อดัม แบรดชอว์

อดัม แบรดชอว์

คอนเน็กชั่นต่อเนื่องมาจากคุณพล่ากุ้ง พิธีกรชื่อดัง ส่งไม้ต่อมาให้เราทำความรู้จักกับ “อ.อดัม แบรดชอว์” ครูสอนภาษาอังกฤษ พิธีกร และผู้บรรยายข่าว ด้วยลีลาการสอนภาษาอังกฤษที่สนุกสุดลํ้า มุมมอง ความคิดความอ่าน และสไตล์การพูดอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และประสบการณ์อันยาวนาน ทำให้เขาโด่งดังระดับประเทศ ผมว่าคนส่วนใหญ่น่าจะชอบลีลาการพูดของเขา วันนี้ได้มาคุยกับเขายิ่งตอกยํ้าเลยครับว่ามุมมอง ไอเดีย และสาระที่สอดแทรกเวลาสอนภาษาอังกฤษหรือตอนเป็นพิธีกรนั้น เป็นตัวจริง สนุกจริง และเก่งจริงครับ

เข้ามาสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทยได้อย่างไร?
“ผมเป็นคนอเมริกัน เกิดและโตในเมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกตอนอายุ 21 ปี มาเป็นหมอสอนศาสนาครับ หรือที่เรียกว่ามิชชั่นนารีนั่นเอง ก่อนมาก็ได้เรียนภาษาไทยนิดหน่อยประมาณสามเดือน อารมณ์เดียวกันกับคนไทยเรียนภาษาอังกฤษกับครูไทยเลยครับ ทำให้เป็นประสบการณ์ว่าถ้าเราจะสอนต้องใช้สื่อการสอนที่เป็นของเจ้าของภาษานะ เพราะจะทำให้ผู้เรียนได้ฟังสำนวนที่แท้จริง คือมาในฐานะหมอสอนศาสนาสองปี จากนั้นก็กลับไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อ ก็คิดว่าอยากจะกลับมาสอนภาษาอังกฤษที่เมืองไทยอีก จึงลงเรียนเศรษฐศาสตร์กับภาษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยยูทาห์มีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน หรือนักศึกษาฝึกงานกับสถาบันพระปกเกล้าพอดี ผมก็เลยได้มาเรียนและฝึกงานที่เมืองไทยด้วย ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาไทยจากเจ้าของภาษาจริง”

เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจ?
“จริง ๆ ต้องเริ่มจากฟังและพูด แต่ถ้าให้เรียนพร้อมกันทั้งอ่านและเขียนก็ได้นะครับ อย่างผมเองช่วงเรียนภาษาไทย ผมก็เริ่มจากฟัง พูด อ่าน เขียน คือฝึกทั้งหมดพร้อมกัน แตไม่ได้ข้ามจุดสำคัญคือฟังและพูด ในมุมมองของผมคนไทยส่วนใหญ่จะเน้นเรียนไวยากรณ์ เรียนแต่งประโยค แต่ยังฟังไม่ออก พูดไม่ได้อยู่เลย ผมว่าการข้ามขั้นตอนอาจส่งผลร้ายด้วยซํ้า ถ้าเกิดจำอะไรที่ผิดแล้วนำมาใช้ ผมพูดยํ้าเสมอว่าสำเนียงการพูดไม่สำคัญเท่ากับการออกเสียง ต้องพูดให้ชัด ผมยกตัวอย่างคำไทย เช่นคำว่าข้าว ฝรั่งจะพูดแคว เมื่อออกเสียงผิดความหมายก็ผิดเพี้ยนไปด้วย ภาษาอังกฤษก็เช่นกันครับถ้าออกเสียงไม่ถูกฝรั่งเขาก็ไม่เข้าใจที่คนไทยพูดเช่นกัน ต้องเริ่มจากการฟังและพูดก่อนถึงจะไปอ่านและเขียน ก็เลยทำให้คนส่วนใหญ่ที่เรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทย พูดหรือสื่อสารกับฝรั่งไม่ค่อยได้ พอพูดคำออกเสียงไม่ชัดฝรั่งที่เป็นคู่สนทนาก็จะฟังไม่รู้เรื่อง แล้วเราเองก็เสียเซลฟ์ พาลไม่อยากพูดภาษาอังกฤษไปด้วย”

เคยมีดราม่าในโลกโซเชี่ยล?
“ผมเคยโดนพวกเกรียนในเน็ต นักเลงคีย์บอร์ดโจมตีหลายเรื่องครับ แต่ไม่ค่อยสนใจ นอกจากบางเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่านำมาบอกก็จะเอาคำด่าเหล่านั้นมาเป็นประเด็นพูดหรือแฉ อย่างเรื่องคนไทยพูดภาษาอังกฤษชัดกระแดะหรือเปล่า? ถ้าใครคิดว่าเวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษเวลาออกเสียงชัด ๆ หรือพูดให้ถูกต้องนั้นเขากระแดะหรือดัดจริต เป็นความคิดที่ล้าสมัยมาก จริง ๆ คนที่พูดชัดนั้นไม่ได้กระแดะ แต่เขาพยายามออกเสียงตามเจ้าของภาษาอย่างตัวผมเองก็พยายามฟังและพูดภาษาไทยให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะชัดได้ คำไทยนั้นมีการผันวรรณยุกต์ทำให้ฝรั่งหลายคนพูดไม่ชัด แต่เขาก็พยายามจะพูดภาษาไทยให้ได้ อันนี้กระแดะเหรอ ไม่ใช่ครับ เขากำลังฝึกและเลียนแบบเจ้าของภาษาเช่นกันก็เหมือนคนไทยพยายามออกเสียงภาษาอังกฤษนั่นแหละ

“แต่ถ้าพวกที่ไปเที่ยวเมืองนอกหรือไปอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วกลับมาพูดภาษาไทยไม่ชัด หรือพูดไทยคำอังกฤษคำนั่นแหละครับกระแดะ แต่ถ้าคนที่ไปอยู่เมืองนอกนาน ๆ บางทีก็อาจทำให้นึกคำไม่ออกได้อันนี้ยกเว้น เพราะเขาอาจไม่ได้ใช้ภาษาแม่บ่อย ๆ ผมเองก็มีลืมบ้างบางคำ คือถ้าพูดภาษาอังกฤษไปเลย หรือพูดไทยไปเลย แล้วพยามยามเลียนเสียงภาษาที่สองผมว่าไม่กระแดะครับ ผมไม่เคยโดนฝรั่งคนไหนว่าผมดัดจริตที่พยายามจะพูดภาษาไทยให้ชัดเลยครับ เรื่องนี้ผมว่าเป็นความคิดที่ Thailand Only อย่างผมเองมาอยู่เมืองไทย 12 ปี เวลากลับไปเยี่ยมบ้านที่อเมริกาก็ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษไม่ชัดนะครับ”

ภาษาไทยยากไหม ใช้เวลาศึกษานานขนาดไหน?
“ถ้ามองว่ายากก็จะยากครับ ผมเลยพยายามบอกตัวเองว่าไม่ยาก ทั้ง ๆ ที่ยากนะครับ เพราะมีเรื่องการผันวรรณยุกต์ เสียงสั้นเสียงยาว ความหมายที่ใกล้เคียงกัน ฝรั่งจะไม่มีแบบนี้ ไวยากรณ์ไทยวิธีแต่งประโยคจะไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษ อันนี้เลยทำให้การฟังและฝึกพูดเลียนแบบเหมือนนกแก้วหรือเหมือนเด็ก ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก พอได้เลียนแบบนานเข้าก็จะมีผลกับวิธีคิด กลายเป็นความเข้าใจ เป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิด ผมจะไม่ได้คิดจากภาษาอังกฤษแปลเป็นไทยนะ ต้องพยายามคิดแบบคนไทยพูดเลย คือผมจะค่อย ๆ เก็บเลเวลครับ คือมันจะรู้และเข้าใจเป็นลำดับขั้นตอน บางอย่างต้องอยู่และคลุกคลีกับคนไทยถึงเข้าใจ ถ้าเอาแค่สื่อสารได้ก็ประมาณ 6 เดือน แต่จะเข้าใจมากกว่านักท่องเที่ยวนะครับ คือเข้าใจแต่ไม่ทั้งหมด ไปตลาดซื้อของได้ ทักทายพูดคุยได้แต่ไม่ลึกมาก อย่างคำว่าโดนหวยแดก แสลงหรือศัพท์วัยรุ่นตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจนะครับว่าคืออะไร บางอย่างต้องซึมซับและเรียนรู้ตอนมาอาศัยที่เมืองไทย ก็ต้องใช้เวลาครับ จาก 50% ไล่ขึ้นมา70 80 90 จนตอนนี้ก็เข้าใจประมาณ 99% ที่ผมพูดได้เพราะผมได้คลุกคลีกับคนไทยมานาน และมีทัศนคติที่ว่าถ้าพูดผิดก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นภาษาที่สองของเรา ผมเลยพูดมาก พูดผิดก็ช่างมัน (หัวเราะ) นี่คือเทคนิคการเรียนภาษาอย่างหนึ่งนะครับ อยากให้คนไทยคิดแบบนี้ พูดผิดไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่น่าอายหรอกครับ นี่คือสิ่งแรกที่ผมสอนคนที่มาเรียนกับผม ไม่ว่าจะระดับไหน พูดไม่เป็นเลยหรือพูดได้ ก็จะแนะนำแบบนี้ บทเรียนแรกคือการปรับทัศนคติครับ คุณไม่มีทางพูดภาษาอังกฤษได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดผิดได้โลกไม่แตกครับผิดเป็นครู ผมมีสโลแกนว่า Learn From and Laugh at Your Mistake เรียนรู้ไปยิ้มไป หัวเราะไป”

รู้จักคุณพล่ากุ้ง ได้อย่างไร?
“ช่วงปีที่แล้วผมได้มีโอกาสทำรายการทีวีชื่อ English สะกิดต่อมฮา กับคุณพล่ากุ้งทางช่อง 8 เป็นรายการที่นำคนไทยที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ให้มาสั่งฝรั่งที่พูดไทยไม่ได้ให้ทำภารกิจให้สำเร็จ เช่น การละเล่นไทย ทำไปราว 20 ตอน เรตติ้งดีด้วยนะครับ แต่ตอนนี้เขาน่าจะมีปัญหาเรื่องการย้ายช่องเลยพักไว้ก่อน ความสนิทนี่คือกลายเป็นเพื่อนกันเลยครับ ไปสังสรรค์กันบ้าง ทานข้าวบ้าง ตอนนี้ก็กำลังทำรายการลงยูทูบด้วยกันชื่อ English เช็ดเข้ ความสนุกคือ ผมจะไม่รู้สคริปต์ล่วงหน้า พล่ากุ้งก็มาถามคำภาษาอังกฤษ บางคำอาจดูทะลึ่งหรือหยาบคาย ผมก็พยายามแปลให้ไม่หยาบมาก หรือบางคำต้องเซ็นเซอร์บ้าง เป็นครั้งแรกที่ทำรายการแนวนี้เลยครับ พล่า กุ้ง เป็น คนขี้เล่น มีความคิดสร้างสรรค์ มีศิลปะในการพูด ทำให้ผมได้ยกระดับการใช้ภาษาไทยด้วยเพราะเขาเป็นพิธีกรที่เก่ง เป็นคนมีนํ้าใจ เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เป็นเพื่อนที่ดีครับ”

Know Him
• เขาเป็นพิธีกรและอ่านข่าวในหลายรายการทางทีวี อาทิ
• เรื่องเล่าเช้านี้ เวลา 8.00-8.15 น. ทางช่อง 3
• ม.ปลาย สายเก่ง เวลา 9.00 น. ทางช่อง 3 SD
• Movie Hits With Adam เวลา 21.30 น. ทางช่อง 24 True4U
• สนใจเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์อดัม เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ ajarnadam.tv

TEXT : Aumlove
PHOTO : Aumlove

connected