นวัตกรรมยุทธศาสตร์ ภาคประชาชนเพื่อการสร้างชาติ
ภาคประชากิจ เป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญมากต่อสังคมสมัยใหม่ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ว่าจะในบทบาทการเป็นผู้ตรวจสอบ/ เฝ้าระวัง (Watchdog) การเป็นผู้ให้การรณรงค์ สนับสนุน/ช่วยเหลือ (Advocate) เป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert) คือ เป็น Think Tank ซึ่งขาดไม่ได้ในสังคมที่พัฒนาแล้ว และเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม (Citizenship champion) เป็นต้น
ผมได้เสนอทฤษฎี “สัญญาประชาคมใหม่ (Neo-Social Contract)” อธิบาย ให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และความจำเป็นในการร่วมมือของแต่ละภาคกิจของไทย เพื่อให้แต่ละภาคกิจเกื้อหนุน และปลดปล่อยศักยภาพของกันและกันในลักษณะ “Small Government, Small Business but Big Civil Society” ซึ่งหมายถึง การที่ภาคประชาชนมีขนาดใหญ่ และ มีบทบาทสำคัญ เพราะผมเชื่อภาค ประชากิจที่เข้มแข็งและมีขนาดใหญ่จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเจริญได้ โดยการประสานร่วมกับภาครัฐกิจและธุรกิจตามบทบาทที่เหมาะสม ซึ่งตามแนวทางนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเห็นชาติไทยก้าวหน้าได้หากปราศจากกระบวนการ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ในหลายประเทศได้มีบริบทที่เอื้อให้องค์กรภาคประชากิจทำบทบาทหน้าที่ ของตนได้อย่างดี แต่ในประเทศไทยสถานการณ์หลายอย่างอาจยังเป็นอุปสรรค ต่อการทำงานของภาคประชากิจ เช่น การกระจุกอยู่ในองค์กรเพียงบางประเภท การขาดการจัดระบบขับเคลื่อนองค์กร อุปสรรคจากกฎระเบียบ การขาดแคลน เงินทุน และค่าตอบแทนบุคลากรต่ำ ไทยจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ภาคประชา กิจที่สอดคล้องกับสภาพขององค์กรภาคประชากิจ และบริบทสังคม ทำให้องค์กร ภาคประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่โดยผมมีข้อเสนอดังนี้
1) วางระบบ Nation - Building Credit System เป็นการวางระบบให้คนทำดีผมได้เสนอหลายปีก่อน เป็นการให้คะแนน จากพฤติกรรมที่ครอบคลุมทั้งพฤติกรรมลบและบวก มีการพิจารณาพฤติกรรม ด้านต่าง ๆ ของชีวิต ผูกติดกับการให้คุณให้โทษ โดยบูรณาการเข้าไปในชีวิต ประจำวัน และใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจจับพฤติกรรมและการประมวลผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพฤติกรรมที่มีส่วนในการสร้างชาติและจำกัด พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อชาติ
2) พัฒนาแหล่งทุนสำหรับภาคประชากิจ งานจำนวนมากที่มีคุณค่า แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ เช่น การพัฒนาชุมชุน การดูแลคนจน คนแก่ คนพิการ ทำให้ไม่จูงใจให้องค์กรเอกชนเข้าไปดำเนินการ เราจึงต้องพยายามให้มูลค่ากับงานที่มีคุณค่า โดยต้องมีการพัฒนาแหล่งทุนสำ หรับ ภาคประชากิจ อาทิ การจับคู่ระหว่างผู้ให้เงินทุนกับองค์กรภาคประชาชน และ หักภาษีบริจาคให้องค์กรภาคประชากิจแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
3) เปลี่ยนวัตถุประสงค์ และรูปแบบการทำบุญ สังคมไทยไม่ได้ขาดแคลนเงินบริจาคแต่เงินบริจาคส่วนใหญ่เป็นเงินทำบุญ ทางศาสนา ในขณะที่รูปแบบการบริจาค ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคเงิน ในขณะที่ มนุษย์มีทั้ง เวลา ความสามารถ และทรัพย์ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด จึงควรเปลี่ยนวัตถุประสงค์การให้ หรือทำบุญเป็นการทำบุญเพื่อสังคมมากขึ้น คือ นอกเหนือจากบริจาคให้วัดแล้ว ควรหันมาบริจาคให้องค์กรประเภทอื่นมากขึ้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล พรรคการเมือง หรือองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่าง แท้จริง เปลี่ยนบทบาทวัดและองค์กรศาสนาจาก ผู้รับเงินบริจาค เป็น ผู้รับและ จัดสรรเงินบริจาคให้องค์กรอื่น เปลี่ยนรูปแบบเป็น บริจาคเวลาและความสามารถ มากขึ้น เช่น กองทุนเวลา ที่จับคู่ระหว่างผู้ให้เวลา กับ องค์กรที่ต้องการอาสาสมัคร
4) นำกลไกตลาดมาใช้กับงานในภาคประชากิจ ดังเช่นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อได้คาร์บอนเครดิต (carbon credit) เพื่อทำให้เกิดตลาดของผลงานที่มีคุณค่า (แต่ไม่มีมูลค่า) ให้สามารถซื้อขายได้ เช่น พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จ่ายค่าตอบแทนตามเพื่อขับเคลื่อน 3 ภาคกิจ ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ย่อย เช่น วิทยาภาคประชากิจ สร้างชาติ (Nation-Building Civil Society College), วิทยาลัยภาคธุรกิจ สร้างชาติ (Nation-Building Business College) และวิทยาลัยภาครัฐกิจ สร้างชาติ (Nation-Building Government College) ในอนาคตอันใกล้นี้
5) สร้างระบบจูงใจให้คน ‘ดี เก่ง กล้า’ ทำงานในภาคประชากิจ พัฒนาระบบจูงใจ ดังตัวอย่าง ธนาคารเวลาธนาคารความดี (ให้กู้โดยพิจารณา ความดีที่ได้ทำ) สมุดพกความดี (นำไปใช้สมัครเรียนต่อได้) โดยพัฒนาระบบลด หย่อนภาษีให้ผูอยู่ในสายงานภาคประชากิจเพื่อจูงใจคนดี เก่ง กล้า เข้ามาแสวงหา ความก้าวหน้าในสายงานในภาคประชากิจได้
6) สร้างเครือข่ายบุคลากรที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคม เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์และประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคม เช่น สถาบัน การสร้างชาติ (NBI) จัดค่ายเยาวชนเพื่อการสร้างชาติเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์และ ทำโครงการจิตสาธารณะ ส่วนภาครัฐกิจ ธุรกิจให้เวลาพนักงาน ทำงานในภาค ประชากิจ ในทุกวันหยุดและทุกช่วงปิดเทอม
7) ส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) 3 แสนองค์กร โดยภาครัฐมีบทบาทในส่วนของการช่วยเหลือและกำกับให้แต่ละองค์กร รับผิดชอบปัญหาต่าง ๆอย่างเจาะจง องค์กรละ 1 เรื่อง ให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกปัญหา ทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ และบูรณาการความร่วมมือร่วมกับรัฐกิจและ ธุรกิจ โดยเริ่มจากการพัฒนาองค์กรภาคธุรกิจให้ขยายเป้าหมายจากการแสวงหา กำไรเป็นหลัก สู่การมีเป้าหมายเพื่อการสร้างชาติเป็นหลัก ซึ่งเมื่อชาติได้ประโยชน์ องค์กรย่อมเข้มแข็งไปด้วย
8) จัดตั้งศูนย์ศึกษาภาคประชากิจ (Center of Non-Profit Organizations) ในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับภาคประชากิจ ซึ่งผม มีความตั้งใจจะจัดตั้ง Nation-Building International University (NBIU)
9) จัดอันดับ (ranking) องค์กรภาคประชากิจ ในส่วนขององค์กรภาคประชาชนเอง ผมเห็นว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องแสดง งบการเงิน แม้แต่วัด เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และสร้างการรับรู้ที่ดีต่อสังคมซึ่ง จะนำไปสู่การสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น โดยต้องใช้ข้อกฎหมายมาบังคับเพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด นอกจากนั้นองค์กรภาคประชาชนเองยังต้องพัฒนา แนวปฏิบัติสำหรับภาคประชากิจที่ดี ซึ่งใช้การจัดอันดับ (ranking) องค์กรภาค ประชากิจมาเป็นตัวกำกับ เป็นต้น
10) จัดการประชุมเพื่อจัดทำเมทริกซ์ ส่งเสริมจัดตั้งกลุ่ม/องค์กร ให้ครอบคลุมทุกประเด็น ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มคน ทุกภาคกิจต้องร่วมมือกันทั้งเสนอตัว พูดคุย จัดการประชุม เพื่อพิจารณาว่า ในภาพรวมประเทศยังมีช่องว่างปัญหาที่ถูกละเลยอยู่หรือไม่ เพื่อส่งเสริมให้มี องค์กรรับผิดชอบในช่องว่างที่มีอยู่ โดยต้องพัฒนากลไกระดับชาติเพื่อกระจาย ความรับผิดชอบ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในมอบหมาย จูงใจ หรือขอความร่วมมือให้ภาคธุรกิจ และประชากิจ ดำเนินงานแทนภาครัฐในบางด้าน โดยกำหนดความรับผิดชอบ เจาะจงให้กับแต่ละองค์กร เช่น 1 องค์กร ช่วยพัฒนา 1 โรงเรียน และ 1 องค์กร รับผิดชอบ 1 ปัญหาสังคม เป็นต้น
11) จัดประชุมเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมงานภาคประชากิจิระหว่าง ประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) สนับสนุนทรัพยากรและบุคลากรระหว่างประเทศ ดึงดูดการ ลงทุนของภาคประชากิจจากต่างประเทศ
12) จัดตั้งกระทรวงประชากิจ ความจำเป็นของการขับเคลื่อนภาคประชากิจ ส่งผลให้หลายประเทศจัดตั้ง เป็นกระทรวงที่ทำงานด้านนี้ขึ้นมาโดยตรง เช่น สหราชอาณาจักรมีกระทรวง ประชากิจ (Ministry for Civil Society) และในคาซัคสถานมีกระทรวงกิจการ ศาสนาและประชาสังคม (Ministry for Religious and Civil Society Affairs) เป็นต้น โดยบทบาทหน้าที่ของ “กระทรวงประชากิจ” ที่ควรทำนอกจากจะเป็น ศูนย์รวมข้อมูลภาคประชากิจของไทย และกำหนดนโยบายในการส่งเสริมภาค ประชากิจตามข้อเสนอทั้ง 11 ข้อข้างต้นแล้ว กระทรวงควรสร้างกลไกอารยะ สนทนาเพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายก่อนการดำเนินนโยบาย เปิดโอกาสให้เกิดการ ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจ และเกิดประโยชน์สูงสุดเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะช่วยลดการเดินขบวนประท้วงนโยบายรัฐบาล และทำให้ประชาชนได้สิ่งที่ตนเองพึงพอใจมากที่สุด คนไทยทุกคนล้วนอยู่และมีบทบาทในภาคประชากิจ แตกต่างกันเพียง มีบทบาทโดยตรงมากหรือน้อย ดังนั้นแม้บทบาทการขับเคลื่อนหลักจะต้อง ฝากความหวังไว้กับภาครัฐกิจ แต่เราทุกคนสามารถมีบทบาทสำคัญในแง่ของ การริเริ่ม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ผมเชื่อว่าหากภาคประชากิจ ของประเทศไทยเข้มแข็ง เราจะเห็นการขับเคลื่อนประเทศไทยครั้งใหญ่ได้ อย่างแท้จริง