นิติพงษ์ ห่อนาค

นิติพงษ์ ห่อนาค

ชายผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดังระดับตำนานของไทยนับร้อยเพลง นิติพงษ์ ห่อนาค คือคนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแต่งเพลงที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ในอดีตเขาเคยเป็นสมาชิกและหัวหน้าวงเฉลียง อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจดนตรี ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลงที่เขาแต่งสร้างชื่อเสียงให้กับศิลปินมากมายมาหลายทศวรรษ อาทิ อย่าให้ถึงวันนั้นเลย (คริสติน่า อากีล่าร์), ไม่แข่ง ยิ่งแพ้ (ธงไชย แมคอินไตย์), รักเธอเสมอ (อัสนี-วสันต์), แพ้ใจ (ใหม่ เจริญปุระ), คาใจ (เจตริน วรรธนะสิน) การเดินทางสายนักแต่งเพลงเขาจึงมีเรื่องราว ที่กลายเป็นภาพและเสียงแห่งความทรงจำตราตรึงใจของใครหลายคนจวบจนทุกวันนี้ เบื้องหลังชีวิตของชายคนนี้จึงน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

“จุดเริ่มต้นในชีวิตของผมคือจังหวัดลพบุรี ผมเกิดและเติบโตอยู่ในตัวเมืองที่นั่น สมัยก่อนครอบครัวของผมเป็นคนมีฐานะ คือฐานะยากจน (หัวเราะ) ความจริงแล้วก็แค่พออยู่พอกินเพราะคุณพ่อและคุณแม่ของผมมีลูกในยุคเบบี้บูมถึง 8 คน ส่วนผมเป็นคนที่ 8 ก็อยู่กันมาแบบเด็กบ้านนอกแต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองลำบาก ในขณะที่ใครหลายคนอาจคิดว่าชีวิตของเขาในแบบนั้นมันลำบาก แต่ส่วนตัวแล้วผมไม่เคยคิดเพราะตราบใดที่เรายังมีข้าวกินก็ไม่น่าจะลำบากอะไร อีกทั้งเจ็บป่วยก็ไปหาหมอได้ปกติ

“คุณพ่อผมมีอาชีพเป็นครูแต่ท่านไม่ค่อยสบาย เพราะฉะนั้นท่านจึงอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่หน้าที่ไปทำงาoค้าขายก็เป็นของคุณแม่ เพราะว่าพ่อป่วยเป็นโรคกระเพาะเดี๋ยวดีเดี๋ยวหาย คุณแม่ก็เลยดูแลลูก ๆ แทน พวกพี่ ๆ ของผมก็โตและเรียนสูงในระดับมหาวิทยาลัยกันแล้วพี่ ๆ จึงช่วยดูแลน้อง ๆ ตามลำดับอย่างเสื้อผ้าของน้องก็เป็นเสื้อผ้าของพี่ที่ส่งตามกันมาหรือตำราเรียนก็ส่งตามกันมาเหมือนกัน เมื่อไหร่กระทรวงการศึกษาเขาเปลี่ยนตำราทีหนึ่งก็เดือดร้อนกันทั้งหมดเพราะในครอบครัวต้องซื้อใหม่

“ความฝันในวัยเด็กของผมจึงไม่ได้ชัดเจน เพราะเด็กต่างจังหวัดในยุคนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอก ไม่ได้เหมือนเด็กสมัยนี้ที่มีข้อมูลข่าวสารให้ดูเยอะแยะมีตัวอย่างคนประสบความสำเร็จมากมาย แต่การอยู่ต่างจังหวัดในปี พ.ศ.2500 ต้น ๆ จึงมีเพียงเรื่องของการเรียนอย่างเดียว ก็ไปทีละขั้นตอนไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้เรียนจบเพียงอย่างเดียว สมัยนั้นมันไม่มีอะไรมาทำลายสมาธิมาก ก็เลยต้องเรียนต้องอ่านหนังสือ แล้วเพื่อนผมก็ไม่ค่อยมีเนื่องจากว่าไม่ได้เป็นนักกีฬาที่เก่ง ไม่ได้เป็นคนมีสตางค์ที่พาเพื่อนไปเที่ยวดูหนัง

“พอโตเข้าระดับมัธยมเรื่องของเพลงก็เข้ามามีอิทธิพล ความจริงผมฟังมาตั้งแต่เด็กแล้วฟังตั้งแต่สากลฝรั่ง เพลงไทย เพลงลูกทุ่งฟังมาหมด แม้กระทั่งเพลงที่คุณพ่อคุณแม่ชอบอย่างเพลงไทยเดิมคือผมเป็นคนที่ฟังเพลงหลากหลาย โดยที่ไม่ต้องมาบอกว่าฉันเป็นพวกนี้ประเภทนี้ “ส่วนการเรียน แม้ผมจะเรียนไม่ค่อยเก่งตอนชั้นประถมแต่พอเข้าเรียนมัธยม อยู่ดี ๆผมก็เริ่มเรียนเก่งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ได้รางวัลเรียนดีทุกปี แล้วก็มีอยู่เทอมหนึ่ง Top ทุกวิชาไม่รู้ไปกินยาอะไรมาคือมันเหมือนหาเรื่องอื่นที่สนุกไม่ได้นอกจากเรียน เพราะมันไม่มีสื่อหรืออะไรมาทำลายสมาธิไม่เหมือนสมัยนี้จะยุ่งยากมากเพราะว่ามันจะมีอะไรมาทำลายสมาธิตลอดเวลา ผมจึงคิดว่าเด็กสมัยนี้เก่งเพราะมีสิ่งที่จะมาคอยทำให้ไขว้เขวตลอดเวลาแต่ก็ยังสามารถเรียนได้เกียรตินิยมกันได้ “ผมเองก็เหมือนเด็กทั่วไปแต่ก็เป็นเด็กที่ค่อนข้างเรียบ ๆ ไม่ได้มีอะไรที่โลดโผน ไม่มีแฟนไม่ได้เกเร เรื่องดื่มอะไรก็ไม่เป็น ไม่สูบ ไม่มีอะไรนอกจากขี่จักรยานไปเก็บตะขบกินกับเพื่อน แต่ช่วงนั้นก็หัดเล่นกีตาร์แล้วเพราะเห็นเพื่อนมันบอกว่าถ้าชอบผู้หญิงอยากให้เขาสนใจต้องเล่นกีตาร์ เล่นมาเป็น 10 ปีก็ยังไม่มีใครมาสนใจ

“พอเรียนจบชั้นมัธยมผมไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเข้ามากรุงเทพฯ หรอกแต่เหมือนถูกสถานการณ์บังคับ เพราะเพื่อนบางคนเขาก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตรงนั้นเราก็ไปสายสามัญตามปกติ ผมอยู่ในยุคที่ต้องสอบเอ็นทรานซ์  ตอนนั้นอยากเป็นสถาปนิกเพราะว่าพี่ชายคนโตเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ พอได้รู้จักมันดูเท่มากจะบอกว่ามีพี่ชายคนโตเป็นไอดอลเลยก็ว่าได้ แต่พอไปสอบจริง ๆ ผมกลับไม่กล้าเลือกเรียน คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ แต่ไปเลือกอันดับ 1 
ที่สถาปัตย์ ลาดกระบัง พอตัดสินใจแบบนี้ก็รู้ว่า
ให้น้ำหนักตัวเองน้อยไปหน่อยแต่ก็ไปเรียนที่ลาดกระบัง จนรู้ว่าอาจไม่ใช่แนวทางที่แท้จริงของตัวเอง ในภายหลังกลับมาสอบเข้าเรียนคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ และชีวิตของผมก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง   “ผมได้เข้าไปอยู่กับเพื่อนกลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นหัวโจกของชั้นปี จากที่ตัวเองเป็นคนเรียบ ๆ ก็กลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตเต็มที่มากขึ้น จนขึ้นชั้นปีสองปีสามใครชวนไปไหนก็ทำหมด ตั้งแต่กิจกรรมไปออกค่ายก็แทบจะไม่เรียนหนังสือแต่ก็เรียนจบออกมาได้ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.00 เป๊ะรวมเวลาเรียนก็ราว 6 ปีครึ่ง แต่ถ้ารวมเรียนที่ลาดกระบังก็ 7 ปีครึ่ง “แม้จะเรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ยเพียงแค่นี้ แต่ในระหว่างนั้นผมผ่านการทำงานทำกิจกรรมมาหมดตั้งแต่เต้นแร้งเต้นกาไปจนเล่นดนตรี เป็นหัวหน้าวงดนตรี ผมทำงานเยอะคือตอนนั้นได้เงินเดือนก่อนเรียนจบแล้ว มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานทางด้านบันเทิงแล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ผมทำทั้งหมดตั้งแต่วิทยุ-โทรทัศน์ เป็นโปรดิวเซอร์ เขียนบท เล่นเองบ้างก็มีทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังแต่ก็ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้ว่าอยู่ตรงไหน

“การทำงานที่ผมคิดว่าสำคัญมาก คือคนเราจำเป็นที่จะต้องมีเครือข่าย นอกจากความรู้ความสามารถแล้วมันเป็นเรื่องของการรู้จักคน Connection ไม่ได้หมายความว่าเราเอามาใช้เพื่อให้ได้อภิสิทธิ์ แต่ว่าการที่มี Connection มีคนรู้จักว่าเราทำอะไรได้เขาจะนึกถึงเรา แล้วเราก็ต้องมีนิสัยโดยพื้นฐานอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นเหมือนมนุษย์ปกติ คือไม่ได้หยิ่งยโส ถ้าเขารู้จักว่าเราทำอะไรได้เดี๋ยวมันก็จะมีงานมาเรื่อย ๆ เรื่อง Connection นี่เองทำให้ผมได้ รู้จักกับ พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ในเวลาต่อมา   “พี่เต๋อให้ผมลองเขียนเพลงให้ เพราะว่าตอนนั้นเขากำลังเริ่มสร้างบริษัท GRAMMY อยู่กับคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม โดยส่วนใหญ่ผมก็จะเป็นคนทำงานเบื้องหลัง เพราะว่าเราไม่มีเวลาที่จะให้ใครดึงไปออกสื่อออกทีวีอะไรแบบนี้  

“ผมทำงานเพลงให้กับบริษัทมาหลายสิบปีได้รับความไว้วางใจจนได้รับมอบหมายตำแหน่งเป็นหัวหน้าให้ดูแลในเชิงธุรกิจ เป็นบริษัทในเครือ GMM GRAMMY จนกระทั่งผ่านเข้ามาถึงยุคสื่อดิจิตอล อุตสาหกรรมเพลงก็เกิดปัญหา แต่การแก้ปัญหาเราอาจจะคิดไม่เหมือนกันก็เลยออกมาจากบริษัท GRAMMY แล้วก็มีบริษัทหนึ่งที่รองรับให้ผมเข้าไปทำงาน แต่ไป ๆ มา ๆ เมื่อเข้าไปแล้วก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะว่ากระแสดิจิตอลมันไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นได้ดั่งใจ มันเป็นสิ่งที่เราทำไม่ได้ง่าย ๆ ก็เลยได้กลับมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท GRAMMY จนถึงปัจจุบัน

“ถ้าพูดถึงเรื่องแต่งเพลง ความจริงการทำเพลงผมกับกลุ่มเพื่อนมีการแบ่งหน้าที่กันมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว บางคนทำทำนองอย่างเดียวเพราะถนัดก็ทำกันไป เราก็ไม่ต้องแย่งหน้าที่เขาแล้วก็ดีด้วยผมก็จะได้โพกัสในส่วนของคำร้องมากกว่า

“ในเรื่องของการแต่งเพลงให้ครบทุกองค์ประกอบ จริง ๆ ทุกคนจะบอกว่าตัวเองทำได้หมด แต่ทำออกมาแล้วมันดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่อง ผมยกตัวอย่างพี่แอ๊ด คาราบาวศิลปินแห่งชาติ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ทำแล้วทุกอย่างเกี่ยวกับเพลงตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ คือทำได้หมดแล้ว เป็นที่ยอมรับชื่นชอบของคนทั้งประเทศ แต่ก็มีบางคนที่พยายามทำถึงแม้อาจไม่ได้ดีทั้งหมด คือผมว่าระดับโลกเขายังรู้ตัวเลยว่าทำแค่นี้พอ ในยุค 20 ปีที่แล้วที่การแต่งเพลงจะมีการจับคู่กันเสมอในการช่วยกันแต่งเพลง “ในเรื่องของการแต่งเพลงที่มีเนื้อร้องทำนองและเรียบเรียง คนส่วนใหญ่จะเข้าใจภาษาไทยมากกว่าการฟังทำนองเปล่า ๆ คือถ้าเขียนเนื้อเพลงแล้วโดนใจก็จะมีคนชอบได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งคนเขียนเนื้อก็อาจโดนคนตำหนิได้ง่ายเหมือนกันเพราะคนไทยเรียนภาษาไทยก็รู้ทันทีว่าชอบหรือ สำหรับผมถนัดทั้งสองอย่างไม่ว่าจะเป็นการเขียนเนื้อเพลงหรือทำนอง แต่ส่วนใหญ่ทำเรื่องเนื้อเพลง

“การทำงานแต่งเพลงของผม ทำให้มันเป็นธรรมชาติมากที่สุด นักแต่งเพลงมีหลายประเภทบางคนเขาขยันคือเขาแต่งออกมาโดยที่ไม่ต้องมีใครบอกให้ทำ แต่งเก็บเอาไว้เป็นร้อย ๆ เพลง แต่ผมไม่ได้ทำแบบนั้น ผมทำตาม Order ตลอด คือต้องมีที่มาที่ไปว่าเพลงจะเอาไปทำอะไร ใครจะเป็นคนร้อง ร้องที่ไหน กาลเทศะอะไรเพลงนี้เพื่ออะไร หวังอยากได้อารมณ์แบบไหนคือต้องพอรู้ก่อน

“สมมติว่าผมเป็นช่างตัดเสื้อ มีคนอยากจะตัดเสื้อด้วยฝีมือเรา ก็ต้องเข้ามาวัดตัวให้พอดีแล้วถึงจะได้ตัด เพราะวิธีนี้มันทำให้เรารู้ว่าคนใส่เสื้อผ้าจะเหมาะสมกับตัวเองที่สุด คือผมไม่เอาเทรนด์เป็นใหญ่ แต่ควรเอาตัวเขาเป็นหลักว่าเค้าควรจะใส่เสื้อผ้าอย่างไร เพราะฉะนั้นการแต่งเพลงแล้วเก็บตุนไว้อันนี้ยังไม่เคย

“ที่ผ่านมาผมทำเพลงให้กับศิลปินชื่อดังมากมาย เยอะจนบางครั้งลืมว่ามีใครบ้าง อย่างพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์, น้องใหม่ เจริญปุระ,น้องแอม เสาวลักษณ์ หรือน้องมาช่า วัฒนพานิชคือทุกคนก็มีมุมที่ให้จำได้ เมื่อเวลาผมนึกถึง แต่ละคนจะมีจุดเดนคนละแบบ อย่างพี่เบิร์ด ธงไชย ที่อยู่ยงคงกระพันมาได้เกือบ 30 กว่าปีแล้วก็ยังถือว่าเป็นศิลปินตัวใหญ่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในวันนี้ เพราะว่าการทำงานที่มีวินัยและตั้งใจมาก ตั้งแต่ทำงานมา พี่เบิร์ดไม่เคยบ่นไม่เคยมีปัญหากับคนรอบข้าง การทำงานร่วมกันมันก็ง่าย จึงมีคนชื่นชอบในระยะยาวแบบในทุกวันนี้ อันนี้คือตัวอย่างหนึ่ง

“แม้ผมจะเป็นนักแต่งเพลงมาหลายปี แต่เมื่อทำออกมาแล้วเราก็อยู่ในฐานะคนฟังคนหนึ่ง เราจะชอบมันในฐานะที่คนฟังไม่ได้ชอบมันในฐานะคนแต่งเพลง เพราะฉะนั้นเวลาชอบฟังเพลงก็ไม่ได้ชอบในฐานะที่เราเป็นคนแต่งเพลง เราให้แต้มเท่ากันหมดในฐานะที่เป็นเพลงเพลงหนึ่งในตลาด ผมไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องชอบเพลงไหนหรือบางทีก็นั่งฟังเพลงเพลิน ๆ ผ่านหูมาก็ฟังซะหน่อย มันได้อารมณ์กับเราก็อยากฟังอีกครั้งและก็คับคล้ายคับคลาว่าเราแต่งเองนี่หว่าอะไรแบบนี้บ่อย ๆ โดยที่เราไม่ได้มาเลือกว่าจะนั่งฟังเพลงของตัวเองแล้วเราชอบเพลงไหน

“ตอนนี้ถ้าเป็นนักแต่งเพลงอย่างเดียวก็ค่อนข้างจะหืดจับ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันสักเท่าไหร่ วงการเพลงมันอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ยาว เหมือนเราเคยอยู่บนบกแต่เราต้องไปอยู่ในน้ำก็ต้องมีการปรับตัวที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ขึ้นฝั่งอีก ด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบจากอนาล็อกไปเป็นดิจิตอล รูปแบบการนำเสนอการใช้สื่อ การทำธุรกิจจากแผ่นที่จับต้องได้ไปเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มีการดาวน์โหลดเพลงจากอากาศมาฟัง เราต้องพยายามปรับตัว ในขณะเดียวกันเม็ดเงินของอุตสาหกรรมเพลงก็ไม่โตพอที่จะทำให้อาชีพทั้งระบบอยู่ได้อย่างแข็งแรง ทุกวันนี้ก็เลยเป็นช่วงที่ดูเชิงกันอยู่บริษัทใหญ่ ๆ ก็ทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ศิลปินอิสระก็ทำไปเพราะใจรักเพียงแค่นั้น

“ในอีกมุมหนึ่งของการมีโซเชียลมีเดียทั้งหลายมันเหมือนเป็นทะเลเปิด คือกว้างมองไม่เห็นฝั่งใครจะทำอะไรตรงไหนก็ได้ ทุกคนจึงอยากจะเป็นนักร้องอยากทำอะไรทุกอย่างที่เรารู้กัน ไม่ว่าจะดีงามประหลาดหรืออะไรต่าง ๆ นานา แล้วอยู่ ๆ คนก็ชอบขึ้นมาทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล บางครั้งเราไม่รู้ว่าคนชอบขึ้นมาขนาดนั้นได้อย่าง คนดูคนฟังประหลาดหรือคนทำประหลาดเราก็ไม่รู้ ไม่ได้มีอะไรที่แน่นอน อาจเกิดมาแล้วหายไปมีอันใหม่เข้ามา การหาตัวตนที่ชัดเจนคงทนจึงยากกว่า

“มันจึงไม่มีสูตรสำเร็จหรอกว่าจะทำเพลงอย่างไรให้คนนิยม ถ้ามีสูตรสำเร็จก็คงไม่ต้องคิดกันทุกครั้ง เมื่อไหร่ที่เราทำงานเราต้องคิดใหม่ทุกครั้งมันจึงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ด้วยประสบการณ์หรือการมองผมคิดว่ามันคาดการณ์ได้มากกว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นไร วันนี้เราจึงเห็นว่ามีช่องทางที่ทุกคนจะทำอะไรก็ได้ ถ้าพูดกันเรื่องเพลงอย่างเดียวเล่นกีตาร์เพี้ยน ๆ ตัวหนึ่งแล้วร้องเสียงเพี้ยน แต่ว่าอาจจะหน้าตาดี โกนหัวครึ่งหนึ่งหรือทำอะไรก็ตามที่มันประหลาด ๆ ชวนให้เรียกร้องก็อาจทำให้คนสนใจได้ แบบเพลง Pen Pineapple Apple Pen (PPAP) ของคนญี่ปุ่น Piko-Taro คำถามของผม มันคืออะไรบนโลกใบนี้จะเรียกว่าเป็นเพลงเราก็เรียกไม่ถูกเลย แต่ว่ามันกลายเป็นที่นิยมทั่งโลก มันเกิดขึ้นได้จากอะไรมันไม่สามารถเอาอะไรไปรู้สึกตามได้ แต่ว่ามันก็เกิดขึ้นแล้วเพราะฉะนั้นใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้ แต่ไม่สามารถคาดได้ว่าตั้งใจทำแบบนี้แล้วมันจะดังขึ้นมาอีกมันไม่ง่ายแล้ว

“อย่างที่ทราบกันว่าวงการเพลงมีการเปลี่ยนแปลงเยอะเราจึงต้องคิดสิ่งใหม่ ๆ ออกมาให้คนฟัง ตอนนี้เราจึงกำลัง Project เพลงในยุคเก่า เอามาทำใหม่มาโดยใช้วิธีคิดว่าเพลงรุ่นเก่าคนฟังจำนวนมากยังมีชีวิตอยู่คนกลุ่มนั้นก็จะชอบเพลงในตอนที่ตัวเองเป็นวัยรุ่น แม้ตัวเองจะอายุ 40-50 ปี แล้วก็ตามเพลงที่แต่งใหม่ก็จะไม่ค่อยชอบ ถึงแม้จะเป็นศิลปินคนเดิมร้องก็ตาม มีเพลงใหม่มาก็ไม่ค่อยชอบเหมือนเพลงที่ตัวเองฟังมาในสมัยวัยรุ่น เพราะฉะนั้นแปลว่าเพลงในยุคนั้นมันก็ติดตามตัวคนเหล่านี้ไป จำนวนคนที่อายุ 30–50 ปีในประเทศไทยยังมีอยู่หลายล้านคน เพราะฉะนั้นเขาก็ยังอยากได้ยินในสิ่งที่เขาอยากฟัง ตรงนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะเมืองไทยแต่เป็นทั้งโลก อย่างคอนเสิร์ตเจ เจตรินก็ยังเดินสายกันทุกวันคนเต็มทุกที่ เนื้อเพลงที่เล่นที่ร้องก็คือเพลงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังมีมูลค่ายังมีความหมายกับคนจำนวนมากในสังคม “เมื่อผมได้กลับไปเป็นที่ปรึกษาก็กำลังวางแผนอยู่เพื่อที่จะให้ร่วมสมัย จะมาทำอะไรให้มันเข้ากับการสื่อสารในสมัยนี้ได้ มีการปรับใหม่ยังไงออกมาเป็นไลฟ์ เล่นอะไรกันให้มันตามเหมาะสม สมัยนี้ด้วยอะไรดีเป็นต้น การที่ผมได้กลับมาเป็นที่ปรึกษาบริษัท GRAMMY จึงค่อนข้างไม่กดดันเหมือนก่อน ไม่ต้องเข้าไปประจำที่บริษัท เมื่อมีรายการของเพื่อนหรือพี่ ๆ น้อง ๆ ที่รู้จัก เขาเห็นผมเป็นผู้มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานเพลง การประกวดร้องเพลงเขาก็เชิญมา ก็ได้ความสนุกมาอีกอย่างหนึ่งนอกจากการได้เงินได้ทองมันก็ได้ความสุขได้รู้จักคนใหม่นักร้องใหม่คนรุ่นใหม่

“จากการทำงานวันแรกของผมที่เดินไปไหนเจอใครทุกคนแล้วก็ต้องไหว้เขาหมด เพราะเราอายุน้อยสุด แต่พอถึงวันนี้ เป็นวันที่ทุกคนหันมาไหว้ผมกันหมดแล้ว ก็เป็นเรื่องสนุกอีกอย่างหนึ่งในชีวิตการสู้ชีวิตมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ ผมก็ยังหาอะไรทำไปเรื่อย ๆ ยังมีหลายเรื่องซึ่งน่าสนุกที่จะทำ” 

The Lyric Master