ออฟฟิศซินโดรม โรคของคนทำงานที่อันตรายไม่ใช่เล่น !

ออฟฟิศซินโดรม โรคของคนทำงานที่อันตรายไม่ใช่เล่น !

ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำว่า “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่ทำงานในออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดออฟฟิศซินโดรมสูง “Office Syndrome” กลุ่มอาการที่พบบ่อย เกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่มีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน วันนี้ทาง MiX MAGAZINE จะพามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้เข้าใจกันมากขึ้นว่าเจ้า โรคออฟฟิศซินโดรมคืออะไร ? อาการมันเป็นอย่างไร แล้วมีวิธีการรักษา หรือดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคนี้ ไปติดตามกันเลยค่ะ 

อาการของออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง?

อาการออฟฟิศซินโดรมในระยะแรกนั้นมักจะไม่รุนแรง ทำให้หลายคนชะล่าใจ ละเลยการรักษา และไม่ยอมปรับเปลี่ยนท่าทางหรือพฤติกรรมการทำงานให้เหมาะสม เมื่อนานวันเข้าจึงสะสมและกลายเป็นอาการที่รุนแรงในที่สุด มาลองสังเกตกันดูว่าคุณมีอาการขั้นต้นของโรคออฟฟิศซินโดรมต่อไปนี้หรือไม่

1. ปวดศีรษะ อาจปวดร้าวไปถึงตา และมีอาการปวดไมเกรนบ่อยๆ เกิดได้จากการใช้สายตาในการทำงานมาก ประกอบกับมีความเครียดสะสม วิตกกังวล และพักผ่อนไม่เพียงพอ

2. ปวดเมื่อยหรือเกร็งตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น หลัง ไหล่ สะบัก ต้นคอ แขน ข้อมือ นิ้วมือ เนื่องจากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข จะกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นอยู่เฉยๆ ก็ปวดขึ้นมาเองได้

3. มีอาการเจ็บ ตึง และชาตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งพัฒนามาจากอาการปวดเรื้อรัง อาการเหล่านี้เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ มีเอ็นอักเสบทับเส้นประสาท หรือเส้นประสาทตึงตัว จนกลายเป็นอาการชาตามมือตามแขน เส้นยึด และนิ้วล็อคในที่สุด

4. อาการเหน็บชาและแขนขาอ่อนแรง เกิดขึ้นได้หากนั่งนานเกินไปจนทำให้มีการกดทับเส้นประสาทหรือการไหลเวียนเลือดผิดปกติ

5. นิ้วล็อก การจับเมาส์หรือการใช้นิ้วมือและข้อมือจับโทรศัพท์มือถือในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้นและส่งผลให้ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ตามปกติ

6.นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท เกิดจากความเครียด รวมถึงการมีอาการปวดเมื่อยและปวดหัวมารบกวนในเวลานอนเป็นระยะ

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม

- การนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ โดยไม่มีการขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อยืดหรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

- ท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง เช่นหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่สูงหรือต่ำกว่าระดับสายตามากเกินไปเก้าอี้เตี้ยหรือสูงเกินไป ทำให้ต้องเงยหรือก้มหน้าตลอดการใช้งาน

- การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไปการเพ่งใช้สายตามากๆการปรับความสว่างของหน้าจอไม่สมดุลกับความสว่างในห้องประกอบกับแสงสีฟ้า (Blue light) จากจอภาพที่ทำให้มีอาการปวดหัวปวดตาตามมาได้

- สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสมเช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระร่างกายอุปกรณ์ในออฟฟิศเต็มไปด้วยฝุ่น เป็นต้น

- การทำงานหนักเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน รวมถึงความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดจากการทำงาน

ออฟฟิศซินโดรมป้องกันได้อย่างไร?

- ควรจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดี และเป็นมิตรแก่ผู้ทำงานแต่แรก ทั้งด้านสถานที่ทำงาน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และสังคมในออฟฟิศ

- จัดท่าทางหรืออิริยาบถเวลานั่งทำงานให้เหมาะสม เช่น ไม่นั่งหลังงอหรือเกร็งเกินไป

- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อให้แข็งแรง และเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน

- พักผ่อนให้เพียงพอ จัดสรรเวลางานและเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน หากมีโอกาสควรหาเวลาพักร้อนเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง

แนวทางการรักษา “ออฟฟิศซินโดรม”
การรักษากลุ่มอาการ “ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)” นั้นมีด้วยกันหลายวิธี ทั้ง การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อรักษาปวดหลังเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจาก “Office Syndrome” ได้นั้นคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร
การทำกายภาพบำบัด เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการรักษาออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก โดยการรักษานอกเหนือจากการทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังรวมถึงการประเมินโครงสร้างร่างกายและการปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล การสร้างความรู้ความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล การให้ความรู้และส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและถูกวิธีเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ป้องกันภาวะบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเนื้อเยื่อที่อาจเกิดตามมาจากการออกกำลังแบบผิดวิธี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ

ที่อาจเกิดตามมาได้ในระยะยาว และเมื่อมีอาการเกิดขึ้นและไม่สามารถทุเลาได้ด้วยการดูแลตัวเอง เช่น การพักผ่อน  นอนหลับการนวด หรือการยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลาย ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา และตรวจหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นจากโรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก หรือมีภาวะซ่อนเร้นอื่นๆ เพื่อจะได้วิเคราะห์ต้นเหตุและให้การรักษาปวดหลังได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 อย่างไรก็ตาม ลองให้เวลาตัวเองสักนิด หันกลับมาสำรวจความผิดปกติของร่างกาย จะได้รู้ว่าร่างกายของเราส่งสัญญาณเตือนภัย ให้หันมาใส่ใจดูแลตัวเองได้แล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารทั้ง 5 หมู่ให้ตรงเวลา และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณและพร้อมที่จะสู้งานหนักต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : honestdocs.co , โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ , สำนักงานการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ออฟฟิศซินโดรม โรคของคนทำงานที่อันตรายไม่ใช่เล่น !