มีงานทำ อาจารย์ป๋วยก็เลยให้คนไปประกาศลงหนังสือพิมพ์ฝรั่งว่า ต้องการคนเขียนภาษาไทยดี ลงประกาศอยู่สามวัน ผมก็ไปสมัคร ทุกอย่างก็เตี๊ยมกันหมด ผมก็เลยอยู่ที่นั่นได้ เพราะผมทำงานให้กับมิตรไทยทรัสต์”

อยู่ที่ลอนดอนนานถึง 3 ปี นิวัติเล่าให้เราฟังว่าเขาได้อะไรกลับมาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องของศิลปะ เพราะพิพิธภัณฑ์ที่นั่นมีมากมายกว่าห้างสรรพสินค้า และนั่นเองเป็นจุดที่ทำให้เขาได้ศึกษาหาความรู้เรื่องศิลปะอย่างเต็มที่และหล่อหลอมรสนิยมทางด้านศิลปะให้เขาหลงใหลมาจนถึงทุกวันนี้

“ผมกลับมาเมืองไทยเพราะคำสั่งนายกรัฐมนตรี 66/2523 ออกมา เขาให้พวกเราออกจากป่ามาได้หมด ทุกคนก็กลับ พอกลับมาปรากฏว่าผมอยู่ยากมาก รำคาญไปหมด เป็นบ้าไปนานกว่าจะปรับตัวกลับมาได้

“ก่อนไปตอนนั้นผมทำงานอยู่ประชาชาติ ผมเป็นช่างภาพที่ประชาชาติรายสัปดาห์ พอกลับมาก็มาทำหนังสือเลย มาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร เดินทางท่องเที่ยว กับ เศรษฐกิจ ผมเป็นบรรณาธิการที่นั่นอยู่ 2 ปี จนพวกที่ทำงานด้วยกันสมัยนั้นตอนนี้เป็นใหญ่เป็นโตกันหมดแล้ว”

นอกจากศิลปะแล้ว ในหลายๆ ประโยคเขาพูดถึงคำว่า “วัฒนธรรม” อยู่บ่อยๆ

“นอกจากผมจะได้ความรู้เรื่องศิลปะจากการไปอยู่ที่อังกฤษแล้ว ผมยังได้เรื่องวัฒนธรรม เรื่องการจัดการ เพราะที่นั่นเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม เป็นเมืองที่มีวิธีการจัดการกับประชาชน จริงๆ ต้องบอกว่าประเทศยุโรปทั้งกลุ่มนั้นเขาเอาคนเป็น

อันดับหนึ่ง คนคือหลักใหญ่ และความรู้ที่ให้อยู่ทุกวันก็ต้องให้ทุกวัน ขนาดช่องบีบีซี ยังมีช่องหนึ่งที่บอกว่าคุณควรจะต้องขึ้นรถเมล์อย่างไร สายรถเมล์นี้ไปไหน ทั้งที่เขามีรถเมล์มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่เขาก็ยังต้องบอกเรื่องนี้อยู่

“อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับคน เขาจะให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งผู้อพยพเขาก็จะถามว่ามีครอบครัวไหม ถ้ามี เดี๋ยวรัฐจะเลี้ยงให้เอง ต้องบอกว่าเขาปลูกจิตสำนึกมนุษย์ตั้งแต่เกิด ไม่ใช่กำลังจะปลูก แต่ปลูกมาเป็นร้อยปีแล้ว”

คิดว่าน่าจะมีหลายคนสงสัยคล้ายๆ กับเราว่าคนที่ได้ชื่อว่า เกจินู้ด ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญเรื่องทรวดทรงองค์เอว เรื่องผู้หญิงแบบนี้ จะเชี่ยวชาญในเรื่องเซ็กซ์หรือเปล่า เราเลยลองถามไปว่าฉายาที่ได้รับมันทำให้คนอื่นคิดบ้างไหมว่าเขาช่ำชองเรื่องบนเตียง? นิวัติตอบมาอย่างมั่นใจ ไม่มีลังเลแม้แต่น้อย

“แน่นอนครับ จริงๆ ผมก็เป็นแบบนั้นครับ แต่ผมอยากให้รู้ว่าคนเข้าใจผิดเรื่องนึงนะ ผมวิจารณ์ภาพ มันคืองานศิลปะ ผมไม่ได้วิจารณ์คุณ คุณไปถ่ายรูปมาแล้ว เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว ผมถึงค่อยมีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ แต่พวกช่างภาพก็ชอบส่งรูปมาให้ผมก่อน ผมด่ากลับเลย บอกว่าไม่ได้ คุณตีพิมพ์ในที่สาธารณะก่อน ผมถึงจะวิจารณ์ได้

“พอผมอายุได้ 60 ผมก็ลาออก แต่มติชนก็ยังให้ผมเขียนต่อ เขียนอยู่ถึงสองปี เขาถึงได้ให้เลิกเขียน จริงๆ คอลัมน์ที่ผมวิจารณ์ภาพถูกสั่งให้เลิกเขียนหลายครั้งมาก เพราะเรื่องแบบนี้มันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าตอนผมหยุดเขียน คือมติชนให้ผมออก แต่จริงๆ ผมออกมาแล้ว มันไม่ได้มีเรื่องอะไรหรอกครับ ก็แค่เขาไม่ให้ผมเขียนเท่านั้นเอง

“หรืออย่างเรื่องขายหุ้น ผมก็ไม่เกี่ยวเลย ผมไม่เคยมีหุ้นมติชนเลย ใครๆ เขาถึงว่านี่ล่ะทำไมผมไม่รวย ถ้าผมมีหุ้นมติชน ผมก็มีตังค์แล้ว แต่ผมก็ไม่มี เพราะผมคิดว่าผมทำไม่เป็น มันไม่ใช่วิถีทางของผม ผมไม่คิดว่าการทำแบบนี้จะทำให้ตัวเองรวยและมีความสุข”

นอกจากเรื่องของมูลนิธินกเงือกที่หลายคนไม่รู้แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนที่ไม่ได้ติดตามเขาอย่างเหนียวแน่นพอรู้แล้วคงประหลาดใจ ตั้งแต่การที่คนวัย 65 ปีอย่างเขาที่ดูแล้วไม่น่าจะข้องเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ กลับใช้เฟซบุ๊กอย่างจริงจัง (ในชื่อ กู๋ นิวัติ กองเพียร) มีเว็บไซต์ส่วนตัว (www.niwatkongpien.com) มีอีแม็กกาซีนให้อ่าน (สนุกนึกกับนิวัติ กองเพียร) ไปจนถึงการที่เขาเป็นอาจารย์พิเศษที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์และได้มีโอกาสสัมผัสกับคนรุ่นใหม่ๆ

“เฟซบุ๊กก็ดีนะครับ เป็นเรื่องของสังคมยุคใหม่ เพียงแต่ว่าเราขาดการเรียนรู้มันเท่านั้นเอง ประเทศนี้เป็นประเทศที่รับเอาทุกอย่างมาโดยที่ไม่มีการเรียนรู้ ทุกอย่างคือเรียนรู้กันเอง มันถึงไม่ใช่วัฒนธรรม คุณต้องมาสร้างวัฒนธรรมก่อน วัฒนะ แปลว่า ก้าวหน้า เพราะฉะนั้นคือต้องพูดเรื่องไปข้างหน้า ผมเองนั้นก็ไม่ใช่คนทันสมัยอะไร แต่เป็นคนที่อยู่ในสังคมปกติได้ คือยังต้องปรับตัวอยู่ แต่ผมพยายามที่จะหนีจากสังคมเมืองเท่านั้นเอง ผมอยากไปอยู่สังคมในชนบท อยากไปอยู่ในสังคมที่มันยังเห็นคนเป็นคนอยู่ ดูแลกัน ทักทายกัน เดี๋ยวนี้มันขาดวัฒนธรรมกันหมดแล้ว

“ส่วนเรื่องการเป็นอาจารย์ ตอนที่ผมเลิกเขียนผมก็ว่างงาน ก็เลยหาอะไรทำ บังเอิญว่าหนังสือ ‘เพลงดนตรี’ ของที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ไม่มีบรรณาธิการ ผมก็เลยไปบอกว่าผมจะเป็นบรรณาธิการให้ เขาก็ยกมือไหว้ผมเลย บอกว่าอย่าคืนคำนะ พรุ่งนี้ให้มาทำงานเลย แต่การทำงานมันต้องมีเงื่อนไข ผมก็เลยเสนอเงื่อนไขไปก่อน ถ้ารับได้ ผมก็ทำ รับไม่ได้ ก็ไม่ทำ สุดท้ายเขาก็เลยจ้างผมเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้จ้างเป็นข้าราชการ

“ผมก็ไปสอนวิชาสุนทรียศาสตร์ ซึ่งไม่มีอยู่ในหลักสูตร ผมสอนเรื่องความงามให้เด็กรู้จักความงามทุกอย่าง รับเฉพาะเด็กปี 3 ปี 4 เทอมนึงมีเด็กเรียนประมาณ 60-80 คน ผมได้มาสัก 3-5 คนที่มีแวว ผมก็เรียกมาใช้งาน ก็เจริญรุ่งเรืองกันหมด คนที่เรียนคอมโพสเซอร์ ผมก็เอามาแต่งเพลงให้อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ตอนครบรอบร้อยปี วงออร์เคสตราใหญ่เล่นที่ดุริยางคศิลป์ ผู้คนก็ประทับใจมาก หรือเด็กที่เขียนหนังสือเป็น ผมก็ให้ไปวิจารณ์หนังสือ ให้เขียนบทความ

“ผมเองสนใจเรื่องเพลงมาตั้งแต่หนุ่มๆ แล้วครับ เคยไปประกวดร้องเพลงด้วยซ้ำไป ผมเป็นนักร้องประสานเสียงของโรงเรียน หัดเล่นทุกอย่าง แต่ไม่เป็นสักอย่าง ผมก็ลองเรียนดู แต่สุดท้ายก็ไม่รอด อาจารย์สุกรีให้เปียโนผมมา ผมก็หัดเล่นเปียโน เปียโนอายุร้อยปี คีย์เป็นงาช้าง ส่งมาให้อย่างดีเป็นของขวัญวันเกิด แต่ตอนนี้จมน้ำไปแล้ว”

โชคดีที่กาแฟแก้วนั้นถูกยกมาเสิร์ฟ คั่นจังหวะการสนทนาพอดี เพราะเราไม่แน่ใจว่าอาการเสียใจและเสียดายของเขาที่มีต่อเหตุการณ์น้ำท่วมจะบรรเทาลงหรือยัง เพราะดูเหมือนเรื่องน้ำท่วมจะยังวนเวียนอยู่ในหัวของเขา

“ผมยังปฏิเสธพวกนักเขียนที่จะให้ผมเป็นนักเขียนนะ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอะไรเลยด้วยซ้ำ ผมว่าผมยังไม่ถึง เราไม่ถึงสักอย่าง ผมเพียงแต่ชอบศิลปะ สำหรับผมศิลปะมันคือทุกอย่างของชีวิต ทุกคนต้องมีศิลปะ ถ้าไม่มี ผมว่าคุณก็ยังเป็นคนเหมือนกัน แต่มันขาด ศิลปะของผมหมายถึงทุกอย่างนะครับ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี อะไรทั้งหลายแหล่

“ผมไม่เคยทำอะไรเกี่ยวกับศิลปะที่เป็นธุรกิจเลย มีคนจ้าง แต่ผมทำไม่ได้ เพราะผมจะไม่ทำงานกับคนที่มีวิธีคิดต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าจ้างผมก็ต้องเป็นแบบผม ถ้าจะให้แก้นี่นิดแก้นั่นหน่อย ผมไม่เอา ทุกคนบอกผมเสมอว่าถ้าผมไปทำบริษัทโฆษณา ผมคงร่ำรวยมหาศาลไปแล้ว

“จริงๆ ผมก็เคยไปทำ แต่ทำชิ้นเดียวก็เลิกแล้ว มันรับไม่ได้ มันคุยกันคนละภาษา แตกต่างกันมาก เขาบอกต้องเห็นแก่ลูกค้า ในขณะที่เราคิดว่าจะต้องยกระดับ นี่คือวิธีคิดแบบของผม เพราะฉะนั้นผมจึงทำธุรกิจยาก เรารู้ตัวเราว่าทำไม่ได้

“เพราะฉะนั้นความสุขของผมก็คือการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้าจะทำเอาเงินนี่ง่ายเลย แค่คุณยอมเขาเท่านั้นเองก็จบแล้ว ถ้าคุณยอมเขาได้ คุณก็ได้เงิน ทุกวันนี้ผมก็มีความสุขดีครับ หลักๆ ของผมคืออย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วก็อย่าเป็นหนี้สิน เท่านี้แหละครับชีวิต มีมากมีน้อยก็ใช้ไปตามที่ตัวเองมี ผมไม่รู้จะอยากได้อะไรอีกแล้ว

“แม้กระทั่งบ้านที่น้ำท่วมไปแล้ว ผมก็จะอยู่กับน้ำ กะว่าถ้าท่วมปีหน้าอีก ผมก็อยู่ได้เลยเพราะวางแผนไว้แล้ว ไม่ต้องออกมา ของทุกอย่างเอาขึ้นข้างบนหมด ถ้าที่วางแผนไว้ไม่พอ ก็สู้ต่ออีก ก็จะอยู่สูงขึ้นเรื่อยๆ คุยกับเพื่อนหมดแล้วครับตอนนี้ กำลังหาวิธีหาเงินเท่านั้นเองว่าจะทำได้อย่างไร กู้เงินก็ไม่ได้แล้วอายุ 65 แล้ว ลูกก็กู้จนกู้ไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)

ก่อนจากกัน ในฐานะผู้ประสบภัยน้ำท่วม เราขอให้เขาช่วยสรุปบทเรียนว่าประเทศไทยเรียนรู้อะไรจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้บ้าง และคำตอบของเขาก็เผ็ดร้อนไม่แพ้คอลัมน์สร้างชื่อของเขาเลย

“ผมว่าประเทศไทยไม่เรียนรู้หรอกครับ มันไม่สามารถเป็นบทเรียนที่จะให้เจ็บให้จำ หรือจะต้องรีบปรับปรุง เพราะประเทศนี้ไม่เคยจดจำบทเรียนอะไรเลย ตั้งแต่ผมเกิดมา ผมนึกไม่ออกว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เป็นบทเรียนต่อสังคมไทย แล้วเราจดจำเอามาเพื่อจะป้องกัน ไม่มีเลย มันซ้ำซาก

“ผมไม่คิดว่าเราจะทำได้ เพราะความห่างของคนมันต่างกันมาก วัฒนธรรมของคนก็ต่างกันมาก เราเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ทุนนิยมเข้ามาครอบจนหมดตัวแล้ว ไม่มีระบบอื่นอยู่ในประเทศนี้เลย มีแต่ทุนนิยมอย่างเดียว ผมถึงไม่มีความหวังเลย

“ผมอยู่ด้วยตัวเอง อยู่กับชุมชนเล็กๆ ไม่อยู่กับชุมชนใหญ่ เพื่อจุนเจือเกื้อหนุนต่อกัน แค่นั้นชีวิตก็มีความสุขแล้วครับ” 

กำเนิดเกจินู้ด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะฉายา “เกจินู้ด” ที่นิวัติได้ตอนที่ทำงานอยู่กับเครือมติชน ทำให้ทุกคนรู้จักเขาในฐานะคอลัมนิสต์อันตรายฝีปากจัด ทั้งที่เขาอยู่ในวงการหนังสือมานานกว่านั้นมาก

“หลังจากเป็นบรรณาธิการ ผมก็มาทำร้านอาหาร ทำอยู่ 8 ปีชื่อร้าน สนุกนึก แล้วก็ทำหนังสือสนุกนึกของตัวเองมาสามเล่ม แล้วก็เจ๊ง ถูกโกงครับ แล้วถึงค่อยเข้าไปที่มติชน ผมไปเขียนที่มติชนก่อนนะครับ เขียนไปเขียนมาเขาก็ชวนมาทำ ผมเลยไปเป็นบรรณาธิการของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ทำอยู่ตรงนั้นได้ 5-6 ปี คนอ่านก็มารู้จักผมตอนที่อยู่ที่มติชนมากที่สุด ทั้งที่ผมเขียนหนังสือเรื่องศิลปะมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 แต่ไม่มีใครรู้จักเลย

“ฉายา ‘เกจินู้ด’ ก็ได้มาในช่วงทีทำงานกับมติชน คนอ่านเขาตั้งให้ พอเราได้ชื่อว่าเกจินู้ดปุ๊บก็เลยบดบังเรื่องศิลปะที่พยายามจะนำเสนอ คนก็เลยนึกถึงผมเรื่องนี้เรื่องเดียว ในขณะเดียวกัน ผมทำเรื่องนกเงือกมาสามสิบปี ไม่ใช่น้อยๆ นะครับ แต่กลับไม่มีใครรู้เลย ผมไปเดินป่า ผมไปดูนกเงือก ผมทำมูลนิธินกเงือก ไม่มีใครรู้

“จริงๆ ผมอยากจะเลิกเขียนแนววิจารณ์ภาพถ่ายแบบที่ผมทำอยู่ด้วยซ้ำไป อยากจะเขียนแนวอื่นบ้าง เพราะชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว อายุมากขึ้นมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อีกอย่างมันก็ควรจะเปลี่ยนแล้ว มันซ้ำซาก จริงๆ มันมีอีกคำนึงที่คู่กันมากับฉายาเกจินู้ด นั่นคือ คอลัมนิสต์อันตราย ก็มาจากเขียนเรื่องไปด่าเขานี่แหละ แต่ตอนนี้ความคิดผมเปลี่ยนแล้ว ที่เคยด่าเขาไปก็ต้องไปขอโทษเขา”

มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี พ.ศ.2554 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย