สายนํ้าที่ไหลกลับ : บทที่สิบสอง

สายนํ้าที่ไหลกลับ : บทที่สิบสอง

ดอกไม้ ใบหญ้า กระดานชนวน

“พรุ่งนี้ ตื่นเช้า...เช้า ย่าจะพาไปหาครูสอน”

ย่าเข้ามาปลุกถึงที่นอน บอกให้เตรียมตัวก่อนจะถึงวันพรุ่งนี้ ที่ย่าว่าจะพาไปหาครูสอน

“ครูสอน” เป็นครูคนแรกที่สอนให้อ่าน เขียน เรียนหนังสือ เป็นครูที่สอนเด็กทุกคนในครอบครัวของเรา

บ้านของครูอยู่ไม่ไกลจากตรอกสุริยวงศ์ ตรงสุขศาลา “เจ้าคุณประยูรวงศ์” (เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค) พวกสกุลนี้มักจะเรียนหนังสือที่บ้านครูสอน

“ครูสอน” เป็นสาวในรั้วในวังมาแต่เก่าก่อน

ได้เล่าเรียนเขียนอ่านมาตั้งแต่ตอนรับใช้เจ้านายทรงกรมฯ สมัยนั้นผู้หญิงมักจะถูกกีดกันไม่ให้เรียนหนังสือ ด้วยที่กลัวว่าจะเขียน “เพลงยาว” เกี้ยวพาราสีกับผู้ชาย

แต่ “ครูสอน” เชื่อมั่นในการศึกษา จำได้ว่าเคยพบครูอีกครั้งสมัยที่อายุของครูสอนเข้าแปดสิบกว่าปี คำถามแรกที่ครูถามก่อนว่า... “เรียนอะไร ?”

ย่าเลือกวันพฤหัส เป็นวันที่พาไปฝากครูสอน

ก่อนจะไปถึงบ้านของครู ที่บ้านเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงโบราณ อยู่กลางซอยสารภี ย่าให้แวะเก็บดอกไม้..ใบหญ้า ที่ลาน “วัดพิชัยญาติ”

ดอกเข็มสีแสด ออกดอกเป็นพุ่มอยู่ข้างโบสถ์

ดอกมะเขือสีม่วง ขึ้นประปรายใกล้ “ตึกสุขุมาลัย” ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยา และดงหญ้าแพรก ที่ขึ้นแทรกอยู่กลางลานองค์พระปรางค์ ข้างศาลาร้าง

ย่าเด็ดดอกไม้ ดึงต้นหญ้าแล้วบอกว่า

“ย่าเลือกวันพฤหัสมาฝากครูสอน สอนหนังสือเพราะวันพฤหัสถือกันมาว่าเป็นวันครู

ดอกเข็มสีแสด เป็นสีประจำวันพฤหัสวันครู

ดอกเข็มชื่อมีความหมายถึงความแหลมคม ที่ครูจะบ่มให้ศิษย์แหลม ฉลาด

ที่ประหลาดของดอกมะเขือสีม่วงก็ที่ว่า ดอกมะเขือจะออกดอกโค้งควํ่า

ไม่ได้ออกดอกหงายเงยเหมือนดอกไม้อื่น

ลักษณะเช่นนี้โบราณสอนไว้ว่าเป็นแบบฉบับของผู้อ่อนน้อมถ่อมตัว

เมื่อดอกควํ่า เมล็ดในดอกจะตกเกลื่อนดินขยายพันธุ์ได้งอกงามเร็ว

ส่วนหญ้าแพรก ก็เป็นหญ้าที่แตกแพร่ขยายได้อย่างรวดเร็ว การเล่าเรียนด้วยความ

พากเพียรก็ควรจะเป็นเช่นนั้น”

สมัยเก่าก่อน ตอนสงครามโลกเลิกใหม่ กระดาษมีราคาแพง เด็กเล็กสมัยนั้นจึงต้องใช้ “กระดานชนวน”

มีสองอย่างที่ครูสอนมอบให้ในวันที่ย่าพาไปฝากเรียนหนังสือ คือกระดานชนวนกับหนังสือแบบเรียนเร็ว ของหลวงดรุณกิจวิทูร

กระดานชนวนเป็นแผ่นหินสีดำที่ฝนแล่บาง หนากว่ากระดาษที่ใช้อยู่สัก 10 เท่ามีนํ้าหนักไม่เบา

ติดไว้กับกรอบไม้ เวลาจะเขียนจะใช้จะต้องมีดินสอหินฝนปลายแหลมขีดลงไปในแผ่น

เมื่อจะลบรอยขีดเขียนก็ใช้ผ้าชุบนํ้าเช็ดลายเขียนก็จะออกจากแผ่นกระดานชนวนได้ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังเวลาใช้ก็คือ

กระดานชนวนตกแตกหัก กว่าจะเขียนหนังสือได้งาม กระดานชนวนก็แตกเป็นสิบ...สิบแผ่น เช่นเดียวกับ “ดินสอหิน” ก็หักง่ายเช่นกัน เขียนหนักก็จะหักคามือ เขียนเบาก็จะไม่ติดกระดาน

“ครูสอน”..จะสอนหนังสือตั้งแต่เช้า สมัยนั้นนักเรียนยังไม่ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ เด็กนักเรียนมาถึงก็จะเห็นครูสอนนั่งอยู่ใต้ถุนบ้านไม้

เด็กเล็กจะเรียนใต้ถุน

เด็กโตจะเรียนบนบ้าน

แต่ทั้งเด็กเล็ก เด็กโตลูกครูสอนตีด้วยไม้เรียวขนาดเดียวกัน แต่จำนวนตีจะแตกต่าง

เด็กเล็กจะตีค่อนข้างจะเบา ส่วนเด็กโตจะตีหนักมือ

“ครูสอน” บอกว่า ตีหนักเบาแตกต่างกันตาม นํ้าหนักความผิด

แต่ถึงจะหนักเบาอย่างไร เด็กทุกคนกลัวครูสอนเท่ากัน จนกระทั่งพ่อแม่ที่ส่งลูกหลานมาเล่าเรียนที่นี่

มีคำพูดประโยครู้กันว่า

“ครูสอน ดุยังกับครูเสือ”

โรงเรียนที่อยู่ในบ้าน หรือบ้านที่ใช้เป็นโรงเรียน เอ็ดอึงไปด้วยเสียเด็ก แต่คนซอยสารภีไม่เคยมีปัญหา

คนสมัยนั้นจิตใจงดงามนัก เช้าก็จะจูงมือลูกหลานเข้าโรงเรียน เย็นก็มารับลูกศิษย์ครูสอนกลับบ้าน

แต่เด็กบางคนก็อ้อยอิ่งเพราะหลังโรงเรียนเป็นคลองสาขาแยกจากคลองใหญ่เข้ามา จะมีปลาหางนกยูง ปลากัด ให้ช้อนจับใส่ขวดโหลวางโชว์ในบ้าน

หรือในช่วงฤดูฝนก็จะมีจิ้งหรีดทองแดง ทองดำ ไอ้แอด จับใส่กรงดินปั้นเอาเส้นผมทำเป็นแซ่ปั่นให้จิ้งหรีดกัดกัน ในช่วงกลางวันเวลาพักกินข้าว

ถ้า “ครูสอน” จับได้ ก็ใช้วิธีลงโทษด้วยการให้ยืนขาเดียว คาบไม้บรรทัด หรือ ให้ไปคัดลายมือบนกระดานชนวน ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก สิบคาบ

คาบหนึ่งก็คือจบหนึ่งครบอักษรไทย

“ครูสอน” สอนนักเรียนแบบชาวบ้าน สอนลูกศิษย์เหมือนลูกหลาน ใครไม่ได้ห่อข้าวมาจากบ้าน ก็จะมีข้าวกลางวัน ใครหิวก็ไปขอกินได้ในครัว

ตอนเช้าก่อนจะเล่าเรียน ครูสอนก็จะให้ท่องบทกลอนที่คนเก่าก่อนเคยสอนให้เด็กท่องจำ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังจำได้ เป็นกลอนสอนให้ทำกิจวัตรประจำวัน ที่ได้มาจากหนังสือแบบเรียนเร็ว

life poet