บุญเลิศ กระบวนแสง : ตำนานลีลาศที่ยังมีลมหายใจ

บุญเลิศ กระบวนแสง : ตำนานลีลาศที่ยังมีลมหายใจ

บุญเลิศ กระบวนแสง : The Ballroom Dance Instructor ตำนานลีลาศที่ยังมีลมหายใจ

ในประเทศไทยถ้าเอ่ยคำว่าลีลาศคนส่วนใหญ่ต้องรู้จักชื่อของอาจารย์บุญเลิศ ลีลาศ หรือ บุญเลิศ กระบวนแสง ผู้ที่ให้ความรู้เรื่องราวของลีลาศสอนลูกศิษย์มากมายนับไม่ถ้วนต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยชื่อเสียงของท่านก็ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา เสมือนเสาหลักที่ยังคงค้ำวงการลีลาศไทยให้มีสีสัน ประสบการณ์การทำงานและเรื่องราวชีวิตท่านจึงยังคงน่าสนใจให้คนรุ่นหลังได้ติดตาม

“เรื่องราวชีวิตของผมก่อนจะมารู้จักลีลาศนั้น ผมเป็นคนกรุงเทพเกิดที่บางกระบือแต่มาเติบโตที่ศรีย่าน โดยคุณแม่มีอาชีพขายของอยู่ในตลาดศรีย่าน ครอบครัวมีฐานะไม่ดีจึงไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ แต่ในวัยเด็กผมได้ช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่หุงข้าวทำกับข้าวมาโดยตลอด ความฝันของผมมีอยู่อย่างเดียวคือการเป็นนักมวยก็ไปซ้อมที่ค่ายมวยราชวัตรเป็นประจำ จนมีคิวจะขึ้นชกที่สนามมวยราชดำเนินสมัยที่ยังไม่มีหลังคา แต่ยังไม่ทันจะขึ้นชกคุณแม่ก็ตามไปตีถึงค่ายมวย ความฝันที่จะเป็นนักมวยก็จบลง

“พอเริ่มโตเป็นวัยรุ่นผมชอบฟังเพลงมากก็มีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน 3-4 คน ชอบไปนั่งที่ร้านของคุณหลุยส์ ธาระวานิช เป็นร้านกาแฟอยู่บ้านญวนสามเสน พอเพลงขึ้นมาพวกเราก็ลุกขึ้นเต้นขยุกขยิก แล้วบังเอิญมีครูเต้นรำชื่อบุญช่วย นาคพันธุ์ มองดูอยู่แล้วก็เรียกน้อง ๆ มานี่ซิ อยากเป็นนักเต้นรำไหม ผมก็ตอบไปทันทีเลยว่าอยากเป็นครับ จากนั้นท่านก็นัดไปที่โรงเรียนสอนเต้นแถวภัตตาคารสมบูรณ์ลาภ วังบูรพา แต่ต้องเสียเงินค่าสมัครเรียน ผมกับเพื่อนไม่ค่อยมีเงินก็ต่อรองกับท่านว่าขอ 3 คน 200 บาท ต่อเดือนท่านก็ให้เรียน

“ผมเริ่มเรียนเต้นลีลาศในจังหวะค่อนข้างโบราณก็เต้นผิดเต้นถูกแต่พอหัดพักหนึ่งก็เริ่มชอบ ผมอยากบอกว่าตัวเองหัดลีลาศนั้นไม่เหมือนคนอื่นคือสมองช้าเพลงขึ้นมาผมไม่รู้เลยว่ามันเป็นจังหวะอะไร ตอนนั้นในวงการเต้นรำเขาจะเต้นอยู่ 2 จังหวะคือ ร็อกแอนด์โรลกับชะชะช่า ผมหัดอยู่สองสามเดือนก็เริ่มเต้นได้แล้วก็ฝึกซ้อมมาโดยตลอด

“ในปี พ.ศ. 2500 มีการจัดการแข่งขันลีลาศจังหวะร็อกแอนด์โรลขึ้นในประเทศไทย โดยถ้วยรางวัลก็ไปขอเอลวิส เพรสลีย์ โดยมีกรรมการจากต่างประเทศมาตัดสิน ซึ่งมีสองถ้วยคือแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยกับการแข่งขันชิงแชมป์ตะวันออกไกล ก็มีนักเต้นรำมาแข่งจากต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ อินโด มาเลย์ ฯลฯ ซึ่งผมได้ลงแข่งอาจเป็นเพราะความบังเอิญก็ชนะในการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งจะเอาผู้ชนะไปแข่งกับภาคตะวันออกไกลอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าครั้งนี้แพ้แบบขาดลอยสู้เขาไม่ได้เลย

“แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ตั้งแต่นั้นมาก็คิดว่าชีวิตของเราต้องเดินทางในสายของเต้นรำ ผมจึงพยายามฝึกฝนพัฒนาตัวเองเรื่อยมา โดยฝึกฝนกับครูบุญช่วย นาคพันธุ์ ซึ่งเป็นครูคนแรกที่สอนเต้นรำผมกับเพื่อน แล้วรู้สึกว่าจะจ่ายเงินเพียงหนเดียวซึ่งแกไม่เอาเงินอีกเลย หลังจากนั้นผมก็หัดเต้นในจังหวะอื่น ๆ อย่าง รุมบ้า ตลุง ชะชะช่า ในเวลาต่อมาผมก็มาเจอกับ ครูมงคล นวลสกุล ท่านเป็นคนที่ฝึกต่อเติมในเรื่องของจังหวะลาตินอเมริกาและอีกหลายจังหวะให้กับผม 

“เมื่อก่อนถ้ามีงานเต้นรำผู้จัดจะมาจากสโมสรองค์กรของรัฐซึ่งมักแข่งที่สวนลุม หรืองานประจำปีวชิราวุธ อนุสรณ์ มีการจัดที่วังสราญรมย์ ถ้าผมลงแข่งขันในช่วงหลังจะไม่มีคนแข่งด้วยเพราะเคยชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลของเอลวิส เพรสลีย์มาก่อน เมื่อเป็นแบบนี้ก็มาคิดอีกว่าคนรุ่นใหม่ตัวเริ่มสูงใหญ่แล้วสรีระของผมเล็กต่อไปก็จะสู้คนอื่นไม่ได้ ตอนหลังเลยผันตัวมาเป็นครูผู้สอนแทนจึงส่งนักลีลาศเข้าแข่งขันงานประจำปีได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายคู่ 

“มาถึงจุดนี้ผมคิดว่าลีลาศคือชีวิตของเราก็เลยมุ่งมั่นในเส้นทางนี้จึงพยายามขวนขวายหาความรู้ทั่วไป ไม่ใช่แค่เต้นอย่างเดียวแต่ว่าศึกษาต้นสายปลายเหตุของลีลาศว่ามีที่มาอย่างไร ประเทศไหนคิดท่าอะไรทำให้เราผันตัวมาเป็นผู้สอนและเปิดโรงเรียนของตัวเอง ผมเลยต้องทำหลายอย่างเช่นการออกนิตยสารลีลาศฉบับแรกของไทย โดยมีเพื่อน ๆ ช่วยเขียนอย่างพนมเทียน และ วรุณ ฉัตรกุล แต่ไม่มีความรู้เรื่องการตลาด
เลยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“ผมเคยเปิดโรงเรียนที่เสรีเซ็นเตอร์กับซีคอนสแควร์ผมรับเด็กระดับประถมมาสอนฟรีแล้วส่งแข่งขันถ้วยพระราชทาน ผมเป็นคนที่ริเริ่มให้เด็กมาเต้นลีลาศ ซึ่งตอนนั้นบางสื่อก็ชมเชยแต่บางสื่อก็ติเตียนว่าเอาเด็กยังไม่ทันโตมาจับมือถือแขนกัน คือสมัยนั้นคนยังไม่เข้าใจเรื่องลีลาศและยังไม่มีกีฬาลีลาศสำหรับเยาวชน

“จากนั้นก็มีคนติดต่อมาให้ผมไปสอนในทีวีช่อง 5 ก็ทำมาเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าผมคนเดียวที่ทำรายการเกี่ยวกับลีลาศนานที่สุดจึงเป็นที่จดจำกันว่าถ้าเป็นลีลาศต้องบุญเลิศ ตอนหลังหลายสถาบันเห็นคุณค่าที่ช่วยยกระดับความรู้และการเข้าสังคมเป็นพื้นฐานให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เชิญให้มาสอนอย่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

“ในศาสตร์ของลีลาศช่วงแรกมันยังไม่เป็นระบบอังกฤษจึงเป็นแกนกลางในการรวบรวมแล้วบัญญัติท่าเต้นต่าง ๆ ออกมา อย่างจังหวะวอลซ์ที่เต้นเร็ว ๆ เขาก็ปรับมาทำช้าหรือจังหวะแทงโก้ก็เอามาจากอาเจนติน่า จังหวะควิ๊กสเต็ปก็เอามาจากอเมริกา ตรงนี้เองอังกฤษเขาเอามาเรียบเรียงทำรูปแบบให้เป็นแม่บทที่เรียนให้มีวันจบมีหลักสูตร นักเต้นก็อาจจำเอาแม่บทไปพลิกแพลงเป็นแบบฉบับของตัวเองในภายหลังได้

“คนที่จะเต้นลีลาศจึงจำเป็นต้องเรียนแม่บทหรือเบสิกพื้นฐานก่อนเป็นอันดับแรก อย่างจังหวะชะชะช่า จะมีขั้นตอนการวาดลวดลายตั้งแต่ไขว้หน้า (Newyork) หมุนรอบตัว (Spot Turn) แฟน (Fan) อาลีมานา (Alemana) ไขว้หน้า ไขว้หลัง (Shoulder to Shoulder) หมุนรอดใต้แขน (Under Arm Turn) แนชเชอรัล ทอป (Natural Top) Opening OutและSpiral คือต้องเรียนรู้ทั้งหมด

“อย่างจังหวะหนึ่งมี 30 ชื่อ นักเรียนควรรู้ทั้งหมด 30 ชื่อ แต่โรงเรียนที่เปิดสอนอาจไม่ได้ให้เต้นทั้งหมด อาจแบ่งเป็นต้น กลาง สูงอย่างละ 10 ท่า ซึ่งผู้คิดเขาจะวางให้หัวหางมันเชื่อมต่อกันได้ บางคนเต้นท่าที่ 1 ไปต่อท่าที่ 3 แล้วมาท่าที่ 2 ไปท่าที่ 4 ก็ได้ แล้วพอแม่บทหรือหลักสูตรแน่นพอเต้นได้แล้วก็เกิดการพลิกแพลง เช่นแม่บทนี้มี 59 ท่าก็เอามาแค่ 3 ท่าไปผสมนั่นนี่เป็นกลุ่มเสต็ปที่แตกต่างออกไป เอามารวมกลุ่มเป็นลวดลายต่าง ๆ คือใครคิดก็เต้นได้แต่คนไม่ได้คิดก็อาจเต้นไม่ได้ คนที่ทำไม่เป็นก็คิดว่าคงเต้นไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะนักเต้นรำพอถึงระดับสูงขึ้นไปเขาจะพลิกแพลงท่าด้วยตัวเองเยอะมาก อาจไม่หมุนตัวแบบปกติแต่ทำมากกว่านั้นเพื่อให้เกิดความตื่นเต้นแปลกใหม่

“หลายประเทศมีจังหวะประจำชาติส่วนจังหวะของไทยก็มีคือ ตะลุงแทมโป้ (Taloong Tempo) ในช่วงแรกผมเป็นเพียงนักเต้นรำที่เป็นครูเล็ก ๆ แต่ได้รับเกียรติให้ไปร่วมวิจัยเรื่องจังหวะตะลุง โดยมีครูล้วน ควันธรรม เป็นคนริเริ่มท่านบอกว่าประเทศไหนก็มีจังหวะของตัวเองก็อยากให้ประเทศไทยเรามีบ้าง ท่านไปติดใจจังหวะการเต้นของทางหนังตะลุงก็เลยมาบอกว่าจะทำจะหวะตะลุงขึ้นมา แล้วให้นักเต้นไปคิดท่าเต้นเบสิกสัก 4-5 ก้าว ส่วนจังหวะพลิกแพลงก็คิดเอาเอง 

“ผมก็ไปร่วมประชุมกับครูท่านอื่น ๆ ที่สมาคมพ่อค้าไทยก็ได้เบสิกพื้นฐานเบื้องต้นของกลุ่มหนึ่งในจำนวน 5 ก้าว หรือ 10 ก้าว แล้วต้องผสานให้เข้ากับจังหวะดนตรีสากล ในที่สุดครูสง่า ล้อมวงศ์พาณิชย์ ก็คิดรูปแบบการเต้นจังหวะตะลุงสำเร็จหลังจากนั้นคนไทยก็เต้นจังหวะนี้มาตลอดนี่คือสิ่งที่เราควรภูมิใจ

“ผมอยู่ในวงการลีลาศมานานเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายสมัยก่อนมีการเต้นที่นุ่นนวลแต่สมัยนี้มีการผสมผสมผสานจนกระทั่งผิดจากเดิมไปเยอะแล้ว แต่นั่นคือการพัฒนาศิลปะมันหยุดนิ่งไม่ได้จะต้องเริ่มจากไม่เป็น หัดจนเป็น เป็นแล้วเก่งพอเก่งแล้วจะวนมาเหมือนไม่เป็น

“ส่วนวงการลีลาศประเทศไทยตอนนี้แบ่งได้สองกลุ่มคือกลุ่มที่เป็นนักกีฬา เขาจะแบ่งเป็นรุ่นแล้วซ้อมกันอย่างจริงจัง กลุ่มสองคือรื่นเริงแล้วกลุ่มใหญ่คือผู้สูงวัยมาฝึกลีลาศ โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานครเขามีสถานที่ให้บางแห่งสอนฟรีลีลาศจึงเป็นได้ทั้งเรื่องของกีฬาและศิลปะการแสดง 

“การเต้นลีลาศอย่าไปจับผิดว่าเต้นผิดหรือเต้นถูก แล้วไม่จำเป็นต้องเต้นกับคนที่เป็นแฟนหรือไม่ได้เป็นแฟนเต้นคนเดียวก็มีความสุข อย่างจังหวะวอลซ์ผมก็เต้นคนเดียวอย่างถูกต้องมีการยึดมีการยืดการสาวเท้าให้เข้าจังหวะกับดนตรีมันทำให้เรามีความสุขแล้วก็อิ่มใจ แต่ว่าในระยะแรกคนที่เริ่มหัดจะไม่รู้สึกแบบนั้นจะเกร็งระวังไปหมดว่าทำผิด ที่จริงไม่จำเป็นต้องคิดแบบนั้นผิดก็ผิดไม่เป็นไร

“เราหัดลีลาศเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะโรงเรียนบุญเลิศ ลีลาศตอนนี้เรามาเน้นที่คนสูงวัย บางคนเกษียณแล้วไม่รู้จะทำอะไรแล้วลูกหลานไม่ค่อยมี แต่ถ้ามาฝึกลีลาศจะได้มาพบปะผู้คนเป็นสังคมและถือเป็นการออกกำลังกาย เต้นโดยไม่ต้องมีคู่หรือเต้นผู้หญิงกับผู้หญิงก็ได้ คนแก่ก็เบิกบานใจสมองก็ไม่เสื่อม ผมเปิดโรงเรียนสอนลีลาศตอนนี้มีกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนคือเราจะมี Meeting มาเต้นรำร้องเพลงกัน แม้จะไม่ได้กำไรนักแต่ทำแล้วเราเกิดความสุขจากการเห็นคนแก่มีความสุข

“ปัจจุบันลีลาศเป็นศิลปะการแสดงสากลที่ทั่วโลกนิยม เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ฝึกบ้างโดยที่ไม่ต้องเก่งถึงขนาดเต้นพลิ้วเป็นแชมป์เปี้ยน เพียงแต่เราได้รู้จักว่าคาแรคเตอร์จังหวะนี้เป็นยังไงเพลงขึ้นมาจังหวะนี้คืออะไรการจับคู่เป็นยังไง รู้แค่นี้ก็พอ อีกวัยหนึ่งคือวัยสูงอายุถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็มาฝึกมาหาเพื่อนหาความสุขคือให้กำลังใจกัน

“บางคนคิดว่าชีวิตนี้เราเป็นนักเต้นรำไม่ได้หัดไม่ได้ซึ่งไม่จริง คือลีลาศไม่ยากอย่างที่คิดและไม่แพงอย่างที่คิด บางคนจะชวนเพื่อนมาฝึกลีลาศก็ถูกปฏิเสธบอกว่าไปไม่ได้ผมต้องไปเรียนภาษาอังกฤษก่อน หรือพอไปชวนก็ปฏิเสธตรง ๆ ว่าไม่ใช่นักเต้นรำ คือกลัวไปหมดความจริงมันไม่ยากอย่างที่คิดครับ ฝึกง่ายเรียนรู้แล้วฝึกซ้อมคนที่มีเวลาซ้อมมากก็จะเกิดความคล่องตัวแล้วจะเต้นเป็นเอง

“ชีวิตของผมลีลาศนั้นให้อะไรมาเยอะ เราอยากจะบอกคนรุ่นต่อไปว่าถ้าใช้ไปในทางที่ถูกที่ควรมันให้ประโยชน์มาก บางครั้งสังคมลีลาศอาจทำให้คนรู้จักเป็นเพื่อนคบหากันในงานเต้นรำก็มี มันเป็นสื่อสังคมทางหนึ่งแถมได้เรื่องของบันเทิงและสุขภาพที่ดี ตอนนี้ผมอายุ 85 ปีแล้วจะขอสอนลีลาศต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเดินไม่ไหว คือถ้าเรายังเดินไหวเรายังไม่ใช่คนแก่ครับ” 

Did you know
•    เทคนิคการสอนลีลาศของอาจารย์บุญเลิศคือ เริ่มที่ให้ผู้เรียนเปิดใจมองว่าลีลาศเป็นการเต้นที่สนุก พยายามปรับวิธีการสอนให้ง่ายที่สุด
•    นอกจากการลีลาศตามแบบฉบับตามหลักสูตรแล้ว อาจารย์บุญเลิศ ได้ไปสอนลีลาศตามที่หน่วยงานร้องขอและปรับให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน เช่นมีการจัดเวทีออกกำลังกายสไตล์ ลีลาศ ไลน์แดนซ์ แอโรบิค 
•    ไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจารย์บุญเลิศป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ด้วยการเต้นลีลาศที่เหมือนเป็นการออกกำลังกายทำให้มีภูมิต้านทานสูงและช่วยทำให้การบำบัดมะเร็งหายเร็ว จนตอนนี้หายเป็นปกติแล้ว

 

TEXT : Passaponge Prerajirarat
PHOTO : Nutchanun Chotiphan

#mixmagazinethailand #TheArtist #บุญเลิศกระบวนแสง #ลีลาศ #ตำนาน