5 นิทานชาดกสอนใจวัยทำงาน

5 นิทานชาดกสอนใจวัยทำงาน

 

นิทานชาดกคืออะไร

 เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก ชาดกที่ทรงเล่านั้นมีหลายร้อยเรื่อง ว่าทรงเคยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ 10 ชาติสุดท้ายที่เรียกว่าทศชาติชาดก และชาติสุดท้ายที่สุดที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร จึงเรียกเรื่องพระเวสสันดรนี้ว่า มหาเวสสันดรชาดก

1. นันทิวิสาลชาดก สอนใจการใช้คำพูดให้เกียรติผู้อื่น

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการพูดเสียดแทงให้เจ็บใจของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าคันธาระครองเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคนามว่า นันทิวิสาล เป็นโคมีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่งได้เลี้ยงและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทนบุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ในวันหนึ่ง ได้พูดกะพราหมณ์ว่า
      "พ่อ จงไปท้าพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเราสามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่ม ที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้ พนันด้วยเงินหนึ่งพันกหาปณะเถิด"

พราหมณ์ได้ไปที่บ้านเศรษฐีและตกลงกันตามนั้น นัดเดิมพันกันในวันรุ่งขึ้น     ในวันเดิมพัน พราหมณ์ได้เทียมโคนันทิวิสาลเข้าที่เกวียนเล่มแรก เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มผูกติดกันซึ่งบรรทุกทราย กรวดและหินเต็มลำ แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า
      "ไอ้โคโกง โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้"

ฝ่ายโคนันทิวิสาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น ก็คิดน้อยใจว่า
      "พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง ว่าโกง ผู้ไม่โง่ ว่าโง่"

จึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว โควินทกเศรษฐีจึงเรียกให้พราหมณ์นำเงินหนึ่งพันกหาปณะมาให้แล้วกลับบ้านไปฝ่ายพราหมณ์ผู้แพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ ปลดโคแล้วก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน ส่วนโคนันทิวิสาลเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า
      "พ่อ ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม เคยเหยียบใครๆ เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่ เพราะเหตุใด ท่านจึงเรียกเราว่า โคโกง โคโง่ ครั้งนี้เป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของฉัน บัดนี้ ขอให้ท่านไปเดิมพันกับโควินทกเศรษฐีใหม่ด้วยเงินสองพันกหาปณะ ขออย่างเดียว ท่านอย่าได้เรียกฉันว่า โคโกง โคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา ฉันจะไม่ทำให้ท่านเศร้าเสียใจ"

พราหมณ์ได้ทำตามที่โคนันทิวิสาลบอก ในวันเดิมพัน พราหมณ์จึงพูดหวานว่า
      "นันทิวิสาลลูกรัก เจ้าจงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด"

โคนันทวิสาลได้ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยการออกแรงลากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไปตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่ ทำให้พราหมณ์ชนะพนัน ด้วยเงินสองพันกหาปณะพระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วตรัสว่า
      "ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า คำหยาบ ไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน"

แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า
      "บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในกาลใดๆ เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลได้ลากสัมภาระอันหนักได้ ทั้งยังทำให้หราหมณ์ผู้นั้นได้ทรัพย์อีกด้วย ส่วนตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย" 

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก: หนังสือชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

2. วรุณชาดก ชาดก สอนใจการลำดับความสำคัญของงาน

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระติสสเถระ บุตรพ่อค้าเมืองสาวัตถี ผู้เกียจคร้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ท่านหนึ่ง มีลูกศิษย์อยู่ประมาณ ๕๐๐ คน วันหนึ่งพวกลูกศิษย์พากันเข้าป่าไปหาฟืน ในจำนวนนั้นมีมานพผู้เกียจคร้าน อยู่คนหนึ่ง ถือโอกาสที่เพื่อนเขาหักฟืน ไปปูผ้านอนหลับใต้ต้นกุ่ม

พอเพื่อนเขามัดฟืนได้แล้ว ก็หาบฟืนเดินผ่านไปใช้เท้าเตะปลุกเขาให้ตื่นขึ้น เขารีบขยี่ตา ปีนขึ้นต้นกุ่มจับได้กิ่งไม้สดกิ่งหนึ่งก็เหนี่ยวลงมาหักเพราะนึกว่าเป็นกิ่งไม้แห้ง กิ่งไม้สดนั้นก็ดีดตาข้างหนึ่งของเขาบอด เขารีบรวบรวมได้ฟืนหน่อยหนึ่งแล้วก็ตามเพื่อนกลับสำนัก

เย็นวันนั้น ชาวบ้านนอกมาเชิญพราหมณ์ไปประกอบพิธีในวันพรุ่งนี้ ขอให้พราหมณ์รับประทานข้าวเช้าก่อนไปเพราะบ้านอยู่ไกล อาจารย์จึงกำชับให้หญิงรับใช้ตื่นต้มข้าวต้มตั้งแต่เช้าตรู่ พอถึงเวลาใกล้รุ่งหญิงรับใช้ ไปนำฟืนไม้กุ่มสดที่มานพนั้นนำมาเป็นฟืนก่อไฟ จนตะวันขึ้นไฟก็ไม่ติด ทำให้พวกมานพไม่ได้ทานข้าวต้ม จึงไปเล่าเรื่องต่างๆให้อาจารย์ฟัง อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
     " งานซึ่งควรทำก่อน เขาทำทีหลัง เขาจะเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนมานพหักไม้กุ่มเดือดร้อนอยู่ "

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

3.สัญชีวชาดก สอนใจคบคนพาลคนพาลจะนำภัยมาสู่ตน

 ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ปรารภการยกย่องอสัตบุรุษของพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า

 ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์ประมาณ ๕๐๐ คน ในนั้นมีมานพคนหนึ่งชื่อ สัญชีวะ ได้เรียนมนต์ทำคนตายให้ฟื้นคืนมาได้แต่ไม่ได้เรียนมนต์สำหรับป้องกัน

   วันหนึ่ง เขาเข้าไปหาฟืนกับเพื่อน เห็นเสือตายตัวหนึ่งนอนตายอยู่ ก็พูดกับเพื่อนๆ ว่า
     " เราจะทำเสือตายตัวนี้ ให้ฟื้นคืนมา พวกท่านจะเชื่อเราหรือไม่ "
พวกเพื่อนๆไม่เชื่อและท้าว่า
    " ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงปลุกให้มันตื่นขึ้นมาเถิด " แล้วก็ต่างรีบปีนขึ้นต้นไม้ไป

   ส่วนนายสัญชีวะ ร่ายมนต์แล้วขว้างเสือตายด้วยก้อนหิน ทันใดนั้นเอง เสือได้ลุกขึ้น กระโดดกัดที่ก้านคอของเขา ทำให้เขาเสียชีวิตล้มลงตรงนั้นเอง ทั้งคนและสัตว์นอนตายในที่เดียวกัน พวกมานพขนฟืนไป แล้วบอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์ อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า

     " ผู้ใดยกย่องและคบหาคนชั่ว
       คนชั่วย่อมกระทำผู้นั้นแหละ ให้เป็นเหยื่อ 
       เหมือนเสือโคร่งที่สัญชีวมานพทำให้ฟื้นขึ้น แล้วทำเขานั้นแล ให้เป็นเหยื่อ "

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก: หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

4.อารามทูสกชาดก สอนใจใช้คนให้ถูกงาน

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภคนประทุษร้ายอุทยาน ในหมู่บ้านโกศลตำบลหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสีมีงานเทศกาลประจำปี ชาวเมืองต่างก็สนุกสนานรื่นเริง ในพระราชอุทยานมีลิงอาศัยอยู่ฝูงหนึ่ง คนเฝ้าสวนหลวงอยากจะไปเที่ยวงานประจำปีกับเขาด้วย จึงเข้าไปหาฝูงลิงแล้วพูดกับลิงหัวหน้าฝูงว่า
      " เจ้าลิง สวนหลวงนี้ มีอุปการะคุณแก่พวกเจ้ามาก พวกเจ้าได้ขบเคี้ยวดอก ผลและใบอ่อนของต้นไม้ในสวนหลวงนี้ บัดนี้ ในเมืองมีงานเทศกาลประจำปี เราอยากจะไปเที่ยวบ้าง เราอยากจะวานให้พวกเจ้าช่วยรดน้ำต้นไม้ ที่กำลังปลูกใหม่ในสวนนี้ แทนเราจะได้ไหม ? "

ลิงรับว่าได้ คนเฝ้าสวนหลวงก่อนจะเข้าไปเที่ยวในเมือง กำชับว่า
      " พวกท่านอย่าประมาทนะ " แล้วมอบอุปกรณ์ตักน้ำให้แก่พวกลิง

ลิงตัวหัวหน้าฝูง ได้กล่าวกะพวกลิงผู้ถือเอาอุปกรณ์ตักน้ำเตรียมพร้อมที่จะรดน้ำต้นไม้ว่า
     " ท่านทั้งหลาย ธรรมดาน้ำเป็นของหายาก พวกท่านเมื่อจะรดน้ำต้นไม้ พึงรดตามความต้องการของต้นไม้ ด้วยการถอนต้นไม้ขึ้นมาดู ต้นไหนรากยาวก็จงรดน้ำให้มากๆ ต้นไหนรากสั้นก็จงรดน้ำให้แต่น้อย "

พวกลิงรับคำแล้วก็ทำตามนั้น สร้างความเสียหายแก่ต้นไม้เป็นจำนวนมาก

ในขณะนั้น ได้มีชายบัณฑิตคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้า จึงถามความนั้นแก่ฝูงลิง พวกลิงจึงบอกว่าหัวหน้าให้ทำเช่นนั้น เขาจึงคิดว่า
      " โอ! เจ้าลิงโง่ ช่างไม่ฉลาดเสียเลย คิดจะทำประโยชน์ แต่กลับทำความฉิบหายเสียนี่ "

แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
     " ผู้ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงจะบำเพ็ญประโยชน์ ก็ไม่สามารถ จะนำความสุขมาได้เลย คนมีปัญญาทรามทำประโยชน์ให้เสียหายเหมือนลิงเฝ้าสวน "

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

5. มหาอุกกุสชาดก สอนใจคบมิตรเเท้

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภอุบาสกผู้ผูกมิตรคนหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธ ว่า...

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชาวบ้านกลุ่มหนี่งประกอบอาชีพล่าสัตว์ พอทราบว่าป่าใดมีสัตว์มากก็จะพากันตั้งแค้มป์พักอยู่ใกล้ป่านั้นล่าสัตว์ อยู่ต่อมาได้พากันไปล่าสัตว์ในป่าแห่งหนึ่งในป่านั้นล่าสัตว์ อยู่ต่อมาได้พากันไปล่าสัตว์ในป่าแห่งหนึ่ง ในป่านั้นมีสระเกิดเองโดยธรรมชาติสระหนึ่ง มีสัตว์ ๔ ชนิดอาศัยอยู่รอบสระ ด้านขวามือของสระมีเหยี่ยว ๒ ผัวเมียอาศียอยู่ ด้านเนือมีราชสีห์ ด้านตะวันออกมีพญานกออก (นกเหยี่ยวขนาดใหญ่ชนิดหนี่ง ชอบหากินปลาในทะเล) และในสระมีเต่าอาศัยอยู่ สมัยนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์

          วันหนึ่งเหยี่ยวสามีได้ปรึกษาภรรยาว่า "นี่น้อง..เราควรจะมีลูกน้อยได้แล้วละ" ภรรยากล่าวว่า "พี่.. เรายังไม่มีมิตรสักคนเลย ถ้าเกิดภัยอันตรายขึ้นมา เราจะไปพึ่งใคร ก่อนแต่จะมีลูกน้อย น้องว่าเราควรจะเข้าไปผูกมิตรกับสัตว์อีก ๓ ตัวนั้นก่อน" สามีเห็นดีด้วยเมื่อผูกมิตรกับสัตว์ทั้ง ๓ ตัวแล้ว จึงไปทำรังอยู่ที่ต้นกระทุ่มต้นหนึ่งข้างสระน้ำนั้น ไม่นานก็มีลูกน้อย ๒ ตัว

          อยู่มาวันหนึ่ง พวกชาวบ้านกลุ่มนั้นพากันตระเวนล่าสัตว์ป่าตลอดวันไม่ได้สัตว์อะไรสักตัวเลยปรึกษากันว่า "เมื่อไม่ได้อะไรพวกเราก็พักอยู่ในป่านี่แหละ ได้อะไรแล้วค่อยกลับคืนบ้าน" ตกลงพักค้างคืนใต้ต้นกระทุ่มต้นนั้น เมื่อมียุงมารุมกัดพวกเขาจึงก่อกองไฟขึ้น ควันไฟได้รมลูกนกเหยี่ยวมันจึงพากันร้อง พวกเขาจึงพูดกันว่า "เสียงลูกนกนี่ หาอะไรไม่ได้ทั้งวันหิวจนตาลายอยู่แล้ว มัดคบเพลิงเร็ว จะขึ้นไปนำมันลงมาปิ้งกัน" แม่เหยี่ยวพอลูกส่งเสียงร้องก็ทราบว่ามีภัยอันตรายแล้ว จึงรีบบินบอกสามีให้ไปขอความช่วยเหรือจากพญานกออก

          พญานกออกยินดีช่วยเหลือได้บินไปจับอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ข้างเคียง พอชาวบ้านคนหนึ่งถือคบเพลิงปีนขึ้นต้นไม้ใกล้จะถึงรังนกเหยี่ยว มันก็รีบบินลงในสระน้ำนำมาดับคบเพลิง คนนั้นก็จะลงมาจุดคบเพลิงและปีนขึ้นไปใหม่ ใกล้จะถึงรังนกเหยี่ยวก็ถูกพญานกออกดับคบเพลิงอีก เป็นอยู่ลักษณะเช่นนี้จนถึงเที่ยงคืน พญานกออกเหน็ดเหนื่อยจนตาแดงก่ำ เหยี่ยวเห็นพญานกออกเหน็ดเหนื่อมากแล้วจึงขอบคุณและให้กลับไปพักผ่อนส่วนตนรีบขอความช่วยเหลือจากเต่า เต่าใหญ่ขึ้นมาจากสระน้ำนำเปลือกตมและสาหร่ายขึ้นไปดับกองไฟ แล้วหมอบอยู่

          พวกชาวบ้านเห็นเต่าใหญ่ขึ้นมาจากสระน้ำมาดับไฟก็พากันหันมาจับเต่าแทน ช่วยกันดึงเถาวัลย์ และแก้ผ้านุ่งผูกเต่าดึงไว้กลับถูกเต่าใหญ่ลากลงสระน้ำไป ต่างคนก็สะบักสบอมได้กินน้ำจนพุงกาง ขึ้นจากสระน้ำแล้วพากนบ่นพึมพำว่า "พวกเราเหวย ..นกออกคอยดับคบเพลิงเราตั้งครึ่งคืน คราวนี้โดนเต่าใหญ่ลากลงน้ำได้กินน้ำจนพุงกาง ก่อไฟขึ้นใหม่เถอะเรา เมื่ออรุณขึ้นแล้วค่อยกินลูกเหยี่ยวก็ได้" ว่าแล้วกากันเก็บฟืนมาก่อไฟขึ้นใหม่

          ส่วนเหยี่ยว ๒ ผัวเมียหารือกันว่า "คงจะต้องถึงเวลาไปขอความช่วยเหลือจากท่านราชสีห์แล้วละทีนี้" เหยี่ยวสามีจึงไปขอความช่วยเหลือจากท่านราชสีห์ ราชสีห์รับคำแล้วเดินไปที่กองไฟของพวกชาวบ้าน พวกเขาพอเห็นราชสีห์เดินมาต่างก็พากันกลัวตายร้องเสียงหลงว่า "ครั้งแรกนกออกคอยดับคบเพลิง เต่าใหญ่มาทำให้พวกเราผ้าเปียก คราวนี้ราชสีห์จักมาเอาชีวิตพวกเราแล้วต่างพากันแตกตื่นวิ่งหนีกระเจิงไป

          ราชสีห์เดินไปใต้ต้นกระทุ่มไม่เห็นมีใครหลงเหลืออยู่เลย ไม่นานเหยี่ยว พญานกออก และเต่าก็เข้ามาหา ราชสีห์จึงให้โอวาทว่า " ต่อแต่นี้ไป สูเจ้าทั้งหลายอย่าทำลายมิตรธรรม อยู่อย่างไม่ประมาทเถิด" แล้วก็กลับที่อยู่ของตน สัตว์ต่าง ๆ ก็แยกย้ายกลับที่อยู่ของตนไป แม่เหยี่ยวมองดูลูกน้อยของตนแล้วพูดขึ้นว่า "เพราะอาศัยมิตรแท้ ๆ เราจึงรักษาลูกๆ ไว้ได้" แล้วจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

          "บุคคลพึงคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ด้วยกำลังแห่งมิตร เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยบุตรทั้งหลาย บันเทิงอยู่ เหมือนเกราะที่บุคคลสวมแล้วป้องกันลูกศรทั้งหลายได้ฉะนั้น"

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:หนังสือนิทานชาดก โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)

5 นิทานชาดกสอนใจวัยทำงาน