กฤษดา สาระคุณ
“ผมเคยทำงานที่เกี่ยวกับด้าน Marketing Consult ซึ่งการทำงานตรงนี้ทำให้ได้เห็นมุมมองการทำธุรกิจของคนที่ประสบความสำเร็จ ได้ช่วยดูแลเรื่องการตลาด รวมถึงได้พูดคุยกับนักธุรกิจเหล่านั้น จึงคิดว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสก็อยากทำแบบที่ทำให้ลูกค้าให้กับตัวเอง สุดท้ายได้แต่เก็บความรู้สึกตรงนี้เอาไว้ และพยามเก็บสะสมประสบการณ์จากการทำงานมาโดยตลอด จนวันหนึ่งโอกาสมาถึงก็ไม่มีอะไรต้องรีรอ ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองฝันไว้
“สิ่งที่ผมทำทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความกล้า ซึ่งเป็นความกล้าที่จะต่อสู้ เอาชนะกับใจตัวเอง อยู่ที่ว่าจะกล้าลงมือทำหรือเปล่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความกล้าที่จะลุยก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความมั่นใจ ว่านี่คือสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ เมื่อมั่นใจอย่างนั้นแล้ว สักวันก็ต้องประสบความสำเร็จ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่าการวางแผนให้รอบครอบรัดกุมเป็นสิ่งสำคัญ เท่านั้นยังไม่พอยังต้องศึกษาสิ่งที่จะทำให้ลึกซึ้งอย่างถ่องแท้ ถ้าทำทุกอย่างตามขั้นตอนที่วางไว้ เราก็จะรู้ว่าต่อไปเราจะต้องทำอะไร เมื่อนั้นแล้วโอกาสล้มเหลวก็มีน้อย แต่สิ่งเดียวที่ผมกลัวไม่ใช่ความล้มเหลว กลับเป็นความกลัวที่จะไม่ได้ลงมือทำมากกว่า”
ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นเจ้าของกิจการ ถึงขั้นลาออกจากการเป็นพนักงานออฟฟิศที่ทำมานานกว่า 10 ปี เพื่อไปเรียนและทำงานเป็นพ่อครัวที่ประเทศออสเตรเลีย บวกกับความชื่นชอบด้านอาหารส่วนตัว ทำให้เขาหันมาเริ่มต้นจับทางธุรกิจอาหารญี่ปุ่น “ซูชิ บอย” ทั้งๆ ที่คู่แข่งในตลาดมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน
“ผมรู้ว่าตลาดอาหารญี่ปุ่นอิ่มตัวมาก มีคู่แข่งเกิดขึ้นมาใหม่ทุกวัน แต่จากการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ถ่องแท้ ทำให้มองเห็นช่องว่างของตลาด จึงคิดทำธุรกิจซูชิสายพานจานสีขึ้นมา ซึ่งอาหารประเภทนี้เรียกว่า Kaiten Sushi คือไม่ใช่ซูชิแบบบุฟเฟ่ต์ เพราะราคาขายเป็นไปตามสีของจาน ไม่ใช่ชูชิบาร์ เพราะไม่ได้ขายอาหารตามสั่งให้ลูกค้า ไม่ใช่ Japanese Restaurant เพราะไม่ได้ขายอาหารญี่ปุ่นทุกประเภท ขณะเดียวกันซูชิสายพานที่มีความเป็น Specialize นั้นมีอยู่แค่เจ้าเดียว จึงตัดสินใจเลือกเจาะตลาดส่วนนี้
“จุดเด่นของ Sushi Boy คือเป็นซูชิสายพานแบบฟิวชั่น หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีการผสมผสานระหว่างซูชิแบบดั้งเดิมเข้ากับวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ เพราะอาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารที่ไม่ว่าจะไปอยู่ในประเทศไหนก็สามารถดัดแปลงได้ตามวัตถุดิบของประเทศนั้นๆ “นอกจากนี้แล้วซูชิ บอย ยังยึดคอนเส็ปต์ 3F ได้แก่ Fresh วัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องมีความสดใหม่ Fusion เป็นสิ่งที่ทำให้อาหารเกิดแตกต่างจากอาหารทั่วๆ ไป และ Fun โดยลูกค้าที่มาทานอาหารในร้านจะได้รับความสนุกสนานกลับไป เพราะมีพ่อครัวยืนอยู่ตรงกลาง ปรุงให้เห็นกันสดๆ สามารถพูดคุยกับพ่อครัวได้อย่างใกล้ชิด ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดเด่นอีกอย่างของซูชิ บอย
“ความท้าทายของการทำธุรกิจตรงนี้คือ ทำอย่างไรที่จะวิ่งไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด เพราะตลาดอาหารเป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบได้ง่ายมากและมี Dynamic อยู่ตลอด ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นใหม่ทุกเดือน สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ออกมา เพื่อให้อาหารมีรสชาติ หรือหน้าตาที่แปลกใหม่ รวมไปถึงต้องคอยปรับสไตล์การตกแต่งร้านด้วย ซึ่งการทำธุรกิจร้านอาหารก็เหมือนอยู่ในสนามแข่งรถ เมื่อไหร่ก็ตามที่เครื่องยนต์ยังติด ก็สามารถวิ่งไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เครื่องยนต์สะดุดหรือหยุดวิ่ง รถคู่แข่งคันอื่นๆ ก็จะวิ่งแซงเราไปอย่างรวดเร็ว การทำธุรกิจจึงหยุดพัฒนาไม่ได้
“วันนี้บางคนบอกว่า ซูชิ บอย มีตั้ง 6 สาขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซูชิ บอย มีเพียงแค่ 6 สาขา เมื่อเทียบกับแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นดังๆ ดังนั้นเป้าหมายตอนนี้ที่อยากทำให้ได้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ซูชิ บอย อยู่ในใจลูกค้าผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ทำให้แบรนด์ของเราเข้าไปอยู่ในใจของเขา ส่วนในอนาคตอยากนำแบรนด์ไปแตกไลน์ผลิตสินค้าอย่างอื่น เช่น แปรรูปอาหาร ส่งออกวัตถุดิบ เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคง แล้วนำเงินจากตรงนั้นมาช่วยซัพพอร์ตร้านอาหารให้อยู่ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงเพราะธุรกิจร้านอาหารมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องแรงงาน เรื่องเงิน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการโฆษณา”
แน่นอนว่าเส้นทางเริ่มต้นของการทำธุรกิจก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป แต่ถึงอย่างนั้นเวลาที่เขาเจอปัญหาก็มักจะนำธรรมะเข้ามาผสมผสาน เพื่อหาทางออก“
ขึ้นชื่อว่าปัญหามันก็หนักทุกปัญหา จริงๆ แล้วอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนมากกว่า ว่าจะมองเป็นปัญหา หรือมองเป็นความสนุก ท้าทาย ถ้าควบคุมสติได้ทุกอย่างก็ผ่านไปได้เสมอ“
ทุกวันนี้ความสุขในการทำงานสำหรับผมคือ มีลูกค้ามากินอาหารในร้านของเรา เพราะความสุขของพ่อครัวไม่มีอะไร นอกจากทำอาหารแล้วแอบดูสีหน้าจากลูกค้า ว่ากินเสร็จแล้วเขาด่าหรือเขายิ้ม ถ้าคนกินมีความสุข เราก็มีความสุข”