คุยการเงินกับที ที่ปรึกษาทางการเงิน  สรธร วัฒนามาลาชัย

คุยการเงินกับที ที่ปรึกษาทางการเงิน สรธร วัฒนามาลาชัย

Investment Consultant

เรื่องการเงิน เป็นศาสตร์ที่หลาย ๆ คนในยุคนี้ให้ความสนใจอย่างมาก มีโค้ชทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย มีช่องแนะนำเรื่องการเงินเพิ่มขึ้นหลายช่อง ในวันนี้เราจะพาไปคุยกับตัวจริงเรื่องการเงิน ผู้มากด้วยความรู้และประสบการณ์ “คุณสรธร วัฒนามาลาชัย” ที่ปรึกษาด้านการเงิน นักลงทุน และเจ้าของช่อง คุยการเงินกับที ใน YouTube

หลายคนยกให้เขาเป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์การลงทุนมือฉมัง แต่ตัวคุณทีเองบอกกับเราว่าเขามีอาชีพรับจ้าง เพราะนอกจากลงทุนในหุ้น หรือทำช่อง YouTube ทำเพจ Facebook ซึ่งทำให้คนรู้จักเขามากขึ้น ก็เลยมีงานเป็นวิทยากรเพิ่มขึ้นและก็มีรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ ให้หลาย ๆ มหาวิทยาลัย รับงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทต่าง ๆ รับงานเป็น Influencer บ้าง ทอล์คโชว์บ้าง มีรายได้จากช่องยูทูปมีรายได้จากการขายคอร์สออนไลน์ เพราะเขาคิดเสมอว่าเมื่อมีโอกาสเข้ามาแล้วจะต้องคว้าไว้และทำให้ดีที่สุด

ก่อนลงทุน

“ผมเป็นลูกคนโตมีน้องสาว 1 คนและน้องชาย 1 คนตอนเด็ก ๆ ผมคิดว่าเรามีฐานะครอบครัวปานกลาง อาจจะเป็นเพราะเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนมีแต่รวย ๆ และเราก็ไม่เคยเดือดร้อนเรื่องการเงินเลย แต่พอช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ถึงทำให้รู้ว่าที่บ้านก็มีเงินนะคือเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ที่ฐานะเขาอาจจะต้องดิ้นรนมากกว่าเรา

“ผมจบมัธยมมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญสำโรง แล้วได้ไปต่อที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้ไปต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเดิม พอจบปริญญาโทตอนแรกผมคิดจะไปทำงานที่โรงงานที่จังหวัดระยอง แต่คุณแม่เสนอว่าให้มาทำธุรกิจครอบครัวแทน เพราะเขาไม่อยากให้เราไปอยู่ต่างจังหวัด ก็เลยกลายเป็นว่ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวแทน ทำให้ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานที่อื่นมาก่อนเลย

“กิจการของครอบครัวจะเป็นรับซื้อของเก่า อาทิทองแดงเหล็กกระดาษ ฯลฯ เพราะเรามีโควต้าที่ส่งเข้าโรงงาน แต่ก็เหมือนเด็กจบใหม่ทุกคนล่ะครับ ผมเรียนวิศวกรรมมาแต่ไม่ได้ทำงานเป็นวิศวกรเลย ก็เกิดอาการร้อนวิชา อยากเอาความรู้เอาวิชาที่เราร่ำเรียนมาก่อให้เกิดประโยชน์ พูดง่าย ๆ ว่าอยากรวยเหมือนทั่ว ๆ ไปนั่นแหละครับ ผมจบปริญญาโทตอนอายุ 23 ปี แต่ใช้เวลาอีก 2 ปีในการเรียนรู้การทำงาน ในการหาประสบการณ์จริง คือคุณพ่อออกไปติดต่อกับลูกค้าที่ไหนผมก็ตามไปเป็นผู้ช่วยตลอด เพื่อไปเรียนรู้ โอกาสในการที่จะขยายในทุก ๆ ช่องทาง

“แต่หลังจากที่ได้คุยกับคู่ค้าซึ่งเป็นเพื่อนคุณพ่อหลาย ๆ ท่านเขาก็แนะนำว่าอย่ามาทำเลยเพราะว่าไม่คุ้มการลงทุนหรอก เมื่อได้เข้าไปคลุกคลีเพิ่มขึ้นผมก็ได้รู้ว่ามันไม่คุ้มค่าการลงทุนเหมือนที่เขาเตือนเพราะราคาเครื่องจักรนั้นแพงมาก เครื่องหนึ่งเป็นหลายล้านบาทแล้วเมื่อกว่าจะคืนทุนเราต้องทำงานไปกี่ปี แต่ธุรกิจนี้ก็เป็นธุรกิจที่เลี้ยงครอบครัวของเรามาตลอดทั้งชีวิต มันก็เลยทำให้ผมเริ่มศึกษาเรื่องการลงทุนมากขึ้น ซึ่งก็เลยทำให้รู้ว่าการรับซื้อของเก่านั้นเราไม่ใช่ผู้กำหนดราคาเอง แต่เป็นกลไกของตลาดโลกเป็นคนกำหนดให้ ทำให้เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ผมได้เข้ามาคลุกคลีวงการนี้ก็ทำให้รู้ว่าต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้นตลอดทั้งเรื่องแรงงานทั้งเรื่องราคาซื้อ

“ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ดูจากภายนอกแล้ว เปิดร้านรับซื้อของเก่าน่าจะรวยนะเพราะมีหลาย ๆ ท่านที่เขียนหนังสือเรื่องพวกนี้แต่ในอีกมุมนึงคือ คู่แข่งก็เยอะมากขึ้น เรื่องของการตัดราคาก็มีมากขึ้นเช่นกัน จนเวลาผ่านไป 3 ปีหลังจากที่ผมได้เข้ามาทำงานกับที่บ้าน ผมก็เข้าไปคุยกับคุณพ่อว่าผมจะไม่สืบทอดกิจการนี้แล้ว และผมจะปิดกิจการ

“ผมจำได้แม่นเลยครับวันนั้นเป็นช่วงกำลังรับประทานอาหารร่วมกัน คุณพ่อของผมท่านได้ยินอย่างนั้นก็ลุกขึ้นจากโต๊ะอาหารออกไปเลย เพราะธุรกิจนี้เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย สิ่งที่ควบคุมได้ก็คือการลดต้นทุนอย่างเดียว และก็เป็นการเก็งกำไรรอเวลารอจังหวะ รอว่าทองแดงหรือเหล็กราคาจะขึ้นเราก็นำมาเก็งกำไรต่อ หลังจากที่ผมเรียนรู้เรื่องการลงทุนผมก็รู้สึกได้ว่า ทำไมเราจะต้องมาแบกค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานทำไมถึงจะต้องเสียภาษีในการทำธุรกิจนี้ ทำไมต้องมีโกดังไว้เก็บของ

“เมื่อได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนก็ทำให้ผมรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องสต๊อกสิ่งของเหล่านั้นเลยถ้าเราอยากลงทุนเราก็ไปซื้อในตลาดโลกได้เลย เช่นอยากได้เหล็กเราก็ไปซื้อราคาเหล็กฟิวเจอร์ในตลาดโลกเลยก็ได้ หรือทองแดงเราก็ซื้อฟิวเจอร์ในตลาดโลกได้เหมือนเป็นการซื้อหุ้นต่าง ๆ นั่นแหละครับ เหมือนทองฟิวเจอร์ที่คนนิยมกันอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน ต้นทุนประหยัดไปได้เยอะ

“ซึ่งหลังจากที่ผมขึ้นมาบริหารงานผมก็ต้องคิดแล้วว่าในเวลาอีกประมาณ 5 ปีผมจะไม่มีรายได้เข้ามาแล้วฉะนั้นจะต้องทำยังไงที่เราจะหาเงินให้ได้ทางอื่น ผมก็ลองไปศึกษาและไปหาดูธุรกิจเล็ก ๆ แบบอื่น ๆ ก็ทำให้รู้ว่าผมไม่ชอบ แต่ผมรู้สึกว่าผมกลับมีความสุขในเรื่องของการลงทุน รู้สึกอยากทำอาชีพนักลงทุน”

เริ่มลงทุน

“ผมได้หลักและวิธีคิดในเรื่องการบริหารการเงินมาจากทางบ้าน เพราะคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังมาให้เราเห็นตั้งแต่เด็ก ในเรื่องการบริหารการเงินบ้านผมจะมีหนี้แค่ผ่อนบ้านผ่อนรถ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะรีบปิดหนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งรุ่นคุณพ่อคุณแม่ท่านลำบากมาก ท่านเล่าให้ฟังว่าทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ จนค่อย ๆ มีลู่ทางทำมาหากินอย่างอื่นเพิ่มขึ้น คือเราเป็นครอบครัวคนจีน อากงอาม่าไม่มีทุนทรัพย์อะไรเลยคือมาตั้งรกรากกัน ป๊าและม๊าผมก็เลยต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง ท่านมักสอนเสมอว่าความจนมันน่ากลัว

“พูดง่าย ๆ ว่าพวกท่านเป็นคนบุกเบิกสร้างฐานะครอบครัวให้เรามีกินขึ้นมา ตัวผมเองก็จะต้องสานต่อและรับช่วงดูแลให้ได้ ครอบครัวผมค่อนข้างหัวโบราณคือจะไม่กู้ถ้าไม่จำเป็นเรียกได้ว่าธุรกิจรับซื้อของเก่า เราทำมาเป็นเวลา 40 กว่าปี ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จนผมเพิ่งปิดกิจการไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยปัจจัยหลายอย่าง 1 ก็คือราคาแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น 2 ราคาหลายอย่างในตลาดโลกมันดิ่งลง ซึ่งดูแล้วจะมีแนวโน้มวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในอนาคตแน่ ๆ

“ผมเรียนรู้เรื่องการลงทุนตอนอายุ 26 ปัจจุบันผมอายุ 37 ปี หลังจากที่ตั้งใจว่าจะปิดกิจการผมก็เลยลอง ศึกษาหาความรู้ทุกช่องทางที่จะสามารถทำเงินได้ เมื่อมาเจอการลงทุนแล้วเราชอบ ผมจบวิศวะทำให้ไม่รู้เรื่องการลงทุน ไม่รู้เรื่องหุ้นเลย แต่ผมเริ่มจากซื้อหนังสือ Pocket Book เรื่องการลงทุนมาอ่าน ผมซื้อหนังสือเยอะมากอ่านหนังสือเยอะมากในช่วงนั้นจนถึงปัจจุบัน เก็บสะสมวิชาความรู้อีก 3-4 ปี แต่ก็รู้สึกว่าตัน คิดว่าทำไมอ่านแล้วเราถึงยังไม่เก่งขึ้น แล้วผมก็ยังไม่เคยลงเรียนคอร์สที่ไหนเลยนะ ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เรารู้มานั้นรู้จริงหรือเปล่า

“แม้จะเล่นหุ้นได้กำไรมาก็จริง แต่ก็คิดว่ามันฟลุ๊คหรือเปล่า ช่วงนั้นปี 2008 ครับ คือซื้อตัวไหนก็ได้กำไร ยิ่งทำให้มั่นใจว่าเราหาเงินได้เป็นหลักล้านนะ แม้จะเล่นหุ้นได้เงินแต่เราก็ยังไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราศึกษามานั้นใช้ได้จริงหรือเปล่า ก็เลยทำให้ผมเลือกที่จะไปสอบเป็นนักวิเคราะห์มืออาชีพด้านการเงิน ซึ่งก่อนหน้านั้นผมก็คิดว่าจะไปลงเรียนนะ แต่ถ้าสอบได้ก็คือเป็นนักวิเคราะห์ได้เช่นกัน คือจะได้วิชาชีพเลย ผมก็เลยลองซื้อหนังสืออ่านเอง ผมสอบได้เลเวล 2 แต่กว่าจะได้เลเวล 2 ก็อายุ 30 นะครับ เลเวลแรกน่าจะได้ตอนอายุ 28 ช่วงที่ผมแต่งงาน ช่วงนั้นกลางวันทำงานกลางคืนอ่านหนังสือ แต่พ่อแต่งงานใหม่ ๆ เราก็ต้องปันเวลามาให้ภรรยาก็เลยทำให้ผมหยุดชะงักไป 2 ปีถึงกลับมาสอบเลเวลที่ 2”

 

การลงทุนมีความเสี่ยง

“ย้อนกลับไปก่อนปี 2008 การเล่นหุ้นคืออะไรผมเองยังไม่รู้จักเลย แต่ผมก็เริ่มศึกษา แล้วอาชีพของเราคือการรับซื้อของเก่า ผมก็จะรู้ราคาเหล็กราคาทองแดงรู้สิ่งที่เรามีประสบการณ์ หุ้นตัวแรกที่ผมซื้อเลยก็คือหุ้นของเหล็กทาทาสตีลครับ ราคาซื้อคือ 2 บาท ผ่านมา 2 เดือน หุ้นราคา 2 บาทลดลงเหลือ 1 บาท Marketing โทรถามผมว่าจะซื้อเพิ่มไหม ซึ่งตัวผมเองรู้ว่าราคาเหล็กกำลังขึ้น ยังไงซะหุ้นเหล็กก็ต้องขึ้นแน่นอน ผมก็เลยซื้อเพิ่ม ผ่านไปอีก 4-5 เดือน Marketing ก็โทรกลับมาใหม่ ราคาหุ้นตกลงจาก 1 บาท เหลือ 30 สตางค์ต่อหุ้น แต่ผมก็ยังไม่ขายครับเพราะว่าราคาในตลาด เราเห็นอยู่ว่าเหล็กมันขึ้นราคาอยู่ทุกวัน ฉะนั้นผมก็เลยถือว่าไว้เฉย ๆ จนหุ้นขึ้นมาอยู่ที่ 1 บาท 20 สตางค์ ผมก็เลยขาย ซึ่งทุนผมอยู่ที่ 1 บาทต่อนะครับ ซึ่งตอนนั้นผมลงทุนไป 5-6 หมื่นบาทเท่านั้นเองเพราะว่ายังเป็นมือใหม่

“ก่อนจะเล่นหุ้นผมซื้อทองก่อนเป็น Gold Future แล้วเราก็รู้สึกว่าได้เงินง่ายเราไม่ต้องเดินทางไปเยาวราชด้วยซ้ำ ก็กดซื้อทองจากในโทรศัพท์ได้เลยก็เป็น Gold Future ที่นี้ผมก็เห็นว่าเงินมันได้มาง่าย ๆ ก็เลยอยากจะลองเปลี่ยนเป็นหุ้นดู ซึ่งช่วงแรกเนี่ยผมได้เงินเดือนอยู่เดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งผมก็ไม่ได้ใช้อะไรอยู่แล้ว ก็เลยเอาเงินตรงนั้นมาลงทุน ผมเคยขอคุณพ่อลงทุน ท่านก็บอกว่าเล่นหุ้นน่ะรู้จัก แต่คนได้เงินจากหุ้นน่ะไม่รู้จัก ก็เลยไม่ให้ ผมก็เลยไปขอคุณแม่แทน ซึ่งท่านพูดกับคุณพ่อว่าถ้าเราไม่สนับสนุนลูกและใครจะสนับสนุน

“ก็เลยได้เงินก้อนแรกมาเป็นจำนวน 380,000 บาท ก็เอาไปลงทุนกับหุ้นตัวที่ 2 ผมก็ไปเล่น CPF ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจมากว่า Tata Steel ในรอบแรก ตอนนั้นราคาหุ้นของ CPF เนี่ยอยู่ที่บาทกว่า ๆ แล้วผมไปอ่านเจอข้อมูลว่า CPF กำลังจะโตนะ เพราะเขาเก็งกำไรข้าวโพดซึ่งตอนนั้นข้าวโพดราคาตกต่ำมาก ทาง CPF ลงทุนซื้อข้าวโพดเยอะมาก เมื่อมีเงินผมก็เอาไปซื้อเพิ่มจน Marketing แซวว่าทำไมซื้อหุ้นแค่ CPF ตัวเดียวไม่ซื้อตัวอื่นบ้าง แล้วก็เป็นตามที่คาดครับ CPF ขึ้นจากบาทกว่า ๆ เป็น 5 บาท ทำให้ผมได้กำไรค่อนข้างเยอะในรอบแรก Port ก็เริ่มโตขึ้น แต่เราก็ยังรู้สึกว่าหุ้นมันขึ้น ๆ ลง ๆ นะ พอช่วงได้ 5 บาท 50 สตางค์ ผมก็เลยเทขายก่อนเพราะนักวิเคราะห์เกร็งกันแล้วว่าหุ้นจะตก ก็ตกจริง ๆ ครับแต่ตกแป๊บเดียว แล้วก็จะขึ้นพุ่งไปถึง 10 กว่าบาท เราก็คิดว่าพลาดแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น ผมก็ไม่กล้าที่จะซื้อแล้วเพราะว่าขึ้นไป 10 กว่าบาทแต่ปัจจุบันหุ้นขึ้นไปถึง 30 กว่าบาทแล้ว

“อีกตัวที่ผมได้เงินเยอะก็คือ IRP ซึ่งเปลี่ยน เป็น IPL เป็นหุ้นวัฏจักร ผมได้ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรกก็ตอนเขาแปลงจาก IRP เป็น IPL ซึ่งทำให้เราได้ผลตอบแทนเยอะเหมือนกัน ซึ่งหุ้นราคาต่ำมาก ๆ แต่เหมือนเดิมเลย คือพอได้กำไรเยอะแล้วเราก็ขาย แต่กลับกลายเป็นว่า IPL จากหุ้นละไม่กี่บาทขึ้นไปถึง 70 บาท ซึ่งผมเองก็ได้กำไรเยอะนะแต่ก็ไม่ได้มากเท่าที่ควรก็เลยมาคิดว่าเป็นเพราะอะไร ตามหลักการที่ผมอ่านในหนังสือ ผมก็ว่าผมวิเคราะห์หุ้นถูก วิเคราะห์หุ้นเป็น คือพยายามจะถือในระยะยาว ผมเลยสรุปได้ว่าผมเหมาะกับหุ้นแนว vi แต่ต้องบอกก่อนว่าผมเคยหลงไปเล่นหุ้นแนวกราฟเหมือนที่คนอื่นเขาเล่นกัน ซึ่งมันเครียด ผมว่าผมไม่เหมาะกับแนวนี้ เล่นประมาณ 3-4 เดือน ทำให้สูญเงินไปถึง 8 แสนกว่าบาท ก็เลยกลับมาเล่นหุ้นแบบ vi สบาย ๆ ดีกว่า นี่ก็คือประสบการณ์เล่นหุ้นในระยะแรกของผม”

แนะนำมือใหม่หัดเทรด

“ผมขอแนะนำคนที่อยากจะเล่นหุ้นว่า การเล่นหุ้นเนี่ยเป็นความรู้เฉพาะทางเป็นอีกหนึ่งอาชีพ ผมอยากแนะนำว่าถ้าคุณชอบธุรกิจแนวไหนให้คุณศึกษาธุรกิจนั้น ผมตกผลึกแล้วว่าการวิเคราะห์หุ้นคือการวิเคราะห์ธุรกิจนั้น แต่ละคนจะมีความรู้เฉพาะทางในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอยู่แล้วที่เราทำงานอยู่หรือเราสนใจ คนที่เริ่มจะเล่นหุ้นต้องศึกษาในข้อมูลธุรกิจไม่ใช่ศึกษาหุ้นนะครับ

“อย่างเช่นถ้าอยากจะซื้อหุ้นของเซเว่นอีเลฟเว่น ก็ต้องไปศึกษาก่อนว่าเซเว่นอีเลฟเว่นมีระบบกลไกการทำงานอย่างไรเป็นธุรกิจแบบไหนมีกี่สาขา หุ้นเนี่ยเขาดูความเสี่ยงธุรกิจอย่างไรกันบ้างเขาดูอะไรเป็นปัจจัยบ้าง ถ้าอยากศึกษาเรื่องพรุ่งนี้เพิ่มเติมต้องไปศึกษาที่ไหนผมแนะนำที่ set.or.th ไปที่รายงานประจำปีของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี

“ผมเชื่อว่าถ้าเราอ่านและศึกษาข้อมูลเยอะ ๆ เราจะเห็นว่าธุรกิจเขาดำเนินมาแบบนี้เนอะ รู้ถึงปัจจัยด้านความเสี่ยง คู่แข่ง คู่ค้า มองการเติบโตทุกอย่างเลย ฉะนั้นอยากให้เริ่มต้นศึกษาธุรกิจที่ตัวเองสนใจก่อน แล้วค่อย ๆ เก็บสะสมประสบการณ์ไปครับ”

 

หนทางสู่ Influencer

“ผมเริ่มทำช่อง YouTube ตอนอายุ 34 เพราะเป็นเพื่อนกับ Kim Property Live มาก่อน ซึ่งเรารู้จักกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งเรารู้จักกันในคอร์สสัมมนาต่าง ๆ เรียนด้วยกันมาหลายครั้งรู้จักกันมา 3-4 ปี ซึ่งเราจะเจอกันอาทิตย์ละครั้ง มีอยู่วันหนึ่งผมก็ไปนั่งจ้องหน้าเขา แล้วก็คิดว่าทำไมเรารู้สึกคุ้นหน้ากับเขาขนาดนี้ อ๋อเพิ่งดูรายการเขาเมื่อเช้าเองนี่ ก็เลยถามว่าคุณคือคิม Property Live เหรอ เขาก็ตอบว่าใช่ เขาก็เลยชวนผมมาทำรายการ YouTube กับเขาด้วยอธิบายว่ามันจะได้เงินอย่างนู้นอย่างนี้ ซึ่งตอนนั้นเขาเริ่มดังแล้วรายได้เดือนนึงก็หลายหมื่นแล้ว ผมก็ปฏิเสธไปว่าผมไม่ค่อยมีเวลา ซึ่งตอนนั้นผมยังเปิดร้านอยู่ด้วย

“ต่อมาเมื่อเขารู้ว่าผมปิดร้านแล้ว เขาก็ถามว่าตอนนี้ทำอะไร ผมก็บอกว่าเป็นนักลงทุนซื้อหุ้นแล้วก็อยู่บ้านเฉย ๆ เขาก็เลยโน้มน้าวผมว่าพี่มาทำ YouTube เถอะเพราะมีหลายคนที่ไม่รู้เรื่องการเงินแล้วพวกเขาลำบากนะก็อยากจะให้เราช่วยมาอธิบายช่วยมาสอน เขาก็อธิบายว่าถ้ามีน้องคนนึงอยู่ต่างจังหวัดไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้น ปรึกษาที่บ้านก็ไม่ได้เขาจะถามใคร ผมก็เลยคิดถึงผมในอดีตขึ้นมา แล้วผมก็เห็นว่ามีความรู้เรื่องการเงินหลาย ๆ อย่างที่มีคนสอนกันผิด ๆ อยู่เยอะแยะเลยซึ่งในความเป็นจริงมันใช้งานจริงไม่ได้

“เขาตื้อผมอยู่ 3-4 รอบ ซึ่งเขาเลยมาขอสัมภาษณ์ผม เรื่องวิกฤตการเงิน ที่นี้พอดีว่าคลิปนั้นคนฟังเยอะมากยอดคนดูถึง 60,000 คน เขาก็เลยตื้อผมให้มาทำ YouTube กับเขา เขาก็โน้มน้าวว่าความรู้ของผมน่าจะมีประโยชน์กับคนไทยอีกเยอะ ผมก็เลยเริ่มทำช่อง YouTube และก็มุ่งเน้นไปที่เรื่องแก้ไขความรู้ที่เชื่อกันแบบผิด ๆ ซึ่งมันมีข้อมูลเยอะแยะเลยนะครับทั้งในพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งที่มีคนมาสอน ซึ่ง แม้แต่การสอนของ ตลาดหลักทรัพย์เองก็ตามซึ่งมันไม่ได้ผิดในแง่ของทฤษฎีในแง่วิชาการ แต่มันไม่สามารถนำมาใช้จริง ๆ ได้

“ยกตัวอย่างเช่น หลาย ๆ คนบอกว่าตราสารหนี้มีความอัตราเสี่ยงต่ำ ตลาดหลักทรัพย์ก็บอกว่าตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำ คำว่าความเสี่ยงต่ำในด้านการเงินหมายถึงเสียงต่ำจากราคาผันผวนนะ ซึ่งตราสารหนี้ ผันผวนน้อยกว่าหุ้น หลาย ๆ คนก็เลยคิดว่าเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น การออกตราสารหนี้ก็คือการขอกู้นั่นแหละครับ ซึ่งถ้าบริษัทที่ออกตราสารหนี้ล้ม เมื่อลูกหนี้ล้ม เงินของเราที่ลงทุนก็สูญเหมือนกัน

“กลายเป็นว่าถ้าในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ถ้าผมลงทุนในหุ้นแล้วบริษัทนั้นเติบโต ผมก็มีรายได้มากขึ้นไม่จำกัดเหมือนกัน แต่ข้อเสียคือถ้าบริษัทไม่กู้เพิ่ม ผมก็ไม่ได้เหมือนกัน มองกลับกัน ตราสารหนี้จะมีดอกเบี้ยตายตัว แต่ถ้าบริษัทเจ๊งผมก็ไม่ได้เงินเหมือนกัน ผมก็เลยอยากจะบอกว่า มันมีมุมแบบนี้ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องการเงินจะงง ซึ่งดัชนีชี้วัดหรือประสิทธิภาพในด้านการเงินของคนไทยนั้นแย่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ก็เลยกลายมาเป็นเพนพ้อยที่ว่าเราน่าจะมีโอกาสช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้ แล้วทำให้ผมได้มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนด้วยก็เลยมาทำ YouTube กับเพื่อน

“ซึ่งสิ่งที่ผมพูดหรือสิ่งที่ผมพยายามวิเคราะห์ ผมพยายามที่จะไม่พูดซ้ำกับคนอื่น ผมพยายามฉีกมุมให้คนได้เห็นในมุมที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นมีคนบอกว่าช่วงนี้เงินกำลังเสื่อมค่านะ ไม่ควรถือเงินสดเอาไว้มาก ๆ เงินด้อยค่าขึ้นทุกปี แต่ในความจริงแล้วมีใครไม่ถือเงินสดบ้าง ผมถามหน่อยครับ แม้แต่คนพูดเอง เขาก็ถือเงินสด แต่ทำไมเขาถึงพูดอย่างนั้น ก็เพราะเขาอยากจะกระตุ้นให้คนอื่นลงทุนนั่นเอง ผมก็เลยทำ Content ที่ฉีกออกไปบ้างเช่น ทองคำกำลังเสื่อมค่า คนก็แย้งกันใหญ่ว่าทองคำบาทละเกือบ 30,000 บาท เสื่อมค่าได้ยังไง ผมก็ยกตัวอย่างหุ้น Amazon เมื่อก่อนผมใช้ทองนิดเดียวผมซื้อหุ้นได้เยอะแยะแต่ตอนนี้หุ้นมันขึ้นเยอะผมก็เลยไม่สามารถใช้ทองเท่านั้นซื้อหุ้นได้หุ้น Amazon จาก 10 เหรียญดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาเป็น 3,000 เหรียญ ขึ้นเยอะกว่าทองคำไม่รู้กี่ร้อยเท่า อย่างนี้เรียกทองคำเสื่อมค่าได้ไหม เท่านั้นล่ะครับทัวร์ลงเต็มเลยเรียกว่าให้มุมมองที่แตกต่างดีกว่าครับ”

 

ช่องทางการลงทุนใหม่

“หลาย ๆ คนมักจะบอกว่าการทำ Youtuber มันคือ Passive Income ผมบอกได้เลยว่าไม่จริงครับ เพราะ Youtuber ส่วนใหญ่ต้องทำงานหนัก เพราะว่ามันต้องถ่ายทำ คนเราจะไม่ค่อยชอบดูคลิปซ้ำย้อนหลังเก่า ๆ หรอกนอกจากเด็ก ๆ ที่จะชอบดูคลิปเดิมซ้ำ ๆ ฉะนั้นการทำ YouTube มันคือ Active Income เรียกได้ว่าไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นการทำงาน การจะทำคลิป 1 คลิปผมต้องค้นคว้าหนักมากซึ่งบางทีมันก็ทำให้ลงได้ไม่ต่อเนื่อง เมื่อก่อนที่คนตามผมมีเยอะเพราะว่าผมพูดเรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจมหภาค ตัวผมเองรู้สึกว่าผมพูดเรื่องพวกนี้จนอิ่มตัวแล้วผมก็เลยเปลี่ยนประเด็น

“การที่บอกคนอื่นว่าเศรษฐกิจจะแย่นะ มันไม่ได้มีประโยชน์เวลานี้อีกแล้ว ผมเลยเปลี่ยนมาพูดเรื่องหุ้นเทคโนโลยี ในอนาคตมีตัวไหนน่าสนใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเราเปลี่ยนประเด็นของช่อง คนดูก็จะน้อยลง เพราะคนที่สนใจเรื่องธุรกิจเขาอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องหุ้นเทคโนโลยีก็ได้ แต่ผมเชื่อจริง ๆ ว่าเราจะรอด เพราะว่าอาชีพใหม่ ๆ แนวการลงทุนต่อจากนี้ต้องปล่อยในเรื่องเทคโนโลยี การอ่านพวกเซมิคอนดักเตอร์ ค่อนข้างจะยากมันต้องศึกษาเยอะ ทำให้ผมทำคลิปได้ไม่เยอะเท่าเดิม ต้องบอกตรง ๆ ว่ามันใช้พลังเยอะกว่าเดิมมาก

“ทำไมคนถึงสนใจ Cryptocurrency กันทั่วบ้านทั่วเมือง Currency คือสกุลเงิน ซึ่งต้องอธิบายเฉพาะครับว่า คริปโตคือ ธุรกิจที่มีระบบบล็อกเชนอยู่ข้างหลัง เมื่อนำคำสองคำมารวมกันก็คือ สกุลเงินที่มีระบบบล็อกเชนอยู่ข้างหลัง โดยที่จะเรียกหน่วยของเงินว่าเป็น Coin

“ในมุมมองของผมนะครับ อะไรก็ตามที่ ผู้คนให้ความสนใจ ให้ความสนใจเยอะ อย่าง Bitcoin จากเมื่อก่อน 3-4 พันเหรียญขึ้นมาถึงหมื่นเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คนก็จะคิดว่ามันมีโอกาสรวยได้ง่าย ๆ ซึ่งคนที่มองจากข้างนอกกับคนที่อยู่ในวงการนั้นจริง ๆ ประสบการณ์ไม่เท่ากัน

“เปรียบง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่นคุณหมอ เวลาเราไปหาหมอหมอตรวจแป๊บเดียวเองก็รู้แล้วว่าเราเป็นอะไร คือเขามีประสบการณ์เยอะ การที่วินิจฉัยโรคได้เร็วคือประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมาหลายปี ซึ่งมองในมุมเดียวกันได้เลยอย่างเรื่องหุ้น คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าแค่โทรมาซื้อหุ้นก็ลงทุนได้เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วการลงทุน ต้องศึกษาองค์ความรู้ต้องสะสม คนที่ไม่เข้าใจในเลเยอร์ก็จะไม่เข้าใจจริง ๆ ซึ่งเขาจะดูแค่ตัวเงินที่กำลังขึ้น เช่นกันอะไรที่ราคาตกลงคนจะไม่สนใจ ซึ่งตอนนี้เองคนก็เริ่มสนใจคริปโตน้อยลงละเพราะราคา Bitcoin ตกลงมาก

“และในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มีโรค Covid 19 ระบาด ธุรกิจหลาย ๆ คน ได้รับผลกระทบ รายได้หดหาย ก็เลยอยากจะเอาเงินเก็บมาลงทุน เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป หรือบางคนที่ตกงานก็เอาเงินก้อนนั้นมาลงทุนเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งผมขอเตือนเลยครับผมยังไม่เคยเห็น คนที่เข้ามาลงทุนแล้วจบสวยเลย ต้องใช้คำนี้ครับ เพราะแม้แต่ตัวผมเองในช่วงแรก ก็มีจังหวะที่ลงทุนพลาดเสียเงินไปหลายแสนบาทเช่นกัน”

การออมหรือการลงทุนอันไหนสำคัญกว่ากัน

“สำหรับผมสำคัญทั้งคู่ครับ ในช่วงแรกของเราตอนเป็นเด็กหรือช่วงทำงานใหม่ ๆ การจะมีเงินขึ้นมาได้ก็คือการออม เมื่อเราออมความมั่งคั่งของเราก็จะเพิ่มขึ้น มองกลับกัน เมื่อคุณออมจนมีเงินเยอะในระดับหนึ่ง สมมุติว่ามีเงิน 1 ล้านบาท ยิ่งโตภาระค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งมากขึ้น ฉะนั้นการเก็บออมก็ไม่สามารถทำให้คุณรวยขึ้น เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่ง การออมจะไม่ตอบโจทย์ เพราะกว่าเราจะได้เงินครบตามที่เราคิดไว้ต้องใช้เวลานาน อย่างเรามี 1 ล้านบาทเราควรนำมาลงทุน 10% นั่นก็คือ 1 แสนบาท เราเลยจำเป็นต้องหาเงินด้วยการลงทุนแล้วนำเงินที่ได้จากการลงทุนมาออมเพิ่มขึ้น ฉะนั้นทั้งการออมและการลงทุนเป็นอะไรที่สำคัญทั้งคู่ครับ

“คนในสมัยก่อนเช่นรุ่นคุณพ่อคุณแม่ การสร้างธุรกิจแล้วออมเงินก็สามารถสร้างฐานะขึ้นได้แต่มันช้า คนสมัยก่อนการลงทุนคืออะไรอันดับแรกเลยคือซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นการลงทุนที่เขาเห็นว่าจับต้องได้ แต่เมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้นจนคนชั้นกลางไม่สามารถที่จะซื้อได้ ทำให้ปัจจุบันการลงทุนที่ดินไม่ใช่การลงทุนที่ดีอีกต่อไป เพราะมันซื้อไม่ไหวด้วยราคาที่มากขึ้น คนก็เลยเบนไปการลงทุนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ต่าง ๆ หลาย ๆประเทศก็เริ่มตระหนักแล้วว่า เขาเริ่มเลี้ยงดูประชาชนไม่ไหวเพราะประชาชนสูงวัยมีจำนวนมากขึ้นก็เลยสนับสนุน ให้ประชาชนลงทุนมากขึ้น แต่การจะบรรจุเรื่องการเงินในหลักสูตรการเรียนการสอนก็อย่างที่รู้กันว่าเป็นอะไรที่ยาก มีหลายคนยังแซวเลยครับว่า หลักสูตรการเรียนการสอนในสมัยนี้ก็ยังเหมือนกับที่ผมเคยเรียนตอนเด็ก ๆ อยู่ มันมีปัญหาเรื่องเชิงโครงสร้างในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรด้วย”

 

 พันธบัตรรัฐบาลที่ออกจำหน่ายแล้วหมดไว สะท้อนถึงอะไร

“รัฐบาลก็เปรียบเสมือนหน่วยธุรกิจใหญ่อย่างหนึ่ง  ซึ่งเขามีรายรับจากภาษีของเราเป็นหลัก และก็มีรายจ่ายประจำก็คือจ่ายให้ข้าราชการหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งก็มีทั้งรายรับรายจ่าย แต่มีบางช่วงที่จะต้องลงทุนสร้างถนน หรือในบางปีเก็บภาษีได้น้อยเพราะเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลเองก็จำเป็นต้องขอกู้เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ อย่างการสร้างถนน รัฐบาลจะต้องเป็นคนจ่ายต้องเป็นคนลงทุนทำให้ เพราะโครงการแบบนี้ล่ะครับทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องขอกู้ แล้วเมื่อรัฐบาลขอกู้เขาจะใช้คำว่าพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นคนก็จะคิดว่าในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้ เราไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลดีกว่าที่จะไปซื้อหุ้นกู้หรือว่าตราสารหนี้ต่าง ๆ เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลสบายใจมากกว่า

“อย่างที่รู้กันครับว่าพันธบัตรรัฐบาลเป็นอะไรที่ลงทุนง่ายความเสี่ยงต่ำ แต่ในความเป็นจริง การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้ ถ้าเกิดคุณถือครบตามสัญญาอันนั้นน่ะเขาการันตีว่าได้เงินตามที่เขาแจ้งตามสัญญา แต่อย่าลืมนะครับว่าในโลกของการเงินอะไรก็ตามที่ความเสี่ยงต่ำนั้น ค่าตอบแทนก็อาจจะต่ำตามไปด้วย เพราะรัฐบาลเองก็อยากจะได้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ เหมือนเวลาเราไปกู้ธนาคารแล้วก็อยากจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นกัน เพราะฉะนั้นเขาพยายามจะต้องกดดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุดครับ แต่อย่าลืมว่าตัวรัฐบาลเองก็ไม่สามารถที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยได้ เพราะรัฐบาลของประเทศไทยก็จะต้องแข่งกับประเทศอื่น ๆ

“ซึ่งนักลงทุนในระดับโลกเขาจะมองทุกประเทศ เช่น บางคนอาจจะลงทุนพันธบัตรของอเมริกาเพราะว่าประเทศเขาใหญ่กว่า แต่ในความเป็นจริงถ้าเขาอยากลงทุนในประเทศที่เล็กกว่าอย่างประเทศไทยก็จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเพื่อจะเป็นตัวกระตุ้นให้เขามาลงทุน ทุกประเทศก็จะมีเรตติ้งของแต่ละประเทศอย่างของประเทศไทยเราเองก็คือ Super B+ เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเองก็ไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามอำเภอใจได้

“ฉะนั้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาของพันธบัตรรัฐบาลจะถูกลง แปลว่าในสภาวะปกติที่ราคาดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงนะครับ ผลตอบแทนก็จะเป็นตามที่สัญญาไว้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ถ้าเปลี่ยนเป็นบวกก็คือเราจะได้กำไร แต่ก็อาจจะติดลบได้ด้วย เมื่อดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้ราคาของพันธบัตรรัฐบาลสามารถติดลบได้ ก็คืออาจจะขาดทุนได้ แต่ก็แก้ได้โดยการเราจะต้องถือให้ครบกำหนดตามอายุ ตามจำนวนที่ระบุไว้ ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงเช่นพันธบัตรของประเทศอเมริกา ตั้งแต่ปี 2008 เนี่ย อัตราดอกเบี้ยโลกลดลงมาตลอด ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปี แต่ถ้ารัฐบาลประเทศนั้นอ่อนแอ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อ่อนแอลง

“ยกตัวอย่างเช่นประเทศอิตาลี กรีซ อาร์เจนตินา หรือตุรกี จะมีคำหนึ่งที่เขาเรียกว่า แอร์คัต คือการตัดหนี้ เช่นรัฐบาลกู้ 100 บาท แต่เขาบอกว่าตอนนี้ไม่มีเงิน ขอจ่าย 50 บาทละกัน ถ้าไม่เอาก็ไม่ต้องเอาคือจะไม่ได้เลย มันก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้นตัวพันธบัตรรัฐบาลเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

“ส่วนคำว่าหุ้นกู้ ก็คือการที่บริษัทนั้น ๆ ขอกู้นั่นเอง พันธบัตรของรัฐบาลนั้นจะแข่งกับรัฐบาลในประเทศอื่น ๆ ส่วนหุ้นกู้ มีหลายบริษัทที่แข่งกันนั้นเอง ซึ่งเสถียรภาพก็จะลดหลั่นไปตามแต่ละบริษัท พูดง่าย ๆว่าเสี่ยงกว่า จะมีทั้งบริษัทที่ดีมากเป็นแบบเกรด AAA เลยกับบริษัทที่ใกล้จะเจ๊งเลยต้องขอกู้ ซึ่งวงจรของบริษัทนั้นสั้นกว่าประเทศมาก

“การที่พันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยออกมาแล้ว ขายหมดเร็วมากสะท้อนถึงความต้องการของผู้คนอาจแปลได้ว่าสภาพคล่องลดลง ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะครับ ภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี คนที่มีเงินก็จะยิ่งอยากซื้อพันธบัตรรัฐบาล การที่พันธบัตรรัฐบาลหมดเร็วมากบอกได้ 2 แบบครับคือ 1 สภาพคล่องลดลง และสภาพเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีในระยะเวลานั้นด้วย

“ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังดีกว่าครับ มีช่วงที่ประเทศอิตาลี สภาพคล่องและเศรษฐกิจแย่มากจวนเจียนประเทศจะล่มสลาย เขาก็ออกพันธบัตรรัฐบาลขึ้นมาเพื่อขอกู้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แต่รัฐบาลอิตาลีเองนั่นแหละที่มาซื้อ แล้วดอกเบี้ยก็ต่ำมาก ๆ ไม่ถึง 1 บาท ต่ำกว่า 1% ของหนี้ ซึ่งการเล่นแบบนี้มันไม่แฟร์ ซึ่งผมบอกได้เลยครับว่าอันนี้คือฟองสบู่อีกรูปนึงที่ชัดเจน

หรือผมกล้าพูดเลยว่าพันธบัตรรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศกลายเป็นฟองสบู่แล้ว ต่อให้เป็นประเทศที่เข้มแข็งก็เถอะครับ มีใครขอกู้แล้วให้หักเงินต้นได้ด้วยไหมครับ เช่น ผมให้คุณกู้ร้อยนึงนะแต่ผมจะขอคืนจากคุณแค่ 90 บาท มันไม่มีหรอกครับ แต่ ณ ปัจจุบันนี้มีบางประเทศที่ทำอย่างนั้นคนที่ซื้อพันธบัตรก็หวังว่าเขาจะได้กำไร เพราะคนจะมาซื้อธนบัตรต่อจากเขาในราคาที่มากขึ้น คำว่าฟองสบู่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์แต่มันขึ้นอยู่กับราคาและมูลค่าของสินทรัพย์มากกว่า

“อ้อ! สลากออมสินที่ช่วงนี้ขายดี ก็เพราะว่าเป็นเหมือนซื้อการออม แต่ได้ลุ้นด้วยคนไทยส่วนใหญ่ชอบซื้อหวย สลากออมสินเป็นการออมอย่างหนึ่งแต่ว่าจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่สามารถทำได้นะครับ เพราะมันคือการพนันอย่างหนึ่งนั่นแหละ ฉะนั้นคนที่ทำได้ก็คือธนาคารของรัฐเท่านั้น แปลว่ารัฐบาลจะการันตี ถ้ามีปัญหารัฐบาลน่าจะแบ่งเงินจากงบประมาณอื่นมาช่วยได้ และด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่ต้องการสลากออมสิน เพราะได้ลุ้นรวย และยังได้ออมเงินไปด้วยนั้นเอง”   

Investment Consultant หลายคนยกให้เขาเป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์การลงทุนมือฉมัง