Poor Things : นิทานสอนหญิงฉบับจัดจ้านที่ไปสุดในทุกทาง ความบันเทิงตลกร้ายไซไฟสไตล์ ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ | Film to Watch Short Review

Poor Things : นิทานสอนหญิงฉบับจัดจ้านที่ไปสุดในทุกทาง ความบันเทิงตลกร้ายไซไฟสไตล์ ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ | Film to Watch Short Review

หลังได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความดีงามมาสักระยะ ตอนนี้ก็ถือว่าสิ้นสุดการรอคอยเสียที เพราะ 22 กุมภาพันธ์นี้ เราก็จะได้ดู “Poor Things” หรือชื่อภาษาไทย “ชีวิตใหม่ไปให้สุดโต่ง” ในโรงภาพยนตร์แล้ว ที่มาพร้อมกับเรทการรับชมอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น!

ภาพยนตร์เรื่อง Poor Things คือผลงานเรื่องล่าสุดของ ยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับมากวิสัยทัศน์และเปี่ยมด้วยสไตล์อันจัดจ้าน การันตีความบันเทิงแบบตลกร้ายผ่าน The Favourite และ The Lobster ที่เคยถูกอกถูกใจใครหลายคนมาแล้ว ร่วมด้วยทีมนักแสดงลิสต์คุณภาพ เอ็มมา สโตน, วิลเลม เดโฟ, มาร์ค รัฟฟาโล และอีกมากมาย

Poor Things ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ อลาสแดร์ เกรย์ ว่าด้วยเรื่องราวของ เบลล่า แบ็กซ์เตอร์ (รับบทโดย เอ็มมา สโตน) หญิงสาวร่างโตเต็มวัย แต่สมองกลับเป็นของเด็กทารก จากการที่เธอถูกคืนชีพขึ้นมาโดยนักวิทยาศาสตร์สมองเปรื่อง ด็อกเตอร์ก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ (รับบทโดย วิลเลม เดโฟ)

ก็อดวินมองเบลล่าเป็นเพียงแค่ผลงานชิ้นหนึ่งที่ต้องคอยตีกรอบ สร้างและจำกัดปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่อทำการทดลง นานวันสมองของเบลล่าก็ยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด เธอรักอิสระ กระหายที่จะมองเห็นโลกกว้าง และชื่นชอบความรู้สึกที่ได้รับในเรื่องเพศอย่างไร้เดียงสา

อยู่มาวันหนึ่ง ก็อดวินอยากให้เบลล่าแต่งงานกับผู้ช่วยของเขา จึงได้ว่าจ้างทนายจอมห่วย ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น มาช่วยร่างสัญญาเพื่อผูกมัดเธอไม่ให้จากไปไหน แต่ดันแคนกลับล่อล่วงเบลล่าด้วยความใคร่รู้ในโลกกว้าง และคอยกระตุ้นความอยากด้วยความรู้สึกอย่างว่า เป็นเหตุให้ผ้าขาวอย่างเธอตัดสินใจไปออกผจญภัยร่วมกับเขา ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทั้งดีและร้าย เริ่มตั้งคำถามและครุ่นคิด รวมไปถึงตระหนักรู้ถึงความหมาย ความต้องการ และความน่าหลงใหลในการมีชีวิต

หาก Barbie ของ เกรตา เกอร์วิก คือภาพยนตร์ที่เชิดชูสิทธิสตรี วิพากษ์สังคมโดยเฉพาะปิตาธิปไตย Poor Things คือผลงานที่ดำเนินในรอยทางเดียวกันครับ ยอร์กอส ลานธิมอส ในฐานะผู้กำกับจัดเต็มสไตล์ของเขาได้อย่างจัดจ้านและถึงใจ ทั้งความตลกร้ายและการวิพากษ์สังคม ผ่านโลกที่ดูเฉพาะตัวและเปี่ยมด้วยความน่าหลงใหล

หากขนบคือสิ่งที่ผู้คนในสังคมต่างยึดถือปฏิบัติ แม้ก่อนหน้านี้เธอคือ ‘วิคตอเรีย’ ปุถุชนที่ตัดสินใจจบชีวิตลงพร้อมลูกในครรภ์ แต่เมื่อถือกำเนิดใหม่จากห้องทดลองในฐานะแฟรงเกนสไตน์สาว ‘เบลล่า แบ็กซ์เตอร์’ นี่คือจุดเริ่มต้นที่พาเธอให้ก้าวเดินออกจากกรอบที่เคยถูกตีตรา กรอบจากอดีตสามีจอมเผด็จการ กรอบจากก็อดวินและการทดลอง กรอบจากดันแคนที่อยากครอบครอง และกรอบจากกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ห้ามผู้หญิงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ผ่านการออกผจญภัยท่องโลกกว้าง ยิ่งเรียนรู้ทั้งดีและร้าย ยิ่งเติบโตและเข้าใจความหมายของชีวิต

เอ็มมา สโตน ให้กำเนิดตัวละคร เบลล่า แบ็กซ์เตอร์ ผ่านการแสดงที่ยอดเยี่ยมในระดับที่ว่า นี่คืออีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของเธอก็คงไม่เกินจริง เราจะได้เห็นพัฒนาการของเบลล่าจากผ้าขาวบริสุทธิ์ ก่อนค่อยๆ ทดลองแต่งแต้มสีสันที่หลากหลาย จนกระทั่งเริ่มตกตะกอน และกลายเป็นเบลล่าเวอร์ชั่นเข้าใจโลก ของใจความต้องการของตัวเองในท้ายที่สุด สมมงที่ได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในทุกๆ เวทีอย่างแท้จริง

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Poor Things น่าสนใจ คือนอกจากจะเป็นผลงานที่เชิดชูความเป็นผู้หญิงอย่างเต็มเปี่ยม นี่ยังเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยเหล่าตัวละครชาย Toxic หวังจะควบคุมหญิงสาวในทุกมิติของชีวิตแล้ว และความเป็นผ้าขาวของเบลล่าที่คิดเห็นอย่างไรก็แสดงออกตรงๆ แบบนั้น คือการจิกกัดและเย้ยยันความ ‘ชายแท้’ ได้อย่างถึงพริกถึงขิง ตลกร้าย และชวนให้ขบขันเป็นอย่างมาก

ขณะที่งานสร้าง งานภาพ และดนตรีประกอบของ Poor Things ก็หาได้ธรรมดาไม่ ทางทีมงานเนรมิตรโลกของมันได้ชวนตื่นตาน่าสนใจ ผ่านเสื้อผ้า หน้า ผม รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างฉากหลังต่างๆ เปี่ยมด้วยความลึกลับน่าค้นหา ส่วนงานภาพก็นำเสนอออกมาได้งดงามในทุกๆ ฉาก ทางด้านงานเสียงก็สอดประสานความเป็นพังก์และคลาสสิกได้อย่างลงตัว ส่งผลให้ภาพรวมที่ออกมากลายเป็นนิทานสอนใจที่จัดจ้านและไปสุดทางในทุกๆ องค์ประกอบ เป็นความอาร์ตที่ดูง่ายดูเพลิน แต่ก็ดูบันเทิงแบบมีเลเยอร์ชวนให้ขบคิดอยู่หลายชั้น สมฐานะแล้วที่มีชื่อเข้าชิงพร้อมกวาดไปหลายถ้วยบนเวทีประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ต่างๆ โดยเฉพาะเวทีออสการ์ที่เข้าชิงมากกว่า 11 สาขา การันตีขนาดนี้ อย่าลืมไปรับชมกันนะครับ

 

Poor Things : นิทานสอนหญิงฉบับจัดจ้านที่ไปสุดในทุกทาง ความบันเทิงตลกร้ายไซไฟสไตล์ ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ ทั้งเสียดสี เย้ยหยัน ขบขัน และชวนให้ตกตะกอนถึงความน่าหลงใหลในการมีชีวิต | Film to Watch Short Review