โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๓๘ (๒) ณ ซึ่งดวงใจสถิต

โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๓๘ (๒) ณ ซึ่งดวงใจสถิต

เหตุการณ์ที่โรงพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เลวร้ายลงไปทุกที

จากหนี้ที่ผู้อำนวยการ “ไชยยงค์ ชวลิตร” กู้มาซื้อแท่นพิมพ์โรตารีที่ถูกญี่ปุ่นต้ม ธนาคารเร่งรัดจนถึงขั้นยื่นโนติ๊คครั้งสุดท้ายว่า หากไม่มีเงินชำระก็จะยึดโรงพิมพ์

วันหนึ่งท่านผู้อำนวยการเรียกฉันไปพบเป็นการส่วนตัว เพื่อจะถามฉันว่า

“สันติคุณเป็นหัวหน้าข่าวการเมือง คุณพอจะติดต่อกับผู้ใหญ่สักคนไหมที่จะช่วยโรงพิมพ์ของเราได้”

คำถามของท่านทำให้ฉันนึกถึงผู้ใหญ่ในวงการเมืองท่านนี้ได้ ฉันรู้จักท่านมาก่อนที่จะมาเป็นนักการเมือง เพราะน้องสะใภ้ของท่านเป็นภรรยาของนักร้อง ที่เคยเป็นข่าวสะท้านวงการที่ผู้คนในยุคนั้นเรียกว่า “เด็ดดอกฟ้า”

จากเพลงที่ “ชรินทร์ งามเมือง” นามสกุลดั่งเดิมของนักร้องท่านนี้ ที่ฉันเองก็สนิทสนมจนเรียกว่า “พี่ฉิ่ง”

เนื้อเพลงดังที่นักร้องผู้นี้ร้อง คนฟังรู้จักกันโดยเฉพาะในท่อนที่ร้องว่า

 ...เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าฉันเป็นดั่งทาสเทวี...

เทวีที่พี่ฉิ่งร้อง ฉันเรียกเธอว่า “พี่เล็ก” แต่ในวงการนางแบบเรียกเธอว่า “พี่สปัน เธียรประสิทธิ์” พี่เล็กเป็นน้องสะใภ้ของ “คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ตอนนั้นท่านเป็นหนึ่งในบรรดาผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้นำของประชาธิปัตย์รุ่นใหม่ ซึ่งมี “มรว.เสนีย์ ปราโมช” เป็นหัวหน้าพรรค แต่ “พี่เพชร” ชื่อที่ฉันเรียกด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อนที่ท่านจะเข้ามาสู่วงการเมือง ที่เพชรมีบทบาทสำคัญมากในพรรคฝ่ายค้าน ที่อายุยืนยาวมานานพรรคนี้

“พี่เพชร” สนใจที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยท่านผู้อำนวยการไชยยงค์ ฉันทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานให้กับท่านทั้งสอง

“พี่เพชร” สนใจวิชาชีพหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว เพราะเมื่อท่านเปิดวิทยาลัยแห่งแรกที่ชื่อ “วิทยาลัยกรุงเทพ” ท่านเคยปรึกษาฉันในฐานะที่เล่าเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ มาจากสถาบันวิชาหนังสือพิมพ์นานาชาติ แห่งกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมัน และเคยเรียนคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านจึงอยากจะเปิดคณะวารสารศาสตร์ขึ้นในวิทยาลัยกรุงเทพอีกคณะ ซึ่งต่อมาท่านทำได้สำเร็จ จึงทำให้วิทยาลัยกรุงเทพยกฐานสูงขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” มาจนถึงทุกวันนี้

การเจรจาระหว่างท่านผู้อำนวยการ “ไชยยงค์ ชวลิตร” กับ “คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” เป็นไปด้วยดี ทั้งสองท่านตกลงจะซื้อขายหัวหนังสือพิมพ์ต่อกันในราคาที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ

จะต้องอธิบายเรื่องซื้อขายหัวหนังสือพิมพ์ เพราะว่าในสมัย “จอมพล สฤษดิ์ชนะรัชด์” ปฏิวัติ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” สิ่งหนึ่งที่ท่านผู้นี้ทำก่อนก็คือปิดกั้นการทำงานของหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่ประชาชนเชื่อถือมากกว่าสื่อของรัฐบาลอันประกอบด้วยสื่อวิทยุและต่อมาก็คือสื่อโทรทัศน์

หนังสือพิมพ์มีจำนวนหลายฉบับถูกคำสั่งคณะปฏิวัติ เหลือหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายขายได้เพียงไม่กี่ฉบับ ในจำนวนนั้น “นสพ.พิมพ์ไทย” จำหน่ายขายดีเป็นที่หนึ่ง หัวหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ซึ่งก็หมายถึง “พี่เพชร “คุณสุรัตน์  โอสถานุเคราะห์”ด้วย

ในการตกลงซื้อหัวหนังสือพิมพ์ ผอ.ไชยยงค์ตกลงจะขายหัวหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ให้ แต่ในตอนท้ายภายหลังท่านผู้อำนวยการกลับเปลี่ยนเป็นขายหัวหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์บ่าย ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เป็นหนังสือพิมพ์เช้า ที่มียอดพิมพ์เป็นจำนวนมากและเป็นที่นิยมของผู้อ่านมากกว่า

เรื่องนี้ทำให้ “พี่เพชร” ไม่พอใจแต่ก็รับหัวหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” ไว้ซึ่งต่อมาหัวหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” ก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์ชื่อ “สยาม รายวัน” และในตอนนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคสมัยที่ “จอมพลถนอม กิตติขจร” เป็นนายกรัฐมนตรี และยังคงจะใช้นโยบายปิดกั้นการทำงานของหนังสือพิมพ์เช่นเดียวกัน “จอมพลสฤษดิ์ ชนะรัชต์”

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี่ก็คือ มีการยกสต๊าฟทำงานของ “นสพ.ไทยรัฐ” ออกหมดเพื่อมาทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ “สยาม รายวัน” ของ “พี่เพชร” ผู้นำทีมทำงานของ นสพ.ไทยรัฐ ออกมาคือ “ประสานมีเฟื่องศาสตร์”

ฉันเรียกว่า “พี่กระแช่” ตามชื่อนามปากกาที่พี่เคยเขียนในหน้าสังคมการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มีคน นิยมมากที่สุดของยุคระหว่าง พ.ศ.2500 ถึง พ.ศ. 2510

การยกสตาฟออกมาเช่นนี้ทำให้หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” กระทบกระเทือนถึงอาจจะต้องปิดตัวเอง แต่ผู้ที่ช่วยแก้สถานะการณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็เป็นคนทำงานจากหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย”

เพราะปัญหาการเงินของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีมาตลอด “พี่พินิจ นันทวิจารณ์” หัวหน้าข่าวต่างประเทศถูกเชิญให้เข้าไปทำงานในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” และเป็นผู้เลือกคนที่จะมาทำงานแทนสตาฟเดิมของ “พี่กระแช่ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์”

ในการเปลี่ยนชั่วครั้งใหญ่ของวงการหนังสือพิมพ์ ฉันก็เปลี่ยนแปลงเช่นกันเมื่อฉันมีปัญหากับญาติคนหนึ่งของผู้อำนวยการ “ไชยยงค์ ชวิตร” ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องวิชาหนังสือพิมพ์และอาชีพของนักข่าว ช่างภาพรวมไปถึงคนงานในโรงพิมพ์

นายคนนี้ใช้วิธีการแบบที่คนหนังสือพิมพ์เกลียดก็คือ...”กดขี่ด้วยการอ้างว่ามีอำนาจของการเป็นผู้บริหาร” ฉันมีปัญหากับนายคนนี้บ่อยครั้งด้วยความรู้สึกบอกกับตัวเองว่า นายคนนี้ไม่ใช่ทั้งเป็นผู้บริหารและไม่ใช่ทั้งจะเป็นนักหนังสือพิมพ์

 ฉันตัดสินใจออกจากการทำงานหนังสือพิมพ์ โดยไม่ได้แจ้งให้ท่านผู้อำนวยการ “ไชยยงค์ ชวลิตร” ทราบ ท่านคงจะอึดอัดใจเพราะนายคนนี้เป็นเพื่อนของท่าน และฉันก็ไม่อยากเห็นแววตาของท่าน ที่จะมีความรู้สึกเมื่อฉันต้องการกล่าวว่า...”ผมขอลาออก”

ฉันจึงออกจากหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ที่ฉันทำงานมานานหลายปี ออกไปเงียบ ๆ และเศร้าใจต่อชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ฉันทำงาน ซึ่งเปรียบครูอาจารย์

แต่ในตอนนั้นฉันบอกกับตัวเองว่าฉันจะต้องอยู่ให้รอด อยู่อย่างมีความหวัง เพราะฉันเชื่อว่าวันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ เพราะวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าฉันดีกว่าวันวาน

นักหนังสือพิมพ์ท่านหนึ่งที่ฉันระลึกถึงก็คือ “พี่สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยชวนไปทำงานกับท่านที่ “นสพ.เดลินิวส์” หนังสือพิมพ์คู่แข่ง กับหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ”

แต่ท่านก็ตกงานเช่นกัน เมื่อมีปัญหากับเพื่อนร่วมทำงานทำนองเดียวกับที่มีคำกล่าวว่า...เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้

เสือหรือสิงโต ซึ่งเป็นนามปากกาของท่านจึงลาจากหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ออกมาอยู่อย่างโดดเดี่ยวจับเนื้อกินเองถึงจะลำบากยากแค้นเพียงไร แต่ความสง่างามสมกับความเป็นเสือเป็นสิงโต

“เรามาทำหนังสือพิมพ์แนวใหม่ด้วยกัน มีคนน้อย มีงานมาก” สิงโตสุเทพบอกกับฉัน เมื่อฉันไปหาและบอกว่าได้ออกจากหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” และงานหนังสือพิมพ์ชื่อ “ดารารัฐ” จึงเกิดขึ้น มีพี่สุเทพเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการและบรรณาธิการมีฉันเป็นนักข่าว คนเข้าหน้าตาและงานในกองบรรณาธิการทุกอย่างเท่าที่มีให้ทำ กับ “ไอ้จิต” หรือ “นิยม นาคประเสริฐ” เป็นช่างภาพซึ่งก็ต้องถ่ายรูป ล้างรูป อัดรูปให้ได้

นี่อาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวของวงการหนังสือพิมพ์ในสมัยที่มีพนักงานเพียงสามคน

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ดารารัฐ” เริ่มขายดี เพราะไม่มีคู่แข่งแต่ก่อนจะมีเพียงนิตยสารบันเทิงรายเดือนซึ่งช้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับงานของเรา

ฉันเริ่มมีรายได้ที่แน่นอนถึงจะไม่ใช่รายเดือนเหมือนอยู่ที่หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” แต่รายได้รายสัปดาห์ก็ออกตรงเวลา เงินที่ใช้จ่ายทุกวันจึงมีเหลือใส่ “กล่องความฝัน” ของเราได้สม่ำเสมอ

ความฝันที่สักวันหนึ่งเราจะต้องมีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง เริ่มเห็นได้แม้ว่าจะเลือนรางไม่ชัดเจนก็ตาม

แต่แล้วความฝันที่ไม่เคยฝันกลับเป็นความจริง ในวันหนึ่งที่นั่งทำงานอยู่เพียงคนเดียวในโรงพิมพ์เล็ก ๆ ที่ซอยรางน้ำ ก็มีโทรศัพท์เข้ามาพร้อมกับเสียงดุอย่างผู้มีอำนาจถามฉันว่า

“คุณชื่อสันติใช่ไหม”

ใช่ครับ ผมชื่อสันติ เศวตวิมล” ฉันตอบเสียงแปลก ๆ นั้นไปอย่างวิตกในใจว่า หนังสือพิมพ์ “ดารารัฐ” ไปทำอะไรใครเดือดร้อนหรือเปล่า แต่เสียงดุ  ๆ นั้นพูดต่อว่า

คุณอยากจะทำงานหนังสือพิมพ์กับเราไหม”

 “หนังสือพิมพ์อะไรครับ”

“หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวัน ไม่ใช่หนังสือพิมพ์บันเทิงรายสัปดาห์ที่คุณทำ”

...เท่านั้นล่ะ ความรู้สึกของฉันก็รู้สึกว่า ความฝันของฉันที่ไม่ใช่ฝันถึงการสร้างบ้านเป็นของตัวเองนั้นมันยังไม่เป็นจริงได้ แต่ความฝันที่ไม่เคยฝันก็คงจะได้เป็นความจริงก่อน...

“ครับผมอยากทำ”  ฉันตอบทันที

“พรุ่งนี้...มาพบผมที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดี”

                                                                       

สันติ  เศวตวิมล

บรรณาธิการอาวุโส

นักเขียนรางวัล “นราธิปประพันธ์พงศ์” ๒๕๖๕

โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๓๘ (๒) ณ ซึ่งดวงใจสถิต