บทสัมภาษณ์ “เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล” ผู้กำกับ “เทอม 3: พี่เทค”
จากคนทำหนังสารคดีสู่ผู้กำกับภาพยนตร์ฟิกชันและหนังสยองขวัญเรื่องแรก
เบิ้ล : ผมเริ่มต้นมาจากการทำหนังสารคดีครับ ตอนที่เริ่มทำก็เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากกล้องฟิล์มมาสู่ดิจิทัล แล้วมองว่าการทำหนังฟิกชัน (Fiction) มันใช้ทีมงานเยอะ ไหนๆ กล้องมันก็เหลือตัวเล็กลงแล้ว ผมก็เลยคิดว่าสารคดีมันเหมาะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำหนัง ก็ทำมาเรื่อยๆ เป็นสิบปี เสร็จไป 4 เรื่อง (ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง, สายน้ำติดเชื้อ, ดินไร้แดน #BKKY)
พอหลังจากตรงนั้น เราก็เริ่มเข้าใจโครงสร้างของมันมากเกินไป บวกกับพอเริ่มทำสารคดีเกี่ยวกับบุคคลจริง มันก็จะมีความเซนซิทีฟพอสมควร ทำออกมาก็ทำไม่ได้เต็มที่ ไอเดียต่างๆ ที่เรารีเสิร์ชมาก็ไม่สามารถถ่ายได้จริง เราก็เก็บไว้เขียนไว้ออกมาเป็นบทภาพยนตร์ จนสุดท้ายก็ออกมาเป็นเรื่อง “ดอยบอย” (2566) ตอนทำ “ดอยบอย” มันก็เลยสนุกมากเหมือนได้รีเฟรช มีอะไรหลายๆ อย่างให้เราได้ทดลอง ได้ค้นหาและแก้ปัญหากับมัน ก็เลยสนุก พอมีโปรเจกต์ “เทอม 3” ติดต่อมาแล้วเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นหนังสั้น และเราก็เป็นคนที่ชอบดูหนัง Horror อยู่แล้ว รวมทั้งผมก็ชอบเรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ” (2565) ด้วย และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือตอนนั้นมีบริษัทเพื่อนที่เป็นโปรดักชัน เราอยากทำงานร่วมกันมานานมากแล้ว ทุกอย่างก็ลงตัวพอดีที่จะมาทำเรื่องนี้กับ “สหมงคลฟิล์มฯ” ครับ
เรื่องราวของ “พี่เทค”
เบิ้ล : “เทอม 3 ตอนพี่เทค” แสดงโดย “จั๊มพ์ พิสิฐพล” มารับบทเป็น “เอิร์ธ” รุ่นพี่ กับ “อัด อวัช” มารับบทเป็น “ซัน” รุ่นน้อง ก็เป็นเรื่องของมหา’ลัยหนึ่งที่มีระบบ “พี่เทค” กับ “น้องเทค” ตัวเอิร์ธเขาจะแอนตี้ระบบโซตัส ไม่อยากที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ แต่วันหนึ่งเอิร์ธไปเห็นว่ามีซันที่เป็นรุ่นน้องได้รับของแปลกๆ จากพี่เทค มันแปลกและชวนสยองจนเอิร์ธเองก็อยากจะรู้ว่าใครที่เป็นพี่เทคลึกลับคนนั้น จนทำให้ตัวเอิร์ธและซันได้เจอกับความสยองที่คาดไม่ถึง
มีประเด็นการรับน้องเป็นแนวทางของเรื่องด้วยใช่ไหม
เบิ้ล : นอกจากความที่เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญแล้วเรามีมิติของตัวละครที่มีมุมมองเกี่ยวกับระบบในมหาวิทยาลัยที่อยากจะสื่อสาร สิ่งที่น่าสนใจเพราะมันมีประเด็นที่พูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากจะมีสิทธิ์เลือกได้เอง มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองอยากได้ เลือกเองได้ มันก็จะมีประโยคหนึ่งในหนังที่พูดว่า “พี่จะดีใจไปทำไม สุดท้ายแล้วพี่ก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้อยูดี มหา’ลัยเราก็ยังเหมือนเดิม” มันก็สะท้อนอะไรได้ในสังคม มันก็เป็นการพูดถึงสิ่งที่วัยรุ่นยุคปัจจุบันเขานึกคิดกัน ตัวของ “ซัน” (อัด อวัช) ก็เหมือนเป็นตัวแทนที่ถูกยื้อไปมาระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ แต่เราใช้ความเป็น Horror ของหนังเป็นตัวคลุมเรื่องราวอีกที
พอเป็นหนังผี เรามีการดีไซน์การรับน้องหรือบรรยากาศต่างๆ ได้แหวกกว่าเดิมมั้ย
เบิ้ล : ตอนแรกเราก็ดีไซน์ทุกอย่างเอาไว้เป็นประมาณนักศึกษาปกติ แต่ตอนประชุม “พี่คาเงะ” (แอ็กติ้งโค้ช) ก็เล่าถึงช่วงที่เขารับน้องในมหา’ลัยวันพิเศษที่เป็นวันเฉลย “พี่เทค-น้องเทค” มันก็จะมีการดีไซน์ของชุดที่อำพรางรุ่นพี่เอาไว้ มันก็เลยเกิดไอเดียมีการดีไซน์เสื้อผ้าของพี่เทคให้มีความน่าสนใจ มีการดีไซน์ต่อในส่วนของกิจกรรมเฉลยพี่เทค มีเทียน มีเพลงเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็น Element ที่ทำให้มันเกิดความน่าสะพรึงได้อีก
กับเพลงรับน้องที่อยู่ในหนัง เราก็รีเสิร์ชกันมาว่าเวลารับน้องมันมีเพลงแนวไหนยังไงบ้าง เราก็เอามาดีไซน์เมโลดี้ให้มันคล้ายๆ กับเพลงรับน้องของบางมหาวิทยาลัย แต่พอวิชวลของหนังมันเบอร์ใหญ่แล้ว เพลงก็น่าจะต้องดีไซน์ให้มันใหญ่ตามไปด้วย เพลงหรือองค์ประกอบต่างๆ ในหนังก็มีความ Horror หนักขึ้นไปอีก แล้วปกตินะเราไม่เคยตัดต่อแล้วใส่ซาวด์ในคัตแรกๆ เลย ส่วนใหญ่จะไปทำกันตอนโพสต์ (Post Production) ใช่ไหม แต่อันนี้ใส่เลย บิลด์ตัวเอง บิลด์ระหว่างคัตติ้ง สนุกกับการเลือกเสียงต่างๆ เพราะมันดึงความน่ากลัวของภาพออกมาได้เยอะมาก ก็คือคิดกันมาทุกระบวนการตั้งแต่เริ่มๆ เลย
คาแร็กเตอร์หลักในเรื่องเป็นยังไง
เบิ้ล : ผมอินสไปร์มาจากเด็กสมัยใหม่ จากบทที่ทางสหมงคลฟิล์มฯ ส่งมาให้ พยายามต่อยอดคาแร็กเตอร์ของตัวละครในเรื่อง เริ่มจาก “เอิร์ธ” (จั๊มพ์ พิสิฐพล) ที่เล่นเป็นรุ่นพี่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หัวก้าวหน้า เชื่อว่าทุกอย่างมันจะดีกว่าถ้าเราสามารถเลือกอะไรเองได้ ไม่ได้ถูกจัดมาให้โดยระบบ พอถึงเวลารับน้องใหม่ ก็จะมีการจับพี่เทคน้องเทคกันขึ้น เอิร์ธก็พยายายามต่อต้านกับระบบ
ส่วน “ซัน” (อัด อวัช) เป็นเด็กปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาเรียนในมหา’ลัยนี้ เป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรก็จะมุ่งมั่นจดจ่อกับมันถึงขั้นหมกมุ่น แต่ว่าเรื่องอุดมการณ์เรื่องสังคมการเมืองอะไรแบบนี้ เขาก็ยังไม่ได้ชัดเจนอะไรขนาดนั้น เขาพร้อมที่จะเปิดกว้างกับอะไรใหม่ๆ ใครดึงไปทางไหนก็พร้อมที่จะไปทางนั้น แค่ให้เขารู้สึกดีไปกับมัน ตัวซันก็เหมือนถูกดึงไปดึงมาระหว่างโซตัสกับแอนตี้โซตัส
การคัดเลือกนักแสดงทั้ง “อัด” และ “จั๊มพ์” มารับบทนำในเรื่องนี้
เบิ้ล : “อัด อวัช” เขาเคยรับบทนำในเรื่อง “ดอยบอย” ของผมเมื่อปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่อัดได้เล่นเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ส่วนผมได้กำกับภาพยนตร์ฟิกชันครั้งแรกด้วย ผมกับอัดก็เลยรู้สึกโตมาด้วยกัน ได้เรียนรู้ได้ศึกษาฝึกฝนมาด้วยกันตั้งแต่ “ดอยบอย” ผมเห็นถึงการพัฒนาของน้องตั้งแต่วันมาแคสติ้งจนปิดกล้อง เราเห็นเลยว่าเขาทุ่มเท เป็นคนมีพรสวรรค์ พัฒนาการเขาก้าวกระโดดมาก พอมาทำเรื่องนี้เราก็รู้สึกอยากร่วมงานกันอีก อยากทดลองตัวเองด้วยว่าถ้าเราเอาคนเดิมมาเล่นบทอีกแบบหนึ่ง เราสามารถที่จะทำให้เขาเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายอัดก็ทำได้ดีไม่ซ้ำมาจาก “ดอยบอย” มาลองดูฝีมืออัดกันครับ
ส่วน “น้องจั๊มพ์” ตอนดู “เพื่อน(ไม่)สนิท” (2566) จั๊มพ์เขาดู Outstanding โดดเด่นมาก แววตาดูเป็นธรรมชาติ ดู Shining เราก็สนใจตั้งแต่ตอนดูเรื่องนั้นแล้ว เลยลองเรียกเขามาแคสต์ดู น้องเขามีเสน่ห์มากๆ และสามารถเป็น “เอิร์ธ” ในแบบที่เราจินตนาการได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมาก และจั๊มพ์เป็นคนที่ยิ้มตลอดเวลา น่ารัก นิสัยดี แต่ตอนที่ถ่ายหนังจั๊มพ์ต้องดูกลัว แต่หน้าเขาทรงยิ้ม ต้องวอไปบอกว่าอย่าลืมหุบยิ้ม เขาก็บอกว่าไม่ได้ยิ้ม ก็ต้องหาวิธีทำปากอีกแบบที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นการยิ้ม น่ารักครับ
เมื่อสองคนนี้มาเล่นด้วยกันแล้วเป็นยังไงบ้าง ได้อย่างที่คาดหวังมั้ย
เบิ้ล : ตอนแรกกังวลเพราะว่า “อัด” เขาอายุมากกว่า “จั๊มพ์” แต่ Psysical จั๊มพ์ตัวใหญ่กว่า ดังนั้นในบทตัว “เอิร์ธ” เป็นรุ่นพี่ที่ตัวใหญ่กว่าต้องคอยมาปกป้อง “ซัน” จากสิ่งเร้นลับบางอย่าง ก็เป็นห่วงในเรื่องของ Energy ในการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องมันจะเข้าถึงคนดูหรือเปล่า แต่พอได้เวิร์กชอปกันไปแล้วก็รู้สึกว่าเราเลือกไม่ผิด มันดูเชื่อว่าสองคนนี้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ก็รู้สึกแฮปปี้กับการแสดงของน้องทั้งสองคน
ตั้งแต่ถ่ายทำมาคิดว่าฉากไหนที่โหดที่สุด
เบิ้ล : “ฉากในหอร้าง” เพราะมันมีความแอ็กชัน แล้วเราเคยทำแอ็กชันมานิดหน่อยตอนทำ “ดอยบอย” นอกจากนั้นมันก็มีความแฟนตาซีมีความลึกลับ มีความดราม่าผสมกันเต็มไปหมดอยู่ในฉากเดียวกัน ทั้งงานด้านภาพและแสงอะไรพวกนี้ก็มีดีไซน์ในฉากนี้กันเยอะ ทุกอย่างของหนังมันถูกพรีเซนต์ในฉากนี้ได้เยอะมาก และนอกจากในทางโปรดักชันแล้ว ห้องก็แคบมาก ของเยอะมาก การทำงานไม่ได้สะดวกเท่าไหร่ โหดสุดแล้วครับอยากให้ไปดูว่ามันเป็นฉากอะไร และต้องขอบคุณ “ไซมอน” (Simon Dat Vu) ตากล้องเพื่อนเราด้วยที่บินมาจากเยอรมนีเพื่อร่วมงานกัน ได้ภาพได้ Visual ที่ออกมาดีมาก อยากมีเวลาสัก 10 วันเพราะเวลาที่ทำงานเรื่องนี้กันมันสนุกมาก
มีจุดไหนที่ประทับใจหรือเกินคาดบ้าง
เบิ้ล : ฉากจบ ฉากที่ทุกอย่างมันเคลียร์ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเคลียร์ยังไง แต่มันเป็นการที่เราคิดต่อยอดมาเรื่อยๆ ตอนอยู่ในกอง แล้วได้สิ่งที่ออกมาอย่างที่เราคิด มันเลยประทับใจในฉากนี้มากเป็นพิเศษครับ
เคยได้ยินเรื่องเล่าหลอนๆ ของมหา’ลัยตัวเองบ้างมั้ย
เบิ้ล : มีได้ยินบ้างตอนหอพักว่างว่ามีคนเสียชีวิตเป็นคนฆ่าตัวตาย แล้วก็มีเรื่องของลิฟต์ที่ไม่จอดอยู่ชั้นนึง มันก็เกิดความน่าสงสัยว่าเพราะอะไรทำไมลิฟต์ถึงต้องไม่จอดที่ชั้นนี้ ก็มีคนเล่าต่อๆ กันมาว่าเป็นเพราะมีคนฆ่าตัวตายอยู่ในห้องเช่าที่ชั้นนั้น แต่ก็ไม่เคยเจอกับตัว
ส่วนอันนี้ตอนไปถ่ายสารคดีที่กาญจนบุรีชายแดนติดกับพม่า เราไปทำสารคดีเกี่ยวกับชาวบ้านที่เขาอาศัยสายน้ำหนึ่งในการดำรงชีพ น้ำใสสวยมาก แต่อยู่มาวันหนึ่งวัวควายหรือคนไปดื่มน้ำแล้วก็ตาย ใครล้างหน้าก็ตาบอด บางคนที่มีลูกหลานออกมาก็พิการ สาเหตุก็เพราะสายน้ำนี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว
ทีนี้ก็มีพี่คนหนึ่งที่เราเลือกมาเล่า ขาเขาไม่ดี แต่เวลาอยู่ในน้ำพลิ้วมาก ตอนเขาลงเล่นน้ำแล้วว่ายมาใต้ต้นไม้ เขาก็จะเล่าว่าตรงนี้มีผีผู้หญิงนั่งอยู่บนต้นไม้ แต่แกไม่กลัว ผมถ่ายเสร็จรอบแรกแล้วก็กลับไป กลับมาอีกทีคือทราบว่าพี่คนนี้เขาเสียชีวิตแล้ว เสียชีวิตตรงที่เขาเล่าว่ามีผีผู้หญิงนั่นแหละ แล้วก็มีทีมงานคนหนึ่งแกฝันว่าพี่เขามานั่งตัวเปียกๆ อยู่ที่หัวเตียง พอตื่นมาก็หายไป มีคนในหมู่บ้านก็เห็นว่าพี่เขาเดินไปเดินมาบางแห่งในหมู่บ้าน คนนั้นก็เห็นคนนี้ก็เห็น พอคืนสุดท้ายก่อนกลับ ทีมงานพวกเราก็นอนเรียงกันอยู่ในโรงเรียนประถมที่พื้นเป็นไม้ ตกกลางคืนมีเสียงอะไรมันก็จะชัดมาก ผมก็ได้ยินเสียงไม้เท้าของพี่เขามันดังก๊อกๆ ไกลๆ แล้วก็เริ่มเข้ามาใกล้ๆ เข้ามาเรื่อยๆ มันขัดมาก เราก็ไม่กล้าลืมตามาดูหลับตาไปจนเช้าเลย อันนี้คือที่เจอชัดที่สุดแล้วในชีวิต
ฝากส่งท้ายถึงผลงานเรื่องนี้
เบิ้ล : ก็ฝากไปดู “เทอม 3” ด้วยนะครับ ผมทำตอน “พี่เทค” ทีมงานทุกคนก็ตั้งใจกันมากครับตั้งแต่การพัฒนาบทร่วมกันขึ้นมา ถึงตอนถ่ายทำ ตัดต่อ โพสต์โปรดักชัน ทุกคนสนุกสนานกับการได้ทดลองอะไรใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ เราตั้งใจกันทำกันครับ อยากให้ลองไปรับชมกันครับ