
“The Unbreakable Boy เด็กชายหัวใจไม่แพ้” ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงสุดอีลใจของเด็กชายออทิสติกที่พร้อมโอบกอดคนทั้งโลก
“The Unbreakable Boy เด็กชายหัวใจไม่แพ้” ต้อนรับซัมเมอร์ด้วยภาพยนตร์ฟีลกู๊ดที่จะทำให้ทุกหัวใจอบอุ่นและเต็มไปด้วย “ความสุข” และ “ความกล้าหาญ” ผลงานใหม่โดยสตูดิโอผู้สร้างชีวิตมหัศจรรย์ “Wonder” (2017) และ “Jesus Revolution” (2023) สู่ “The Unbreakable Boy เด็กชายหัวใจไม่แพ้” เรื่องของเด็กชายวัย 13 ปีที่มีร่างกายเปราะบางมาตั้งแต่เกิด แต่หัวใจกลับเต็มไปด้วยความเข้มแข็งและพร้อมมอบพลังดีๆ ให้กับทุกคนที่อยู่รอบตัว โดยหนังสร้างจากเรื่องจริงและหนังสือชื่อเดียวกันของนักเขียน “สก็อตต์ ไมเคิล เลอเรตต์” และ “ซูซี ฟลอรี”
จาก Kingdom Story Company ทีมผู้สร้าง Jesus Revolution และ The Best Christmas Pageant Ever และ Lionsgate สตูดิโอผู้สร้าง Wonder สู่ความอบอุ่นครั้งใหม่ใน “The Unbreakable Boy เด็กชายหัวใจไม่แพ้” เมื่อพ่อแม่ของเขา สก็อตต์ (แสดงโดย แซคารี ลีวาย) และ เทเรซา (แสดงโดย เมแกนน์ ฟาฮี) รู้ว่าออสตินเป็นทั้งออทิสติกและโรคกระดูกเปราะ พวกเขาเริ่มแรกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูกชาย แต่ด้วยศรัทธาเต็มหัวใจของสก็อตต์และพลังใจที่เหลือล้นของออสติน ร่วมกันเปลี่ยนพวกเขาให้เป็น "ผู้ที่ไม่มีวันแตกสลาย" พบกับความสุข ความอบอุ่น และความกล้าหาญที่พวกเขาใช้ฟันฝ่าช่วงเวลายากลำบากที่สุด เรื่องจริงที่น่าเหลือเชื่อของพ่อและลูกชายที่เรียนรู้เพื่อทำทุกวันให้กลายเป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิต
Lionsgate เสนอ ผลงานโดย Kingdom Story Company ภาพยนตร์โดย จอน กันน์ The Unbreakable Boy นำแสดงโดย แซคารี ลีวาย, เมแกนน์ ฟาฮี, เจคอบ ลาวาล, ดรูว์ พาวเวลล์ และ แพทริเซีย ฮีตัน คัดเลือกนักแสดงโดย จิล แอนโทนี โทมัส ดนตรีโดย ปานโช บูร์โกส-โกอิซูเอตา ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย แอนนา เรดมอน ตัดต่อโดย พาร์คเกอร์ อดัมส์ ออกแบบงานสร้างโดย คริสเตียน สเนลล์ กำกับภาพโดย คริสโตเฟอร์ ฌอน คิมลิน ผู้อำนวยการสร้างบริหารคือ โทนี ยัง, สกอตต์ เลอเรตต์, ฌอน เดเวอโรซ์, จอน กันน์ และ โมนา การ์เซีย ผลิตโดย เควิน ดาวน์ส, จอน เออร์วิน, เจริลิน เอสกีเบล, ปีเตอร์ ฟาซิเนลลี และ แอนดรูว์ เออร์วิน สร้างจากหนังสือของ สกอตต์ เลอเรตต์ ร่วมกับ ซูซี ฟลอรี ดัดแปลงบทภาพยนตร์และกำกับโดย จอน กันน์
“ผมอยากรักอะไรได้มากเท่าที่ลูกชายของผมรักทุกสิ่งรอบตัวเขา” สกอตต์ เลอเรตต์
ตัวละครและนักแสดง
ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เออร์วินส์กำลังถ่ายทำเรื่อง “American Underdog” ซึ่งนำแสดงโดย แซคารี ลีวาย (เป็นที่รู้จักดีที่สุดจากการรับบทซูเปอร์ฮีโร่ใน "Shazam) หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเคิร์ต วอร์เนอร์ นักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนาน ซึ่งกันน์ร่วมเขียนบทด้วย ลีวายกล่าว “ผมชอบ ‘American Underdog’ ของจอน และหลังจากอ่านบท ‘THE UNBREAKABLE BOY’ ผมก็ชอบเหมือนกัน และคิดว่า ‘นักเขียนบทที่เก่งขนาดนี้แถมครั้งนี้ยังกำกับเองด้วย ผมคงต้องลองดูสักหน่อย’”
“เขาเป็นชื่อแรก ๆ ที่เรานึกถึง” กันน์กล่าว “แซคารีมีอารมณ์ขัน เป็นกันเอง มีเสน่ห์แบบที่ตัวละครสก็อตต์ต้องการ คนที่ซ่อนปัญหามากมายไว้ใต้รอยยิ้ม แซคารีรู้วิธีถ่ายทอดมิติตัวละครแบบนี้”
เนื้อเรื่องมันกระแทกใจนักแสดงหนุ่มคนนี้สุดๆ “สก็อตต์วางแผนลาออกจากงาน กลับไปเรียน และทำงานด้านโฆษณา” นักแสดงอธิบาย “เขาฝันอยากใช้ชีวิตในนิวยอร์ก ขับวอลโว่สีเขียว แต่เทเรซาดันมาท้อง นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเขาต้องยอมทิ้งฝัน เพื่อรับผิดชอบครอบครัว แต่เสียตัวตนไประหว่างทาง กลายเป็นคนติดเหล้า แต่สก็อตต์ไม่อยากยอมรับ”
การที่หนังเล่าด้านมืดของสก็อตต์ยังเป็นอีกจุดที่ทำให้นักแสดงหนุ่มสนใจ “นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือมันไม่ได้สวยงามไปทั้งหมด มันมีความกังวลซ่อนอยู่ มันสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์นั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับประการ” กันน์กล่าว “มันไม่ได้พูดถึงแค่ปัญหาของเด็กออทิสติกและคู่รักที่มีลูกก่อนเวลาอันควร แต่ยังพูดถึงปัญหาการติดเหล้าด้วย พ่อคนนี้พยายามหนีปัญหาด้วยการดื่มเหล้า แต่สุดท้ายแล้ว เด็กที่แตกต่างจากคนอื่นคนนี้ช่วยให้สก็อตต์เป็นผู้เป็นคน เป็นสามีและพ่อที่เขาควรจะเป็น”
ลองนึกภาพการคัดเลือกนักแสดงเด็กมาเล่นเป็นเด็กออทิสติก และสามารถถ่ายทอดบทบาทนั้นได้อย่างสมจริงจนผู้ชมคิดว่าทีมสร้างบังเอิญเจอนักแสดงเด็กที่เป็นออทิสติกจริง ๆ เพราะถ้าคุณได้ดู “The Unbreakable Boy” คุณจะคิดแบบนั้น
เจค็อบ ลาวาล วัยสิบสองเพิ่งเริ่มเป็นนักแสดงมาเพียงไม่กี่ปี เริ่มจากตัวประกอบก่อนจะค่อยๆ ได้รับบทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ (เช่นในมินิซีรีส์โดย เอ็ด เบิร์นส และ เดวิด ไซมอน HBO เรื่อง The Plot Against America ที่ถ่ายทำก่อน The Unbreakable Boy หนึ่งปี) แต่เมื่อเขาได้บทนี้จากผู้จัดการแผนกคัดเลือกนักแสดง จิล แอนโธนี โธมัส นักแสดงรุ่นเยาว์มากความสามารถผู้นี้ไปซ้อมการแสดงเพิ่มเติมกับ ดาน่า เบอร์เกอร์ แอ็กติ้งโค้ชชื่อดังประจำนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดกับทุกบทบาท
“ก่อนที่จะรับบทนี้ ผมไม่รู้จักคนที่เป็นออทิสติกเลย จนกระทั่งผมได้พบกับออสตินตัวจริง หลังจากที่เปิดกล้องไปแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์” เจค็อบเผย “ผมเพิ่งได้บท และลองอ่านคร่าวๆ ผมพยายามไม่โฟกัสความเป็นออทิสติกมากเกินไป แต่เน้นไปที่ตัวตนของออสติน ลักษณะเฉพาะตัวที่ปรากฏในบท เพราะคำจำกัดความของอาการออทิสติกมันกว้างมาก แน่นอนว่าเราต้องคำนึงถึงสิ่งนั้น แต่ในฐานะนักแสดง สิ่งที่ผมต้องคิดคือ ออสติน เลอเรตต์ เป็นคนยังไง เขากระฉับกระเฉง มองโลกในแง่บวก และเป็นคนคลั่งความสมบูรณ์แบบนิดๆ มีหลายมุมที่เหมือนผม”
การแสดงฉากที่ต้องพูดไม่หยุด เช่นฉากในห้องเรียนที่ไทเลอร์ เด็กแสบประจำห้อง ยุให้ออสตินท่องบทพูด “แกรับความจริงไม่ได้” ของ แจ็ค นิโคลสัน จากหนังเรื่อง A Few Good Men ฉากนี้ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่ลาวาลบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับเขา “การพูดเป็นต่อยหอยคือของกล้วยๆ สำหรับผม ผมพูดมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องตัวเอง ผมแทบไม่ต้องพยายามเลย" เพื่อหัดโมโนล็อกนั้น เขาและเบอร์เกอร์ดูฉากต้นฉบับซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยลาวาลจดบทพูดทีละส่วน และฝึกฝนอยู่ประมาณสองสัปดาห์ “เราดูมันซ้ำแล้วซ้ำอีก” เบอร์เกอร์อธิบาย "เพื่อให้ได้สำเนียงและทุกประโยคถูกต้อง เหมือนกดปุ่มเพลย์แล้วออสตินจะพูดเป๊ะเหมือนถอดเทปเลย" ซึ่งทำให้แม้แต่เด็กที่แกล้งยังต้องแปลกใจ “ที่หน้ากอง ไม่มีใครต้องแสดงเยอะเลย ทุกคนทึ่งที่เห็นเจคอบแสดงได้ระดับนั้น เทคแล้วเทคเล่า”
ฉากอื่นๆ เช่น ฉากอาหารเย็นที่ออสตินเริ่มสูญเสียการควบคุมตัวเอง พ่นคำหยาบใส่ครอบครัวและขว้างของใส่แม่ ก็ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติเช่นกัน “เขาปลดปล่อยความโกรธและก้าวร้าวออกมาได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย มันสมจริงจน น่าทึ่ง”
ลาวาลและกันน์ใช้ประโยชน์จากการมีเบอร์เกอร์อยู่หน้ากองได้เต็มที่ “การมีเธออยู่คอยให้คำแนะนำ ช่วยผมได้มากจริงๆ” ลาวาลกล่าว เมื่อถึงเวลาถ่ายทำฉากที่ใช้ในการออดิชั่นของเขา (ตอนที่เขาถล่มพ่อแม่ด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับอาหารเย็น) นักแสดงเล่า “ผมเริ่มทำฉากนั้น แต่รู้สึกว่ามีบางอย่างทะแม่งๆ ดาน่าแนะนำผมว่า ‘เธอรู้ไหม ออสตินเล่นรูบิกเป็น ฉากนี้ลองเล่นรูบิกระหว่างเดินไปเดินมาดูสิ’ เราเริ่มทดลองไอเดียต่างๆ จนได้เทคที่ต้องการจริงๆ”
“การคัดเลือกนักแสดงมารับบทออทิสติกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” ลีวายกล่าว “เจคอบพิเศษมาก เป็นตัวของตัวเอง น่าสนใจ เขาใช้พรสวรรค์และความทุ่มเทสร้างออสตินที่มีความเป็นออทิสติกได้อย่างน่าเชื่อถือมาก” เควิน ดาวน์สเสริม “เขามีพลังล้นเหลือ เขามีทุกอย่างที่บทออสตินต้องมี เด็กคนนี้ไม่ได้แสดงอยู่ เขาสวมวิญญาณ เราโชคที่ได้นักแสดงรุ่นเยาว์ที่มีฝีมือขนาดนี้”
ผู้ที่รับบทเป็นโลแกน น้องชายของออสติน คือ เกวิน วอร์เรน นักแสดงเด็กมากความสามารถ ซึ่งทีมงานถือว่าโชคดีมากที่พบเขา ไม่ใช่แค่เพราะความสามารถในการแสดงที่น่าประทับใจ แต่ยังรวมถึงรูปร่างหน้าตาของเขาด้วย “เราคิดว่าคงหาคนรับบทเป็นโลแกนได้ไม่ทันเวลา” โปรดิวเซอร์ เจริลีน เอสกีเบลกล่าว “แต่เกวินคือตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ แถมพวกเขาเหมือนออสตินและโลแกนตอนเป็นเด็กมาก ซึ่งเป็นอะไรที่เหลือเชื่อสุดๆ” เทเรซา เลอเรตต์เสริม “โอ้ พระเจ้า เด็กๆ ที่พวกเขาเลือกมาหน้าเหมือนลูกๆ ของเรามาก แถมฝีมือเกินวัยไปไกลอีกด้วย”
“ทั้งเก่ง ทั้งน่ารัก” เมแกนน์ ฟาฮี ผู้รับบทเป็น เทเรซา แม่ของออสตินและโลแกนกล่าว “ฉันได้ทำงานกับเกวิน และฉันเห็นว่าเขาตั้งใจฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในฉากจริงๆ เพื่อตอบสนอง ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เขาไม่ได้แค่ท่องจำและพูดออกมา เขามีส่วนร่วม ในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง ซึ่งเขารักที่จะทำมันจริงๆ”
เขาและลาวาลสนิทกันเหมือนเพื่อน ซึ่งช่วยเสริมเคมีบนจอของพวกเขาด้วย “ผมแวะห้องของเขาที่โรงแรม และเราเล่นมาริโอคาร์ตด้วยกันประจำ” ลาวาลกล่าว “เราเป็นเหมือนพี่น้องกันจริงๆ ที่กองถ่าย” เบอร์เกอร์กล่าวเสริม “พวกเขากลายเป็นเพื่อนซี้ เล่นด้วยกัน ใช้เวลาด้วยกันตลอดนอกกอง”
แม้ว่าโลแกนจะอายุน้อยกว่าออสตินสองปี แต่เขามักจะทำตัวเหมือนเป็นพี่ชายที่คอยปกป้องออสติน “เขาต้องกลายเป็นพี่ชายที่คอยช่วยเหลือออสตินในหลาย ๆ ด้าน คอยเป็นกระบอกเสียงและยืนหยัดเพื่อเขา” ฟาฮีกล่าวเสริม ลีวายกล่าว “ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีกันและกัน พวกเขาจะเป็นตัวเองในแบบที่เป็นไหม ผมคิดว่าโลแกนคงต้องแบกรับความกดดันมหาศาล ที่ต้องเติบโตในครอบครัวที่มีพี่ชายเป็นออทิสติกและโรคกระดูกเปราะ เขาต้องคอยปรับตัว ปกป้องพี่ชายในฐานะน้องชาย มันเป็นไดนามิกที่น่าสนใจมาก”
เมื่อฟาฮีอ่านบท เธอมีปฏิกิริยาที่หาได้ยากในหมู่นักแสดง “ฉันรู้สึกเศร้ามากเพราะชอบบทนี้สุด ๆ แต่ฉันแน่ใจว่าพวกเขาคงเลือกคนอื่น” เธอกล่าว แต่กันน์เสริม “เธอเป็นหนึ่งในนักแสดงคนแรกๆ ที่เราออดิชั่น ผมกับแซคารีดูเทปพร้อมกันแล้วก็พูดว่า ‘ว้าว—เธอมีความอบอุ่น ความเป็นมนุษย์ ความลึกซึ้ง และพลังที่บทนี้ต้องการจริง ๆ’ เธอเป็นเหมือนเสาเข็มของหนังเรื่องนี้”
ด้วยความที่เธอไม่เคยได้ยินเรื่องราวของครอบครัวเลอเรตต์มาก่อน ฟาฮีจึงรีบหาหนังสือของสก็อตต์มาอ่าน “ฉันตื่นเต้นมากที่ได้ข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีในบทหนัง” เธอกล่าว “จอนสร้างภาพครอบครัวนี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และฉันชอบที่เขาให้เทเรซามีอารมณ์ขัน แต่ก็มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมายในหนังสือที่บทหนังไม่มีพื้นที่พอจะใส่เข้าไป การได้อ่านหนังสือช่วยให้ฉันเข้าใจภาพรวมของครอบครัวมากขึ้น”
เธอยังฟังพอดแคสต์และอ่านข้อมูลเกี่ยวกับอาการออทิสติกและโรคกระดูกเปราะ รวมถึงพูดคุยกับเทเรซาตัวจริงเป็นประจำ “เธอเล่าให้ฉันฟังว่าเธอเคยทำกุญแจรถหล่นที่ลานจอดรถซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่พอก้มลงไปเก็บแล้วซี่โครงหัก” ฟาฮีเล่า “แต่เทเรซาเต็มไปด้วยพลัง เธอเป็นผู้หญิงแบกรับความผิดหวังและความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจมาตลอดชีวิต เธอยังเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี พร้อมความสดใสในทุกที่ที่เธอไป เธอรักชีวิตจริง ๆ”
เพราะสิ่งที่เธอเผชิญมาตลอดชีวิต ฟาฮีเผย เช่น การเติบโตมากับพ่อที่ติดเหล้า และการที่เธอเองก็ป่วยเป็นโรคกระดูกเปราะ “เทเรซาเป็นฝ่ายทำใจในสิ่งที่เกิดขึ้นออสตินได้เร็วกว่าสก็อตต์ เธอคุ้นเคยกับ ‘ความเปราะบาง’ เหล่านี้มากกว่า ทำให้เธอเข้าใจและปรับตัวได้เร็วกว่า”
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างสมจริงตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งนั่นถือเป็นหัวใจหลักของหนัง “พวกเขาไม่ได้ตกหลุมรักกันตั้งแต่แรก แต่ความรักค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อเรื่องดำเนินไป” ฟาฮีกล่าว “นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราได้เห็นบ่อยนักในหนัง พวกเขาตัดสินใจสร้างครอบครัวหลังจากออกเดตกันเพียงสามครั้ง”
“นั่นเป็นจุดที่ทำให้เรื่องนี้สนุก” กันน์เสริม “พวกเขาแทบไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ ดังนั้น ความสัมพันธ์นี้จึงค่อย ๆ ก่อตัว ทำความรู้จักกันไปพร้อมกับการเลี้ยงลูกชายที่มีความต้องการพิเศษมากมาย เราได้เห็นสองคนที่แทบไม่มีประสบการณ์อะไรเลย ถูกผลักเข้าสู่สถานการณ์ที่ยากลำบากต้องเรียนรู้ที่จะเป็นพ่อแม่ของเด็กชายคนหนึ่ง ที่ท้ายที่สุดกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา คอยสนับสนุนพวกเขา นำพาพวกเขาให้ใกล้ชิดกันมากกว่าที่เคย”
“พวกเขาเป็นรูมเมตกันหลายปี” ลีวายกล่าว “กว่าความรักจะเบ่งบานขึ้นมานั้นต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจกันอย่างหนัก สก็อตต์เต็มไปด้วยความลังเลสงสัยว่าตัวเองตัดสินใจถูกแล้วหรือไม่ แต่ถ้าคุณได้คุยกับสก็อตต์และเทเรซาตัวจริง พวกเขาจะบอกว่ามันคุ้มค่า พวกเขาเป็นคนที่ดีขึ้นเพราะร่วมผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน”
การค้นพบว่าออสตินเป็นออทิสติกส่งผลกระทบต่อสามีภรรยาคู่นี้อย่างมาก โดยเฉพาะการที่พวกเขายังไม่รู้จักกันดีขนาดนั้น พวกเขาต้องเรียนรู้กันและกันพร้อมหาทางรับมือกับสภาวะของออสตินไปด้วย “มันแบ่งเป็นช่วงๆ” ลีวายอธิบาย “พวกเขารู้เรื่องโรคกระดูกเปราะตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ผ่านไปหลายปีกว่าจะรู้ว่าออสตินมีอาการออทิสติก มันยิ่งเพิ่มระยะห่างระหว่างพวกเขามากขึ้นไปอีก”
ดูเหมือนว่าคู่รักคู่นี้แทบไม่มีโอกาสได้พักหายใจ “พวกเขาไม่มีเวลาส่วนตัวเพื่อพักใจเลย” เอสกีเบลกล่าว “ออสตินเป็นเด็กมหัศจรรย์ ฉลาด และเต็มไปพลัง แต่เขาไม่เคยหยุดนิ่งเลย หัวเขาแล่นตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าเขาพูดตลอดเวลา เขาไม่เคยอยู่นิ่งกับที่เช่นกัน มันไม่มีช่วงเวลาที่เขาไม่พูดเลย คุณรู้แน่นอนว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ และจะเป็นแบบนั้นไปตลอดที่เขายังตื่น และนั่นคือชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญไปตลอดทุกวัน จนกว่าจะลาโลกกันไป”
แม้ว่าสก็อตต์พยายามจัดการกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีของตัวเอง แต่ทุกอย่างยิ่งแย่ลงกว่าเดิม “เพราะสก็อตต์เป็นคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD)” ลีวายอธิบาย “สำหรับเขาจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะหาวิธีแยกแยะและจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งการที่เขาเลือกใช้เหล้าเป็นทางออก ยิ่งทำให้ความเครียดและความวิตกกังวลที่มาพร้อมกับการเป็นพ่อ สามี และหัวหน้าครอบครัวทวีคูณขึ้นไปอีก”
การที่สก็อตต์ติดเหล้านั้นส่งผลต่อเทเรซาอย่างมาก เพราะเธอมีปมในอดีต “เทเรซามีพ่อเป็นคนติดเหล้า” ฟาฮี กล่าว “เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความรักมาตลอด เธอทนอยู่กับสก็อตต์แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ควรต้องอยู่ เพราะเธอกลัวว่าจะไม่มีใครรักเธออีกแล้ว เธอผ่านการหย่าร้างมาแล้วสองครั้ง มีลูกสองคน และเธอกลัวจับใจ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว เธอยืนหยัดเผชิญหน้ากับความจริง ให้คำขาดกับสก็อตต์ บังคับให้เขาเผชิญหน้ากับปัญหาของตัวเอง “เธอตัดสินใจที่จะเผชิญกับทุกสิ่งและบอกว่า ‘ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลง ฉันจะไป เพราะฉันไม่ควรต้องทนกับสิ่งนี้’ สำหรับเธอ นั่นเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก”
โจ เป็นตัวละครสำคัญที่ช่วยให้สก็อตต์เอาชนะปัญหาส่วนตัว “ตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น อายุราว ๆ 19 หรือ 20 ปี แม่ของผมเคยได้ยินผมพูดในโรงรถ เธอแซวผมเรื่องนี้ไม่หยุด” สก็อตต์ เลอเรตต์ เล่า “ผมพูดอะไรบางอย่าง แล้วเธอก็ได้ยินเข้า ผมบอกแม่ว่า ‘แปลกตรงไหน? ใคร ๆ พูดกับตัวเองทั้งนั้น’ แม่ผมบอกว่า ‘ใช่ แต่ลูกถามเองแล้วตอบเองด้วยนะ งั้นตั้งชื่อให้เขาว่าโจแล้วกัน’ และตั้งแต่นั้นมา โจก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในความคิดของผม ซึ่งจอหน์ กันน์ เห็นว่าควรนำเขามาใส่ลงไปในหนังด้วย”
“ตอนที่ผมอ่านหนังสือของสก็อตต์ ผมไปสะดุดกับประโยคหนึ่งที่บอกว่าเขาชอบพูดกับตัวเองเสียงดัง จนโดนแม่ล้อว่ามีเพื่อนในจินตนาการ” ผู้กำกับเล่า “ผมคิดว่ามันคงจะเจ๋งดีถ้าถ้าเราเปลี่ยน ‘โจ’ จากจินตนาการให้กลายเป็นตัวละครจริง ๆ ในหนัง จะเป็นยังไงถ้าเราให้สก็อตต์มีเพื่อนในจินตนาการ ที่เขาสามารถระบายและจัดการกับปัญหาของตัวเองผ่านตัวละครนี้?” สก็อตต์เสริม “สำหรับผม โจมีตัวตนแค่ในจินตนาการ ไม่ได้ยืนอยู่ข้างตัวผม แต่สิ่งที่จอนทำก็คือสร้างโจขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน เป็นเพื่อนแท้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความคลุมเครือเอาไว้ว่าจริง ๆ แล้วโจเป็นอะไรกันแน่?”
ระหว่างที่ลีวายอ่านบท เขาก็เริ่มคิดว่าใครที่เหมาะจะรับบทโจ ชื่อ ดรูว์ พาวเวลล์ เด้งขึ้นมาในหัวเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก “โจเป็นเหมือนพี่ใหญ่อารมณ์ดี เป็นคนที่มีพลังบวก ผมรู้จักดรูว์เพราะเราเล่นยิมเดียวกันที่นิวยอร์ก และเขาเป็นคนที่ร่าเริง อบอุ่น เหมือนหมีเท็ดดี้ ตอนที่เรากำลังหานักแสดง ผมเลยเสนอชื่อเขาไปทันที”
“ช่วงบ่ายวันศุกร์ ขณะที่ผมกำลังวิ่งอยู่บนลู่วิ่งที่บ้าน ผมก็ได้รับสายจากแซคารี ลีวาย” พาวเวลล์เล่า “เขาเล่าเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ให้ผมฟัง บอกว่าผมเหมาะกับบทนี้มาก จากนั้นไม่นาน ผม Zoom กับจอน กันน์ และทดสอบบทกับแซคารีในวันจันทร์ สัปดาห์ต่อมา ผมก็บินไปโอกลาโฮมาเพื่อถ่ายทำแล้ว”
กันน์อธิบาย “โจเป็นตัวละครที่พิเศษมาก เพราะเขามักจะปรากฏตัวขึ้นเมื่อสก็อตต์ต้องการเขา เขาอาจจะไม่มีตัวตนจริง ๆ หรือบางทีเขาก็อาจจะมี ใครจะไปรู้ล่ะ? เขาตลก แต่ก็เป็นคนที่พึ่งพาได้ คอยรับฟัง คอยท้าทาย คอยสนับสนุน และคอยให้กำลังใจสก็อตต์เสมอ เขาทำให้ผมยิ้มได้ตลอด” โจมีบทบาทอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของสก็อตต์ “โจเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจสก็อตต์ เขาช่วยบรรเทาเรื่องที่หนักหนาในชีวิตของสก็อตต์ดูทุเลา” ลีวายอธิบาย “สก็อตต์มีอาการ OCD และความเครียดที่มาพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเข้าใจดี ดังนั้นการที่เขามีโจอยู่ข้าง ๆ เพื่อคอยพูดคุยและระบายมันออกมานั้นช่วยเขาได้มาก โจอาจจะเป็นคนที่กระตุ้นให้สก็อตต์ทำบางอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็คอยเตือนสติด้วย เขาเป็นคนทำให้เห็นว่าชีวิตของสก็อตต์ออกนอกลู่นอกทางไปไกลขนาดไหน และเขาต้องการความช่วยเหลือ”
“จอนอธิบายว่าบางครั้งสก็อตต์คุยกับเพื่อนในจินตนาการ จนค่อย ๆ ก่อร่างกลายเป็นโจขึ้นมา” พาวเวลล์กล่าว “ผมถามเขาว่า สก็อตต์รู้ไหมว่าโจหน้าตาเป็นยังไง? และเขาตอบว่า ‘ไม่เลย’ ผมก็เลยบอกเขาว่า ‘คุณเห็นเขาอยู่ตรงหน้านี่แล้ว’”
พาวเวลล์ในบทโจช่วยเพิ่มองค์ประกอบที่สำคัญให้กับการเล่าเรื่องของกันน์ นั่นคืออารมณ์ขัน “อารมณ์ขันเป็นสิ่งสำคัญในทุกเรื่องราว แต่โดยเฉพาะกับเรื่องนี้” เจริลีน เอสกีเบลกล่าว “เมื่อคุณกำลังพูดถึงประเด็นหนัก ๆ อย่างการตกงาน เงินไม่พอใช้ การติดเหล้า ออทิสติก การเป็นพ่อแม่ ประเด็นซีเรียสทั้งนั้น การเจืออารมณ์ขันเข้าไปนั้นช่วยได้มาก” และเมื่อเธอได้รู้จักกับสก็อตต์และเทเรซาตัวจริง เธอก็เข้าใจว่าอารมณ์ขันสำคัญในชีวิตของพวกเขามากแค่ไหน “สก็อตต์และเทเรซาตัวจริงเป็นคนตลกมาก พวกเขาหัวเราะกันเยอะมาก เวลาที่เทเรซาหัวเราะ ทั้งโลกมันดูสดใสไปเลย กับสก็อตต์ก็เหมือนกัน พวกเขาเต็มไปด้วยความสุขและพลังบวก ดังนั้น เพื่อให้หนังเรื่องนี้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา อารมณ์ขันจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเรื่อง”