สังขละบุรี

สังขละบุรี

ณ นาทีที่มันสิ้นสุดตัวเองลงอย่างสงบงาม เมืองสังขละบุรีโอบรับส่งต่อการมาถึงของผู้คนที่ใช้ถนนสายนี้ด้วยภาพอุ่นตา เมืองชายแดนไทย-พม่า ท่ามกลางทะเลสาบรอบล้อมและสีสันของผู้คนอันเปี่ยมชีวิตชีวา

ระยะทาง 415 กิโลเมตรนั้นไม่มากนัก หากใครสักคนจะผลักพาตัวเองออกจากเมืองหลวง

ทว่าเมื่อมายืนอยู่กลางอากาศเย็นเยียบ แย้มยิ้มของผู้คนริมขอบชายแดนอันมากมายมิตรภาพ ขุนเขาและผืนน้ำเปี่ยมนิยามของคำว่าบ้านอาจคล้ายที่แห่งนี้วางตัวเองอยู่ในความฝันอันไกลแสนไกล

ยามเช้าที่ “สะพานอุตมานุสรณ์” ไม่เคยจางคลายผู้คน พี่น้องชาวไทยรามัญผ่านพ้นคืนวันอันยาวนานมาด้วยประวัติศาสต์และพระพุทธศาสนา ชีวิตของพวกเขางดงามและฉายชัดภาพสุขสงบ “ถนนสะพานไม้ซอย 4”เนืองแน่นไปด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ มิตรภาพถักทอผ่านการไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ทว่ายามพระสงฆ์ย่างเท้าเข้ามาบิณฑบาต โลกตรงนั้นกลับเงียบงันและคำว่าศรัทธาก็เปี่ยมชัดความหมาย

บนสะพานมอญ ผืนน้ำของทะเลสาบเขื่อนเขาแหลมแผ่กว้างไปกับแดดอุ่น สะพานไม้โดดเด่นด้วยความยาว 850 เมตร ทอดตัวรองรับผู้คนหลากหลายเหนือผืนน้ำ ทั้งนักท่องเที่ยวที่หลงรักภาพธรรมชาติอันสวยงาม หรือหญิงชาวมอญที่ “ทูน” ของเหนือศีรษะ ห่มคลุมตัวเองด้วยโสร่งลายสวย ใบหน้าเจือทานาคาเป็นวงงดงาม มีเอกลักษณ์

แดนดินสังขละบุรีคือบ้านหลังอุ่นของผู้คนสามวัฒนธรรม ไทย มอญ และกะเหรี่ยง พวกเขาอยู่ร่วมกันในเมืองเล็กๆ ขอบแดนขุนเขาชายแดนไทยพม่า ที่ที่หนทางการติดต่อมากมายไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” หรือหินสามกองที่เรียกขานกันมานาน เป็นที่สักการะของผู้คนแต่อดีตกาล เส้นทางสัญจรเชื่อมต่อไทยพม่าเก็บงำไว้ซึ่งเรื่องราวของผู้คนเล็กๆ ตามชายแดน ทั้งการไปมาหาสู่ เส้นทางเดินทัพ และความเชื่อมโยงแห่งชีวิต ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีได้เป็นผู้นำชาวบ้านก่อสร้างเจดีย์ขนาดเล็กสามองค์ดังที่เห็นในปัจจุบัน 

ภาพอันมีชีวิตชีวาของสังขละบุรีชัดเจนอยู่ในทุกมิติ อาหารการกินล้วนดึงดูดให้คนเข้ามาทำความรู้จัก ขนมจีนหยวกกล้วย แกงกระเจี๊ยบ หรือแกงหมูกระท้อน “สำรับชาวมอญ” ตามร้านเล็กๆ แถบเชิงสะพานมอญ ล้วนดึงดูดให้คนจากนอกขุนเขาเข้ามาทำความรู้จักมิติแห่งวัฒนธรรมของพวกเขา

ในหนึ่งวัน ภาพชัดของความร่มเย็นที่หล่อหลอมผู้คนสังขละบุรีล้วนฉายชัด ที่วัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ เจดีย์พุทคยาจำลองปลั่งทองสะท้อนแดดสาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะพม่า อ่อนช้อย งดงาม กลิ่นธูป ควันเทียน 

และภาพจริงแท้ในคุณค่าของพระพุทธศาสนาเด่นชัดทั้งผู้คนท้องถิ่นหรือนักเดินทางจากแดนไกลที่พาตัวเองมาอยู่กลางความสงบร่มเย็น

หากเป็นหน้าน้ำน้อย หลายคนไม่พลาดที่จะพาตัวเองลงไปในมวลน้ำของทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม (วชิราลงกรณ) ส่วนเสี้ยวของเมืองสังขละบุรีที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำชัดเจนที่วัดวังก์วิเวการาม (เก่า) อุโบสถคร่ำคร่าที่โผล่พ้นน้ำเผยอดีตที่กลายเป็น “เมืองบาดาล” วัดเก่าแก่

แห่งนี้เกิดขึ้นด้วยศรัทธาของพี่น้องชาวมอญและกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496

ภายหลังปี พ.ศ. 2527 การมาถึงของเขื่อนได้จมหายบ้านเรือนไปพร้อมกับอดีตของสังขละบุรี ทว่าชีวิตอันปรับเปลี่ยนไปตามคืนวันก็ยังสะท้อนความงดงามด้วยเรือนแพและการพบกันของสายน้ำซองกาเรีย บีคลี่ และแม่น้ำรันตี ณ ที่ซึ่งเรียกกันว่า “สามประสบ” ภาพตรงนั้นงดงามทุกยามเช้า 

เสน่ห์อันเรียบง่ายและเก่าแก่ของสังขละบุรีน้อมนำให้หลายคนเลือกที่นี่เป็นจุดหมายปลายทาง ภาพผสมผสานวัฒนธรรมเก่าใหม่ค่อยก่อรูปขึ้นกลางหุบเขา เกสต์เฮาส์และร้านกาแฟสะท้อนจังหวะเนิบช้าของสังขละออกมาอย่างลงตัวและแสนรื่นรมย์

บ้านไม้เก่าถูกผู้คนที่หลงรักมันปรุงโฉม อย่าง Graph Cafe ที่กลายเป็นหมุดหมายของนักเดินทาง กาแฟกรุ่นหอม ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนอบอุ่น ที่ด้านหลังคือ Haiku Guesthouse ที่พักแสนน่ารัก สงบ ชัดเจนความสุขในดีไซน์เรียบง่ายที่รับแรงบันดาลใจจากบทกวีญี่ปุ่น

บางซอกมุมไล่ลัดตามเนินลงไปเป็นบ้านพักที่นำพาศิลปะมาผสานกับความเรียบง่ายของสังขละบุรี “ชื่นใจ เฮาส์” คือภาพ “แรกๆ” ที่หลายคนเลือกจะเข้ามาพักหลับฝันเมื่อผ่านพาตัวเองมาที่นี่

ร้านโปสการ์ด ร้านกาแฟ หรือโรงเรียนสอนโยคะเล็กๆ อย่าง “House of Soul” คือสิ่งบอกชัดถึงเสน่ห์ของสังขละบุรีที่ดึงดูดให้หลายคนเลือกเข้ามาหาที่ทางอันพักวางหัวใจของตนเอง เปลี่ยนแปลงปรุงโฉมให้เมืองชายแดนแห่งนี้มากมายไปด้วยเสน่ห์อันหลากหลาย หลอมรวมผสมผสานกับโลกใบเก่าอันเคลื่อนหมุนไปอย่างเรียบง่ายของผู้คนท้องถิ่นได้อย่างเปี่ยมมิตรภาพ

ตั้งแต่แสงเช้าแรกๆ ฉาบไล้ลงบนทะเลสาบและกระจายหมอกชื่นเย็นให้ฟุ้งฝัน ที่สังขละบุรี วันทั้งวันอาจเป็นเรื่องของการผสมผสานระหว่างผู้คนอันน่าหลงใหล

ศรัทธาในพระพุทธศาสนาใช่เพียงบทสวดขอพร ทว่าชัดเจนอยู่ในวิถีชีวิตอันง่ายงามของพวกเขา 

บ้านเรือนใช่เพียงเก็บงำความเก่าแก่ไว้อย่างรอวันหายสูญ ทว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีเสน่ห์ กลายเป็นทิศทางใหม่ให้คนที่อยากทำความรู้จักแผ่นดินชายแดนแห่งนี้เดินทางข้ามโค้งภูเขามาอย่างไม่ขาดหาย

ทว่ากับสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง อาจมีเพียงขุนเขาและผืนน้ำกว้างใหญ่ ที่โอบล้อมภาพผสมกลมกลืนเปี่ยมเสน่ห์เช่นนี้ไว้อย่างอย่างจีรังยั่งยืน

How To Go?

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านนครปฐม เมื่อถึงแยกบ้านโป่ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 ขับไปทาง จ.กาญจนบุรี จากนั้นมุ่งหน้าสู่แยกแก่งเสี้ยนให้ขับไปทางอำเภอทองผาภูมิ จากนั้นแยกขวาที่อำเภอทองผาภูมิ มุ่งหน้าสังขละบุรี (เส้นทางเป็นทางภูเขาคดโค้ง ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง)

 

 

มุ่งสู่อ้อมกอดขุนเขาของชายแดนตะวันตก