ชาลี อินทรวิจิตร
ย่างเท้าเข้าวงการ
เขาคือหนุ่มท่าฉลอม ที่ค่อยๆ ก้าวตามความฝันแห่งเส้นทางดนตรี ด้วยใจที่รักในเสียงเพลง เขาเริ่มต้นจากความชอบร้องเพลง แล้วค่อยๆ เรียนรู้จากครูเพลง จนสามารถกรุยทางเข้าสู่วงการได้ด้วยความสามารถที่ผสานกับพรสวรรค์ได้อย่างลงตัว
“ผมชอบร้องเพลงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยเรียนหนังสืออยู่อำนวยศิลป์ ก็ชอบไปดูนักร้องเขาร้องเพลงเสมอๆ เขาชื่อสถาพร มุกดาปกรณ์ เพราะรู้สึกว่าเขาร้องได้ถูกใจผมเหลือเกิน ตอนนั้นก็ฝึกร้องไปเรื่อย จนผมลองไปประกวดดูบ้าง จนได้รางวัลชนะเลิศ ก็ได้พบกับครูล้วน ควันธรรม ท่านก็สอนเรื่องเพลงให้กับผม
“ต่อมาผมก็ได้มีโอกาสช่วยครูล้วนแต่งเพลงให้กับวิเชียร ภู่โชติ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งเพลง เรียกได้ว่าเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่พ.ศ. 2495 แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้จริงจังมากนัก พอดีได้มีโอกาสเข้ามาร้องเพลงสลับฉากละคร ต่อมาก็เริ่มมีคนมาให้เขียนเพลงหนังมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมารู้จักกับ สวลี ผกาพันธ์ เมื่อได้เล่นละครเวทีเรื่อง จุฬาตรีคูณ ที่เฉลิมไทย ได้ร้องเพลง ใต้ร่มมลุลี จำได้เลยว่ามีผู้ชมแน่นมากจริงๆ
“เมื่อกระแสนิยมละครเวทีเริ่มน้อยลง ผมก็ไปเล่นละครทีวีเป็นท่านต้อมในเรื่อง บ้านทรายทอง ซึ่งผมเองก็ได้เป็นคนเขียนเนื้อร้อง โดยมีสมาน กาญจนผลิน เขียนทำนอง ผมเขียน 15 นาที เสร็จครึ่งเพลง พอตกกลางคืนก็เขียนได้จนจบ ตั้งแต่นั้นมาผมก็นึกได้ทันทีเลยว่าคู่ทำเพลงที่เหมาะกับผมนั้นต้องเป็นสมาน กาญจนผลินนี่แหละ ผมยกให้เป็นคู่หู ส่วนสง่า อารัมภีร ผมยกให้เป็นคู่เคียง และก็จะมีประสิทธิ์ พยอมยงค์อีกหนึ่งคนที่เข้าขากันดี ได้แต่งเพลงจนได้รับตุ๊กตาทอง จนมาได้แต่งเพลงสดุดีมหาราชา ที่แต่งให้ภาพยนตร์เรื่องลมหนาวของ ชรินทร์ นันทนาคร ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีแล้วในชีวิต
“ชรินทร์ นันทนาคร เป็นนักร้องคนแรกที่ผมแต่งเพลงให้แล้วเขาก็เอาไปอัดเป็นแผ่นเลย แล้วก็มีแจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์นี่เขาก็จะมาให้ผมแต่งเพลงให้จนดัง ซึ่งทุกครั้งที่แต่งเพลง ผมจะมีความเชื่อมั่นว่า มันจะต้องดังทุกเพลง”
บทเพลงดั่งบทกวี
ครูชาลีเชื่อในพรสวรรค์ของตนเอง แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะพัฒนางานเพลงของตนเองอยู่เสมอ นอกจากบทเพลงดังๆ มากมายแล้ว ยังมีภาพยนตร์ยี่สิบกว่าเรื่องที่สร้างชื่อให้กับเขาในอีกสาขาหนึ่งเช่นกัน
“ผมเชื่อในเรื่องของโอกาส และสิ่งที่จำขึ้นใจได้เสมอนั้นก็คือ ‘รูปปั้นที่ขาดแสง ภาพวาดที่ขาดสี บทกวีที่ไร้ตัวอักษร คือกวีทางเสียง แสงของอารมณ์ สีของวิญญาณ เสียงประสานของความเงียบงัน คือกวีทางอักษร’ แต่ถ้าสองสิ่งนี้มาสัมพันธ์กันจะทำให้คุณได้รู้คุณค่าของบทเพลง มันคือสัมผัสลึกล้ำที่ทำให้เพลงได้รับความนิยมมามากกว่าพันปี นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจและจำจนขึ้นใจ
“เวลาผมจะไปกำกับหนังนะ พวกนักแสดงเขาจะไม่ค่อยกล้านั่งกินข้าวกับผมกันหรอก เพราะเขาเกรงใจ กลัวว่าจะไปทำลิงทำค่างต่อหน้าผม ซึ่งผมเองก็เกรงใจเขากลัวว่าเขาจะกินกันไม่สะดวก ก็เลยต้องหลบมุมไปกินคนเดียวเสมอๆ (หัวเราะ) ก็มีครั้งนึงไปนั่งกินข้าวริมทะเล นั่งดูโขดหินที่โดนน้ำซัดก็ไปสังเกตมองเห็นรูตรงโขดหิน ดูทุกวันก็เห็นมันขยายขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยได้เป็นที่มาของเพลง ทะเลไม่เคยหลับ
“ซึ่งเพลงที่แต่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเกี่ยวเรื่องส่วนตัวของผมเท่าไหร่นะ อย่างเพลงท่าฉลอมนั้นก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่ที่เกี่ยวกับความรักของผมคือเพลงสาวนครไชยศรีนี่แหละเพลงทุกเพลงที่ผมแต่งนั้นล้วนมาจากจิตวิญญาณ ผมชอบทุกเพลงที่แต่ง และเมื่อผมเขียนหนังสือ ก็ได้รับรางวัลจากสมาคมนักเขียน ให้เป็นนักเขียนเกียรติยศ ผมเขียนได้หมดนะทั้งร้อยกรองและร้อยแก้ว จนเรื่อยมาได้มีโอกาสเป็นผู้กำกับหนังทำเงินจากเรื่องไอ้หนึ่ง แต่ที่ดังเป็นพลุแตกนั้นก็เมื่อได้แต่งเพลงในเรือนแพ เขาก็ยกให้เป็นนักแต่งเพลงยอดเยี่ยม”
วันวานที่หวนนึกถึง
เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา ถือว่าในแต่ละช่วงชีวิตได้เดินทางมาครบเกือบทุกรสชาติแล้ว ครูเพลงท่านนี้จึงหวังว่าหากยังมีแรงก็จะขอทำงานเพลงไปเรื่อยๆ และก็ยังสามารถแบ่งเวลามาเขียนหนังสืออยู่เสมอ
“ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ แล้วผมจะจำคำและจังหวะดีๆ ประโยคประทับใจนั้นเอาไว้ อย่างเพลง มนตร์รักดอกคำใต้ นี่เอามาจากหนังสือ แต่ละครั้งที่แต่งเพลง ใช้เวลานานหรือไม่นั้นอยู่ที่ทำนอง เพราะถ้าเราแต่งเนื้อไปก่อนเราก็ต้องแก้ บางทีเพลงนึงอาจแก้ถึงสองสามหน จะดีที่สุดก็คือการแต่งทำนองมาก่อน
“เมื่อได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ผมเองก็มีภารกิจศิลปินแห่งชาติสัญจร อยู่เรื่อยๆ ไปสอนนักศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยว่ามีวิธีการแต่งเพลงอย่างไร ร้องเพลงอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้หยุดเขียนเพลง เร็วๆ นี้ก็ยังมีโอกาสได้ร่วมงานแต่งเพลงชุดใหม่ให้มณีนุช เสมรสุต (ครูอ้วน) ซึ่งเมื่อก่อนเคยได้แต่งเพลงให้เขาสามเพลง ถือว่าเขาร้องได้ดีมากนะ สุดยอดเลย แต่งให้เขาแล้วชื่นใจ เขาร้องถูกใจเรา
“เวลาแต่งเพลง บางครั้งก็นึกไว้เลยว่าจะให้ใครร้อง เพราะเราเองก็อยากให้เขาถูกใจ ร้องมันออกมาได้ดีที่สุด และถ้าเราเป็นนักแต่งเพลงที่เก่งจริง ต้องไม่มีใบสั่ง เพราะเขาจะเชื่อมั่นในตัวเรา ต้องมีความตั้งใจ มีสมาธิในการทำงาน ถ้าเกิดความท้อแท้ ต้องฝึกให้นิ่งและตัดไปให้พ้น แล้วเริ่มงานใหม่ ต้องมั่นใจว่าเราต้องทำได้
”ถ้าดูจากรางวัลต่างๆ ที่ครูเพลงท่านนี้ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลรางวัลที่ได้รับจากละครโทรทัศน์ เช่น รางวัลเมขลา จากละครเรื่อง ทหารเสือพระเจ้าตาก, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือรางวัลกิตติคุณ สังข์เงิน, โล่จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ และรางวัลแผ่นเสียงทองคำแล้ว ยิ่งตอกย้ำความเป็นตำนานแห่งประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยได้อย่างดี อีกทั้งการที่ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นบอกเราได้ดี นี่คือต้นแบบอันดีงามสำหรับวงการเพลงไทยที่แท้จริง