เครื่องประดับกับความหมายเบื้องหลังอัญมณี

เครื่องประดับกับความหมายเบื้องหลังอัญมณี

อัญมณี หนึ่งในสมบัติทางธรรมชาติสุดแสนล้ำค่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นดั่งขุมทรัพย์แห่งพลังและอำนาจอันไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ อัญมณีนั้นปรากฏอยู่ตามหน้าประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่อดีตกาล อีกทั้งด้วยคุณสมบัติ 3 ประการสำคัญนั่นคือ ‘สวยงาม คงทน หายาก’ จึงไม่แปลกที่มันจะถูกกำหนดมูลค่าเอาไว้เสียสูงลิบลิ่ว 

มีแร่อัญมณีมากมายถูกค้นพบตามแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ ซึ่งบทบาทของมันไม่เพียงแค่เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามเท่านั้น หากแต่มนุษย์ยังเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อ โชคลาง ใช้เป็นสื่อกลางทางศาสนา รวมถึงมีไว้ส่งเสริมสถานะทางสังคมอีกด้วย โดยส่วนมากเครื่องประดับอัญมณีจะได้รับการออกแบบให้ประณีต วิจิตร และซับซ้อน รูปทรงทางธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ พระจันทร์ ดวงดาว กลายเป็นแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์ลวดลายเหล่านี้ 

แต่แท้จริงแล้วการปฏิวัติวงการเครื่องประดับครั้งใหญ่ของโลกเริ่มในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งนำโลหะมีค่าอย่างทองหรือแพลทินัมมาใช้ดีไซน์ให้มีความทันสมัย เน้นไปที่รูปทรงเรขาคณิตอย่างทรงกลมและทรงเหลี่ยมต่าง ๆ เพื่อความเรียบง่าย ราคาก็ย่อมเยาลง ดังนั้นเวลาต่อมาการเข้าถึงอัญมณีและเครื่องประดับหรูหราเลยไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่กลายเป็นแฟชั่นความงามที่คนทั่วไป (อาจมีกำลังทรัพย์สักหน่อย) พอจะเข้าถึงได้มากขึ้น 

เครื่องประดับกับความหมายเบื้องหลังอัญมณี 

ยุคโบราณ (The Ancient Time) 

ประเทศจีนใช้ หยก (Jade) เป็นสัญลักษณ์แทนตัวของจักรพรรดิ เพื่อบ่งบอกถึงความมั่งคั่งและบารมีอำนาจ ซึ่งหากใครที่มีความรู้ทางด้านภาษาจีนคงจะสังเกตได้ว่าตัวอักษร 玉 (อวี้) ที่แปลว่าหยกนั้น มีรูปแบบคล้ายคลึงกับตัวอักษร 王 (หวัง) ที่แปลว่าจักรพรรดิด้วย 

หินอัญมณีทึบแสง อ่อนตัว และเจียระไนง่ายอย่าง ควอตซ์ (Quartz) เทอร์ควอยซ์ (Turquoise) แจสเปอร์ (Jasper) มักถูกนำมาใช้แกะสลักเป็นรูปแมลงปีกแข็ง (ด้วง) อันเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาของอียิปต์ อีกทั้งสีน้ำเงินซึ่งพบได้จากหินอัญมณีเหล่านี้ ยังเป็นสีประจำราชวงศ์อียิปต์โบราณด้วย 

อัญมณีจากอินเดียและศรีลังกาทั้ง พลอย (Sapphire) มรกต (Emerald) โกเมน (Garnet) ถูกนำเข้ามายังกรีกผ่านเส้นทางสายไหม โดยชาวกรีกโบราณเชื่อว่าอัญมณีมีพลังเหนือธรรมชาติ อาทิ พวกเขาเชื่อว่าการสวม พลอยสีม่วง (Amethyst) ขณะดื่มไวน์จะช่วยแก้อาการเมามายได้ ซึ่งคำว่า Amethyst ก็มีที่มาจาก Amethystos ที่แปลว่าสติสัมปชัญญะในภาษากรีกนั่นเอง 

ยุคกลาง (The Middle Ages)

ผู้หญิงแถบเอเชียใต้ไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินยกเว้นเครื่องประดับอัญมณี (เพราะผู้ชายมักไม่นิยมสวมใส่สิ่งของสวย ๆ งาม ๆ) ดังนั้นหากหย่าร้างกับสามี เครื่องประดับเหล่านี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นหลักประกันในชีวิตของพวกเธอได้ 

นอกจากแหวน กำไล สร้อยคอสำหรับผู้หญิงแล้ว ยังมีเครื่องประดับในรูปแบบอาวุธของผู้ชาย เรียกว่า ‘Small Sword’ ดาบขนาดเล็กสำหรับพกไว้ป้องกันตัว ได้รับความนิยมมากแถบยุโรป โดยด้ามดาบมักทำจาก ทอง (Gold) และฝังด้วย เพชร (Diamond) เพื่อบ่งบอกความเป็นชนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็สามารถแสดงความเป็นชายได้ 

ยุคโมเดิร์น (The Modern Time) 

การเข้ามาของเทคโนโลยีส่งผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบอาทิ อิทธิพลของคนดังบนหน้าจอที่สวมใส่เครื่องประดับสวยงามทำให้มันได้รับความนิยมไปทั่วจนกลายเป็นแฟชั่นในหมู่คนทั่วไป เพราะในยุคนี้ตราบใดที่มีกำลังทรัพย์ก็สามารถครอบครองอัญมณีได้ ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะกลุ่มชนชั้นปกครองอีกแล้ว

มากกว่าความสวยงาม มุมมองเกี่ยวกับเครื่องประดับยังวนกลับมาที่การเป็นตัวแทนแห่งพลังธรรมชาติหรือสิ่งช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือฮิปปี้ (Hippie) และโบฮีเมียน (Bohemian)  ซึ่งสไตล์จะเน้นไปที่ความธรรมชาติ ความมีอิสระ แสดงออกถึงวิถีชีวิตอันชัดเจนผ่านเครื่องประดับ

ยุคปัจจุบัน (The Present) 

แนวโน้มความนิยมของอัญมณีได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเรียบง่าย เน้นรูปแบบเฉพาะตามสไตล์ของแต่ละคนหรือที่เรียกกันว่า ‘น้อยแต่มาก’ เพื่อการสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันไม่ใช่เพียงตามงานสำคัญหรือโอกาสพิเศษอย่างเช่นในอดีต 

มีการกำเนิดขึ้นของ เพชรสังเคราะห์ (Lab Grown Diamond) ทำให้ราคาอัญมณีถูกลงและเข้าถึงง่ายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ข้อดีคือคุณสมบัติและรูปร่างจะไม่ต่างกับเพชรแท้ที่เกิดจากธรรมชาติ ส่วนข้อเสียคือไม่สามารถนำไปเก็งกำไรได้เหมือนอย่างเพชรแท้ 

มนุษย์ยังคงผูกโยงความเชื่อเข้ากับอัญมณีอยู่เช่นเดิม มีเทรนด์ ‘เครื่องประดับสายมู’ ที่ตีความหมายด้านโชคลางต่าง ๆ เข้ากับตัวอัญมณี เช่น กำไลหินมงคล อัญมณีประจำเดือนเกิด แหวนเพชรแก้ชง เป็นต้น

เครื่องประดับกับความหมายเบื้องหลังอัญมณี