เจาะเรื่องน่ารู้กับเทศกาล ถือศีล กินเจ

เจาะเรื่องน่ารู้กับเทศกาล ถือศีล กินเจ

เข้าสู่เดือนตุลาคมแล้ว คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะเข้าใจดีกว่าในเดือนนี้จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่าเทศกาล กินเจ อยู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แพร่หลาย วันนี้ MiX MAGAZINE จึงอยากนำข้อมูลของเทศกาลกินเจมาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ที่เพิ่งสนใจหรืออยากจะร่วมกินเจ ได้เข้าใจถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของเทศกาลนี้ให้มากขึ้นค่ะ

ความเป็นมาของการกินเจ

คำว่า“เจ”ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีลไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ข้อ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตช่วงหลังจึงเรียกคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “กินเจ” ไปด้วยแต่ถึงกระนั้นการกินเจไม่ใช่เพียงแต่งดเนื้อสัตว์ อาหารและเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมถึงการรักษาศีลประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ อีกด้วย

ช่วงเวลาเทศกาลกินเจ

ช่วงเทศกาลกินเจของปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม - 14 ตุลาคม 2564 

เทศกาลกินเจ เริ่มตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ?

เริ่มวันที่ 6 ตุลาคม - 14 ตุลาคม 2564  บางท่านอาจจะล้างท้องตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมในมื้อเย็น ก็สามารถทำได้

ทำไมเราต้องกินเจ ?

1. กินเจ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นเพราะอาหารเจถือเป็นอาหารชีวจิตอย่างหนึ่ง ช่วยปรับสภาพร่างกายให้สมดุลล้างพิษในร่างกายรวมถึงช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะคนจีนเชื่อว่า เนื้อสัตว์เป็น “หยิน” และผักผลไม้เป็น “หยาง”โดยธรรมชาติคนเรามักทานเนื้อสัตว์เยอะกว่าผักผลไม้การงดทานเนื้อสัตว์จึงเป็นการปรับให้หยินและหยางสมดุลมากยิ่งขึ้นด้วย
2. กินเจ เพื่อทำบุญเพื่อชำระล้างใจให้ใสสะอาด ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทำให้จิตใจเราผ่องใสมากขึ้น เมื่อเราทราบว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่ดีก็จะส่งผลต่อจิตใจที่เบิกบาน เป็นสุขขึ้น

3. กินเจ เพื่อละเว้นกรรมที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือแม้กระทั่งการจ้างฆ่าเพื่อการบริโภคหากเราทราบว่าการงดบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการช่วยชีวิตสัตว์นับพันนับหมื่นเราก็จะช่วยลดกรรมของเราได้มากขึ้น

ทำไมต้องล้างท้อง ?

การล้างท้องหมายถึง เริ่มกินเจก่อนถึงวันเริ่มต้นเทศกาลจริง 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสภาพและทำความคุ้นเคยกับการกินเจได้ดียิ่งขึ้น

ธงเจ มีความหมายอย่างไร ?

ตัวอักษรภาษาจีน อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” หมายถึง “ของไม่มีคาว”
ตัวอักษรสีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคลในชีวิต พื้นหลังสีเหลือง หมายถึง สีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล
ธงเจจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกินเจ และเป็นเครื่องยืนยันย้ำเตือนพุทธศาสนิกชนให้หันมาเตรียมตัวร่วมเทศกาลกินเจด้วยกัน

การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ

- งดเว้นเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อสัตว์

- งด นม เนย หรือน้ำมันจากสัตว์

- งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก

- งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด คือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ รวมทั้งเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน

- รักษาศีล 5

- รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่

- ทำบุญ ทำทาน บางคนที่เคร่งอาจนุ่งขาว ห่มขาว

“อาหารเจ” เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปน และที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5

ตามความเชื่อทางการแพทย์จีน ของผักเหล่านี้มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ

สำหรับคนที่กินเจอย่างเคร่งครัด นอกจากจะ “ถือศีล-กินเจ” แล้ว ยังต้องเลือกผู้ปรุงอาหารเจที่กินเจด้วย เพื่อให้ “อาหารเจ” นั้นบริสุทธิ์จริงๆ

บางคนจะคัดแยกภาชนะบรรจุหรือปรุงอาหาร จากที่ใช้ใส่อาหารที่มีเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด

และในบางแห่งอาจพบว่ามีการจุดตะเกียงเก้าดวงไว้เป็นเวลา 9 วันตลอดระยะเวลากินเจ เพื่อรำลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ญาติพี่น้อง และเพื่อเป็นพุทธบูชา

การกินเจทำได้ 2 แบบ คือ 
1.กินเป็นกิจวัตร คือ ละเว้นการกินเนื้อสัตว์ทั้ง 3 มื้อทุกวัน
2.กินเฉพาะช่วงกินเจ คือ กินเจช่วงวันขึ้น 1 ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน
ส่วนจะปฏิบัติที่เคร่งครัดกว่า หรือเกินความคิดคำนึงพื้นฐานของคนทั่วไป เช่น ลุยไฟ ใช้เหล็กเสียบแทงตนเอง หรือม้าทรงต่างๆ ในเทศกาลกินเจที่ภูเก็ต หรือตรัง นั่นคือ ความเชื่ออันแรงกล้าทำให้เกิดสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นไปได้เสมอ

รู้ความหมายและจุดประสงค์ของเทศกาลแล้ว ก็มาร่วมกันกินเจ ละเว้นชีวิตสัตว์ต่างๆ  ไม่เบียดเบียนกันตามวิธีชาวพุทธด้วยกันนะคะ 

ข้อมูล : สสส. เมนูอร่อย.com,  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

เจาะเรื่องน่ารู้กับเทศกาล ถือศีล กินเจ