ผ่าทุกปมสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่านเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน”

ผ่าทุกปมสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่านเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน”

เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม 2564) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับช่อง RAMA Channel จัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน”

เป็นรายการที่จำเป็นต้องดูเพื่อไขข้อข้องใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 เมื่อ 6 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยร่วมตอบทุกคำถามเกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทั้งประสิทธิภาพและผลข้างเคียง โดยเฉพาะของที่ไทยเราเตรียมฉีดให้ประชาชน อย่าง ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนกับไวรัสกลายพันธุ์

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ  รองหัวหน้าภาควิชากุมาร เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลโดยการเสวนาครั้งนี้ได้ผู้ดำเนินรายการรุ่นใหญ่ข้อมูลแน่นอย่าง คุณสุทธิชัย หยุ่น นักข่าวอาวุโสของเมืองไทย เป็นพิธีกรดำเนินรายการ โดยยิงคำถามแต่ละข้อได้โช๊ะ ๆ ตรงเป้า ตรงประเด็นมาก ๆ เราเลยขอรวบรวมคำตอบที่คนสงสัยกันมากที่สุดมารวมไว้ให้อ่านแบบสรุปได้ที่นี่

ความเห็นจาก ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“จากจำนวนคนไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1.7 แสนคน ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน แต่ทุกวันมีคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ประมาณ 1-2 ใน 100 คนทุกวัน จึงควรกลัวโรคมากกว่ากลัววัคซีน ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน คนที่เป็นแผลพบประมาณ 1 ในแสนคน ส่วนคนที่มีอาการไข้ ปวดบวมแดงร้อน พบประมาณ 10% และหากพบว่าฉีดวัคซีนแล้วมีไข้ขึ้นสูง โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาวจะแสดงถึงปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีน ยิ่งไข้สูงภูมิคุ้มกันก็จะสูงขึ้นตามด้วย โดยจะมีอาการประมาณ 1-2 วัน ร่างกายก็จะปกติ แต่ในผู้สูงอายุ อย่าง คุณพ่ออายุ 92 ปี หลังจากฉีดแล้ว พบว่าไม่มีไข้ และใช้ชีวิตปกติ ต่างจากพี่สาวอายุ 60 ปี มีอาการไข้ต้องนอนพักถึง 2 วัน จึงหายเป็นปกติ

“ส่วนมีอาการชาข้างใดข้างหนึ่ง ก็เป็นปฏิกิริยา ที่บ่งบอกถึงร่างกายอาจจะยังไม่พร้อม มีอาการอ่อนเพลีย หรืออาการกลัว ก็จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน - 1 สัปดาห์ถึงหายเป็นปกติ  จึงไม่ต้องตกใจทุกอย่างปลอดภัย ไม่มีใครเสียชีวิต พิการ หรืออันตรายเรื้อรังถาวร ทั้งนี้ ณ จุดที่มีการฉีดวัคซีนจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ในการแก้ดูแลหากมีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงคอยให้ความช่วยเหลือ

“อย่างประเทศสก็อตแลนด์ ที่มีการตีพิมพ์ผลงานของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า โดยลักษณะการปูพรมฉีดเข็มเดียวให้กับประชากร และมีการวัดประสิทธิผลออกมาดีเท่ากัน 90% ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้  ซึ่งเป็นโมเดลที่ควรจะนำมาใช้กับประเทศไทย จึงอยากขอให้ทุกคนกลัวโควิด-19 อย่ากลัวการฉีดวัคซีน ฉีดก่อนป้องกันก่อน และเราทุกคนจะปลอดภัย ทำให้โควิด-19 จากโรคร้ายกลายเป็นโรคหวัดธรรมดาด้วยวัคซีน

“ในกรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกยี่ห้อหนึ่ง แล้วเข็มที่สองอีกยี่ห้อ ยังไม่มีผลการศึกษาหรือข้อมูลอย่างชัดเจน ดังนั้นตอนนี้แนะนำให้ใช้ยี่ห้อเดียวกันทั้ง 2 เข็ม แต่ถ้ามีความจำเป็น อย่าง หากมีอาการแพ้ยี่ห้อหนึ่งในเข็มแรก เข็มที่สองก็สามารถเปลี่ยนได้ เท่าที่มีการศึกษาการใช้วัคซีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนยี่ห้อไม่ได้ทำให้เกิดผลเสีย เพียงแต่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าภูมิคุ้มกันจะเสริมได้ดีขึ้นแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่มีปัญหา”

ความเห็นจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า

“วิกฤตครั้งนี้จะแก้ได้ด้วยวัคซีน ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 1,300 ล้านโดส แต่เป้าหมายของทั่วโลก คือ 10,000 ล้านโดส สำหรับไทยต้องไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส จึงจะยุติวิกฤตได้ จะเห็นได้ว่าทั่วโลกทำไมถึงต้องไขว่คว้าหาวัคซีน และขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1,300 ล้านโดส โดยมีเป้าหมายางน้อยอย่อยู่ที่ 10,000 ล้านโดส ซึ่งในประเทศไทยก็ต้องฉีดให้ครบไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส

“ในเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย อย่าง สายพันธุ์อังกฤษไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาหรือบราซิล ยอมรับว่าอาจจะมีผลบ้าง แต่ในสายพันธุ์อินเดียยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงหรือไม่  และการฉีดวัคซีนสำหรับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการทำการศึกษาพบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในคนอายุน้อยจะมีอาการข้างเคียงมากกว่าผู้สูงอายุ

“และซิโนแวค ฉีดได้สำหรับคนทุกวัยมีอาการข้างเคียงน้อย  ทั้งนี้ คนที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ก็ยังคงต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะเมื่อเป็นแล้วหายเปรียบเสมือนกับได้ฉีด 1 เข็ม หากได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 1 เข็ม หลังจากนั้นช่วง 3-6 เดือน ภูมิต้านทานในร่างกายที่เพิ่มขึ้น แต่ในกรณีที่ติดเชื้อแล้วหายกว่า 1 ปี แนะนำให้ฉีดใหม่ครบ 2 เข็ม

“เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่มีประชากรจำนวนประมาณ 65 ล้านคนเท่ากัน โดยอังกฤษมีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ประชากรได้ฉีดเข็มแรกครอบคลุมกว่า 70% ซึ่งในวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ ในขณะที่ฝรั่งเศสมีความกังวลผลข้างเคียงการเกิดภาวะลิ่มเลือด จึงทำให้ชะลอการฉีดวัคซีน ประชากรที่ได้ฉีดเข็มแรกจึงอยู่ที่ 34% ทำให้พบผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ถึง 1-2 หมื่นคนต่อวัน และผู้เสียชีวิตอีก 200-300 คนต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องรีบฉีดให้ได้มากที่สุดและไวที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19

“มีการศึกษาเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์มาก โดยสายพันธุ์แอฟริกา อังกฤษ และบราซิล เบื้องต้น สายพันธุ์อังกฤษซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดใน กทม.และปริมณฑลนั้น ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

“สายพันธุ์แอฟริกา เรายอมรับว่า อาจจะมีผลบ้าง แต่จำนวนผลที่ลดลงมา คล้าย ๆ ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยังเพียงพอ หรือแม้กระทั่งแต่สายพันธุ์บราซิลก็ตาม เมื่อมาดูสายพันธุ์อินเดีย ตอนนี้มีเพียงข้อมูลว่าแพร่ได้เร็ว แต่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดว่า ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนด้อยลงไปหรือไม่ ดังนั้น คงต้องรอสักหน่อย แต่ผมคิดว่า วัคซีนที่ปูพรมฉีดไป อย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะด้อยลงนิดนึง แต่สามารถปกป้องคนส่วนใหญ่ การฉีดวัคซีนในหมู่มาก เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาด้วย”

ความเห็นจาก ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“สำหรับความกังวลการเกิดภาวะลิ่มเลือด เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดลิ้มเลือดอุดตันทั่วไป โดยเฉพาะในประชากรไทยจะมีการเกิดลิ้มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำต่ำกว่าประชากรตะวันตกประมาณ 10 เท่า อาจจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม และจากข่าวที่เผยแพร่จากในฝั่งยุโรปว่ามีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ คือ นอกจากมีลิ่มเลือดอุดตันยังมีเกล็ดเลือดต่ำด้วย ซึ่งจะเจอน้อยมากในประชากร 1 ในแสนคน ถึง 1 ในล้านคน จึงไม่ต้องตกใจ

“เพราะอาการดังกล่าวอาจจะเกิดเพราะการตอบสนองของภูมิต้านทานในร่างกายบังคับ ถ้ารุนแรงเกินไปก็จะไปกระตุ้นให้เกล็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา สามารถรักษาได้ แต่โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีมากในคนไทยหากติดโควิด-19 ซึ่งคนไข้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ที่มีอาการปอดอักเสบเรื้อรัง อยู่ในไอซียู ประมาณร้อยละ 20 คนไข้จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ดังนั้นหากกลัวเกิดลิ้มเลือดอุดตันอยากจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ดีกว่า เพราะจากที่มีการฉีดวัคซีนในคนไทยยังไม่มีใครเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ

“ส่วนที่ได้ยินข่าวภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษและเกล็ดเลือดต่ำในอังกฤษหรือยุโรป ซึ่งพบน้อยมาก 1 ใน 100,000 ถึง 1 ใน 1,000,000 คน คิดว่าไม่ต้องตกใจ เกิดจากการตอบสนองของภูมิต้านทานในร่างกายที่รุนแรงเกินไป จะไปกระตุ้นเกล็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่หากพบอาการก็สามารถรักษาหายได้

“รามาธิบดีมีการศึกษาผู้ที่ฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว พบว่า ยังไม่มีใครที่เกิดภูมิต้านทานที่สัมพันธ์กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันสูงกว่าปกติ และไทยยังไม่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ”

ความเห็นจาก ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม  นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“เมื่อฉีดวัคซีนโอกาสที่จะติด โควิด-19 ลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง และเมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านไป ภูมิต้านทานยิ่งเพิ่มขึ้น ความแตกต่างระหว่างฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า มีความแตกต่างอย่างมาก เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 จะลดลงถึง 50% ทันที และเมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้มีความปลอดภัย

“สำหรับประสิทธิภาพยี่ห้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เมื่อทำกราฟเปรียบเทียบจะเห็นว่ามีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้การทดลองในแต่ละชนิดไม่ได้ทำในสถานที่เดียวกัน จะมีการเปรียบเทียบตรง ๆ ไม่ได้ แต่ก็เห็นประสิทธิภาพของวัคซีน โดยเทียบการป้องกันโควิด-19 ในประชากรที่ฉีดวัคซีน 1,000 คน จะป้องกันได้ 10-20 คน

“การทดลองวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ไม่ได้ทดลองในสถานที่และเวลาเดียวกัน ดังนั้น จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งแต่ละที่สายพันธุ์ต่างกัน แม้สายพันธุ์ต่างกันแต่ประสิทธิภาพของวัคซีนถ้าเทียบกันประสิทธิภาพไม่ต่างกัน อย่างวัคซีนที่ไทยมีคือซิโนแวค และแอสตราเซเนกา เมื่อนำกราฟมาเทียบกันแทบจะเป็นเส้นเดียวกัน

“ในวงการแพทย์ไม่ได้กังวลมากเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะแต่ละตัวดูแล้วใกล้เคียงกันมาก ใช้ได้หมดเลย ใครมาก่อนฉีดวัคซีนก่อน มีภูมิก่อน ดังนั้น อย่าลังเล”

ความเห็นจาก รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ  รองหัวหน้าภาควิชากุมาร เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กที่มีมากขึ้น อย่าง ผู้ติดเชื้อเด็กที่รักษาอยู่รพ.จุฬาฯ ประมาณ 100 ราย ดังนั้นในระหว่างที่เด็กกำลังรอการฉีดวัคซีน คงต้องรอผู้ใหญ่ในสังคมที่จะช่วยกันฉีดวัคซีนให้ไปถึง 70% เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่เด็ก

“สำหรับวัคซีน เราไม่ควรนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นยี่ห้อไหน เพราะมันเป็นโรคระบาดระดับโลก ฉะนั้นที่เราต้องวัดก็คือต้องฉีดวัคซีนให้จำนวนประชากรมากที่สุด อย่างจำนวน 20% 40% 60% ผลลัพธ์ก็จะแตกต่างกัน เราต้องไปวัดจากจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนค่ะ ส่วนวัคซีนยี่ห้ออะไรก็เปรียบเหมือนอาหารที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นเราต้องไปดูตัวอย่างจากประเทศที่เขาฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากอย่างอังกฤษ เพราะตอนนี้เขาไม่มียอดผู้เสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 แล้ว”

ความเห็นจาก รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“ในแต่ละประเทศใช้วัคซีนแตกต่างกัน เช่น อิสราเอลใช้ไฟเซอร์เป็นหลัก สหรัฐฯ ใช้ไฟเซอร์และโมเดอร์นา อังกฤษใช้แอสตราเซเนกา และจีนใช้ซิโนแวค ฉีดกัน 200 - 300 ล้านโดส ก็พบว่าแต่ละประเทศเหล่านี้มีสถานการณ์ดีขึ้น คนป่วยน้อยลง เสียชีวิตน้อยลง และกำลังจะเปิดประเทศได้โดยเร็ว

“ตั้งแต่ร่วมรับผิดชอบการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ยืนยันว่า มีความพร้อมและดูแลดีที่สุด เพราะหลังการฉีดวัคซีนจะมีการเก็บข้อมูลว่าใครได้วัคซีนยี่ห้ออะไร ล็อตไหนแบบเรียลไทม์ ดังนั้น หากมีอาการผลข้างเคียงแล้วไปโรงพยาบาลใด ก็จะสามารถดูได้ทันทีว่าคนนี้ได้วัคซีนอะไรมา และเมื่อฉีดเสร็จจะดูอาการ 30 นาทีทุกคน ซึ่งใครจะเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงทีมแพทย์จะสามารถช่วยเหลือและรักษาได้ทันท่วงที

“การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน ด้วยระบบที่ได้ถูกออกแบบไว้ให้พร้อมและปลอดภัยมากกว่าการฉีดครั้งไหน ๆ ในประเทศไทย”

 

ผ่าทุกปมสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่านเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน”