LEGO House

LEGO House

มีเรื่องราวการออกแบบที่น่าทึ่งมากมายในโลกนี้ครับ แต่การออกแบบที่ทำประโยชน์และส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบันนั้นมีน้อย เพราะการออกแบบส่วนใหญ่เป็นการใช้ทรัพยากรให้หมดไปทั้งสิ้น วันนี้ผมจึงอยากขอนำเสนอผลงานการออกแบบของนักออกแบบชาวโคลัมเบียท่านหนึ่งที่มีชื่อว่า Oscar Mendez และวัสดุผลงานการออกแบบของเขาที่มีชื่อว่า LEGO-Bricks 

เรื่องราวของ Mendez เป็นที่น่าชื่นชมมากครับ เขามีความต้องการที่จะช่วยเหลือเหล่าคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยในอเมริกาเหนือ โดยทำการสร้างบ้านให้กับคนเหล่านี้ได้อยู่อาศัย ซึ่งคนไร้บ้านเหล่านี้คิดเป็นอัตราส่วนถึง 46% ของอัตราประชากรทั้งหมดนับเป็นจำนวนที่สูงมาก และแน่นอนครับเขาไม่สามารถที่จะช่วยสร้างบ้านให้คนเหล่านี้ได้ทั้งหมด แต่เขาได้ทำสิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ เขาได้คิดค้นวัสดุก่อสร้างชนิดพิเศษขึ้นเพื่อใช้ในการสร้างบ้านต้นทุนต่ำขึ้น ซึ่งสิ่งนั้นคือ Lego-Bricks

เจ้า Lego-Bricks นี้ก็ไม่ใช่สิ่งของที่หายากจากไหน แต่ทำมาจากขยะพลาสติก และยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการอบความร้อนและหล่ออัดเป็นแท่ง ทำให้มีร่องเดือยและ Joint ที่สามารถต่อเชื่อมกันได้ โดยได้หลักการมาจากตัวต่อในของเล่น Lego ที่เด็กเราเล่นกันนี่แหละครับ 

ซึ่ง Mendez และทีมงานได้พบความจริงอันน่าตกใจข้อหนึ่งว่าในเมือง Bogota ประเทศโคลัมเบียที่เขาอาศัยอยู่เพียงเมืองเดียวนั้น ในแต่ละปีจะมีขยะทิ้งลงในที่เปล่าจำนวน 6,500 ตันต่อปี ในจำนวนนั้นเป็นขยะที่เป็นยางและพลาสติกคิดเป็นอัตราส่วนจำนวน 12%  หรือราว 750 ตันต่อปี แต่มีเพียง 100 ตันเท่านั้นที่นำกลับมา Recycle ใช้ใหม่ แล้วที่เหลือ 650 ตันต่อปีนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

Mendez และทีมงานจึงเห็นเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ จึงได้ไปไล่เก็บและนำขยะที่เป็นยางพลาสติกเหล่านี้มาทดลอง ต่างลงทุนลงแรงและลองผิดลองถูกกันอยู่หลายปีจนสำเร็จในที่สุด ซึ่งเจ้า LEGO-Bricks ที่เป็นผลลัพท์ออกมานี้ถือได้ว่าเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง และมีความยืดหยุ่นทนทานได้ในระดับที่น่าพอใจทีเดียวครับ สามารถใช้ค้อนตอกโดยที่ตัวอิฐไม่แตก ใช้ประกบต่อกันเป็นเสาและกำแพงบ้านได้เป็นอย่างดี และนำมาสร้างเป็นบ้านได้อย่างที่เห็นนี่แหละครับ 

Mendez สามารถนำเอาไอเดียของเจ้า Lego-Bricks นี้ไปขายทำเงินได้อย่างมหาศาล แต่เขาเลือกที่จะนำสิ่งเหล่านี้ที่เขาคิดมาช่วยเหลือคนไร้บ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งสองด้าน ในเวลาเดียวกัน 

ในด้านหนึ่งก็คือ เป็นการส่งเสริมออกแบบเชิงรุก ลดการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างที่เกินกว่าความจำเป็น ลดปัญหาของขยะที่มีมากขึ้นในแต่ละวัน นำมันมาเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กับตัวเอง

และในด้านที่สอง เป็นการช่วยเหลือสภาพสังคมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี เมื่อคนมีที่อยู่อาศัยสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ดีขึ้น คนเหล่านี้ก็จะมีกำลังในการที่พัฒนาตัวทำงานหาเงิน ซึ่งยังส่งผลให้กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในเชิงกว้างอีกด้วย  

 

A Better World Solution