
“Bring Her Back เรียกมันกลับมาหลอน” เผยเบื้องหลังความสยอง พร้อมท้าทายคนจิตแข็ง ผ่านเรื่องราวที่คุณไม่ควรพลาด
บางคนเชื่อว่าวิญญาณจะยังอยู่ในร่างแม้ตายไปเป็นเดือน.. “Bring Her Back เรียกมันกลับมาหลอน” ผลงานสุดระทึกเรื่องล่าสุดของสองพี่น้องชาวออสซี แดนนี และ ไมเคิล ฟิลิปโป จาก “Talk To Me…จับมือผี” ว่าด้วยเรื่องราวของ พี่ชายและน้องสาวค้นพบพิธีกรรมน่าสะพรึงกลัว ณ บ้านที่ห่างไกลผู้คนของแม่บุญธรรมคนใหม่ของพวกเขา
ไปเปอร์ (โซรา หว่อง) ผู้มีความบกพร่องทางสายตา และถูกปกป้องโดย แอนดี้ (บิลลี บาร์รัตต์) พี่ชายคนละแม่ผู้หวงแหนเธอ แอนดี้มักจะระบายสีโลกใบนี้เป็นสีกุหลาบให้กับไปเปอร์ ป้องกันเธอจากความเลวร้ายต่างๆ ในการดำรงชีวิตที่ต้องอยู่ในโลกของคนพิการ หลังจากที่พ่อของทั้งสองเสียชีวิตลง ไปเปอร์และแอนดี้ตกอยู่ภายใต้ความดูแลของ ลอรา (แซลลี ฮอว์กินส์) เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลและที่ปรึกษาสำหรับเด็กกำพร้า ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ห่างไกลผู้คน เธออาศัยอยู่กับ โอลิเวอร์ (โจนาห์ เรน ฟิลลิปส์) เด็กกำพร้าที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด ในที่สุดพี่น้องคู่นี้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจจินตนาการได้
ความมืดและแสงสว่าง
ย้อนกลับไปที่ Talk to Me ภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 2022 ของพวกเขาที่เป็นปรากฏการณ์แห่งวงการภาพยนตร์สยองขวัญ ทีมผู้สร้างแดนนีและไมเคิล ฟิลิปโปก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคู่หนึ่งในวงการ แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ซึ่งมีวัยรุ่นที่ทำอะไรแผลงๆ ด้วยการอัญเชิญวิญญาณมาสิงร่างพวกเขาในงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นที่บ้าน ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากความมุทะลุที่พวกเขาเคยสัมผัสมาเมื่อตอนเป็นเด็กนักเรียนไฮสคูล แต่มันก็มีความสมจริงและถูกยกระดับขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่เป็นจริงมากๆ ของผลลัพธ์ที่ตามมา
“กับหนังที่เราสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสยองขวัญหรือแนวอื่นๆ เราก็อยากให้เรื่องราวของเรามีแกนเรื่องที่ทรงพลังทางอารมณ์ สิ่งที่เราอยากจะสร้างขึ้นมา เราก็อยากให้มันเวิร์คในหลายๆ ระดับครับ” ไมเคิลพูดถึงภาพยนตร์เรื่องแรกของพวกเขา แดนนีเห็นพ้องด้วย พลางกล่าวเน้นย้ำว่า จนถึงตอนนี้ ภาพยนตร์ของพวกเขาเป็นแนวสยองขวัญอย่างชัดเจนและมั่นใจ “เราไม่อยากจะกลัวสิ่งที่เป็นหนังสยองขวัญ แต่เราอยากจะยอมรับว่ามันเป็นหนังสยองขวัญและภูมิใจกับการได้สร้างหนังสยองขวัญครับ”
ด้วยความชำนาญในการควบคุมแนวภาพยนตร์นี้และแนวทางที่ผู้ชมตอบสนองกับเรื่องราวของพวกเขา สองพี่น้องจึงสามารถผสมผสานความสยองขวัญ อารมณ์มืดหม่นที่ซ่อนอยู่เบื้องลึก และความตลกขบขันอย่างน่าประหลาดใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยพวกเขาได้นำตัวละครที่สมจริงและเข้าถึงได้มาผ่านสถานการณ์บางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่มีประสิทธิภาพและน่าจดจำยิ่งกว่าเดิมในท้ายที่สุด ทีมผู้สร้างอ้างถึงกระแสของภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติเกาหลีในยุค 2000s โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์โดยบองจุนโฮเรื่อง Memories of Murder ว่าเป็นแรงบันดาลใจในแบบที่ผู้กำกับออเทอร์ที่ตอนนี้คว้ารางวัลออสการ์ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถนำอารมณ์ขันพิลึก ตลกเจ็บตัวและความทุกข์ใจที่มีตรวนอารมณ์ลากยาวมาเป็นแกนกลางของภาพยนตร์เกี่ยวกับสภาพจิตใจที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ของฆาตกรต่อเนื่องได้ ตอนนี้ สองปีหลังจากผลงานแจ้งเกิดของพวกเขา ผลงานเรื่องถัดมาของพี่น้องฟิลิปโปคือ Bring Her Back เป็นการทำให้คู่หูเขียนบท/กำกับคู่นี้กลับคืนสู่การล้วงลึกเข้าไปในโลกสยองขวัญของชีวิตครอบครัวชานเมือง ที่ถูกยกระดับให้เข้มข้นขึ้นด้วยความตกตะลึงทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งและความสยดสยองที่บิดเบี้ยวที่สุดในบรรดาภาพยนตร์แนวนี้ในช่วงเวลานี้ แต่มันเริ่มต้นขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่ไร้เดียงสาและอ่อนโยนกว่านั้นเยอะ
“น้องสาวของเพื่อนเราคนหนึ่งมีความบกพร่องทางสายตา แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่งกับครอบครัวของเธอ ที่เธออยากจะไปขึ้นรถเมล์คนเดียว แต่พ่อแม่เธอไม่ยอมให้เธอทำแบบนั้น” แดนนีเล่า “เธอพยายามจะสื่อสารกับพวกเขาว่าเธอจะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกโดยที่ไม่มีใครมาคอยโอ๋เธอตลอดเวลา และเธอจะต้องพึ่งพาตัวเองได้”
ธีมหลักนั้น ของการที่เด็กสาวออกเดินก้าวแรกสู่ความพึ่งพาตัวเองได้ ได้ปรากฏในเรื่องราวของไปเปอร์ (โซรา หว่อง) ผู้มีความบกพร่องทางสายตา และถูกปกป้องจากความชั่วร้ายของชีวิตโดยแอนดี้ (บิลลี บาร์รัตต์) พี่ชายผู้หวงแหนเธอ แอนดี้มักจะระบายสีโลกใบนี้เป็นสีกุหลาบให้กับไปเปอร์ ป้องกันเธอจากความเลวร้ายที่สุดของมันเพราะเขาทนไม่ได้ที่จะแบ่งปันโลกที่อัปลักษณ์เหลือเกินให้กับน้องสาวของเขา แต่หลังจากที่พี่น้องคู่นี้ประสบกับโศกนาฏกรรมและความสยดสยองที่ไม่อาจเลี่ยงได้ พวกเขาก็ถูกเหวี่ยงเข้าหาสถานการณ์ที่ไม่อาจจินตนาการได้
ไปเปอร์และแอนดี้ตกอยู่ภายใต้ความดูแลของลอรา (แซลลี ฮอว์กินส์) เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเด็กและที่ปรึกษา ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ห่างไกลผู้คนกับโอลิเวอร์ (โจนาห์ เรน ฟิลลิปส์) เด็กกำพร้าที่ทำตัวมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พี่น้องคู่นี้ค่อยๆ เผยถึงความจริงเลวร้ายที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่น่าหงุดหงิดของโอลิเวอร์ สภาพที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ของเขาและสระว่ายน้ำว่างเปล่าที่ลึกลับใจกลางบริเวณบ้านของลอรา พี่น้องฟิลิปโปได้เผยถึงความนัยในเรื่องเล่าของพวกเขา ผ่านทางฟุตเตจสยองขวัญสั้นๆ ที่ถูกค้นพบและการตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ใหม่ๆ ของพวกเขา
“Talk to Me ให้ความรู้สึกเหมือนหนังปาร์ตี้สยองขวัญ แต่หนังเรื่องนี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยตัวละครมากกว่าครับ” แดนนีกล่าว “เราชื่นชอบความท้าทายของเรื่องราวที่ถูกจำกัด เกี่ยวกับตัวละครสามตัว และโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาครับ”
ครอบครัวที่แตกร้าว
สำหรับลอรา (แซลลี ฮอว์กินส์) ผู้ซึ่งความลับของเธอเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องราว สองพี่น้องได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากแนวทางของภาพยนตร์ที่ย้อนกลับไปไกลถึงภาพยนตร์คลาสสิกปี 1962 เรื่อง What Ever Happened to Baby Jane? ซึ่งโฟกัสไปที่ตัวละครจิตใจแตกสลาย ผู้ปลีกตัวจากโลกแห่งความเป็นจริง เข้าสู่แฟนตาซีมืดหม่นที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ในตอนที่แฟนตาซีนั้นถูกทำลายลงโดยโลกรอบตัวพวกเขา ปฏิกิริยาที่พวกเขามีต่อการบุกรุกนั้นมักจะเหมือนกับการลงแดงที่รุนแรง มีหลายสิ่งที่ทรงพลังยิ่งกว่าภาพเพ้อฝันที่ปลอบประโลมจิตใจ
ตัวละครในภาพยนตร์เหล่านี้ “ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเลวร้ายตั้งแต่แรก แต่โลกมันเลวร้าย และเรื่องเลวร้ายก็เกิดขึ้นกับพวกเขา จนทำให้พวกเขาเรียนรู้ทุกอย่างครับ” แดนนีกล่าว “ดังนั้น สำหรับลอรา สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือการพยายามจะเขียนตัวละครที่คุณรู้สึกอึดอัดที่จะเห็นใจหรือเอาตัวเข้าไปแทนครับ”
ในทันที พี่น้องฟิลิปโปนึกถึงแซลลี ฮอว์กินส์ (The Shape of Water) นักแสดงหญิงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ด ผู้ซึ่งความสามารถในการแสดงดรามาและทักษะในการถ่ายทอดอดีตที่เปราะบางของตัวละคร ทำให้เธอเหมาะเจาะกับบทนี้ นอกจากนี้ พวกเขายังสนใจความจริงที่ว่า เธอไม่เคยแสดงภาพยนตร์แบบนี้มาก่อน แม้ว่าความเข้มข้นทางอารมณ์ของเรื่องจะคล้ายคลึงกับผลงานที่เธอร่วมงานกับผู้กำกับอย่างไมค์ ลีห์ใน Happy-Go-Lucky และ Vera Drake ก็ตาม
“การได้เห็นตัวละครต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ที่เธอได้สร้างเรื่องราวเบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่ให้ นั่นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากๆ สำหรับผม แนวคิดที่ว่ามีคนใส่ใจในตัวละครของเธอมากขนาดนั้นน่ะครับ” แดนนีกล่าว
ไมเคิลกล่าวเสริมแล้ว “ลอราถูกเขียนขึ้นมาในแบบที่แสดงออกถึงความมั่นใจมากขึ้น แต่แซลลีใส่มิติให้กับมันและแสดงมันออกมาในแบบที่แตกต่างและน่าสนใจกว่า ลอราวุ่นวายใจกับสิ่งที่เธอกำลังทำในหนังเรื่องนี้ และผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้เธอเป็นมนุษย์ครับ”
ในส่วนตัวเธอแล้ว ฮอว์กินส์ประทับใจอย่างลึกซึ้งกับผู้กำกับหนุ่มคู่นี้ แนวทางการสร้างภาพยนตร์ของพวกเขาที่ขับเคลื่อนโดยตัวละครและวิธีการทำงานร่วมกับนักแสดงของพวกเขา
“แดนนีและไมเคิลจะสร้างความตื่นตะลึงให้กับโลกใบนี้ค่ะ พวกเขามีพลังงานและแรงขับเคลื่อนไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนที่อยู่รอบด้าน พวกเขาทั้งฉลาด มีไหวพริบ และมีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์และมีคุณธรรมค่ะ” ฮอว์กินส์กล่าว “มันเป็นเรื่องราวที่ละเอียดอ่อนและรับมือกับประเด็นที่ละเอียดอ้อน แม้จะอยู่ในกรอบหรือภายใต้หน้ากากที่น่าสะพรึงกลัวก็ตาม ฉันรู้สึกว่าได้รับแรงสนับสนุน และความไว้วางใจอย่างยิ่ง และฉันยังได้รับอิสระในการทำในสิ่งที่ฉันรู้สึกว่าตัวเองต้องทำด้วยค่ะ”
การหานักแสดงสำหรับบทไปเปอร์กลับกลายเป็นงานที่ต้องอาศัยความเฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น ผู้กำกับรู้สึกว่าสิ่งสำคัญคือการเลือกคนที่มีปัญหาด้านการมองเห็น และพวกเขาก็เริ่มต้นการออดิชันภายใต้ความคิดนั้นเอง นอกชั้นเรียนการละครที่ไฮสคูลแห่งหนึ่ง โซรา หว่อง วัย 12 ปี ไม่เคยแสดงมาก่อนเลย แต่เธอก็ทำให้สองพี่น้องฟิลิปโปตกตะลึงกับการออดิชันของเธอและความสามารถของเธอในการสวมบทนี้
“เราทำแบบทดสอบนี้กับเธอ และเธอก็แสดงฉากนี้ แสดงอิมโพรไวส์แบบนนี้ และมันก็เหลือเชื่อเลยครับ” ไมเคิลกล่าว “เธอเอาตัวเองไปอยู่ในความนึกคิดของตัวละคร ซึ่งในแง่หนึ่ง นั่นไม่ใช่การแสดงด้วยซ้ำไป มันเป็นเหมือนการเอาตัวเองเข้าไปแทนที่ เธอน่าทึ่งมากครับ”
หว่องเข้ารับการออดิชันผ่านทางโฆษณาที่แม่ของเธอเห็นทางเฟซบุ๊ค เธอยอมรับว่าเธอกังวลมากๆ แต่เธอก็รู้สึกผ่อนคลายลงด้วยพลังงานและความร่าเริงของพี่น้องฟิลิปโป
“ฉันชอบตัวละครตัวนี้และรู้สึกเชื่อมโยงกับเธอค่ะ” หว่องกล่าว “ฉันเข้าถึงพฤติกรรมและกระบวนการความคิดหลายๆ อย่างของเธอ และมันก็คลิกค่ะ มีตัวละครไม่กี่ตัวที่มีปัญหาด้านการมองเห็น โดยเฉพาะตัวละครที่จะเป็นตัวเอกในหนัง ดังนัน มันก็เลยเป็นบทที่สำคัญและมีความหมายจริงๆ และฉันก็อยากจะแสดงบทนี้ออกมาอย่างเหมาะสมค่ะ”
พี่น้องฟิลิปโปได้ออกแบบตารางการทำงานเพื่อที่ฉากที่หนักหน่วงทางอารมณ์มากกว่าของหว่องจะถูกถ่ายทำในช่วงท้ายๆ ของการถ่ายทำ เพื่อที่เธอจะค่อยๆ ปูอารมณ์ไปสู่การแสดงฉากพวกนั้นได้ระหว่างที่เธอค้นพบจังหวะของตัวเอง ไมเคิลตั้งข้อสังเกตว่า ความมั่นใจของหว่องเพิ่มมากขึ้นระหว่างการถ่ายทำ และมาจนถึงตอนจบ มันก็แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับตัวเธอในตอนที่เริ่มเปิดกล้อง
นักแสดงหญิงได้รับคำแนะนำอย่างวิเศษสุดในรูปแบบของนักแสดงมากประสบการณ์อย่างฮอว์กินส์ ผู้กล่าวว่าหว่อง “มีทั้งความเฉลียวฉลาดและความใจดี” และประทับใจกับการตอบรับความท้าทายเป็นอย่างดีของเธอ แต่หว่องเองก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีเยี่ยมจากบิลลี บาร์แร็ทท์ เพื่อนร่วมแสดงของเธอ ผู้รับบทแอนดี้ และรู้ว่าการเป็นนักแสดงเด็กเป็นเช่นไร ในความเป็นจริงแล้ว การแสดงที่ได้รับรางวัลอินเตอร์เนชันแนล เอ็มมี อวอร์ดของบาร์แร็ทท์จากบทเด็กชายวัย 12 ขวบที่ต้องเข้ารับการไต่สวนในคดีฆาตกรรมในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง Responsible Child คือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของพี่น้องฟิลิปโปตั้งแต่แรก
“เราอยากเลือกบิลลีมาแสดงใน Talk to Me ครับ” แดนนีตั้งข้อสังเกต แต่พวกเขาก็ตื่นเต้นที่มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่จะได้ร่วมงานกับเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้ “เขาเป็นนักแสดงดาวรุ่ง เป็นคนที่ยินดีกับการผลักดันตัวเองให้พัฒนาขึ้นไปอีก”
ในตอนที่บาร์แร็ทท์ได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไปเปอร์และแอนดี้เป็นสิ่งที่สะดุดใจเขา และเขาก็ชื่นชมประสบการณ์ในการได้พบกับหว่องและพัฒนาตัวละครเหล่านี้ร่วมกับคนที่เพิ่งเริ่มต้นในฐานะนักแสดง นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงแบบฝึกหัดการแสดงที่มิแรนด้า ฮาร์คอร์ท โค้ชด้านการแสดงของพวกเขา ได้มอบให้ ซึ่งช่วยเขาและหว่องในการค้นพบจังหวะที่เหมาะสมร่วมกัน
“มีบางฉากที่เรียกอารมณ์ออกมาได้ยาก เพราะมันมีอะไรต่อมิอะไรมากมายหรือบางที ฉากนั้นอาจจะยังไม่คลิกน่ะครับ” บาร์แร็ทท์กล่าว “แต่ผมคิดว่าเรามีความไว้วางใจพิเศษในกันและกันครับ”
หว่องกล่าวเสริมว่า “ฉันไม่รู้วิธีที่จะตั้งคำถามหรืออิมโพรไวส์และบิลลีก็ช่วยได้เยอะด้วยการทำให้ฉันทำแบบนั้นได้ค่ะ”
ฮอว์กินส์กล่าวเห็นด้วยพลางเสริมว่า “บิลลีเป็นเด็กหนุ่มที่อ่อนไหวเป็นพิเศษค่ะ และฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและเห็นคุณค่า มันเป็นพรสวรรค์ค่ะ เขารับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ได้ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และการร่วมงานกับเขาและโซราก็ทำให้ฉันดีขึ้นค่ะ”
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แอนดี้กำลังอยู่ในขั้นตอนขอสิทธิในการดูแลไปเปอร์ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดรอยร้าวฉานระหว่างทั้งคู่อยู่เรื่อยๆ บาร์แร็ทท์นำเสนอความเป็นเด็กหนุ่มเจ้าปัญหาเล็กน้อยในแง่นั้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเด็กหนุ่มที่ถูกผลักดันและบงการไปถึงจุดนั้นก็ได้
“ในตอนที่ผมดูสิ่งต่างๆ ที่จะส่งอิทธิพลต่อผม มันไม่เคยเป็นสถานการณ์อะไรจริงๆ จังๆ เลย แต่สำหรับเรื่องนี้ ผมรู้จักบางคนในชีวิตจริงของผมที่ผมจะสามารถเรียนรู้ได้จากพวกเขา” บาร์แร็ทท์กล่าว “แค่เพื่อนและเรื่องราวส่วนตัวของพวกเขา และการได้เห็นว่าพวกเขารับมือกับมันยังไง ปฏิกิริยาที่พวกเขามีต่อสิ่งต่างๆ เป็นยังไง คนที่เก็บกักอารมณ์ของตัวเองเอาไว้ ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับแอนดี้มากทีเดียวล่ะครับ”
เกี่ยวกับความสยดสยองและตำนาน
ตอนแรกก็ด้วยวิญญาณชวนสยองจากอีกโลกหนึ่งใน Talk to Me และในตอนนี้ก็ด้วยผีร้ายผู้รุกรานใน Bring Her Back พี่น้องฟิลิปโปไม่เคยเหนื่อยกับการจินตนาการถึงงานสำหรับทีมแต่งหน้ามากพรสวรรค์ของพวกเขาเลย พวกเขาเลือกใช้ทั้งเมค-อัพ เอฟเฟ็กต์ กรุ๊ป (เอ็ม.อี.จี.) จากซิดนีย์และสแคร์ครูว์ สตูดิโอส์จากเมลเบิร์นของแลร์รี แวน เดนโฮเวน สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้
“ตอนที่ผมอ่านบทหนังเรื่อง Bring Her Back ผมก็รู้สึกอึ้งกับมันจริงๆ ครับ” แวน เดนโฮเวน ผู้มีส่วนร่วมในการทำงานเอฟเฟ็กต์ที่น่าจดจำใน Tal to Her ด้วยเช่นกัน กล่าว “มันเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องช้า น่าขนลุกและผมก็รู้สึกว่าตัวละครมีความแตกต่างและน่าสนใจจริงๆ เราไม่ค่อยเจออะไรแบบนั้นในหนังสยองขวัญทุกวันนี้หรอกครับ”
งานหลักสำหรับแวน เดนโฮเวน คือการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวโอลิเวอร์ไประหว่างเรื่อง มีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับเด็กหนุ่มคนนี้ ผู้ไม่เคยพูดและดูเหมือนจะมีความหิวกระหายที่ไม่เคยหยุด (รวมถึงความสนใจในห้องเก็บเครื่องมือในบริเวณบ้านอย่างลึกลับด้วย” เรื่องราวของโอลิเวอร์ค่อยๆ เผยออกมาระหว่างเรื่อง เมื่ออะไรก็ตามที่สิงสู่อยู่ในร่างของเขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของเขาไป
“ตอนแรก เราใช้เวลาแต่งหน้าห้าชั่วโมง แล้วเราก็ลดเวลานั้นลงเพราะมันไม่ดีต่อสุขภาพที่เด็กจะต้องนั่งอยู่ตรงนั้นนานขนาดนั้น ก่อนจะต้องออกไปแสดงน่ะครับ” แวน เดนโฮเวนกล่าว “เราก็เลยปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานหลายอย่าง และใช้ชิ้นส่วนเทียมบางส่วน ตัวของเขาจะถูกปกคลุมไปด้วยเส้นเลือด ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือเราจะออกแบบเส้นเลือดบางเส้นให้เป็นรอยสัก เหมือนสติกเกอร์ลอกลายที่คุณมีสมัยเด็กน่ะครับ มันทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ที่เจ๋งจริงๆ สำหรับการแต่งหน้าโดยรวม มันดูเหมือนมีอะไรบางอย่างกำลังออกมาจากข้างใน เป็นอะไรที่เน่าเปื่อยและเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นอสุรกายน้อยน่ะครับ”
แวน เดนโฮเวนและผู้กำกับเลือกใช้คอนแท็คเลนส์จริงๆ เพื่อให้โอลิเวอร์แลดูผิดปกติ นอกเหนือจากลุคที่เกิดจากปีศาจร้ายที่เร้นกายอยู่ในร่างของเขา เอฟเฟ็กต์ของความตะกละของโอลิเวอร์ตกเป็นหน้าที่ของแวน เดนโฮเวน เด็กหนุ่มเขมือบทุกอย่างที่อยู่ในตู้เย็น กัดกินผิวหน้าของเคาน์เตอร์ พยายามจะกินมีดหั่นเนื้อจากส่วนคมมีดก่อน และในฉากที่น่าตกตะลึงฉากหนึ่ง ท้องของเขาก็พองโตมากๆ
“ท้องโตๆ ที่คุณเห็นนั่น ผมอยากให้มันหนักอึ้งครับ” แวน เดนโฮเวนกล่าว “ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าในตอนที่คุณเห็นอุปกรณ์ประกอบฉากในหนัง แล้วมันดูมีน้ำหนักเบา แต่พูดแบบนั้นก็เถอะ มันเป็นการที่คุณให้เด็กอายุ 11 ขวบเดินไปมาด้วยลักษณะเหมือนคนท้องทั้งวันครับ” เขากล่าวเสริม พลางชี้ให้เห็นด้วยว่าเขาประทับใจกับความอดทนของนักแสดงเด็กคนนี้ระหว่างกระบวนการถ่ายทำมากแค่ไหน
แวน เดนโฮเวนยังได้ดูแลร่างซิลิโคน การนองเลือดและเรื่องสยดสยองทางไสยศาสตร์ทั้งหลายด้วย สำหรับพี่น้องฟิลิปโป องค์ประกอบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งและเป็นเปลือกนอกสำหรับแนวทางการถ่ายทำที่ท้าทายและเน้นถึงสัมผัสของพวกเขา “เราชอบเอฟเฟ็กต์จริงๆ การสร้างสิ่งต่างๆ รวมถึงการพยายามตามหาสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยถูกสร้างในหนังมาก่อนด้วยครับ” แดนนีกล่าว “อย่างเช่นการกินมีด การหาวิธีถ่ายทำฉากนี้แบบจริงๆ เป็นงานที่สนุกมากๆ ครับ” ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับตำนานที่ถูกสร้างขึ้นมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตำนานของ Talk to Me เต็มไปด้วยรายละเอียด แต่มันก็ถูกทำให้คลุมเครืออย่างจงใจด้วยลักษณะที่พี่น้องฟิลิปโปเลือกจะบอกเล่าเรื่องราวนั้น ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่ามีมือลึกลับกับตำนานสาบสูญที่ทุกคนในเรื่องพยายามทำความเข้าใจและปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ในความเป็นจริงแล้ว ผู้กำกับได้เขียนอะไรไว้มากมายเกี่ยวกับวิญญาณที่เด็กๆ ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวติดต่อด้วยโดยใช้มือ รวมถึงประสบการณ์ของเด็กทุกคนที่ข้องเกี่ยวกับมันด้วย
Bring Her Back ก็เช่นเดียวกัน ด้วยพิธีกรรมที่มืดหม่น และเต็มไปด้วยลางร้าย ที่ปรากฏให้เห็นในคลิปวิดีโอสั้นๆ ตลอดทั้งเรื่อง พิธีกรรมนั้นเป็นคำตอบในทันทีสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโอลิเวอร์ แต่มันเป็นแค่พื้นผิวของตำนานที่มีอยู่จริงในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น
“เรามีเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดนั่นครับ เราสามารถตอบคำถามพวกนั้นได้” แดนนีกล่าว พลางเสริมด้วยว่า เขาตั้งตารอที่จะบอกใบ้เป็นนัยๆ ถึงเรื่องทั้งหมดนั้นระหว่างการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่องนี้ “มันเหมือนกับตอนที่คุณไม่ได้อธิบายเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ มากเกินไป แต่คุณจะบอกใบ้เป็นนัยๆ เกี่ยวกับมัน” แดนนีกล่าว “ถ้าคุณอ่านบทดั้งเดิมของ The Shining คุณจะรู้ว่าจริงๆ แล้วแจ็ค นิโคลสันเป็นร่างที่กลับมาเกิดใหม่ของอีกคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่โรงแรมแห่งนี้ แต่เรื่องทั้งหมดนั่นถูกตัดออกจากหนัง มันมีแค่ภาพถ่ายในตอนท้ายเรื่องที่คนจะเอะใจประมาณว่า ‘เดี๋ยวก่อนนะ’ น่ะครับ”
เอฟเฟ็กต์จริงและการสร้างโลกใบนี้ขึ้นมา รวมถึงลักษณะที่ทีมผู้สร้างได้ดึงผู้ชมเข้าไป ทั้งหมดนั้นก็เพื่อรองรับตรรกะหลักที่น่าสะพรึงกลัวของเรื่อง ที่ส่งผลให้เกิดการสะท้อนกลับทางอารมณ์ในตอนที่ผู้ชมตระหนักถึงความจริงเกี่ยวกับอาการของโอลิเวอร์
“โอลิเวอร์ในฐานะตัวละครเป็นตัวแทนของความโศกศร้าและลักษณะที่มันสามารถกลืนกินคุณทั้งเป็นได้” แดนนีกล่าวสรุป “นั่นเป็นปีศาจร้ายในเรื่องนี้ ความเจ็บปวดที่กัดกินและไม่มีวันสิ้นสุดของความเศร้าโศกที่ไร้การคลี่คลาย เทปวิดีโอของพิธีกรรมนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนโฮมวิดีโอของลอราในแบบบิดเบี้ยว ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงกระบวนการทำใจของเธอที่ผิดธรรมชาติ”
เช่นเดียวกับที่ Talk to Me จบลงในแบบกว้างใหญ่อย่างน่าตื่นเต้น แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโลกที่ใหญ่กว่าและสมบูรณ์กว่า ผลกระทบที่ตามหลอนและไม่อาจสั่นคลอนของ Bring Her Back ก็เกิดขึ้นได้ด้วยความรู้สึกสมจริงและความมุ่งมั่นที่มีต่อศิลปะแขนงนี้ที่คู่หูผู้สร้างภาพยนตร์คู่นี้ได้นำมาสู่ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ของพวกเขา
เตรียมพบความสยองครั้งใหม่ที่จะเขย่าขวัญคุณให้จมดิ่ง! “Bring Her Back เรียกมันกลับมาหลอน” พุธที่ 4 มิถุนายน ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เปิดรอบพิเศษวันอังคารที่ 3 มิถุนายน รอบ 1 ทุ่มเป็นต้นไป