คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

กวีบทหนึ่ง
กว่าจะมาเป็นนามปากกากุลทรัพย์ รุ่งฤดี ผู้เขียนร้อยกรอง เรื่องสั้น เรื่องยาวอันน่าถึง หรือปถพีรดี ผู้เขียนบทความสารคดี บทวิจารณ์ ร้องกรอง และมลฤดี ผู้เขียนตอบปัญหาทางหนังสือ นิตยสารชื่อดัง ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเยาว์วัยนั้น เสียงเจื้อยแจ้วอ่านงานวรรณคดีที่แตกฉานก็ดังขึ้น

“ตั้งแต่เด็กมาอาจารย์จะอยู่ในครอบครัวที่ผู้ใหญ่มักจะว่าจ้างให้อ่านหนังสือให้ฟัง แล้วส่วนใหญ่หนังสือที่อ่านก็จะอยู่ในจำพวกวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ พระอภัยมณี จำปาสี่ต้น ฯลฯ พออ่านเสร็จก็จะให้สตางค์ สมัยนั้นตั้งแต่ชั้นประถมมาก็สามารถอ่านหนังสือได้แตกฉานแล้ว พอเราอ่านไปก็จะซึมซับว่าวรรณคดีนี้มีความไพเราะมาก ผู้ใหญ่ก็จะชอบฟัง อ่านมาจนโต 

“เพราะความที่ชอบอ่านเขียน จึงส่งผลให้เป็นคนเรียนดีตั้งแต่เด็ก ได้รับการเลื่อนชั้นทำให้เรียนเร็ว ผลการเรียนก็ได้ลำดับที่ 1-2 อยู่เสมอๆ เรื่องทุนการศึกษานี้ก็ได้ประจำ ดิฉันต้องอาศัยทุนการศึกษา เพราะได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่แพง (โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์) ฐานะทางครอบครัวตอนนั้นก็จน พี่น้องมากมาย (10 คน เสียชีวิต 2 คน) คิดว่าอะไรที่สามารถแบ่งเบาภาระทางบ้านได้ก็จะดีมาก 

“สมัยก่อนเมื่ออยู่ชั้นมัธยมนั้นจะมีการสอนวรรณคดีด้วย แล้วก็จะมีบทท่องอาขยาน ทำให้เราได้เรียนรู้คำที่ไพเราะมาบ้างแล้ว ประกอบกับมีเพื่อนสนิทที่ชอบโครงกลอนเหมือนกัน ก็จะผลัดกันเขียนกลอนให้กันอ่านอยู่เสมอๆ อย่างบางครั้งเมื่อถึงวันสำคัญของใครก็ตาม เราก็จะเขียนคำอวยพรให้เรื่อยๆ พอดีช่วงที่มาเรียนที่โรงเรียนเขมะสิริฯ ท่านอาจารย์ใหญ่ หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ท่านเองก็มีความสนใจในเรื่องของศิลปะ ดนตรี ตอนนั้นอยู่ ม.7-8 แล้วได้ทราบข่าวว่าท่านเตรียมจะทำละครเรื่องพระลอ ก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะเพลงของละครนั้นไพเราะมาก วรรณคดีเรื่องนี้มีความไพเราะมากอีกเช่นกัน ความชอบในด้านนี้จึงยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

“แต่พอจบม.8 แล้ว เริ่มมีความคิดสับสนเพราะอยากจะไปเรียนหมอเหมือนกันนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนเพราะในที่สุดหัวเรามันไม่ได้ไปทางนั้น เลยมาเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของภาษา ศิลปวัฒนธรรม ก็ยิ่งส่งเสริมให้เรามีความชื่นชมในการใช้ภาษามากขึ้นเจนเพาะบ่มจนเกิดเป็นความอัจฉริยะความสามารถด้านภาษาส่วนตัวโดยเฉพาะ แม้ขณะเรียนนั้นไม่เคยมีการสอนให้เขียนบทร้อยกรอง แต่เราก็สามารถเขียนได้ เพราะมีประสบการณ์จากการอ่านมาก เรียนรู้มากนั้นเอง

“งานวรรณคดีนี้มีเอกลักษณ์ในเรื่องของภาษา ซึ่งเป็นภาษาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษมีความสวยงาม การที่อาจารย์ได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยเกิดความหลงใหล และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้สนใจในด้านภาษา ด้านวรรณกรรมเป็นพิเศษยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด”

ปฐมบทนักอักษร

เมื่อเริ่มเดินเส้นทางของนักเขียน จากมือสมัครเล่น ก็ได้กลายเป็นมืออาชีพในไม่ช้า เธอได้เริ่มเขียนหนังสือส่งไปยังสำนักพิมพ์ในขณะที่ยังเป็นเพียงนิสิต เรื่อยมาจนกลายเป็นนักกวีที่มีผลงานโดดเด่นระดับชาติ 

“ขณะเรียนที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ก็เริ่มเขียนกลอนส่งไปรษณีย์ไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามสมัย ซึ่งสมัยนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมาก เขาก็เอาของเราลง เรียกได้ว่าหลังจากนั้นทุกบทที่ส่งไปไม่เคยถูกทิ้งลงตะกร้าเลย เพราะมันก็ทำให้เรามีกำลังใจแถมยังได้สตางค์เป็นค่าขนม ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพราะที่บ้านฐานะไม่ดีครั้นจะไปขอสตางค์เขามากก็คงไม่ไหว พอได้สตางค์ตรงนี้ก็ช่วยให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วย 

“นอกจากกลอนแล้ว ยังมีเขียนเรื่องสั้น ซึ่งก็ได้ลงทุกครั้งอีกเช่นกัน สมัยนั้นเขียนกลอน 1 บทก็ได้สตางค์ 30 บาท เรื่องสั้น 100 บาท ต่อมาเขาก็ได้เพิ่มค่าต้นฉบับให้เรื่อยๆ ขณะที่เรียนก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านแล้ว ได้ย้ายออกมาอยู่กับพี่สาวที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือและอยู่ดูแลหอพักในวิทยาลัยครูสวนสุนันทา เราก็จะมีเวลาเขียนหนังสือมากขึ้น และเวลาว่างจากนั้นก็จะรับจ้างเย็บเสื้อให้นักเรียนฝึกหัดครูในนั้น ถือว่าชีวิตมีความสุขพอสมควร ได้เรียนและทำในสิ่งที่รักอย่างงานวรรณคดี แถมยังสามารถใช้ความถนัดอย่างงานเขียนและงานเย็บปักถักร้อย สร้างรายได้เสริมดูแลตนเองได้

“จนกระทั่งเรียนจบ ก็ไปสมัครงานด้านครู เพราะใจอยากจะเป็นครู ไปสมัครที่ไหนๆ ก็ไม่ได้สักแห่ง จนกระทั่งในที่สุดก็ได้ไปสอบที่กรมศิลปากร ซึ่งก็ได้เป็นตัวสำรองอีกนั่นแหล่ะ มันก็ไม่ได้รู้สึกท้ออะไร เพราะมาเข้าใจได้ว่า เหตุที่ไม่ได้นั้นเพราะเรามีความพิการทางร่างกายด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากตอนที่คลอด ได้เอาเท้าออกมาก่อน หมอตำแยเลยดึงออกมา ก็เลยมีความผิดพลาด คอจะเอียงติดด้านขวาไปเลย ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกว่าเราผิดปกติอะไรนะ เพราะมันไม่เจ็บปวดอะไร นอกจากตอนมัธยมก็จะมีเพื่อนล้อบ้าง แต่เมื่อภายหลังคุณหมอที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ได้ทำการผ่าตัดให้ภายหลังอาการเอียงติดจึงดีขึ้นมาก

“พอดีกับช่วงที่ติดตัวสำรองที่ศิลปากร ก็เลยคิดว่าจะเข้ามาทำงานที่พิมพ์ไทยที่เป็นต้นสังกัดของสยามสมัย ซึ่งพอเข้าไปสมัครเขาก็รับทันทีเลย แต่วันที่จะไปทำงานจริงๆ กลับกลายเป็นว่าที่ศิลปากรเขาก็ตอบรับเข้าทำงานพอดี ก็เลยต้องเลือกกรมศิลป์ เริ่มจากกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เพราะด้วยสวัสดิการที่จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวเราได้ เผื่อเจ็บไข้ได้ป่วยทำนองนั้น ใจก็คิดแค่ว่าเมื่อได้งานที่รักก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะได้มาเป็นอธิบดีหรืออะไร

“พอทำที่นี่ก็รู้สึกว่า นี่มันคือขุมทรัพย์ของเราแล้ว เพราะเวลาใครจะพิมพ์หนังสืออะไรก็จะมาขอตีพิมพ์ที่นี่ เราก็จะได้อ่านหนังสือมากมาย เช่นบทพระราชนิพนธ์ สามก๊ก รามเกียรติ์ รวมไปถึงหนังสือหายากที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ อย่างประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดาร ฯลฯ มันรู้เหมือนว่าเราได้กระโจนเข้าไปในขุมทรัพย์แห่งวรรณคดี เพราะเราเองก็ต้องมีหน้าที่ตรวจปรู๊ฟหนังสือเหล่านั้นด้วย เพราะทุกครั้งที่เขาจะพิมพ์ก็ต้องส่งปรู๊ฟมาให้เราตรวจด้วย ซึ่งก็ต้องมีการตรวจถึงสามครั้ง เราก็จะซึมทราบมาก เพราะงั้นอย่างหนังสือเรื่องสามก๊ก เขาบอกว่าคนอ่านสามก๊กครบสามหนนั้นคบไม่ได้ แต่เราอ่านมากกว่านั้น เป็นกว่าสิบครั้งเลย ก็ไม่เห็นว่าจะคบไม่ได้นะ (หัวเราะ)”

ขุมทรัพย์แห่งวรรณคดี

นอกจากความรักในตัวหนังสือ ที่นำพาตนเองให้เข้ามายังต้นตอของงานวรรณกรรมไทย หลายสิ่งต่อมาก็ดูเหมือนจะพิสูจน์ได้ว่าโชคชะตาได้ถูกขีดไว้ เพื่อให้เธอได้เดินทางสายอนุรักษณ์และพัฒนางานวรรณกรรมอันสะท้อนถึงรากเหง้าของความเป็นไทย 

“การอ่านมากนี้ก็จะทำให้เราได้เรียนรู้สำนวนภาษาการแปลวรรณคดีในภาษาต่างๆ ได้เรียนรู้ระเบียบวิธีการใช้ภาษาชั้นสูงไปพร้อมๆ กับการทำงาน เมื่อได้อ่านหนังสือเหล่านี้ก็จะเกิดความชื่นชมมาก จนต่อมาเมื่อได้ย้ายมาอยู่กองหอสมุดแห่งชาติ ก็จะไม่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเหล่านั้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งการอ่าน และงานเขียนโครงกลอนก็ยังทำอยู่ 

เห็นช่วงที่สยามสมัยหมดยุคพอดี จากนั้นก็เขียนให้ที่นารีนาถ บางกอก เปรียว กุลสตรี ขวัญเรือนก็มีเขียนบ้าง หลังจากนั้นก็ไปเมืองนอกเขียนเรื่องจันทร์เจ้า ลงในหนังสือสกุลไทย ตอนหลังเราก็มาเขียนหนังสือให้กับนารีนาถ งานเขียนที่เขียนตอนนั้นนอกจากโครงกลอนแล้ว ยังเขียนเรื่องสั้น และสารคดีท่องเที่ยวอีกด้วย มันเป็นการฝึกหัดมาเรื่อยๆ นะ จนมาถึงเข้ารับราชการก็ยังเขียนอยู่ จนถึงทุกวันนี้ เย็นๆ พอกลับไปบ้านก็นั่งลงเขียนเรื่องได้ เพราะบรรยากาศโดยรอบบ้านนั้นดีมาก เราก็จะคิดงานได้สบายๆ ไปตามจินตนาการ 

“และหากพูดถึงบทอาเศียรวาท ที่ได้มุ่งมาเขียนเฉพาะเป็นส่วนใหญ่ก็เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระราชวงศ์ เพราะพระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยมากมายเหลือเกิน แต่อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ก็จะออกมาโจมตี ซึ่งการที่เราออกมาเขียนถวายพระพรพระองค์ท่านก็ไม่ได้เขียนเพื่อการประจบประแจง หากแต่เราแสดงออกในทางที่ควรว่าเราจะเชิดชูความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คนเราหากมีความกตัญญูนั้นจะมีความเจริญแน่นอน 

“การเขียนบทอาเศียรวาทนี้ ไม่ค่อยมีคนเขียน มันเป็นการเขียนที่ใช้ภาษาระดับสูง ต้องมีการใช้วรรคตอนที่ถูกต้อง ให้ความหมายที่เหมาะสม เพราะกฎระเบียบของการเขียนร้อยกรองนั้นจะต้องจบลงในวรรค ใช้คำที่ไพเราะและสมพระเกียรติ เราเองก็ได้มีโอกาสช่วยเขียนงานสุนทรพจน์ให้กับนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัย แต่มาในช่วงนี้ก็งดไปเพราะด้วยอายุที่มากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังให้คำปรึกษาให้ความเห็นแก่ทุกคนอยู่เสมอ

ความงามแห่งวรรณกรรม 

ด้วยความโดดเด่นของวรรณกรรมไทย คือการสะท้อนสภาพสังคมไทยในอดีต ตามยุคสมัยที่วรรณคดีเกิด และวรรณดคีจะให้รายละเอียดปลีกย่อย เรียกได้ว่าวรรณคดีมีไว้เพื่อรับใช้ประวัติศาสตร์ คุณค่าเหล่านี้กำลังจะค่อยๆ จางหายหากไม่มีใครคอยอนุรักษ์เช่นที่อาจารย์ ได้ทำมาตลอดชีวิต

“ร้อยแก้ว ก็คือการนำเอาคำที่งดงามประดุจแก้วแวววับมาเรียงร้อยต่อกัน ส่วนร้อยกรองนั้นต้องมีฉักทลักษณ์เช่นโครง ดั้นก็มีตั้ง 80 ชนิด กลอนก็มีตั้งแต่กลอน 6 กลอนกลอน 7 กลอน 8 กลอน 4 โครงก็มีโครงสี่ โครงดั้นสี่ กลอน 7 คำ ก็สามารถร้องเพลงได้ กลอน 8 ก็จะเป็นละคร เยอะมาก เพราะฉะนั้นเลือกเขียนได้ แต่ห้ามผิดฉันทลักษณ์ ห้ามสัมผัสซ้ำ ห้ามเขียนผิดสัมผัส ลงผิดเสียง เสียงสัมผัสวรรคที่สองจะต้องลงด้วยเสียงสูง คือเสียงจัตวา จะมาลงเสียงเอกก็ได้ แต่ห้ามลงเสียงสามัญ การจะเป็นกวีมันต้องหาคำให้ได้ มันต้องมีสมอง

“ปัจจุบันงานเขียนมันได้มีการถ่ายทอดบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของผู้เขียนลงไปในงานเขียนแต่ละประเภท การใช้คำ ใช้ภาษาก็จะไม่เหมือนกัน อาจมีการใช้คำพูดในการเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก หรือเรื่องราวได้ แต่ท้ายที่สุดต้องอย่าลืมว่าภาษาที่ใช้ทางการของไทยเรานั้นควรจะใช้กันอย่างไร 

“เรามีภาษาไทยมา 700 กว่าปี แล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวเป็นธรรมดา เพราะภาษานั้นมีชีวิต มีการเคลื่อนไหวไปตามยุคสมัย เพียงแต่เราต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เจริญ บางคำใช้ผิดแม้แค่เพียงนิดเดียวความหมายก็กลับกันไปเลย เพราะงั้นเรื่องการใช้ภาษานี้ต้องระวังมาก อย่าใช้ภาษาที่เยิ่นเย้อ แล้วที่สำคัญภาษาไทยนั้นไม่ยาก จำหลักไว้ว่าประธาน กิริยา กรรม เขียนให้ถูกเท่านี้ก็รู้เรื่องกันแล้ว และการเขียนภาษาไทยแล้วไม่ใส่ไม้เอกไม้โท มันคือการทำลายวัฒนธรรมภาษา 

“ภาษาไทยของเรานั้นมีค่ามาก ทำให้ภาษาไทยสามารถเขียนคำที่ออกเสียงของทุกภาษาบนโลกนี้ได้หมดเลย เพราะวรรณยุกต์เหล่านี้จะทำให้เราสามารถเขียนคำตามที่เราเปล่งเสียงออกมาได้ครบถ้วนหมด และหากว่าย่อหน้าไม่เป็น ภาษาก็ไม่ได้นะ เพราะถ้าย่อหน้าไม่มีก็ไม่มีใจความ มันต้องมีบทนำ ใจความและสรุป ถึงจะเรียกว่าบทความ เรียงความ หรือความเรียง สิ่งนี้คือพื้นฐานที่เราจะต้องรู้ในเรื่องภาษาไทย แต่สมัยนี้มันไม่มีการสอน อันนี้คืออันตรายกว่าการเปลี่ยนแปลงเพราะมันคือความเสื่อม

“วรรณคดีจะบอกเรื่องราวถึงรากเหง้าของพวกเราชายไทยได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องภูมิใจในวิถีชีวิตของคนแต่ละยุคสมัยที่สร้างคุณงามความดีจนเรามีแผ่นดีได้ยืน

“ลูกหลานคนไทยควรจะสนใจประเทศไทยของเราให้มากขึ้น บ้านเรานี้มีสิ่งที่ดีงามเยอะมาก ครู คือบุคคลที่สำคัญที่จะช่วยรักษา ปลูกฝังเด็กได้รู้คุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมไทย วรรณคดีนี่คือตัวแทนแห่งความเจริญทางวัฒนธรรม ในส่วนของการเรียน หากเด็กไม่เคยเขียนเรียงความทำข้อสอบแบบปรนัยมันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กๆ เขียนหนังสือไม่เป็น ที่เด็กไม่รู้ความภาคภูมิใจที่เรามีภาษาของตัวเองอันสวยงาม 

“ที่สำคัญการศึกษาไทยนี้น่าเป็นห่วง เพราะมันไม่ได้สอนอะไรที่สำคัญเราละเลยวิชาที่ควรจะสอนอย่างประวัติศาสตร์ เด็กไทยจะไม่มองหันกลับไปดูเลยว่าประเทศชาติกว่าจะมีทุกวันนี้มีความเป็นมาอันน่าภาคภูมิใจอย่างไรภาษาที่เป็นวัฒนธรรมอันดีงาม น่าภาคภูมิใจของเราก็เอามาใช้ มาทำเสีย เสื่อมกันไป พูดดำกลับเป็นขาว พูดขาวกลับเป็นดำ จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของการใช้ภาษานี้มันก็ทำให้เกิดการเผาบ้านเผาเมืองกันได้ ซึ่งมันผิดวัฒนธรรมทางภาษา คือเมื่อเราได้พูด หรือเขียนอะไรออกไปแล้ว เราก็ต้องรับว่าเราได้ทำอย่างนั้นจริงๆ เพราะมันคือความรับผิดชอบอันซื่อตรง แต่ถ้าในอนาคตถ้าเรามีครูภาษาไทยดีๆ เราก็ยังพอมีหวังนะ”

‘อื่นใดหรือจะสู้ รู้รักภาษาไทย’ จุดมุ่งหมายจากหัวใจของผู้หญิงที่ทำงานเพื่อแผ่นดินมานานเกินกว่าครึ่งของชีวิตเพื่อคำๆ นี้ ตลอดเส้นทางเพื่องานวรรณกรรมของไทย เกียรติคุณของเธอได้ถูกจารึกไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า

“ณ วันนี้อายุ 82 ปีแล้ว ได้ทำงานที่ตนเองรักเสมอมา และได้รับการยกย่องเกียรติคุณพอสมควรแล้ว ถือได้ว่ามีความพอใจในชีวิตมากแล้ว” คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ กล่าวพร้อมรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย คล้ายกับบทกลอนที่ยังไพเราะเสนาะหูไม่รู้ลืม

 

 

ด้วยความสวยงามในภาษาแห่งบทกวี คล้ายเป็นสิ่งชี้นำให้เมล็ดพันธุ์แห่งภาษา