ถอดรหัสความสำเร็จ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ
ขึ้นชื่อว่านักกีฬาย่อมมีแพ้มีชนะ วันนี้เรามาดูกันว่า “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ กว่าจะก้าวเข้ามาเป็นฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกของไทยเธอผ่านอะไรมาบ้าง
เกิดในครอบครัวนักกีฬา
“เทนนิส” เกิดวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครอบครัวนักกีฬา โดยคุณพ่อ เป็นครูสอนว่ายน้ำ ส่วนแม่เป็นผู้นำเต้นแอโรบิก มีพี่ชายชื่อ เบสบอล และพี่สาวชื่อโบว์ลิง ด้วยความที่เป็นครอบครัวนักกีฬา คุณพ่อจึงสนับสนุนให้ลูก ๆ ทุกคนเล่นกีฬาแทบทุกประเภท จนอายุ 7 ขวบ คุณพ่อพาไปชมพี่ชายแข่งขันเทควันโด แม้ช่วงแรกจะเล่นเพื่อออกกำลังกายเท่านั้น เมื่ออายุ 9 ขวบก็เริ่มเข้าสู่วงการเทควันโดสนามแรกที่จังหวัดภูเก็ต โดยคุณพ่อใช้แรงจูงใจถ้าได้เหรียญทองเดี๋ยวพ่อจะให้ 3,000 บาทเหรียญเงิน 2,000 บาทเหรียญทองแดง 1,000 บาท แต่ผลที่ออกมาแพ้อย่างง่ายดาย
จากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น “เทนนิส” เริ่มฝึกซ้อมอย่างจริงจังเมื่ออายุ 12 ปี จึงเข้าแข่งขันในรายการเล็ก ๆ โดยได้รับชัยชนะเป็นครั้งแรก อีกหนึ่งปีต่อมาเธอเข้าสู่สนามระดับประเทศโดยการคว้าเหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในรุ่นไม่เกิน 42 กิโลกรัม จากจุดนี้เองจึงไปสะดุดตาโค้ช “เช ยอง ซ็อก” ผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย จึงได้เรียกน้องเทนนิสเข้ามาฝึกซ้อมเป็นตัวแทนทีมชาติไทย เข้ามาฝึกซ้อมหลายสิบปีจนคว้าเหรียญรางวัลมากมาย
โค้ชที่ใช่
มีนักกีฬามากมายที่เก่งได้ด้วยพรสวรรค์ตัวเอง แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอในการก้าวไประดับโลก นักกีฬาต้องการคนดูแลตั้งแต่ความเป็นอยู่ อาหาร รวมถึงการฝึกซ้อม เพื่อพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นไป โดยเฉพาะโค้ช “เช” นั้นขึ้นชื่อเรื่องของระเบียบวินัยที่เข้มงวดตามแบบฉบับของชาวเกาหลี
โค้ช “เช” เข้ามาทำหน้าที่เป็นโค้ชให้นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 แม้ในช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องความเข้มงวดจากการฝึกซ้อม แต่เขาไม่เอาเป็นประเด็นมุ่งมั่นทำงานของตนเองต่อไป ซึ่งหนึ่งในคนที่สามารถอยู่กับระบบของโค้ช “เช” ได้คือ “เทนนิส” ที่ฝึกฝนอย่างหนักมาหลายสิบปีจนได้แชมป์มากมาย รวมทั้งเหรียญทองโอลิมปิกครั้งนี้ด้วย
สมาคมคอยหนุนหลัง
หลังจากสมาคมเทควันโดตัดสินใจเลือกโค้ช “เช” เข้ามาเป็นโค้ช เมื่อ 19 ปีก่อน ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในสมัยก่อนสมาคมกีฬาที่เป็นความหวังของชาติในกีฬาโอลิมปิก มีเพียงสมาคมมวยสากลสมัครเล่นกับสมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่หลังจากที่ “วิว เยาวภา บุรพลชัย” ได้เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004 ที่ประเทศกรีซ ความหวังของประเทศไทยก็มุ่งมาที่สมาคมเทควันโดทันที มีโรงเรียนสอนเทควันโดเกิดขึ้นมากมาย ผู้คนนิยมส่งบุตรหลานไปเรียน ทำให้มีนักกีฬาเป็นตัวเลือกสำหรับทีมชาติมากขึ้น สมาคมเทควันโดก็สนับสนุนนักกีฬาและโค้ชเป็นอย่างดี กวาดเหรียญในรายการสำคัญมากมาย ซึ่งเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้มาจาก ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยและทีมงานนั่นเอง
โชควาสนา
ความจริงเราไม่อยากจะพูดถึงเรื่องของโชคชะตาหรือวาสนาเท่าไหร่นัก แต่นักกีฬาตัวเก็งหลายคน หลายประเภท ไม่สามารถทำตามฝันที่วางไว้ได้ เพราะด้วยระบบแข่งขันแบบทัวร์นาเม้นต์ บางรายการแพ้ตกรอบไม่สามารถแก้ตัวได้อีก บางรายนักกีฬาบาดเจ็บระหว่างแข่งขัน หรือจิตใจไม่พร้อม แม้ซ้อมมาดีแต่แข่งจริงทำไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ การจะเป็นแชมป์ได้จึงต้องมีหลายปัจจัยหลาย บางครั้งจึงต้องพึ่งโชคชะตาด้วย แต่เราก็ยังให้เครดิตกว่า 90% จากฝีมือการฝึกซ้อมที่หนักมากกว่าอยู่ดี
กำลังใจจากทุกคน
แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เรื่องของกำลังใจที่ส่งไป อาจช่วยกระตุ้นให้นักกีฬามีแรงฮึดในการต่อสู้มากขึ้นกว่าเดิม แม้การแข่งขันเทควันในโอลิมปิกครั้งนี้จะไม่อนุญาตให้กองเชียร์เข้าสนาม แต่นักกีฬาทุกคนรู้ว่ามีคนจำนวนมากรอชมการถ่ายทอดสดครั้งนี้อยู่ ภายหลังที่ “เทนนิส”ได้เหรียญทอง มีคลิปรีแอ๊คชั่นในสื่อออนไลน์มากมาย ที่ถ่ายครอบครัวรวมถึงคนไทยอีกหลายคน นั่งชมอย่างใจจดใจจ่อลุ้นจนวินาทีสุดท้าย ซึ่ง“เทนนิส”ก็ทำได้ สร้างความสุขให้คนไทยอีกหลายล้านคน