มาตรการช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ (จากเงินของเรา ๆ) จากกองทุนประกันสังคมในปีที่ผ่านมา
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดแบบนี้ ทำให้ธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจเล็ก ๆ ต่างได้รับผลกระทบไปทุกคน ไม่ใช่แค่นายจ้างแต่ลูกจ้างหรือพนักงานก็โดนกันไปด้วย และแน่นอน ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เข้าระบบ "ประกันสังคม" ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับทุก ๆ คน แต่ผมเชื่อว่าต้องมีพวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือน ต้องมีคิดบ้างแหละ จ่ายเงินสบทบประกันสังคมไปทุกเดือน (เงินสมทบ 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน) แต่กลับได้รับการ "เยียวยาโควิด" ค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มอื่น? (ถ้าเปรียบเทียบการช่วยเหลือจากมาตการ "ม.33 เรารักกัน" กับการช่วยเหลือมาตรการอื่น ๆ)
ถึงตรงนี้คนที่ทำงานอย่างเดียว ไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อนอาจมี เอ๊ะ? บ้างแล้ว
เราจะพาย้อนไปดูมาตรการช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ (จากเงินของเรา ๆ) จากกองทุนประกันสังคมในปีที่ผ่านมาครับ
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้ โดยทั่วไปหากเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมจำนวน 5% ของเงินเดือน ทุกเดือน
ตรงนี้ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีมาตรการช่วยเหลือมีการ ปรับลดจ่ายอัตราเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2563 - จนถึงปัจจุบัน มีการปรับลดเดือนไหนบ้าง รวมเป็นจำนวนเท่าไหร่แล้วเรารวบรวมมาให้แล้วครับ
1. "ประกันสังคม" ปล่อยมาตรการช่วยเยียวยาผลกระทบ "โควิด-19" ลดอัตรา "เงินสมทบ" ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39
ครั้งแรก มีนาคม - พฤษภาคม 2563 ระยะเวลา 3 เดือน
นายจ้างเหลือ 4% (สูงสุด 600 บาท)
ลูกจ้างเหลือ 1% (สูงสุด 150 บาท) = 1800
กลับมา 5% มิถุนายน 2563
ครั้งที่ 2 กันยายน - พฤศจิกายน 2563 ระยะเวลา 3 เดือน
นายจ้างเหลือ 2% (สูงสุด 300 บาท)
ลูกจ้างเหลือ 2% (สูงสุด 300 บาท) = 1350
กลับมา 5% ธันวาคม 2563
ครั้งที่ 3 มกราคม 2564
นายจ้างเหลือ 3% (สูงสุด 450 บาท)
ลูกจ้างเหลือ 3% (สูงสุด 450 บาท) = 300
ครั้งที่ 4 กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 ระยะเวลา 2 เดือน
นายจ้างเหลือ 3% (สูงสุด 450 บาท)
ลูกจ้างเหลือ 0.5% (สูงสุด 75 บาท) = 1350
ครั้งที่ 5 มิถุนายน - สิงหาคม 2564 ระยะเวลา 3 เดือน
นายจ้างเหลือ 2.5% (สูงสุด 375 บาท)
ลูกจ้างเหลือ 2.5% (สูงสุด 375 บาท) = 1125
ถ้าเปรียบเทียบจากอัตราการเก็บอัตราสูงสุด5% (ฐานเงินเดือน 15000 บาท)
จากมาตรการช่วยเยียวยานี้ทางประกันสังคมช่วยเยียวยาพวกเราเป็นจำนวนเงิน 5,925 บาท (อาจมากหรือน้อยกว่านี้ แนะนำให้ตรวจสอบกับบริษัทนะครับ)
2. สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (โควิด-19)
ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ซึ่งเงินเยียวยานี้จะจ่ายให้กับ "ลูกจ้าง" ที่อยู่ใน "ประกันสังคม มาตรา 33" ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข
คือต้องเป็น "ลูกจ้าง" ที่ต้องหยุดงานกรณีกักตัวหรือราชการสั่งปิดสถานที่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยจะได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวัง หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว (แล้วแต่กรณี) รวมกันไม่เกิน 90 วัน และถ้าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง ก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
โดยคำว่า "เหตุสุดวิสัย" ที่ให้มีการ "จ่ายเงินทดแทนได้" หมายถึง ภัยที่เกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนถึงขนาดที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือ นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การกำหนดให้กรณีมีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
ขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยา กรณีเหตุสุดวิสัยจาก "โควิด-19"
กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ระลอกใหม่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดจากรัฐ จะต้องดำเนินการเพื่อขอรับ "เงินเยียวยา" กับ "นายจ้าง" ตามขั้นตอนเบื้องต้น ดังนี้
1. ลูกจ้างกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) แล้วส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก
2. นายจ้างรวบรวมแบบคำขอ (สปส.2-01/7) จากลูกจ้างทุกคนที่ยื่น
3. นายจ้างบันทึกข้อมูลในระบบ e-service (www.sso.go.th) ใส่ข้อมูลลูกจ้างตามแบบคำขอ (สปส.2-01/7) แนบหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
4. นายจ้างนำส่งแบบคำขอ (สปส.2-01/7) ไปที่ สนง.ประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการ
5. สนง.ประกันสังคม ได้รับข้อมูลพร้อมตรวจสอบให้ถูกต้องครบถ้วน จากนั้นจะทำการอนุมัติจ่ายรอบแรก เงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ *กรณีเงินไม่เข้าบัญชี โทร.สายด่วน 1506
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนประกันสังคม