อาลัยบรมครู ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ "ขอเป็นคนทำงานศิลปะ เพื่อสานต่อทำงานของชาติ...นี้สืบไป"
ขอแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของอาจารย์ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ
ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในใจของพวกเรา ท่านจากไปด้วยโรคโควิด-19 ช่วงเย็นของ วันจันทร์ที่ 2 ส.ค. 64
ผลงานภาพเขียนของท่านเป็นงานที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับของศิลปินชาวไทย ผลงานสร้างชื่อของท่านมีมากมาย แต่ที่โดดเด่นที่สุด คือ ภาพเขียนพอร์ตเทรต พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่นำเสนอออกมาจำนวนมาก เป็นต้น
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว วิษณุคำรณ และขอให้ดวงวิญญาณของท่านสู่สุคติ ด้วยรักและอาลัย บริษัท มิตรมายา จำกัด
ภาพเขียนและเส้นทางชีวิตของท่านถือเป็นหนึ่งในบันทึกชิ้นสำคัญของวงการศิลปะของไทย เราเลยขอนำบทสัมภาษณ์ เรื่องราวชีวิตของท่านมาฉายซ้ำเพื่อเป็นอนุสรณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นต่อไปอีกครั้ง จากเด็กวัดสู่สุดยอดศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย!
จากเด็กวัด สู่คนโฆษณา
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าผู้ที่มีฝีมือทางศิลปะอย่างอาจารย์ชูศักดิ์นั้น หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของชีวิตการเป็นศิลปินแล้ว เขาไม่ได้เรียนจบสถาบันหลักทางศิลปะของประเทศไทยเลย แต่ฝีมือที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการเรียนรู้ขวนขวายด้วยตัวเองทั้งสิ้น ชีวิตจึงเหมือนกับเรื่องราวในหนังสมัยก่อน ที่ออกจากบ้านมาอยู่วัด ผ่านความยากลำบากต่างๆ นานา และสร้างตัวจนประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยความสามารถของตัวเองทั้งสิ้น
“ผมเป็นคนที่ไม่ได้จบศิลปะจากสถาบันใดเลย ด้วยความที่เราเป็นคนบ้านนอก ไม่มีโอกาส แม้จะสอบที่เพาะช่างได้ แต่มอบตัวไม่ได้ ก็เลยต้องมาเรียนด้วยตัวเอง ผมรักศิลปะมาตั้งแต่จำความได้เลย ผมรู้ว่าผมอยากเขียนรูปตั้งแต่เด็ก ผมจบ ป.4 ตั้งแต่ พ.ศ.2499 ตอนประถมก็เขียนรูปและงานศิลปะด้านอื่น ทุกวันนี้ผมยังจำได้ว่า ผมเคยเล่นหนังตะลุง แต่ผมไม่ใช่คนใต้นะผมเป็นคนอีสาน แต่มีหนังตะลุงไปฉายตามงานบุญ ผมไปดูแล้วประทับใจในความงาม ก็จำไปเล่น แล้วร้องได้ด้วยนะ ผมเอามุ้งที่ขาดของแม่ผมมาขึงเป็นผ้าขาว แล้วก็หากระดาษที่แข็งๆ หน่อยเอามาทำหนัง แล้วเขียนรูปพระลักษณ์พระรามเพื่อที่จะเอาไม้หนีบ ผมทำเล่นได้จนอายุ 12 พอมาเล่นงานวัดก็มีคนเอาเงินให้หนึ่งบาท ช่วงนั้นก็ชอบเขียนรูปด้วย
“แล้วจากนั้นผมก็เข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กวัด อยู่ที่วัดมักกะสัน ผมหนีออกมาเลย มากับพระ เพราะอยากมากรุงเทพฯ มาก พ่อแม่ก็ไม่รู้ พอมาอยู่กรุงเทพฯ ก็หาที่เรียนไม่ได้ เพราะไม่มีได้เอาใบจบการศึกษามา ก็เลยมาเรียนเอกชนที่อาชีวศิลป์ แต่ว่ามาเรียนไม่มีใครส่งผม ผมต้องส่งตัวเอง มีอยู่ครั้งนึงผมต้องจ่ายค่าเทอมที่อาชีวะศิลป์ 150 บาท โรงเรียนบอกว่าไม่มีเงินก็เรียนไม่ได้ ผมก็เลยไปหาเจ้าอาวาส มานั่งรอตอนดึกๆ ผมก็มุสาว่า พ่อส่งเงินมาไม่ทัน โรงเรียนจะเอาค่าเทอม แต่ความจริงพ่อไม่เคยให้เงิน ท่านเจ้าอาวาสก็ให้เงินมา ก็เลยได้เรียนต่อ
“ตึกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมเป็นคนแบกหินแบกปูน เป็นกรรมกรวันละ 12 บาท เพื่อแลกเอาเงินมาเรียน ทำอยู่ทุกเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งวันอาทิตย์ที่ไม่ได้แบกปูน ผมก็ไปที่วัดโพธิ์ก็ไปเขียนภาพขาย สองสามรูป 30 บาท ก็เยอะแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าได้ทุกอาทิตย์นะ แต่ผมมีความรู้สึกว่าไม่ได้ลำบากอะไร เพราะใจผมไม่ได้ทุกข์ว่าทำไมชีวิตต้องเป็นแบบนี้
“ผมออกจากบ้านมานานไม่ได้ส่งข่าวคราว จนที่บ้านนึกว่าตายแล้ว เพราะพ่อเป็นครูแล้วมีเมียหลายคน แล้วผมเป็นลูกของเมียคนที่สามของพ่อ พ่อจึงมีภาระดูแลลูกคนอื่นหลายคน ทำให้เราเหมือนถูกทอดทิ้ง ผมว่ามันเป็นโชคชะตามากกว่า ผมไม่เคยคิดน้อยใจว่าทำไมเราต้องเกิดมาอย่างนี้ เพราะผมมีความสุขในการเขียนรูป”
พออาศัยอยู่ที่วัดมาช่วงเวลาหนึ่ง ก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง เด็กวัดแต่ละคนเมื่อโตขึ้น ก็ต้องออกไปตามวิถีทางของตนเอง แต่ตรงกันข้าม อาจารย์ชูศักดิ์ในสมัยเมื่ออายุปี 17 กลายเป็นคนเดียวในรุ่นที่อาศัยอยู่ในวัด แต่ยังโชคดีที่ได้เจอเพื่อนเก่าที่ออกจากวัดไปก่อนหน้า และกลับมากรุงเทพฯ พอดี จึงได้ชวนอาจารย์ชูศักดิ์ออกจากวัดไปอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีในระยะเวลาหนึ่ง
“ไปอยู่สุพรรณบุรีได้สักพัก ก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อสมัครงานบริษัทโฆษณา ซึ่งคนที่มาสมัครเขาจบศิลปากร จบเพาะช่าง ผมไม่ได้จบอะไร แต่เอาผลงานไปให้ดูหมด จำได้ว่ามีเรื่องโจ๊กที่เป็นเรื่องจริงก็คือ ในใบสมัครเขาจะให้เขียนถึงความสามารถพิเศษ เพื่อนผมเขียนไปว่า ขี่จักรยานปล่อยสองมือได้ แต่ผมตอบไปว่าสามารถเขียนรูปได้ทุกรูปแบบ แต่เชื่อไหมว่าเขารับเพื่อนผม เราก็ดีใจว่าเพื่อนก็ได้งาน เราก็ได้งาน พอเพื่อนผมไปทำงาน ผมถามว่างานเป็นยังไงบ้าง เพื่อนผมตอบว่า เขาให้ไปส่งจดหมาย (หัวเราะ)”
ตัวตนคนศิลปะ
“ผมเริ่มทำงานบริษัทโฆษณา ก็ขยับไปเรื่อยๆ จนหลังสุดเป็นถึงกรรมการบริษัทโฆษณา เพราะฝีมือล้วนๆ ไม่ใช่โชคช่วย ไม่มีสถาบันไหนมารองรับผมเลย ผมเริ่มเข้าสู่วงการในกลุ่มของบริษัทโอสถสภา แล้วผมตั้งบริษัทใหม่ที่ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี เป็นคนออกเงินให้ คือก่อนที่จะออกสินค้าเอาเบียร์มาใส่กระป๋อง ผมเป็นคนออกแบบแพคเกจจิ้ง ออกแบบโฆษณา จนกระทั่งมาเปิดบริษัทใหม่อีก ทำอยู่จนกระทั่งเป็นกรรมการบริษัท ในยุคนั้นผมเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่นๆ มีคนอยากได้ตัวผมไปทำงานโดยการซื้อตัว เพราะสมัยก่อนเขาจะมีการซื้อพวก Creative Director ผมก็อยู่ในกลุ่มหนึ่งที่เขาต้องการซื้อตัว
“จนกระทั่งเบื่อหน่ายบริษัทโฆษณา เพราะมันไม่ได้จบที่เราคนเดียว ในขณะเดียวกันผมเขียนรูปด้วย เพราะผมสามารถทำคนเดียวได้หมด ไม่ต้องมีใครมายุ่งเลย แล้วมันก็ถึงเวลาแล้วที่ผมจะมาทำงานอาร์ตอย่างเดียว เพราะบริษัทโฆษณาทำให้ผมหลงไปช่วงนึง เพราะมันทำให้ผมกลายเป็นนักธุรกิจไปแล้ว”
เพราะตัวตนที่แท้จริงเรียกร้องให้อยากเป็นศิลปินมากกว่านักธุรกิจ ทำให้อาจารย์ชูศักดิ์ตัดสินใจลาออกมาจากวงการโฆษณา และตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยงานแรกที่เขาได้จัดแสดงหลังจากลาออกก็คือ “เขียนอีสานตำนานแผ่นดิน” แสดงที่อาคารสินธร ตลาดหลักทรัพย์ฯ และการแสดงงานที่ซีคอนสแควร์
แต่งานที่เป็นจุดเด่นของอาจารย์ชูศักดิ์ไม่ใช่เรื่องของศิลปะเชิดชูพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว แต่ในเรื่องของศาสนานั้น เขาก็ทำได้อย่างลึกซึ้ง เพราะค้นหาจุดเริ่มต้นของตำนานและความเชื่อ จนในที่สุดก็สร้างงานด้านศาสนาออกมาได้อย่างคนที่หลงใหล และทำออกมาอย่างสุดฝีมืออันงดงาม
“ผมถูกเชิญให้ไปเขียนภาพฝาผนังที่วัดดาวดึงษาราม บางยี่ขัน เพราะคุณหญิงสลวย ปาณิกบุตร มาเห็นผลงานของผม ก็เลยอยากให้ผมไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดดาวดึงฯ แต่ตอนแรกยอมรับว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องราวของศาสนาอย่างแท้จริง ก็เลยอยากจะคิดเอง ศึกษาเอง ผมอ่านเรื่องราวของศาสนา ยิ่งอ่านยิ่งไม่เชื่อ ยิ่งขาดความมั่นใจในพุทธศาสนา เพราะเรื่องราวมันล้วนแต่ไม่น่าเป็นไปได้ อย่างมหาชนกว่ายน้ำ 7 วันแล้วไม่ตาย เป็นไปไม่ได้ พระเวสสันดรก็ใจดีมากเกิน เพราะช่วงนั้นเราเอาปัญญาในเวลานั้นมาวัด
“พอได้คุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งเขาบอกว่าคนหลงทางต้องไปเริ่มต้นที่ต้นทาง คือ พระไตรปิฎก พอผมได้อ่านแล้วมันเหมือนจิ๊กซอว์ ที่อ่านตรงนี้จะโยงตรงนี้ได้จนหมด เลยเกิดหลงใหลในคัมภีร์ อ่านเสร็จผมพร้อมที่จะนั่งเขียนภาพเลย แล้วมั่นใจว่าเรื่องของพระพุทธเจ้าทั้ง 10 ชาตินั้นเป็นเรื่องจริง ผมสร้างปัญญาด้วยพระไตรปิฎก เราลืมไปว่าตอนแรกเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง กับพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีภพชาติไม่เหมือนกัน บารมีสั่งสมไม่เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่เหมือนกัน
“อย่างพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินได้เจ็ดก้าว แหกตาเราตั้งแต่แรกเลยหรือนี่ เพราะเราเอาปัญญาช่วงนั้นไปวัด ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่เหมือนเรา เพราะเราเกิดเป็นอะไรมาหลายชาติกว่าจะเป็นมนุษย์ได้ จึงไม่สามารถเอาปัญญาไปตัดสินพระโพธิสัตว์ได้ หลังจากผมทำงานถวายวัดเสร็จผมเดินทางไปอินเดียเลย”
ท่องดินแดนพุทธประวัติ
“ผมได้เดินทางไปอินเดีย ผมอยากรู้ว่ามีจริงหรือ เรื่องราวที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติ ว่าด้วยเรื่องของเมืองต่างๆ อย่างพาราณสี แม่น้ำคงคา มฤคทายวัน ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรม ปรินิพาน อยู่ตรงไหนของอินเดีย ท้าทายผมมาก ยอมรับว่าสิ่งที่เราคิดผิดอีกว่าเป็นเทพเจ้า ว่าพระพุทธเจ้ามีหลายร่างมีทั้งมนุษย์มีทั้งเทวดา พอไปเห็นแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะคือมนุษย์ เป็นศาสนาเดียวในโลกนี้ที่มนุษย์สอนมนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้ามาสอนมนุษย์ แล้วสถานที่เหล่านั้นก็มีอยู่จริงจนถึงทุกวันนี้ ที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันนี้ไปดูยังเหลือซากให้เห็นพิสูจน์ได้ นักโบราณคดียืนยันแล้วว่าพระพุทธเจ้าคือบุรุษในประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่พระเจ้าอยู่ในสวรรค์
“ผมไปเขียนงานเกี่ยวกับศาสนาที่ประเทศอินเดียทั้งหมด เป็นคนเดียวที่ไปนั่งทำประวัติศาสตร์ทางศาสนา ไม่ใช่ไปนั่งปฏิบัติธรรม ผมเดินทางไปอินเดียถึง 5 ครั้งเพื่อเอามายืนยันให้ชาวพุทธที่มีภาพอันเลือนพร่า ให้มีความเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่ตำนานเหมือนพระเจ้าองค์อื่นๆ
“ศาสนากับศิลปะเป็นของคู่กัน ศิลปะคือการบันทึกบอกเล่าเรื่องราวเท่านั้นเอง แต่ศาสนาคือจิตวิญญาณของผู้คน มันเป็นเรื่องความคิด ความเชื่อ ความเลื่อมใสศรัทธา ศิลปะเหมือนเป็นหลักฐานอันหนึ่งให้ได้ถ่ายทอด แต่ถ้าเราบันทึกตามฝาผนังทั่วไป มันก็เป็นแค่การเล่าเรื่องราวของพระไตรปิฎกเท่านั้น
“ผมเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ มันก็คือการบันทึกเรื่องราวเหมือนกัน แต่ไม่ได้บันทึกจากพระไตรปิฎกที่มันไกลผู้คน แต่บันทึกของผมเป็นบันทึกที่เป็นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตำรา บางทีผมไปเห็นสถานที่ที่มันเก่าคร่ำครึ ก็คิดว่าแล้วจะเขียนอย่างไรให้มีคนเขาได้ดู อันนี้เป็นความท้าทายอย่างนึง มีศิลปินหลายคนนะครับ มีคนไปอินเดีย แต่กลับไปเขียนวัฒนธรรมของอินเดีย เรื่องราวผู้คน แต่ไม่ได้เขียนเรื่องที่ผมเขียนนี้ จนทุกวันนี้ก็เริ่มมีคนเขียนตามผมแล้ว”
(ตัวอย่างผลงานของ อาจารย์ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ)
ด้วยความจงรักภักดี
ถ้าใครได้พิจารณางานศิลปะของอาจารย์ชูศักดิ์อย่างท่องแท้จะพบว่า นอกจากจะได้เห็นฝีมืออันสวยสดงดงามแล้ว เรื่องราวที่เล่าออกมานั้นก็นับว่าเกาะกุมหัวใจของคนที่ศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาหรือพระมหากษัตริย์ อาจารย์ชูศักดิ์พูดถึงการทำงานของตนเองว่าแท้จริงแล้วทุกอย่างย่อมมีต้นแบบเสมอ เพราะฉะนั้นให้เดินทางตามต้นแบบไปก่อน เมื่อถึงเวลาในจุดหนึ่งที่บ่มเพาะวิชาของตัวเองจนได้ที่แล้ว ก็ฉีกหนีความเป็นต้นแบบออกมา จนกลายเป็นสไตล์ของตัวเองในที่สุด
“ผมว่าจงทำในสิ่งที่ปรารถนาเถิด เพราะศิลปะมันกว้างไกล อย่างเช่นผมเขียนพอร์ตเทรต องค์พระเจ้าอยู่หัวฯ (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9) มีคนบอกว่ากล้าหาญอย่างไรถึงเอาเทวดามาใส่ด้วย เพราะงานพอตเทรตต้องดูจริงจัง เหมือนฝรั่งเขียนให้เราดู แต่อาจจะเรียกว่าแบบนี้เป็นอัตลักษณ์ของผมก็ได้ ผมอยากเขียนแบบนี้ เพราะแรงปรารถนามาจากความที่ว่ามีเทวดาคุ้มครองพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา ผมรู้สึกได้แบบนี้ ก็เลยเขียนออกมาให้เห็น แล้วเทวดาผมก็เขียนอยู่แค่สองอย่างคือ ศาสนากับพระมหากษัตริย์เท่านั้น คนธรรมดาผมเขียนรูป ผมก็ไม่เอามาใส่
“ผมก็เหมือนคนไทยทั้งหลายที่มีความจงรักภักดี ก็คงจะมีความศรัทธาเลื่อมใสเคารพไม่แตกต่างกัน ถ้าหากใครได้ติดตาม ผมขอใช้คำว่า ผลงานของพระองค์ ที่ทำไว้ให้กับแผ่นดินนี้จะต้องยิ่งกว่าคำว่าจงรักภักดีหรือซาบซึ้ง มันบรรยายไม่ได้ แต่รู้สึกได้ สังเกตว่าวันที่ท่านออกสีหบัญชร ที่มีคนร้องไห้มากมายก็เพราะความปิติ
“ทุกวันนี้น่าสงสารลูกไทยหลายไทยที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง ผมให้คำนิยามว่าเหมือนลูกกำพร้าที่ไม่รู้จักที่มาของตระกูล น่าสงสารมาก มันจึงเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ถ้ารู้ประวัติศาสตร์ของเราแล้วจะพบว่าน่าประทับใจมาก ขอยืมคำของศิลปินหลายคนที่ทำงานศิลปะ ศิลปะคืออาหารของจิต และพุทธิปัญญาของมนุษย์ ศิลปะไม่ได้ส่งกลิ่นหอมเย้ายวนเหมือนน้ำหอมราคาแพง แต่ศิลปะมันให้คุณค่าแก่จิตใจของมนุษย์เหมือนประหนึ่งลมหายใจที่บริสุทธิ์
“ผมทำงานศิลปะเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ 50 ปีครองราชย์ของพระองค์ท่าน ผมถือว่าชีวิตของผมก่อนที่จะจากโลกนี้ไป อยากทำอยู่สองเรื่องคือ หนึ่ง เรื่องของศาสนา กับพระมหากษัตริย์ ศาสนาได้ทำแล้วและจะทำต่อไป พระมหากษัตริย์ได้ทำแล้วและจะทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง”
(ตัวอย่างผลงานของ อาจารย์ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ)