บทสัมภาษณ์ “กังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ” ผู้กำกับและร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ไรเดอร์” (Rider)

บทสัมภาษณ์ “กังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ” ผู้กำกับและร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ไรเดอร์” (Rider)

เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมือที่สั่งสมประสบการณ์ในวงการบันเทิงมามากกว่า 15 ปี รวมถึงด้านงานสอนในฐานะอาจารย์พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่ง 

“กังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ” เริ่มต้นงานกำกับและเขียนบทจากภาพยนตร์ตลกอารมณ์ดีเรื่อง “กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว” (2553 / สหมงคลฟิล์ม) ตามมาด้วยหนังผี “ตีสาม Aftershock ตอน TV Direct” (2561 / ไฟว์สตาร์) รวมทั้งก่อนหน้านี้เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของหนังรักดราม่าเรื่องดังอย่าง “รักแห่งสยาม” (2550 / สหมงคลฟิล์ม) ในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับด้วย

ถัดจากนั้น เขาก็มีงานกำกับทั้งละครทีวีและซีรีส์ที่โดดเด่นอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ผู้กองยอดรัก” (2558 / ช่อง 3), “ไม่เคย ตอน ลืมรัก ไม่ลืมเธอ” (2560 / ช่อง GMM25), “Love Songs Love Series สบาย สบาย” (2561 / ช่อง GMM25), “รักนี้หัวใจเราจอง” (2562 / ช่อง GMM25), “สายลับจับกลิ่น” (2562 / ช่อง one31), “นางนาค สะใภ้พระโขนง” (2566 / ช่องเวิร์คพอยท์ 23), “สืบลับหมอระบาด” (2566 / ช่อง 3) และ “เพราะเธอคือรักแรก” (2567 / ช่อง GMM25)

นอกจากนี้ยังมีงานกำกับมิวสิกวิดีโอโออีกหลายเพลง เช่น “วันที่เธอไม่อยู่” ใหญ่ Monotone, “อยากได้ตุ๊กตา” วง EniE9, “เธอไม่รู้เลย” วง EniE9, “LoveSick” วง Mild, “รักฉันเพราะอะไร” วง Blue Shade และผลงานการกับโฆษณาให้กับแบรนด์ดังมากมาย เช่น ท่อน้ำไทย, น้ำมะพร้าว if, ห้างสรรพสินค้า Lotus, เก้าอี้ Rachel

รวมถึงผลงานภาพยนตร์สั้นที่ได้รับรางวัลอีกหลายชิ้น เช่น “น้ำแข็ง-ใส” (รางวัลชนะเลิศโครงการ Sony หนังสั้นฤดูร้อน), “หญิงชรากับนิทานวันหนึ่ง” (รางวัลวิจิตรมาตรา รางวัลชมเชยช้างเผือก มูลนิธิหนังไทย), “กระบือลือลั่น” (รางวัลชมเชยช้างเผือก มูลนิธิหนังไทย และเข้าร่วมเทศกาล The 6th Independent Film Festival Made in Busan เกาหลีใต้), ผง-ชู-รส (เข้าร่วมเทศกาล International Film Festival Rotterdam 2006) และอีกมากมาย

ล่าสุด เขากลับมากำกับภาพยนตร์เรื่องยาวอีกครั้งใน “ไรเดอร์” (2567 / สหมงคลฟิล์ม) หนังตลกสยองขวัญกับภารกิจเดลิเวอรีความหลอนลั่นสนั่นฮา 10 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์หนัง “ไรเดอร์”

เรื่องนี้ก็เริ่มมาจาก “พี่โอ๋” (จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ) โปรดิวเซอร์ที่มาชักชวนผมว่ามีโปรเจกต์หนึ่งที่อยากต่อยอดจาก “เทอมสอง สยองขวัญ ตอนตึกวิทย์เก่า” (2565) เรื่องราวของ “ไรเดอร์” อาชีพอินเทรนด์ในปัจจุบันที่จะเจอการส่งของในที่แปลกๆ หลอนๆ แต่ครั้งนี้อยากให้มากันเป็นแก๊ง ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็เป็นแฟนหนัง “เทอมสองฯ” อยู่แล้ว พาร์ตนี้เป็นพาร์ตที่สนุกมากด้วย จากนั้นก็ได้ไอเดียในการคิดเรื่องร่วมกับทีมเขียนบท แล้วก็มารับหน้าที่กำกับเรื่องนี้ครับ 

ซึ่งก่อนหน้านี้หลังจากที่ผมกำกับหนังเรื่องแรก “กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว” ไป ก็ได้ไปทำละคร ซีรีส์ สอนหนังสือ แล้วเป็นคุณพ่อของลูกๆ ครับ แต่ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับภาพยนตร์ ยังคงติดตามวงการ ดูหนัง เข้ากองถ่ายอยู่เสมอๆ ครับ มันเป็นช่วงเวลาที่บ่มเพาะตัวเองอย่างมหาศาล เพราะว่าพอเรายังได้ออกกองถ่ายอยู่ทุกวันๆ เราก็เอาสิ่งต่างๆ ที่ได้สั่งสมจากหลายๆ เรื่องมาใส่ในหนังเรื่องนี้ทั้งหมด เพราะที่ผ่านๆ มามันก็คือประสบการณ์ การได้เรียนรู้และฝึกฝนทั้งจังหวะการกำกับ การแสดง และการถ่ายทำต่างๆ ครับ

ได้รีเสิร์ชเกี่ยวกับอาชีพ “ไรเดอร์” มากน้อยแค่ไหน

มีได้คุยอยู่ครับ พอเราได้ใช้บริการ ได้เจอ “ไรเดอร์” ต่างๆ ก็มีสอบถามพูดคุยเรื่องการทำงานในแต่ละวันต้องเจออะไรบ้าง ก็ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ที่พวกพี่เขาเล่ามาหลายเรื่องสนุกดี ผมก็จะได้แง่มุมหลายอย่างเอามาปรับใช้ในหนัง อย่างเช่นเรื่องที่ต้องแข่งกับเวลา การใช้แอปพลิเคชัน การไปพิกัดต่างๆ ที่แต่ละคนต้องคอยกด เราได้ใช้ดีเทลเหล่านี้กับความเป็นไรเดอร์ในหนังด้วย 

ส่วนประสบการณ์หลอนๆ ที่ได้ฟังก็เอามาปรับใช้ด้วยครับ อย่างตอนที่ทำการรีเสิร์ชเราก็ได้รู้ว่า “ไรเดอร์” เป็นอาชีพที่เจอผีมากที่สุดอาชีพหนึ่งเลย เพราะแต่ละวันเขาต้องไปส่งของ ส่งคน ทำโน่นทำนี่ เอาของไปเซ่นไหว้ให้คนนั้นคนนี้ก็มีนะครับ ถือเป็นอาชีพที่สนุกอาชีพหนึ่งเลย ได้เจอผู้คนแปลกๆ ก็มี ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ไปในที่ใหม่ๆ ผมก็เลยเอาโครงสร้างที่น่าสนใจตรงนี้มาใช้กับหนัง แต่เรามาปรับให้มันสนุกยิ่งขึ้น ทำให้เหตุการณ์มันมีปมที่สนุกสนานมากขึ้นกว่าการส่งของแบบไรเดอร์ธรรมดา

เรื่องราวความสนุกปนสยองของ “ไรเดอร์”

เรื่องนี้ก็เป็นหนังแนวฮอร์เรอร์-ไรเดอร์-คอมเมดี้ที่เล่าเรื่องราวของแก๊งไรเดอร์ตัวป่วนอย่าง “นัท” (มาริโอ้), “น้าไก่” (ดีเจอาร์ต) และ “เสือยอด” (โน่ เซียนหรั่ง) สามเพื่อนซี้ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน สนิทสนมกันมานาน ก็ทำอาชีพ “ไรเดอร์” รับส่งงานทุกชนิด ไปทุกที่แบบไม่เกี่ยง และด้วยการที่ไม่ค่อยเลือกรับงานก็มักทำให้พวกเขาต้องไปเจอพิกัดสยองๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยที่นัทเป็นคนที่สามารถเห็นผีได้ เขาก็จะคอยบอกตำแหน่ง ปักหมุดหมายเอาไว้ว่าตรงไหนผีดุ ตรงไหนไม่ควรผ่านไปให้กับเพื่อนไรเดอร์ด้วยกัน แล้ววันหนึ่งนัทก็ได้ไปเจอ “พาย” (ฟรีน สโรชา) ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือที่มีโลกส่วนตัวสูง เขาก็แอบชอบและหาโอกาสไปส่งของให้บ่อยๆ จนกระทั่งกำลังจะได้สานสัมพันธ์กันอย่างจริงจัง แต่พายก็ดันหายตัวไปเสียก่อน แล้วก็มีพิกัดแปลกๆ ถูกส่งมาซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกัน ทำให้นัทต้องไปขอความช่วยเหลือจากน้าไก่และเสือยอดเพื่อออกตามหาพาย และแล้วความวุ่นวายที่ต้องไปทำภารกิจตามพิกัดสุดหลอนจนต้องเจอเหตุการณ์สุดสยองก็เกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง 

การคัดเลือกทีมนักแสดง

มันเริ่มจากคาแร็กเตอร์ที่เราวางเอาไว้ก่อนครับว่าคาแร็กเตอร์ของ “นัท” ต้องมีความซ่าๆ ตลกๆ หน่อย แล้วก็ต้องสามารถเห็นผีได้ด้วย อย่าง “มาริโอ้” เราก็เคยเจอกันตั้งแต่ตอนเล่นเรื่อง “รักแห่งสยาม” ตอนนั้นผมทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับอยู่ แล้วเราก็ห่างหายกันไปนานมาก แต่ระหว่างนั้นตอนทำงานละครหรืองานอื่นๆ ก็มักจะได้เจอโอ้อยู่เรื่อยๆ ก็จะทักทายคุยกันเสมอว่าเมื่อไหร่เราจะได้โคจรมาทำงานด้วยกันอีก พอมาวันนี้ที่ผมได้รับทำหน้าที่กำกับอีกครั้ง แล้วเห็นคาแร็กเตอร์ของตัวละครนัทที่น่าจะเข้ากับโอ้ได้ดี ก็เลยอยากชวนโอ้มาเล่น ก็ดีใจมากที่ได้น้องมาร่วมงานกันอีก  

ตัว “เสือยอด” คาแร็กเตอร์เป็นคนมุทะลุ ตัวฮา สนุกสนาน ใช้ชีวิตแบบอยากทำอะไรก็ทำ เอาจริงๆ คนที่เช้ากับคาแร็กเตอร์นี้มีเต็มไปหมดในบรรดานักแสดงชาย แต่ผมได้มีโอกาสดูคลิปของ “เซียนหรั่ง” (โน่ ภูวเนตร) ในช่องยูทูบของเขา ผมเห็นเขาเป็นคนสนุกสนานจริงๆ มีความธรรมชาติ แล้วผมก็ได้ดูหนังที่เขาเล่น และกำกับ มันทำให้ผมอยากได้ร่วมงานกับคนที่มีสกิลเหล่านี้ เข้าใจความคอมเมดี้ มีความสด สนุกในธรรมชาติของเขา พอได้ถ่ายทำกันจริงๆ ก็ไม่ผิดหวังเลยที่เลือกโน่มารับบทนี้ 

ส่วนบท “น้าไก่” แต่แรกเลยมองว่าบทนี้น่าจะอายุเยอะสุดละ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร วันหนึ่งผมนั่งกินข้าวอยู่แล้วเปิดรายการของ “โคตรคูล” มาดู เออ...ทำไม “พี่อาร์ต” เขาน่ารักอบอุ่นและสนุกสนานแบบนี้ เราอยากได้คาแร็กเตอร์ที่พร้อมจะซัปพอร์ตเพื่อนเสมอแบบพี่อาร์ตในชีวิตจริง ผมมองว่าเขาเป็นมนุษย์ซัปพอร์ตคนหนึ่งเลยนะ จากที่ดูในรายการเขาจะเป็นคนรอชงมุกเพื่อน ตามมุกเพื่อนแบบไม่ทิ้งกัน เราเลยรู้สึกว่าต้องพี่อาร์ตนี่แหละที่จะมารับบทนี้ 

ส่วนบทนางเอกของเรื่องตอนนั้นยังไม่มีใครในหัวเลย มีวันหนึ่งเราไปเยี่ยมกองภาพยนตร์ที่เพื่อนกำกับ แล้ว “น้องฟรีน” เล่นเรื่องนี้อยู่ ผมเห็นน้องนั่งนิ่งๆ ใส่หูฟังเพลงอยู่คนเดียว ผมมองหน้าเขาแล้วก็คิดว่าน่าสนใจ เพราะไม่รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง เดาทางไม่ถูก แต่คาแร็กเตอร์มันใช่ เลยให้ทางทีมงานลองคุยดู ส่งเรื่องย่อให้ดู เขาก็สนใจที่จะร่วมงาน ผมก็เอากล้องและขับรถไปหาเขาที่ออฟฟิศแล้วขอแคสต์เลย อยากเห็นว่าเขาเล่นบทนี้แล้วจะเป็นยังไง พอน้องเริ่มแคสต์ก็รู้สึกว่าน้องเขาถ่ายทอดออกมาได้น่าสนใจ แล้วตอนแคสต์ผมถามน้องฟรีนว่ากลัวผีไหม น้องบอกกลัวมากค่ะ โอเคดีเลย เราจะได้เล่นหนังผีกัน พอมาออกกองร่วมกันก็สนุกสนานดีครับ

มีการเวิร์กชอปทีมนักแสดงร่วมกันด้วยไหม

มีเวิร์กชอปโดยครูจุ๋ม ซึ่งครูจุ๋มก็เล่นเรื่องนี้ด้วย เคมีไรเดอร์ทั้ง 3 คน จังหวะที่ต้องเล่นด้วยกันมันเห็นจาก 3 คนนี้ (โอ้-อาร์ต-โน่) มาตั้งแต่วันแรกเลยครับ มีให้ “น้องฟรีน” ได้ลองบทกับ “โอ้” ด้วย มันเห็นเลยครับว่าพวกเขาเล่นลึกได้ตรงใจสุด หลังจากวันเวิร์กชอปมันทำให้ผมรู้เลยว่าการทำงานจริงรอดแน่นอนในเรื่องของการแสดง ทั้งเคมีของพระเอกนางเอก ทั้งความสัมพันธ์ของไรเดอร์ทั้ง 3 คนที่ผมมองว่ามันสำคัญมาก การที่คน 3 คนที่ไม่เคยร่วมงานกันจะให้มาเข้าขากันได้ทันทีมันยากนะครับ เขามีความเป็นตัวของตัวเองอยู่เยอะ แต่พอทั้ง 3 คนอยู่ด้วยกัน ดันเป็นความสนุกที่เข้ากันได้ พอยิ่งวันที่มาอ่านบทร่วมกัน (Read-through) มันสนุกมาก เขาดึงคาแร็กเตอร์ออกมาผสมกับตัวตนของเขาได้สมจริงมาก 

พอถึงเวลาที่เล่นจริงในเซต พวกเขาจะขอเติมแทบทุกซีน คือเรามีบทเป็นแผนแล้วละ แต่เขาจะเติมในสิ่งที่มันสนุกเพิ่มขึ้น จนผมนั่งกำกับไปขำไป ได้ยิ้มตลอดเวลา อย่าง “โอ้” เขาก็จะมีเอเนอร์จีเล่นหลายจังหวะให้ดู พอมี “โน่” เสริมเข้ามาช่วย มี “ดีเจอาร์ต” มาสมทบ มันก็เลยกลมกล่อมมากขึ้น มีลูกหยอดให้ขำตลอด แต่จะบอกเสมอว่าเมื่อเล่นแล้ว ช่วยจำให้หน่อยนะว่าเล่นอะไรไปบ้าง เวลาสลับมุมกล้องจะได้เหมือนเดิม

บรรยากาศการทำงานสนุกสนานในโลเคชันสุดหลอน แต่ละที่หลอนขนาดไหนกันบ้าง

มีหลายที่นะครับอย่าง “สะพานพุทธ” จริงๆ ไม่หลอน แต่คืนสุดท้ายที่เราไปมันมีเหตุการณ์ปล่อยข่าวว่ามีคนโดดสะพาน เรียกว่าหลอนได้เลยนะ คือที่เลือกไปถ่ายที่สะพานพุทธเพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ครั้งแรกก็มาอยู่แถวปิ่นเกล้า ผมชอบมาเที่ยวเล่นที่สะพานพุทธเสมอ เรียกว่าเป็นโลเคชันในความทรงจำที่เราประทับใจ แต่พอเรามาถ่ายจริงๆ ตรงจุดนี้ค่อนข้างวุ่นวายมาก มีแก๊งวัยรุ่นมาให้กำลังใจกันเยอะ ผู้คนเดินไปมา จักรยานท่องเที่ยวก็มา แต่โชคดีที่คนละแวกนั้นน่ารัก ร้านอาหารแถวนั้นน่ารัก ขออนุญาตถ่ายหนังก็ให้ถ่าย กลายเป็นว่าที่นี่ถ่ายหนังยาก คนเดินไปมาเยอะมาก ทีมงานพวกเราก็เดินไปเจอโป๊ะหนึ่งซึ่งผมชอบมาก แบ็กกราวด์เราจะเห็นสะพานพุทธสวยมาก ตกกลางคืนมีเรือท่องเที่ยวแล่นผ่านเปิดไฟสวยงาม บางลำก็จอดดูให้กำลังใจด้วย เลยเลือกให้ตรงจุดนี้เป็นที่พักไรเดอร์ ซึ่งความจริงมันเอาไปทำเป็นที่ส่วนตัวแบบในหนังไม่ได้หรอก

โลเคชันที่หลอนจริงร้างจริงมี 2-3 ที่ อย่าง “โรงพยาบาลร้าง” เราเลือกสถานที่เป็นโรงพยาบาลร้างของจริงเลย เพราะมันมีเหตุการณ์มากมายในเรื่องที่เกี่ยวพันกับที่นี่ ด้วยฟังก์ชันหลายอย่างมันมีความเหมาะสมที่จะใช้สถานที่นี้ มันยังมีกลิ่นของยา มีอุปกรณ์เครื่องมือหลายสิ่งที่ยังคงอยู่ เราไม่ได้เลือกที่นี่เพราะต้องการคอนเทนต์ใดๆ แต่อยากให้ได้ความน่ากลัว ความรู้สึกของนักแสดงได้สัมผัสกับของจริง ได้บุกลุยโรงพยาบาลร้างจริง มีความเรียลมากขึ้น จนนักแสดงแซวกันว่าทำไมต้องมาถ่ายที่จริงกันขนาดนี้ครับ แต่จุดหนึ่งที่คิดว่าหลอนสุดน่าจะเป็นตรงห้องเก็บศพ ทั้งๆ ที่เราบอกแล้วว่าห้องนี้มันเซตขึ้นมานะ แต่นักแสดงยังยกมือไหว้กันตลอด ขนาดผมไปวันแรกผมยังยกมือไหว้เลยครับ อย่างที่บอกว่ากลิ่นมันใช่ บรรยากาศมันได้ เอื้อกับการถูกผีหลอกมาก 

แถมวันแรกที่ไปดูสถานที่ พวกเราก็ได้รับการต้อนรับประหลาดจากที่นี่ด้วย ตอนนั้นหลังจากที่เราขึ้นไปดูบนชั้นที่จะถ่าย ผมเห็นคนเดินอยู่ข้างบนก่อนกลุ่มพวกเรา ผมเห็นเป็นขาเขากำลังเดินขึ้นบันไดไป ผมมองๆ ก็สงสัยว่าเป็นพี่รปภ.หรือเปล่า แต่พี่รปภ.อยู่ตรงข้างๆ เขาไม่ได้ขึ้นไป ผมก็ถามเขาว่าอ้าว...แล้วเมื่อกี้ใคร เขาก็บอกที่นี่ไม่มีใคร ก็มีแค่เขาที่ดูแล พวกเราเลยเงียบกันหมด ได้แต่ยกมือไหว้ขอขมา ขออนุญาตมาใช้สถานที่หน่อยนะครับ พอตอนถ่ายทำจริงก็ได้แต่เกาะกลุ่มกันในที่ที่มีแสง มีความปลอดภัยจะดีกว่า 

อีกสถานที่หนึ่งที่น่ากลัวและอยากพูดถึงคือ “วัดแถวปทุมธานี” เป็นวัดที่ผมชอบโครงสร้างมาก มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี มีความโบราณ ตรงที่เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิข้างเมรุทำงานได้สะดวก เข้ากับเหตุการณ์ในเรื่องที่มีพิกัดหลอนส่งมาให้ตามสืบอะไรบางอย่าง ชาวแก๊งไรเดอร์เลยต้องมาที่วัดนี้ “โอ้-โน่-พี่อาร์ต” ต้องเข้าไปลุยเจดีย์นี้กันจริงๆ มีการขอขมายกมือไหว้ขอทำงานกันก่อน แต่พอเป็นด้านหน้าวัดที่ทีมอาร์ตไปเซตฉากสุสานเอาไว้ มันเหมือนจริงมากจนใครๆ ที่มาเจอต่างถามกันว่าอันนี้ของจริงไหม ถึงจะบอกว่าเซตมา แต่นักแสดงก็สงสัยกันตลอด อย่างที่ผมบอกพอบรรยากาศมันได้ ความกลัวจริงๆ ความรู้สึกของทุกคนก็มาเต็ม แล้วตอนที่ถ่ายฉากตรงนี้ก็ตี 1 ตี 2 เลย คงจะมีทั้งความง่วงและความกลัวปนกัน แต่ที่ประทับใจคือนักแสดงเราสปิริตดีมากครับ ทั้งๆ ที่วันนั้นพี่อาร์ตถ่ายท้องหลายรอบ อาการไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่ แต่ก็ผ่านกันมาได้ครับ

โดยส่วนตัว “กังฟู” เป็นคนเชื่อเรื่องผี เรื่องวิญญาณบ้างไหม

เรื่องนี้แล้วแต่วิจารณญาณเลยนะครับ จริงๆ ผมเป็นคนเห็นผีคนหนึ่ง ใช่ครับ มันทำให้ผมเชื่อแบบ 100% ว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกของเรา บางคนอาจจะคิดว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า แต่ผมเจอหลายครั้งแล้ว ผมอาจจะไม่ได้เห็นเป็นตัวเป็นตนขนาดนั้น แต่มันมาเป็นควัน มาปลายตา เป็นกลิ่น เป็นเสียง เจอจนรู้สึกเชื่อ 100% ผมก็ทำหนังผีด้วยความกลัวและด้วยความเคารพเสมอ

อย่างบางสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริง ผมก็เอามาใช้ในหนังด้วย อย่างที่เล่าให้ฟังว่าวันที่มาดูโลเคชันแล้วเห็นขาคนวิ่งขึ้นไปที่โรงพยาบาล ผมเอามาใช้ในเรื่องด้วย หรืออาการมาของผีแต่ละตัว เป็นควัน เป็นสสารบางอย่าง ผมเอาคีย์ตรงนี้มาคุยกับพี่ที่ทำซีจี เอาพลังงานแบบที่ผมเคยเห็นมาปรับใช้กับเรื่องนี้ เอาประสบการณ์ที่เคยเจอ หรือบังเอิญจูนติดมาเป็นแนวทางความหลอนในเรื่อง “ไรเดอร์” ครับ

การดีไซน์หรือการขับขี่มอเตอร์ไซค์กับการเป็น “ไรเดอร์” ของเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง 

มอเตอร์ไซค์ถือเป็นอุปกรณ์หลักอีกชิ้นของความเป็น “ไรเดอร์” ทุกคนต้องขี่มอเตอร์ไซค์กันตลอดเวลา ตอนที่ได้ตัวทีมนักแสดงมาแล้ว ผมต้องเช็กเลยว่าแต่ละคนขี่ได้ไหมเป็นยังไง “มาริโอ้” นี่สบายมาก เป็นนักขับอยู่แล้ว “เซียนหรั่ง” สบายขี่ได้แน่นอน แต่ “ดีเจอาร์ต” เขาไม่ได้ขี่เป็นกิจวัตรแต่ขี่ได้ ผมให้เขาขี่จริงเข้าไปในเยาวราช ไปชุมชนพร้อมกันทั้ง 3 คน ทุกคนก็สามารถขี่กันได้อย่างปลอดภัยครับ แต่อุปสรรคจริงๆ มันอยู่ที่ด้วยความที่อยากจะได้มอเตอร์ไซค์สไตล์ซิ่งมีไฟติด นึกภาพว่าถ้าทั้ง 3 คนขี่รวมกันแล้วมีแสงไฟมันจะดูสวยดีเหมือนกัน เหมือนพวกรถตุ๊กตุ๊กที่มีไฟติดตอนกลางคืน แต่ไฟนี่แหละที่มันมักจะติดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา กำลังขี่กันสนุกๆ ไฟรถดับ เวลาจะขี่หนีผีตื่นเต้นไฟรถก็ดับ ต้องคอยแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ครับ

อุปสรรคของเรื่องนี้

อุปสรรคในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้แบบใหญ่สุดผมว่าเรื่องฝน เรื่องอากาศที่เราควบคุมไม่ได้ เราถ่ายทำกันในฤดูฝน แต่จะว่าไปเราก็เจอฝนน้อยกว่าที่คิดไว้นะครับ เพราะพี่ๆ ผู้บริหารสหมงคลฟิล์มและทีมงานได้ส่งของมาให้เราไหว้กันก่อนถ่ายทำ แล้วฝนมันก็หายไปจริงๆ เฉพาะละแวกที่เราถ่าย แปลกดี เรามีสายมูที่เชื่อมั่นได้ แต่อุปสรรคในเรื่องของผู้คนที่ผ่านไปมาในพื้นที่นี่แหละที่มันคอนโทรลได้ยากหน่อย

อะไรคือความยากของการกำกับเรื่องนี้

แทบจะทั้งเรื่องนะครับ เพราะการที่ทำให้คนดูกลัว ตกใจ ผีมา แต่ต้องมีจังหวะที่ตลกและสนุกควบคู่กันไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ มันต้องเวตกันดีๆ แต่ด้วยความโชคดีของเรื่องนี้คือทีมนักแสดง กับไรเดอร์ทั้ง 3 คนมีความตลกแบบธรรมชาติ เขาเล่นกลัวก็กลัวจริง เล่นตลกก็ออกมาสนุกสนาน นักแสดงทุกคนทำได้ดีเลยครับ

ความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้

ด้วยความที่ตัวละครหลักของเรื่องเป็น “ไรเดอร์” การไปเจอผีแต่ละตัวออกมาหลอกหลอนระหว่างทำงาน มันมีทั้งความน่ากลัวและความสนุกควบคู่ไปด้วยกัน มันทำให้เพลินและลุ้นไปกับภารกิจที่ต้องทำว่าจะสำเร็จมั้ย มันเหมือนเล่นเกมแล้วต้องผ่านแต่ละด่านไปเพื่อเป้าหมาย มีทั้งมิตรภาพดีๆ ฉบับคนไทยระหว่างทางของตัวละคร ผมมองว่าเราทำหนังเรื่องนี้เพื่อความบันเทิงเต็มขั้น ผู้ชมจะเหมือนได้กินส้มตำ ครบรส นัว รสชาติถูกปากคนไทยแน่นอนครับ

ก็ต้องขอฝากภาพยนตร์เรื่อง “ไรเดอร์” ด้วยนะครับ หวังว่าทุกคนจะสนุกและมีความสุขกับหนังเรื่องนี้ที่มันมีทั้งความสนุก สยอง ลุ้นไปกับภารกิจหลอนๆ ของแก๊งไรเดอร์กันอย่างเอนจอย 10 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์นะครับ ขอบคุณครับ

 

arrow_left sharing button

บทสัมภาษณ์ “กังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ” ผู้กำกับและร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “ไรเดอร์” (Rider)