สาธารณสุข สมดุลแห่งชีวิต Part 2 - การจัดการ โควิด-19 ในประเทศไทย

สาธารณสุข สมดุลแห่งชีวิต Part 2 - การจัดการ โควิด-19 ในประเทศไทย

Hope Springs Eternal สมดุลแห่งชีวิต

มนุษย์เราควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต จิตใจ และสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตที่ทุกคนพึงมี ในเรื่องของสาธารณสุข (Public health) การมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดมาตรฐาน โดยบอกว่า “สภาพของการมีชีวิตทางกายภาพ ทางจิตใจ และทางสังคมที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงไม่มีโรคภัยหรือ ความแข็งแรงทางกายเท่านั้น” แสดงให้เห็นว่ายังมีปัจจัยรอบข้างมากมายที่เกี่ยวโยงกันอย่างเป็นระบบด้วยนั่นเอง

MiX Magazine เล็งเห็นความสำคัญของสาธารณสุข ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ตลอดเวลา หากมีมาตรฐานที่ดีพอจะนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืนได้ นอกจากนี้สาธารณสุขยังมีแง่มุมในด้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งเรารวบรวมมาให้อ่านกัน ใน Part 1 เราพูดถึงในเรื่องวิวัฒนาการสาธารณสุขทั้งของโลกและของประเทศไทยเราเอง ความแตกต่างของสาธารณสุขไทยและต่างประเทศ ปัญหาต่าง ๆ ของบุคลากรการแพทย์ ใน Part ที่ 2 นี้เราจะนำเสนอในเรื่องการจัดการ โควิด-19 ในประเทศไทย, เศรษฐกิจไทย ในสภาวะโรคระบาด พาไปคุยกับผู้ที่ประสบกับสภาวะติดเชื้อลงปอด จากโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมสู้ศึกไวรัสมรณะในครั้งนี้ 

การจัดการ โควิด-19 ในประเทศไทย

ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ดีมาก สามารถควบคุมโรคจนได้รับความชื่นชม แต่ความจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะเมื่อครั้งที่ยังไม่วิกฤตจึงไม่ได้รีบเร่งที่จะนำวัคซีนเข้ามาภายในประเทศ รวมถึงไม่ได้ร่วมโครงการ Covax ภายใต้การนำขององค์การอนามัยโลก ในการพัฒนาจัดซื้อและจัดส่งวัคซีน COVID-19 ไปในทั่วทุกมุมโลก มาถึงวันนี้อาจทำให้เราเสียโอกาสบางอย่าง 

เมื่อเกิดวิกฤตที่ต้องใช้วัคซีนเข้ามาจริง ๆ ความหวังจึงตกไปอยู่กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นตัวแทนผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่งขายให้กลุ่มประเทศแถบอาเซียน ซึ่งแม้ว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะมีฐานการผลิตวัคซีนอยู่ในประเทศไทย แต่เรื่องการนำเข้าวัคซีนต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล ที่ต้องไปเจรจากับบริษัทวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งการล็อกวัคซีนเฉพาะของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นตัวหลักนี่เอง หากมีปัญหาความล่าช้าหรือคุณภาพประชาชนจะเสียประโยชน์ทันที

โดยสถานการณ์ในตอนนี้ (18/7/64) เรียกว่าน่าเป็นห่วงเพราะยอดติดโควิด-19 มีคนติดรวม 374,523 คน จำนวนคนเสียชีวิต 3,247 คน ถ้ารัฐบาลเปิดการนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้ออย่างรวดเร็ว อาจให้เอกชนที่มีความพร้อมมาช่วย เรื่องทุกอย่างจะจบลงอย่างรวดเร็ว หรืออย่างน้อยน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เมื่อติดปัญหาอะไรก็ตามที่ไม่สามารถนำวัคซีนเข้ามาได้ ก็ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรถึงนำวัคซีนคุณภาพดีเข้ามาให้เร็วที่สุดนั่นเอง การบริหารงานโดยรัฐมาสู่ระบบสาธารณสุขนั้น สุดท้ายแล้วถ้ามีระบบดี ประชาชนก็จะได้รับบริการรวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตที่ดีตามมา แต่ถ้าบริหารงานล้มเหลวคนที่ซวยที่สุดก็คือประชาชนนั่นเอง

เศรษฐกิจไทยในสภาวะโรคระบาด

หลังจากที่โควิด-19 ระบาดนอกจากเรื่องของการเจ็บป่วยล้มตายแล้ว เรื่องของเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย หลังจากมีการสั่งล็อกดาวน์ในครั้งแรก ๆ ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบไปแบบเต็ม ๆ อย่างธุรกิจท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ เรียกได้ว่าเมื่อหยุดกิจกรรมทางสังคม ย่อมมีคนที่ตกงานจากธุรกิจเหล่านี้เป็นจำนวนมากรัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการกู้เงินเข้ามาแจกประชาชนในโครงการต่าง ๆ ช่วยให้มีการหมุนเวียนเงินลงสู่ระดับรากหญ้า จากข้อมูลของกระทรวงการคลังล่าสุด ระบุว่า วันที่ 3 ม.ค. 2564 มีผู้ใช้สิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่ง และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 มีเงินไหลเวียนในระบบสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่เป็นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หากสถานการณ์ไม่สามารถทำให้จบได้โดยเร็ว รัฐบาลต้องแจกเงินประชาอีกกี่ครั้ง เพราะเงินที่รัฐบาลกู้มานั้นเต็มเพดานเสียแล้ว

สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คือการนำเข้าวัคซีนเพื่อฉีดภูมิคุ้มกันหมู่ ให้กับประเทศเหมือนที่ประเทศโลกตะวันตกเริ่มออกมาทำกิจกรรมกันข้างนอกได้แล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยเรื่องของคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน เชื้อกลายพันธุ์ วัคซีนบางชนิดงานวิจัยพบว่าไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ ถึงอย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนก็เพื่อเรียกความมั่นใจในหลายด้าน รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจด้วย ล่าสุดรัฐบาลออก พ.ร.ก. กู้เงินฉบับใหม่ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากกู้เต็มวงเงินจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยสูงเกินเพดาน ความน่าเป็นห่วงคือประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 จำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท คิดเป็น 54.28 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เรียกได้ว่าใช้หนี้กันแทบไม่หมด ในชาตินี้แน่นอน ทุกคนในประเทศไทยต้องแบกหนี้สินต่อไป

แน่นอนว่าหากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ตามกำหนด แม้จะมีเงินออกมาแจกประชาชนอีกระลอก เชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศจะซบเซาต่อไปอีกยาวหากยังไม่สามารถเรียกความมั่นใจอย่างยั่งยืนได้ เศรษฐกิจไทยอาจหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ก็เป็นได้ 

Treatments for COVID-19 

เราขอพาท่านไปคุยกับผู้ที่ประสบกับสภาวะติดเชื้อลงปอด จากโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมสู้ศึก ไวรัสมรณะในครั้งนี้

Covid-19 Patients : คุณกัญญาภัค แก้วนภา

สำหรับท่านแรกที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโควิด-19 โดยที่อาการหนักเพราะไวรัสลงปอดและทำลายปอดไปบางส่วน ต้องบอก เลยว่าน้องคนนี้ โดยปกติตัวผู้เขียนค่อนข้างสนิทกับเธอเพราะเธอเป็น Pr Agency ในบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง ตอนนี้เธออายุ 26 ปี แต่โชคไม่ดีที่เธอเคยมีปัญหาสุขภาพด้านทางเดินหายใจอยู่แล้ว เธอติดโควิดในช่วงของการระบาดใหญ่ในระลอกสาม เพราะต้องออกไปทำงานและได้แวะห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเป็นประจำ โชคไม่เข้าข้าง เช้าวันหนึ่งมีประกาศว่ามีกลุ่มคลัสเตอร์ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นและตัวเธอเอง ก็เริ่มมีอาการไอและไอหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องไปโรงพยาบาลและก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 โชคดีที่ไปตรวจและรักษาเร็ว เพราะเชื้อลงปอดถ้ารักษาไม่ทันอาจไม่รอด

“โดยปกติไม่ได้ไปไหนนอกจากบ้านและที่ทำงานและป้องกันตัวเองในระดับหนึ่ง และได้ไปซื้อของจากห้างแห่งหนึ่งผ่านไป 4 วันถึงรู้ว่าตัวเอง ติดเชื้อโควิด (จากการสันนิษฐานแพทย์แจ้งว่าเราอาจจะไปสัมผัสกับสิ่งของของคนที่เป็นโควิดและทางอากาศ)

“มีอาการไอแห้ง ๆ ตลอดเวลา ตอนแรกไม่มีไข้ แต่พอไปถึง โรงพยาบาลปรากฏว่ามีไข้สูงเกือบ 39 องศาฯ และหัวใจเต้นแรงผิดปกติเกือบ 150 ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราหัวใจจะเต้นอยู่ที่ 60-100 เริ่มหายใจไม่อิ่ม หอบ เลยเอ็กซเรย์ปอดปรากฏว่าเชื้อลงปอด พังผืดได้เกาะรอบปอด อาการตอนนั้นเริ่มหนักเพราะหายใจเองแทบไม่ได้ ต้องใช้เครื่องออกซิเจนช่วยในการหายใจ

“ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ทีมแพทย์และพยาบาลดีมากค่ะ ได้ห้องพิเศษ เตียงเดียว ได้อยู่คนเดียว บางโรงพยาบาลจะอยู่กันหลายคนหลายเตียง ช่วง 3-9 วัน ต้องใช้เครื่องช่วยออกซิเจนแทบตลอดเวลา เพราะหายใจเองไม่สะดวก หายใจได้สั้น ๆ หายใจไม่อิ่ม

“ตอนเชื้อลงปอดรู้สึกว่าเหนื่อยมาก ๆ เชื้อมาลงปอดในวันที่ 3 หายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยง่าย และเกิดภาวะเครียดที่อยู่แต่ในห้องมาหลายวันและอยู่บนเตียงตลอด เพราะถ้าถอดเครื่องออกซิเจนก็จะเหนื่อยและหอบ

“ตอนช่วงมีไข้หมอให้ทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งต้องกินยา ครั้งละ 9 เม็ด เช้า-เย็นในช่วงที่มีไข้สูง ยังไม่รวมยาอื่น ๆ รวมกันแล้ววันหนึ่งกินยาวันละ 20 กว่าเม็ด และขณะเดียวกันก็มีการให้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดผ่านน้ำเกลือ นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการดีขึ้น พอไม่มีไข้แล้วทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ลดเหลือ 4 เม็ด

“สรุปว่าหนักในช่วง 3-9 วัน รวมเวลารักการรักษาทั้งหมดอยู่โรงพยาบาล 15 วัน ตอนนี้ออกจากโรงพยาบาลมาได้ 1 อาทิตย์แล้วค่ะ แต่ไปเช็คปอดที่โรงพยาบาล มาล่าสุด ปอดยังไม่กลับมา 100% ประมาณ 60-70% เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แพทย์แจ้งว่าต้องฟื้นฟูปอดไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยให้ออกกำลังกายเบา ๆ เดี๋ยวอาการก็จะดีขึ้น

“สิ่งที่อยากจะฝากถึงทุกคนเลยก็คือ ขอให้ทุกใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะ ตัวหมิวเองไม่คิดว่ามันจะติดง่ายขนาดนี้ขนาดไม่ค่อยได้ออกไปไหน และไม่คิดว่า มันจะทำลายปอดเราขนาดนี้ ขอให้ทุกคนดูแลป้องกันอย่างเคร่งครัด โควิดมันรักษาหายได้แต่ร่างกายเรามันจะไม่เหมือนเดิม ขอให้ทุกคนดูแลตัวเองดี ๆ นะคะ”

บุคลากรทางการแพทย์กับงานที่ไม่มีวันจบ

พยาบาลวิชาชีพ : คุณวรรณา คงวิเวกขจรกิจ ประธานคณะกรรมการองค์การบริหารการพยาบาล และหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี

มาดูทางด้านผู้ที่ต้องต่อสู้และช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรงกันบ้างครับ ก่อนอื่นต้องบอกว่าขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ที่ทำงานหนัก และเหน็ดเหนื่อยมาก ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก เจ้าหน้าที่พยาบาลมีความยากลำบาก แต่ก็ยังสู้เพื่อพวกเราทุกคน

“ความลำบากที่เห็นได้ชัดอย่างแรกเลยคือการฝึกใส่ชุด PPE ซึ่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ของรามาฯ ก็ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อสวมใส่ชุด PPE อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการถอดชุดที่ต้องมีขั้นตอนอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้ผู้สวมใส่รับเชื้อขณะถอดชุดได้ ซึ่งการใส่ชุด PPE พูดตามตรงคือทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีความยุ่งยากขึ้น เพราะ ตัวชุดเองที่มีการป้องกันอย่างมิดชิด และเมืองไทยเป็นเมืองร้อนทำให้การสวมใส่ชุด มีความอบอ้าวได้ อย่างที่เราเห็นภาพกันในโซเชียลที่คุณหมอ และพยาบาลเหงื่อท่วมตัว ขณะใส่ชุด PPE นั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้นะคะ แต่ด้วยหน้าที่ของเรา ที่เป็นด่านหน้า เรามีความจำเป็นต้องอดทนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด

“การดูแลผู้ป่วยที่ต้องมีการระมัดระวังมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าผู้ป่วยคนใดบ้างที่เป็นผู้ติดเชื้อ และในบางขั้นตอนของการรักษาที่มีความเสี่ยง ต้องสัมผัสกับของเหลวและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ตัวอย่างล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ามาเจาะคอ ซึ่งตอนแรกก็ไม่มีข้อมูลว่าเป็นผู้ติดเชื้อ แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยรายนี้ก็ตรวจพบว่า เพิ่งติดเชื้อโควิดไป ทำให้ทาง รพ.ก็ต้องดำเนินการตรวจเช็คและติดตามผลของทีมที่ดูแล ในวันนั้นด้วย ด้วยหน้าที่ของการเป็นพยาบาลที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยอยู่ตลอด เรายิ่งต้องป่วยไม่ได้ เพราะเราถือเป็นความหวังของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่รามาธิบดีเป็นโรงพยาบาลหลัก ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เรายิ่งต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า รพ.และทีมแพทย์พยาบาลของเรามีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

“จากข่าวที่ว่ามีทีมบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้พยาบาล บางส่วนต้องกักตัวกันช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.ติดเชื้อจริง โดยเป็นบุคลากรจากฝั่ง รพ.รามาธิบดี พระราม 6 และจากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งทาง รพ.ก็ได้ตั้งทีมสอบสวนข้อเท็จจริงก็พบว่าเป็นการติดเชื้อจากนอก รพ. ในตอนนั้นเรานอกจากการส่งตัวผู้ป่วย ให้เข้ารับการรักษา ที่จักรีนฤบดินทร์แล้ว เราก็รีบดำเนินการแยกผู้ที่มีความเสี่ยงสูงให้กักตัวอยู่บ้านทันที ซึ่งก็ยอมรับว่าในด้านการบริการทางการแพทย์ก็จำเป็นต้องลดสโคปลง เพราะเรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้น้อยลงซึ่งการที่ รพ.ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะจะปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากกว่าการให้ทีมแพทย์พยาบาลยังทำงานต่อไป แม้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ แต่เราก็ได้นำเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine มาใช้แทนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในเคสที่ไม่เร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องเดินทางมา รพ. ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี

“ถ้าถามว่าจำนวนหมอและพยาบาลเพียงพอไหม? จริง ๆ ก็ไม่ได้พอขนาดนั้น แต่เราก็ยังเน้นแบ่งเวรทีมเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ยิ่งถ้าจำนวนผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากต่อเนื่องแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่อยากจะคิดภาพว่าการทำงานของแต่ละ รพ.ที่ต้องรองรับการรักษาผู้ป่วยจะเป็นยังไง แต่ในฐานะ รพ.หลัก ๆ เราก็ต้องวางแผนรับมือให้ได้ ไม่ใช่แค่การรับมือในช่วงนี้ แต่ต้องเป็นแผนระยะยาวจนกว่าที่คนส่วนใหญ่ในประเทศจะได้รับวัคซีนแล้วสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งเราก็หวังอยากให้ดีขึ้นไว ๆ นะคะ

“ตั้งแต่ที่มีโควิดระบาดทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต้อง ทำงานหนักขึ้น ชม.การทำงานยิ่งยาวนาน เรายิ่งมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อซะเอง แพทย์ พยาบาลบางคนไม่ได้กลับบ้านไปหาครอบครัวเลยเป็นเดือน ๆ ก็มี เพราะด้วยอาชีพที่ทำให้เรามีความเสี่ยงสูง ในฐานะตัวแทนของคนทำอาชีพพยาบาลบอกได้เลยว่า แพทย์ และพยาบาลทุกคนอยากให้สถานการณ์ดีขึ้นเร็ว ๆ

“อย่างที่เรารู้กันว่าผู้ป่วยโควิดมีหลายระดับ บางคนโชคดีหน่อยอาการน้อยมารักษาตัวแป๊ปเดียวก็ได้กลับบ้านเร็ว แต่กับผู้ป่วยบางคนที่อาการรุนแรงมันจะเป็นอะไรที่ทรมานมากจริง ๆ เพราะเชื้อจะเข้าไปฝังอยู่ในปอดซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตของเชื้อ คราวนี้ปอดเราก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อไวรัสขนาดย่อม ๆ และเริ่มกระบวนการทำลายปอดของเรา ดังนั้นในกลุ่มผู้ป่วยที่วิกฤติเราจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มเติมจากการใช้ยาที่ช่วยหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น บวกกับการต้องให้ผู้ป่วยนอนคว่ำหน้าเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในปอดได้มากขึ้น และช่วยลดการอักเสบของปอด

“หลังจากที่ รพ.รับผู้ป่วยเข้ามาแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นคือ รพ.จะแยกผู้ป่วย ไปที่ห้องกักตัวก่อนเพื่อประเมินอาการ หลังจากนั้นจะเป็นการวางแผนการรักษา หากเป็นผู้ป่วยวิกฤติก็จำเป็นต้องแยกตัวไปที่ห้อง AIIR หรือห้องแยกผู้ป่วยแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ ซึ่งต้องมีทีมแพทย์เฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการสุ่มเสี่ยงว่าจะทรุดลงก็ต้องเข้าชาร์จคนไข้เพื่อปรับแผนการรักษาในระดับผู้ป่วย ICU ต่อไป สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อก่อนออกจาก รพ. และเราก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยที่สามารถกลับบ้านได้จำเป็นต้องกักตัวต่ออีกสักพักนึง แต่ควรป้องกันตัวเองทั้งหมั่นล้างมือและสวมหน้ากาก โดยที่ผ่านมาเรายังไม่พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่พบซากเชื้อในร่างกายจะสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นต่อไปได้

“Call Center ตอบข้อสงสัยไวรัส ไม่ต้องไปโรงพยาบาล เป็นโครงการของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ที่อยากเป็นอีกทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด และเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์เช่น อุปกรณ์ การตรวจโควิด หรือชุด PPE ที่เราต้องบริหารให้มีใช้อย่างเพียงพอ เราจึงจัดทำ โครงการนี้ขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องมา รพ. หรือไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ความเสี่ยงสูง สามารถซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับโควิดได้ทุกเรื่อง ผ่านระบบ Call Center ที่เราจัดไว้ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลาตั้งแต่ 08.00 – 16.00 น. ที่เบอร์ 02-092-7222 ซึ่งระบบนี้เรามีทีมเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์คอย ตอบคำถามที่โทรเข้ามา คอยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด และทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นอีกด้วย”

ความสำคัญของสาธารณสุข ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ตลอดเวลา หากมีมาตรฐานที่ดีพอจะนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืนได้ นอกจากนี้สาธารณสุขยังมีแง่มุมในด้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งเรารวบรวมมาให้อ่านกัน