บทสรุปการต่อสู้อย่างกล้าหาญ NewJeans สิ้นสุดสัญญา ADOR

บทสรุปการต่อสู้อย่างกล้าหาญ NewJeans สิ้นสุดสัญญา ADOR

     กลายเป็นประเด็นร้อนแห่งวงการ K-Pop ประจำปี 2024 กับการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมของไอดอลโดยศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอต ‘NewJeans’ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้ และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมาตามเวลา 18.30 น. (เกาหลี) NewJeans ก็ได้แถลงข่าวผ่านสื่ออย่างเป็นทางการว่าสัญญาระหว่างวงและค่ายต้นสังกัด ADOR ได้สิ้นสุดลงแล้วภายในเที่ยงคืนวันเดียวกันตามข้อเรียกร้องที่ NewJeans ได้ส่งไปถึง ADOR ก่อนหน้านี้ 14 วัน 

     ดังนั้น MiX จึงขอสรุปเรื่องราวต้นสายปลายเหตุกรณีพิพาทระหว่าง NewJeans และค่าย ADOR มาให้ทุกคนได้ทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และทำไมเหตุการณ์นี้ถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม K-Pop เป็นอย่างมาก 

 

ข้อมูลพื้นฐานก่อนเข้าสู่ประเด็นดราม่า

วง NewJeans คือใคร?

     NewJeans คือศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป K-Pop เปิดตัวผ่านสาธารณชนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2022 มีสมาชิกทั้งหมด 5 คนประกอบไปด้วย ‘มินจี (Minji)’ สัญชาติเกาหลีใต้ ‘ฮันนิ (Hanni)’ สัญชาติออสเตรเลีย-เวียดนาม ‘ดาเนียล (Danielle)’ สัญชาติออสเตรเลีย-เกาหลีใต้ ‘แฮริน (Haerin)’ สัญชาติเกาหลีใต้ และ ‘ฮเยอิน (Hyein)’ สัญชาติเกาหลีใต้ โดยพวกเธอนั้นประสบความสำเร็จและมีเพลงฮิตมากมายซึ่งหลายคนอาจคุ้นหู ไม่ว่าจะเป็น Hype Boy (2022), Hurt (2022), Ditto (2022), OMG (2023), Super Shy (2023), ETA (2023), How Sweet (2024) เป็นต้น

 

(โลโก้ค่ายเพลง ADOR)

 

ค่ายเพลง ADOR ภายใต้อาณาจักร HYBE 

      ADOR คือค่ายเพลงต้นสังกัดของ NewJeans ซึ่งเพิ่งจะกลายเป็นอดีตไปเมื่อไม่นานมานี้ โดย ADOR ถือเป็นหนึ่งในค่ายย่อยที่อยู่ภายใต้บริษัท HYBE Cooperation บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้ ก่อตั้งโดยหัวเรือหลัก ‘บังชีฮยอก’ ผู้เคยมีส่วนในการปลุกปั้นวงบอยแบนด์ระดับโลกอย่าง BTS เดิมทีค่าย ADOR นั้นมี ‘มินฮีจิน’ ครีเอทีฟฝีมือดีแห่งวงการ K-Pop ดำรงตำแหน่ง CEO และเป็นผู้ผลักดันวง NewJeans จนประสบความสำเร็จ ก่อนที่ต่อมาจะเกิดข้อพิพาทกันระหว่างมินฮีจินและบริษัท HYBE เรื่องแผนการแยกตัวค่าย ADOR ออกจากบริษัทแม่เมื่อช่วงเมษายน 2024 และชุลมุนวุ่นวายลากยาวมาเรื่อย ๆ กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดปี (สรุปใน Scoop ถัดไป)

 

ปมปัญหาระหว่าง NewJeans และ ADOR (HYBE)

11 กันยายน 2024 : NewJeans ไลฟ์สดอย่างกะทันหัน

     NewJeans ทำการไลฟ์สดผ่านช่อง YouTube ที่เปิดขึ้นใหม่ในชื่อ ‘nwnjs’ โดยไม่ผ่านค่ายต้นสังกัด ADOR เพื่อเปิดเผยถึงสถานการณ์ที่วงต้องเผชิญหลังการถอดถอนมินฮีจินออกจากตำแหน่ง CEO ด้วยคำสั่งของบริษัทแม่อย่าง HYBE ใจความสำคัญระบุว่าพวกเธอต้องสูญเสียทีมงานชุดเดิมซึ่งมีส่วนในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็น ‘The Color of NewJeans’ อีกทั้งการขึ้นมาของ CEO คนใหม่ ‘คิมจูยอง’ ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อใจให้กับวง NewJeans ได้

     สมาชิกวงกล่าวไว้ว่าพวกเธอนั้นรู้สึกหวั่นกลัวจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการที่ฮันนิถูกเมินในบริษัทโดยผู้จัดการไอดอลวงอื่น แฮรินกังวลเรื่องการถูกปล่อยคลิปเมื่อครั้งเป็นเด็กฝึกหัดโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมถึงมีการถอดถอนทีมงานชุดเดิมออกทั้งหมดด้วย (คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่แผนงานของวงล่าช้า) แต่ทั้งหมดนี้กลับไม่ได้รับการปกป้องหรือดำเนินการแก้ไขจาก CEO คนใหม่และค่าย ADOR โฉมใหม่เลยแม้จะส่งคำร้องไปแล้วก็ตาม

     สุดท้ายมินจีซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของวง NewJeans จึงทิ้งท้ายว่าขอให้ HYBE นำมินฮีจินและทีมงานชุดเดิมของ ADOR กลับคืนมาภายในวันที่ 25 กันยายน 2024 ตามคำเรียกร้องของศิลปินอย่างพวกเธอ ถือเป็นการเจรจาอย่างสันติแทนที่จะขัดแย้งใจกันในอนาคต แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นไลฟ์นี้ก็ถูกลบไปอย่างปริศนา ทว่า ‘Bunnies (แฟนคลับวง NewJeans)’ ได้ทำการอัดบันทึกเอาไว้และเผยแพร่ต่อบนโลกออนไลน์แล้วเรียบร้อย

 

(ฮันนิ NewJeans ร่วมเป็นพยานปมกลั่นแกล้งในที่ทำงาน)

 

15 ตุลาคม 2024 : ฮันนิ (Hanni) ไอดอลต่างชาติในชั้นศาลกรุงโซล

จากการออกมาไลฟ์สดเมื่อ 11 กันยายน 2024 สิ่งที่ชาวเน็ตและสังคมเกาหลีใต้ให้ความสนใจอย่างมากคือประเด็นของฮันนิ (Hanni) สมาชิกชาวออสเตรเลีย-เวียดนามกับเรื่องการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน โดยทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติกรุงโซลได้เข้ามาตรวจสอบปัญหาและมีฮันนิร่วมให้การเป็นพยานด้วย ดังนี้

- ผู้จัดการไอดอลวงอื่นในเครือ HYBE พูดกับไอดอลในความดูแลว่า “ทำเหมือนไม่เห็นเธอ (ฮันนิ) สิ” ขณะที่กำลังสวนกันในโถงทางเดิน

- ผู้บริหารระดับสูงของ HYBE ไม่เคยทักทายกลับเลยเมื่อสมาชิกวง NewJeans ทำการทักทายก่อน

- พนักงานของ HYBE หลายคนกล่าวถึง NewJeans ในทางไม่ดีผ่านแพลตฟอร์ม Blind ซึ่งใช้สื่อสารกันภายในบริษัท

- แผนกประชาสัมพันธ์ติดต่อสื่อคนหนึ่งให้หลีกเลี่ยงการลงข่าวความสำเร็จของ NewJeans ด้านยอดขายอัลบั้ม

     สุดท้ายนี้ ฮันนิยังกล่าวว่าเธอรู้สึกได้ถึงบรรยากาศบางอย่างของการไม่ให้เกียรติกันในสถานที่ทำงานและการไม่เคารพกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ แม้ว่าเธอจะเคารพวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ในฐานะชาวต่างชาติเกี่ยวกับเรื่องลำดับอาวุโสก็ตาม แต่ยังคงคิดว่าสิ่งเลวร้ายที่ต้องพบเจอนั้นดูจะไม่ถูกต้องเลย

17 ตุลาคม 2024 : มินฮีจินกลับสู่ HYBE และ ADOR

     ท่ามกลางกระแสสังคมที่กดดันและประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง ทำให้ต่อมาในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท HYBE ได้มีการแต่งตั้งมินฮีจินกลับเข้าเป็นกรรมการบริหารภายใน ADOR อีกครั้ง แต่ตำแหน่ง CEO ยังคงเป็นคิมจูยองอยู่เช่นเดิม 

24 ตุลาคม 2024 : แฉ HYBE สะเทือน K-Pop

     HYBE ถูกตรวจสอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยคณะกรรมการวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นำไปสู่การเปิดเผยบางส่วนใน ‘เอกสาร 18,000 หน้า’ ของบริษัท รายงานความคิดเห็นต่าง ๆ ที่มีต่อศิลปินไอดอล K-Pop ในทางลบ อาทิ วิจารณ์ความสามารถและหน้าตาของเหล่าไอดอลค่ายอื่น ๆ ทั้ง aespa, IVE, Baby Monster, ZB1 ฯลฯ กล่าวเสีย ๆ หาย ๆ แก่สมาชิกวง NMIXX, RIIZE และ EXO รวมถึงโจมตี ‘ลิซ่า (LISA)’ เรื่องความดัง รางวัลที่ได้รับ ชีวิตรักส่วนตัว และการร่วมโชว์ Crazy Horse ในเชิงดูหมิ่นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ยกตัวอย่างมาเท่านั้น

13 พฤศจิกายน 2024 : NewJeans ส่งสัญญาณเตือนครั้งสุดท้าย

     วง NewJeans ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังค่ายต้นสังกัด ADOR ว่าหากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพวกเธอ ในอีก 14 วันข้างหน้า ‘สัญญาพิเศษ’ ระหว่างกันจะถูกยุติลง พร้อมลงชื่อสมาชิกวง NewJeans ทั้ง 5 คน

20 พฤศจิกายน 2024 : มินฮีจินออกจาก HYBE และ ADOR

     มินฮีจินประกาศลงจากตำแหน่งกรรมการบริหารภายในของ ADOR และถอนตัวออกจากผู้ถือหุ้นของบริษัท HYBE ในที่สุดหลังจากข้อพิพาทอันยืดเยื้อยาวนาน

21 พฤศจิกายน 2024 : ‘ไอดอล’ ไม่ใช่แรงงานตามกฎหมาย

     กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ได้ปัดตกคำร้องของฮันนิ NewJeans ที่ว่าด้วยการถูกกลั่นแกล้งจากบริษัท HYBE โดยระบุว่าไอดอลไม่นับเป็นแรงงานตามกฎหมายแต่เป็นเพียงพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวเท่านั้นเมื่อพิจารณาจากสัญญาแล้ว ดังนั้นนี่จึงอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ศิลปิน K-Pop มักถูกเอาเปรียบจากต้นสังกัดเสมอมาจนสร้างข้อถกเถียงกันในสังคมไปสู่การผลักดันแก้ไขกฎหมายในอนาคต

27 พฤศจิกายน 2024 : แถ (ลง) อีกครั้งจาก ADOR โฉมใหม่

     หลังจากคำร้องของ NewJeans ค่าย ADOR ก็ยังคงเงียบเฉยจนกระทั่งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2024  (วันสุดท้ายก่อนครบกำหนด 14 วัน) จึงได้ร่ายแถลงการณ์ปกป้อง NewJeans แบบคร่าว ๆ ออกมา เรียกกระแสวิจารณ์ด้านลบจากแฟนคลับเป็นอย่างมากถึงการทำงานอย่างไม่ใส่ใจศิลปินจนวินาทีสุดท้าย

29 พฤศจิกายน 2024 : สิ้นสุดสัญญา NewJeans และ ADOR

     วง NewJeans ได้ประกาศแถลงข่าวผ่านสื่อในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2024 เวลา 18.30 น. (เกาหลี) เกี่ยวกับการยุติสัญญาค่าย ADOR มีผลภายในเที่ยงคืน (29 พฤศจิกายน 2024) โดยระบุว่าทาง ADOR นั้นได้ละเมิดข้อตกลงใน ‘สัญญาพิเศษ’ ว่าด้วยการปกป้อง NewJeans ตามหน้าที่ที่ต้นสังกัดพึงกระทำ สัญญาพิเศษนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมินฮีจินเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งค่าย ADOR เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่สมาชิกวง NewJeans นับเป็นสัญญาที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบศิลปินไอดอลอย่างที่มักจะเห็นอยู่บ่อย ๆ ในอุตสาหกรรม K-Pop เพราะ NewJeans สามารถออกจากค่ายได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ไว้วางใจเช่นนี้ขึ้น อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเสียค่าปรับในการยกเลิกสัญญาด้วย มีก็แต่เรื่องลิขสิทธิ์ชื่อวง NewJeans และผลงานต่าง ๆ ที่ได้ทำภายใต้ค่าย ADOR ซึ่งสมาชิกวงกล่าวว่าจะต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อนำชื่อ NewJeans กลับคืนมาให้ได้ เหล่าแฟนเพลงคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคตและหวังว่าศิลปินจะได้รับความเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด

 

(สมาชิก NewJeans เรียงจากซ้ายไปขวา > ฮันนิ > ฮเยอิน > แฮริน > ดาเนียล > มินจี)

 

การต่อสู้อย่างกล้าหาญของกลุ่มเด็กสาวทั้ง 5 คน

     เหตุการณ์ของ NewJeans นั้นสร้างแรงสะเทือนแก่อุตสาหกรรมเพลง K-Pop อย่างมาก เพราะน้อยนักที่จะเห็นเหล่าไอดอลอายุน้อยออกมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมของตน ยิ่งกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เช่นนี้แล้วก็ยิ่งยากจะงัดข้อได้ ผลสุดท้ายกลายเป็นในอดีตที่ผ่านมาไอดอลมักเสียเปรียบเสียเอง อีกทั้งการเคลื่อนไหวของ NewJeans ยังนำไปสู่การเปิดโปงฉากดำมืดที่ถูกซุกไว้ใต้พรมของผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมนี้อย่างที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อนในวงการ K-Pop ซึ่งปัจจุบันผู้คนได้หันมาตระหนักถึงการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับปกป้องศิลปินไอดอลแล้ว

     และจากกรณี ‘ไอดอล’ ไม่ใช่แรงงานตามกฎหมาย ทำให้ล่าสุดเกาหลีใต้ได้มีการเสนอร่างกฎหมาย ‘Hanni NewJeans’ เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคุ้มครองศิลปินและพนักงานจากการถูกคุกคามในที่ทำงาน ผ่านการแก้ไขบางส่วนของพระราชบัญญัติแรงงานที่กำหนดให้ผู้ว่าจ้างต้องดำเนินการหากมีการคุกคามโดยบุคคลที่สาม และต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ว่าจ้างที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อผู้กระทำการคุกคามอีกด้วย ดังนั้นหากร่างกฎหมายนี้ผ่านก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ K-Pop อีกครั้งว่าด้วยเรื่องการต่อสู้ของกลุ่มไอดอลตัวเล็ก ๆ ที่จิตใจไม่เล็กเลยเมื่อเทียบกับความกล้าหาญในครั้งนี้ สมกับที่พวกเธอประกาศกร้าวเอาไว้ว่า ‘NewJeans Never Die’  

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแห่งวงการ K-Pop ประจำปี 2024 กับการลุกขึ้นมาต่อสู้