นิสสันนำนวัตกรรม และความตื่นเต้นเร้าใจสู่แคมเปญ ‘Race to Zero’
นิสสันนำนวัตกรรม และความตื่นเต้นเร้าใจสู่แคมเปญ ‘Race to Zero’
- ผู้ผลิตรถยนต์รายแรกจากญี่ปุ่นที่เข้าร่วมแคมเปญโดยองค์การสหประชาชาติ
- นิสสันในฐานะผู้บุกเบิกการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ร่วมลงนามความร่วมมือในปฏิญญา Business Ambition for 1.5°C
- นิสสันเข้าร่วมโครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets)
นิสสันประกาศเข้าร่วมแคมเปญ Race to Zero ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อเร่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ซึ่งนิสสันเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่เข้าร่วมแคมเปญนี้
นอกจากนี้ นิสสันยังได้ลงนามในปฏิญญาความร่วมมือในโครงการ “Business Ambition for 1.5°C” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของนิสสัน ที่จะช่วยควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial levels) นิสสันเข้าร่วมโครงการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์นี้ (Science Based Targets initiative: SBTi) ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดย SBTi ทำการตรวจสอบนิสสันเพื่อรับรองว่าได้ลดการปล่อยคาร์บอนตามหลักภูมิอากาศวิทยา
“เรากำลังสานต่อเจตนารมณ์ของนิสสันผ่านความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ตลอดจนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความตระหนักรู้ถึงสังคมแห่งความยั่งยืน ด้วยการเข้าร่วมกับ SBTi และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดันแคมเปญ” มาโกโตะ อูชิดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนิสสัน (Makoto Uchida, Nissan President and CEO) กล่าว
“เพื่อเร่งให้สังคมโลกเข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ นิสสันดำเนินการทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ เรายังยืนหยัดทำหน้าที่องค์กรที่อยู่เคียงข้างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่เสมอมา”
ในปี 2553 นิสสันได้เปิดตัว นิสสัน ลีฟ (LEAF) รถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเป็นรายแรกของโลก ท่ามกลางกระแสของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก นิสสันสร้างสรรค์นวัตกรรม และความตื่นเต้นเร้าใจให้กับการขับขี่ที่ไร้มลพิษ
ต้นปีที่ผ่านมา นิสสันให้คำมั่นว่าจะบรรลุสู่เป้าหมายลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินงานและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ได้ภายในปี 2593 นิสสันขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Nissan EV36Zero ซึ่งเป็นโครงสร้างการผลิตรูปแบบใหม่ที่รวมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการผลิตพลังงานหมุนเวียน เข้าไว้ด้วยกัน
อัลแบร์โต การ์ริโย ปีเนดา กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง SBTi (Alberto Carrillo Pineda, Managing Director and Co-Founder, SBTi) กล่าวว่า “ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เลวร้ายจากสภาพอากาศที่เสื่อมโทรม พร้อมเปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายแรกจากญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในแคมเปญ Business Ambition for 1.5°C นิสสันและบริษัทกว่า 700 แห่งทั่วโลกร่วมเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยมลพิษที่อิงหลักวิทยาศาสตร์และต้องอาศัยความพยายามอย่างสูงที่สุด
“เพื่อให้สอดคล้องกับหลักภูมิอากาศวิทยา นิสสันประกาศอย่างชัดเจนว่าบริษัทพร้อมและเต็มใจในการมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกก็ต้องดำเนินการทันทีเพื่อมุ่งสู่จุดหมายด้านสภาพอากาศ ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจโลกในการลดการปล่อยมลพิษจำนวนมากและบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จภายในปี 2593”
อล็อก ชาร์มา ประธานชั่วคราวแห่งการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (Alok Sharma, President Designate, 26th UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นนิสสันเข้าร่วมแคมเปญ Race to Zero ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายแรกที่สมัครเข้าร่วม และจากโครงการผลิตแบตเตอรี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ (North East England) ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในสหราชอาณาจักร”
“การเข้าร่วม Race to Zero ทำให้นิสสันเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดขององค์กรเอกชน ภาครัฐ นักลงทุน ภูมิภาค และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และบรรลุการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จอย่างช้าที่สุดภายในปี 2593"
“COP26 เป็นการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เราต้องรักษาเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสโดยต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและก้าวไปข้างหน้าด้วยกลยุทธ์ระยะยาวในการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในกลางศตวรรษนี้”
หัวใจสำคัญของแผนลดคาร์บอนเป็นศูนย์ของนิสสัน ได้แก่ การนำเสนอรถยนต์และเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันที่มีการขยายไปจนถึงเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ เอกสิทธิ์เฉพาะจากนิสสัน และนิสสัน อริยะ รถยนต์ไฟฟ้า 100% ครอสโอเวอร์ ทั้งนี้นิสสันวางแผนให้รถยนต์รุ่นใหม่ ที่จะออกสู่ตลาดสำคัญ อย่าง ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ภายในต้นทศวรรษ 2030 ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ทั้งหมด
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นิสสันได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นระยะยาวที่จะร่วมในการแข่งขัน ABB FIA Formula E World Championship จนถึงสิ้นสุดฤดูกาลที่ 12 ปี 2025-2026 (พ.ศ.2568-2569) ซึ่งจะนำความตื่นเต้นเร้าใจและความสนุกสนานของรถยนต์ไฟฟ้าแบบไร้มลพิษมาสู่ผู้ชมทั่วโลก
เพื่อเป็นการเร่งจุดประกายให้กับการเดินทางครั้งนี้ ล่าสุดนิสสันได้เปิดตัวโครงการ Nissan EV36Zero ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเรือธงแห่งใหม่ มูลค่า 1 พันล้านปอนด์ในสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นถึงแนวทางแบบ 360 องศาสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ของนิสสัน โดยการนำเอารถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และการผลิตแบตเตอรี่มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อเร่งสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์
นอกเหนือไปจากการพัฒนายานยนต์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว นิสสันจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาระบบนิเวศไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมไปถึงการผลิตพลังงานหมุนเวียน การกักเก็บพลังงาน การนำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากลับมาใช้ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และการพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบ '4R' อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย Reuse (การใช้ซ้ำ) Refabricate (การสร้างหรือผลิตจากวัสดุหลายชนิดรวมกันใหม่) Resell (การขายต่อ) Recycle (การแปรรูปแล้วกลับมาใช้ใหม่) เพื่อคุณประโยชน์แก่ชุมชน
เกี่ยวกับโครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์
โครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets: SBTi) เป็นโครงการระดับโลกที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษที่มีต้องอาศัยความพยายามสูงโดยสอดคล้องกับภูมิอากาศวิทยาล่าสุด มุ่งเน้นในการเร่งรัดให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งก่อนปี 2573 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จก่อนปี 2593 โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์กร Carbon Disclosure Project (CDP) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute: WRI) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) และเป็นหนึ่งในคำมั่นขององค์กร We Mean Business Coalition ทั้งนี้ SBTi กำหนดและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ นำเสนอข้อมูลและคำแนะนำเพื่อลดอุปสรรคในการนำไปใช้ และประเมิน ไปจนถึงอนุมัติเป้าหมายของบริษัทต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ www.sciencebasedtargets.org @sciencetargets
เกี่ยวกับ Race to Zero
Race to Zero เป็นแคมเปญระดับโลกที่รวบรวมเชิญชวนผู้นำและการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เมือง ภูมิภาค นักลงทุนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้โลกกลับฟื้นคืนสภาพ มีสภาวะแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลพิษ และยังปกป้องภัยคุกคามในอนาคต สร้างงานที่ดี และปลดล็อคสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม แคมเปญ Race to Zero ผนึกกำลังจากความร่วมมือของโครงการชั้นนำต่าง ๆ ที่รณรงค์ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งมาจาก 733 เมือง 31 ภูมิภาค 3,067 ธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ที่สุด 173 ราย และ 622 สถาบันอุดมศึกษา ผู้มีบทบาททาง 'เศรษฐกิจที่แท้จริง' เหล่านี้เข้าร่วมกับ 120 ประเทศเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มุ่งมั่นเพื่อบรรลุการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 เป็นอย่างช้า ในภาพรวม ผู้มีบทบาทสำคัญเหล่านี้ปัจจุบันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันเกือบร้อยละ 25 ทั่วโลก และมีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูงกว่าร้อยละ 50
เกี่ยวกับ Business Ambition for 1.5°C
แคมเปญเพื่อช่วยผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial levels) ในการเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ หรือ SBT