5 ความผิดพลาดและความบังเอิญที่สร้างสรรค์โลก

5 ความผิดพลาดและความบังเอิญที่สร้างสรรค์โลก

ข้าวของเครื่องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งของกิน มีหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือเหตุบังเอิญ แต่กลับเป็นความผิดพลาดที่สร้างสรรค์และยังช่วยตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีมากมาย เรารวบรวม 5 ความผิดพลาด/เหตุบังเอิญที่สร้างสรรค์โลก มาให้ติดตามกันครับ

1.โค้ก (Coca Cola)

จอห์น สติท แพมเบอร์ ภาพจาก cocaine.org/coca-cola/index.html

ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่มีการจดสิทธิบัตรยาเป็นจำนวนมาก และยาบางชนิดก็สร้างชื่อเสียงและฐานะให้กับเจ้าของสิทธิบัตรมากมาย จอห์น สติท แพมเบอร์ตัน (John Stith Pamberton) นักเภสัชศาสตร์ชาวเมืองแอตแลนตา ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น ทว่านอกจากยาแล้ว สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างชื่อให้เขาคือเครื่องดื่มน้ำดำที่เรียกว่า โคคา-โคลา (โค้ก) นั่นเอง แพมเบอร์ตันเป็นนักเภสัชศาสตร์ ที่ไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องยาเท่านั้น เขาก่อตั้ง บริษัท เจ.เอส. แพมเบอร์ตัน คอมพานี ขึ้น และคิดค้นสินค้ามากมายไม่ว่าจะเป็นยาย้อมผม เครื่องสําอาง และน้ำหอม ทว่าในช่วงอายุ 50 ปี แพมเบอร์ตันเริ่มให้ความสนใจกับต้นโคคา พืชพื้นเมืองของเปรูที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี ว่าแล้วเขาก็ทดลองปรับปรุงสูตรน้ำโคลาด้วยการใส่เมล็ดโคลา

ในที่สุดแพมเบอร์ต้นก็เปิดตัวเครื่องดื่มที่ตั้งชื่อว่า “ไวน์โคลาฝรั่งเศสของแพมเบอร์ตัน” ในปี ค.ศ. 1885 โดยโฆษณาว่า “เป็นยาบํารุงที่ช่วยสร้างเสริมปัญญา” จากนั้นเมื่อเขานําเมล็ดโคลาใส่เพิ่มเข้าไปอีก ก็เรียกว่า “ยาบำรุงประสาท” ที่มีสรรพคุณในการเลิกมอร์ฟีน ซึ่งยังไม่มีแพทย์คนใดคิดค้นวิธีรักษาให้หายขาดได้ สินค้าตัวใหม่นี้ทําเงินให้แพมเบอร์ตันต่อวันมากกว่าที่เขาเคยหาได้ทั้งปีเลยทีเดียว แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขายิ่งประสบความสําเร็จ จนทำให้มีแบรนด์ โค้ก จนถึงปัจจุบันนี้คือ แพมเบอร์ตันส่งตัวอย่างสูตรน้ำหวานที่คิดขึ้นใหม่ไปให้เจ้าของร้านเครื่องดื่มคนหนึ่ง แต่เจ้าของร้านนำน้ำหวานไปผสมโซดากับให้ลูกค้าชิมแต่ได้รับความนิยม ใช่ครับ..... นี่เป็นที่มาของโคคา-โคลาที่เรารู้จักในปัจจุบัน

และอีกความผิดพลาดจนได้เรื่อง เมื่อ Alexander Samuelsson ดีไซน์เนอร์จากทีมสร้างสรรค์ของบริษัท The Root Glass Company  เข้าใจผิดว่าสูตรลับของ Coca Cola มาจากเมล็ดโกโก้ จึงออกแบบขวดให้คล้ายเมล็ดโกโก้  แต่กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างขวด Contour Bottle  หรือโค้กแก้วปัจจุบัน

2.ช็อกโกแลตชิป (Chocolate Chip)

คุกกี้ช็อกโกแลตชิปเป็นที่โปรดปรานของอเมริกันชนมา เนิ่นนาน ขนมนี้ปรากฏตัวครั้งแรกในทศวรรษ 1930 เมื่อ รูท เวกฟิลด์ เจ้าของโรมแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งในแมสซาชูเซตส์ ตัดสินใจสับช็อกโกแลตแท่งเป็นชิ้นเล็กๆ และผสมลงในแป้งดิบที่เตรียมไว้ทำคุกกี้เนย เวกฟิลด์คิดว่า ช็อกโกแลตจะละลายและทำให้คุกกี้มีสีน้ำตาลและมีรสชาติของช็อกโกแลต แต่กลับกลายเป็นว่า เธอประดิษฐ์คุกกี้ชนิดใหม่ที่มีเกล็ดช็อกโกแลตอยู่ข้างในซึ่งได้รับความนิยมอย่างเหลือเชื่อ เวกฟีลด์ได้ตกลงทำสัญญากับเนสท์เล่ในปี 1941 โดยอนุญาตให้เนสท์เล่ใส่สูตรของเธอในบรรจุภัณฑ์ช็อกโกแลตแบบแท่งเพื่อแลกกับการส่งช็อกโกแลตให้เธอตลอดชีวิต ในช่วงแรกเนสท์เล่ได้แถมเครื่องมือตัดไปกับช็อกโกแลตแบบแท่งด้วย ต่อมาเมื่อปี 1941 เนสท์เล่และคู่แข่งอย่างน้อยหนึ่งบริษัทได้เริ่มวางขายช็อกโกแลตชิปแยกต่างหากในท้องตลาด

3.กระดาษโน้ตโพสต์-อิต (Post-it)

เช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลจากการทดลองที่โชคร้ายของสเปนเซอร์ ซิลเวอร์จากบริษัท 3M ในปี 1968 ตอนนั้น สเปนเซอร์พยายามทำให้เทปที่มีใช้กันอยู่เหนียวติดทนนานยิ่งขึ้น โดยใช้วัสดุที่หนาจนไม่ยอมจมลงในพื้นผิว ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตเทปได้ การค้นพบนี้ถูกลืมไปจนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนร่วมงานของสเปนเซอร์ อาร์เธอร์ ฟราย นึกถึงวัสดุ ดังกล่าวขึ้นมา เพราะเกิดความรำคาญที่ที่คั่นหนังสือชอบเลื่อนหล่นไปจากหน้าเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่เขาไปร้องในโบสถ์ และเมื่อนำวัสดุของสเปนเซอร์มาใช้ที่คั่นหนังสือก็ไม่เลื่อนหล่นหายอีก ในปี 1977 บริษัท 3M จึงได้เริ่มวางขายกระดาษโน้ตติดกาว ตอนแรกใช้ชื่อว่า Press 'n Peel ต่อมาเปลี่ยนชื่อสินค้าเป็น “Post-it” ให้ตรงกับลักษณะการใช้งาน

ปัจจุบัน Post-it วางขายในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก มีการพัฒนาขนาดและรูปแบบเพิ่มขึ้นกว่า 4,000 แบบ

4.รถเข็นซื้อสินค้า

ซิลแวน โกลด์แมน เจ้าของสแตนดาร์ด ฟูด มาร์เก็ตส์ในโอกลาโฮมา ซิตี้ สหรัฐฯ ประดิษฐ์รถเข็นซื้อสินค้าเป็นรายแรกในปี 1936 จาก การเห็นลูกค้ารายหนึ่งวางถุงของชำหนักอึ้งบนของเล่นที่ใช้เชือกลากของลูก โกลด์แมนได้ไอเดียทันที เขานำไอเดียมาดัดแปลงจากเก้าอี้พับได้ เพียงใส่ตะกร้าไปตรงที่นั่งและมีมือจับแทนพนักเก้าอี้ ก็ได้นวัตกรรมนี้ขึ้นมา โกลด์แมนยังต่อเติมล้อให้เคลื่อนที่ได้ด้วย ติดตะกร้าและลูกล้อเล็กที่ขาเก้าอี้ทั้ง 4 ข้าง จากนั้นลูกค้าของเขาก็สามารถจับพนักเก้าอี้ รถเข็น เดินเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสบาย ก่อนจะคิดค้นต้นแบบรถเข็นทันสมัยโดยอาศัยความช่วยเหลือจากวิศวกรเครื่องจักร กล กระทั่งมีการผลิตรถเข็นสินค้ากันเป็นล่ำเป็นสันในปี 1947

แต่ปรากฏว่ารถเข็นของโกลด์แมนไม่โดนใจนักช็อปเลย พวกผู้ชายเห็นว่าเขามีกล้ามเป็นมัดๆ ที่จะหิ้วของได้ ส่วนผู้หญิงก็เบื่อกับการเข็นรถเข็นเด็กมาทั้งวัน โกลด์แมนจึงผ่าทางตันด้วยการทำโปสเตอร์โฆษณาขึ้นมา เป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่เหนื่อยล้าจากการถือของพะรุงพะรังในแขนข้างหนึ่ง ส่วนแขนอีกข้างถือกระเป๋าเงิน พร้อมข้อความว่า “ไม่ต้องทำแบบนี้อีกแล้วที่ร้านค้าที่ได้มาตรฐาน” โดยไม่มีรูปภาพรถเข็นในโปสเตอร์เลย แต่โกลด์แมนมีกลยุทธ์เด็ดโดยว่าจ้างนายแบบและนางแบบเข็นรถเข็นช็อปปิ้ง เป็นตัวอย่างให้นักช็อปเห็นถึงศักยภาพของรถเข็น ปรากฏว่าคราวนี้คนที่มาซื้อของลองใช้นวัตกรรมนี้กันยกใหญ่และพัฒนาจนหน้าตาเป็นรถเข็นที่เราเห็นในปัจจุบัน

5.มันฝรั่งทอดแบบแผ่น

ในปี ค.ศ 1853 ณ ร้านอาหารทะเลสาบคาริมูน ที่เมืองซาราโตก้า ในรัฐนิวยอร์กของประเทศอเมริกา ได้ถูกลูกค้าบ่นเรื่องมันฝรั่งทอด หรือเฟร้นฟาย ที่มีชิ้นหนาเกินไป เรื่องนี้ทำให้เชฟประจำร้านอย่าง George Crum พ่อครัวชาวผิวสี นั้นทำมันฝรั่งทอดขึ้นมาใหม่โดยหั่นให้มีชิ้นที่บางลง แต่ลูกค้าที่ได้รับประทานก็ยังบ่นเรื่องมันฝรั่งทอดชิ้นหนานี้อยู่ดี เขาจึงเริ่มฟันมันฝรั่งให้บางเฉียบที่สุด เท่าที่เขาจะทำได้ โดยความโมโหและประชดประชัน หลังจากนั้นจึงนำไปทอดให้กรอบพร้อมโรยเกลือที่เยอะมากกว่าปกติ ส่งคืนให้ลูกค้าเพื่อที่จะสั่งสอน แต่ปรากฏว่าลูกค้ากลับชอบมันมากและกลายไปที่นิยมมีการบอกต่อกันอย่างมากมาย เจ้าของร้าน Lake House Cary Moon ก็รีบประกาศออกไปทั่วเลยว่า นี่คือเมนูใหม่ของร้าน และเริ่มขายใส่กรวยกระดาษก่อนจะพัฒนาเป็นกล่องกระดาษในเวลาต่อมา

ตำนานอีกเรื่องหนึ่งก็เล่าว่าแคเทอรีน วิกส์ น้องสาวของจอร์จเป็นผู้คิดมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ หรือที่เรียกว่า ซาราโตกาชิพ (Saratoga chips) ขึ้นมาโดยบังเอิญ ขณะทำอาหารกับพี่ชาย เธอเผลอหั่นมันฝรั่งเป็นแผ่นบาง แล้วทำมันหล่นลงไปในตะแกรงทอด ซึ่งพอมันสุกก็ได้ความกรอบมาด้วย ทั้งนี้ บทบาทของแคเทอรีน วิกส์ กลายเป็นส่ิงที่ผู้คนจนจำ เพราะมีการกล่าวไว้ในข่าวประกาศมรณกรรมของเธอด้วยวัย 102 ปี เมื่อ ค.ศ. 1924 ด้วย

แต่น่าเสียดายว่า แม้ครัมจะเป็นผู้ทำให้มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบมีมาตรฐานขึ้นมา แต่เขากลับไม่เคยจดสิทธิบัตรไว้เลย สิ่งนี้ทำให้ผู้ประกอบการอย่าง ลอรา สคัดเดอร์ (Laura Scudder) และเฮอร์มาน เลย์ (Herman Lay) พัฒนาถุงกระดาษเคลือบขี้ผึ้งสำหรับบรรจุมันฝรั่งทอดชนิดนี้ จนกลายเป็นสินค้ายอดนิยมเมื่อ ค.ศ. 1932 ถึงตำนานกำเนิดโปเตโต้ชิพจะยังคลุมเครืออยู่ อันเป็นเอกลักษณ์ของตำนานที่เล่าขานกันมาโดยไม่มีการจดบันทึกก็ตามแต่ จอร์จ ครัมและแคเทอรีน วิกส์ ผู้น้องสาว ก็ยังคงเป็นบุคคลสำคัญในตำนานของขบเคี้ยวและยังเป็นที่จดจำในฐานะผู้คิดค้นตลอดไป

สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือเหตุบังเอิญ จนกลายมาเป็นของใช้ธรรมดา ๆ ในปัจจุบัน