มาสด้าเปิดแผนยุทธศาสตร์การบริหารสู้วิกฤตโควิด
มาสด้าเปิดแผนยุทธศาสตร์การบริหารสู้วิกฤตโควิด ดึงดีลเลอร์ พนักงาน และลูกค้า รวมเป็นหนึ่งเดียว พร้อมตั้งเป้าปีนี้โต 30%
จากการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสล้วนส่งผลกระทบในวงกว้างและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความมุ่งมั่นของ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ได้เปิดแผนยุทธศาสตร์การบริหารเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เน้นทำงานร่วมกันเป็นทีมภายใต้แนวคิด “One Mazda” ผลักดันประสิทธิภาพทุกหน่วยงานและดูแลลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายให้ครบ 150 แห่งภายในปีงบประมาณนี้
นอกจากนี้มาสด้ายังได้แถลงความสำเร็จการดำเนินธุรกิจประจำปีงบประมาณ 2020 หรือ Fiscal Year 2020 ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขยอดขายรถยนต์ใหม่ทะลุ 4 หมื่นคัน ทั้งรถเก๋งและรถอเนกประสงค์ต่างเก็บยอดขายเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะมาสด้า2 และ CX-30 ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างล้นหลาม พร้อมประกาศเดินหน้าท้าโควิดด้วยการตั้งเป้ายอดขายสูงถึง 52,000 คัน ชิงส่วนแบ่งการตลาด 6.2% หรือเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 30%
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จของมาสด้าในปีงบประมาณ 2020 (ระหว่างเดือนเมษายน 2563 – มีนาคม 2564) ที่ผ่านมาว่า แม้ตลาดรถยนต์ในช่วงปีที่ผ่านมาจะมีการแข่งขันที่สูงมาก อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกรอบทิศทาง แต่มาสด้าก็ยังสามารถทำยอดขายรวมทะลุ 4 หมื่นคัน ขยายตัวลดลง 23% ครองส่วนแบ่งการตลาด 5.1% ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง 17% ด้วยตัวเลขยอดขายรวมทั้งสิ้น 786,877 คัน ซึ่งแม้ว่าจำนวนยอดขายรวมรถยนต์มาสด้าจะลดลง แต่มาสด้า ประเทศไทย ก็ยังคงเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดของมาสด้าทั่วโลก
สรุปยอดขายรถยนต์มาสด้าประจำปีงบประมาณ 2020 อยู่ที่ 40,004 คัน แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลด้วยจำนวนที่สูงถึง 23,548 คัน โดยเฉพาะมาสด้า2 ยังคงร้อนแรงต่อเนื่องด้วยยอดขายเกินกว่าครึ่งมีจำนวนสูงถึง 20,741 คัน ตามมาด้วยรถเก๋งมาสด้า3 อีกจำนวน 2,800 คัน ในขณะที่รถปิกอัพ บีที-50 ก็กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กันด้วยยอดขายกว่า 2,471 คัน ส่วนรถยนต์อเนกประสงค์ตระกูล CX-Series จำนวน 13,985 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 134% อันได้แก่ รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวี CX-30 มียอดขายสูงสุดถึง 7,582 ตามมาด้วย CX-3 จำนวน 3,100 คัน CX-8 จำนวน 1,917 และ CX-5 จำนวน 1,386 คัน และสุดท้ายรถยนต์ MX-5 รถสปอร์ตเปิดประทุนแบรนด์ไอคอนระดับตำนานของมาสด้ามียอดขายรวมอีก 7 คัน
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าประจำปีงบประมาณ 2563 เทียบกับปีงบประมาณ 2562
ข้อมูลการขายรถ เมษายน 2563 – มีนาคม 2564 เมษายน 2562 – มีนาคม 2563 % เปลี่ยนแปลง
MAZDA2 20,741 36,260 - 43
MAZDA3 2,800 4,775 - 41
MAZDA CX-3 3,100 1,739 + 78
MAZDA CX-30 7,582 441 + 1,619
MAZDA CX-5 1,386 2,466 - 44
MAZDA CX-8 1,917 1,320 + 45
MAZDA BT-50 2,471 4,679 - 47
MAZDA MX-5 7 22 - 68
ยอดรวม 40,004 51,702 - 23
สำหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกของปี 2564 แม้จะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม โดยเฉพาะจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวลง แต่รถยนต์มาสด้ายังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า อันเนื่องมาจากแผนกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด การนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และการยกระดับมาตรฐานการให้บริการหลังการขาย ที่ล้วนทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ จึงทำให้มาสด้าสามารถปิดยอดขายในไตรมาสแรกได้สูงถึง 10,890 คัน เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งมียอดขายรวมที่ 10,152 คัน
โดยเฉพาะรถยนต์นั่งซึ่งมาสด้า2 ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยจำนวน 5,686 คัน, มาสด้า3 จำนวน 704 คัน ตามมาด้วยรถปิกอัพมาสด้า บีที-50 มียอดขายรวม 429 คัน ส่วนรถอเนกประสงค์ตระกูล CX-Series มียอดรวมทั้งสิ้น 4,071 เพิ่มขึ้นสูงถึง 126% นำโด่งโดย CX-30 ครอสโอเวอร์ที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีและมียอดขายรวมมาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 2,298 คัน ตามติดด้วย CX-3 จำนวน 1,189 คัน CX-8 มียอดขายสูงถึง 354 คัน และ CX-5 จำนวน 230 คัน ตามลำดับ
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าไตรมาสแรกปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกปี 2563
ข้อมูลการขายรถ ไตรมาสแรก 2564 ไตรมาสแรก 2563 % เปลี่ยนแปลง
MAZDA2 5,686 6,733 - 16
MAZDA3 704 945 - 26
MAZDA CX-3 1,189 322 + 269
MAZDA CX-30 2,298 441 + 421
MAZDA CX-5 230 467 - 51
MAZDA CX-8 354 575 - 39
MAZDA BT-50 429 667 - 36
Mazda MX-5 0 1 na
ยอดรวม 10,890 10,152 + 7
นอกจากนี้ นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรระหว่างประเทศท่ามกลาง
วิกฤตโควิด-19 เพิ่มเติมว่า “มาสด้าเชื่อว่าการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จะสามารถนำพาให้องค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายได้” ซึ่งนโยบายการบริหารองค์กรของมาสด้า วางอยู่บนพื้นฐานดังต่อไปนี้
การบริหารองค์กรระหว่างประเทศด้วยการจัดการทรัพยากรบุคคล
องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยบุคลากรเป็นหลัก จึงเน้นการทำงานที่ผสานระหว่างความแตกต่างของปัจเจกบุคคลและให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ เพื่อให้พนักงานในทุกระดับสามารถนำมาใช้ประกอบกับการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เน้นความสำคัญของการสื่อสารแบบครบวงจรที่ตอบรับกับสังคมในยุคดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงเป้าหมายของบริษัท และสามารถทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายเดียวกันนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้การดูแลผู้จำหน่ายอย่างทั่วถึง เพราะผู้จำหน่ายคือกำลังสำคัญที่จะส่งเสริมให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง และส่งมอบบริการที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าได้
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว “One Mazda”
การประสบความสำเร็จอาจต้องใช้ทักษะส่วนบุคคล แต่การจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยทีมที่แข็งแกร่ง ดังนั้นการสร้าง “แบรนด์” ให้เกิดความแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาวจำเป็นต้องสร้างทีม มาสด้าจึงนำยุทธ์ศาสตร์การทำงานเป็นทีม หรือ “One Mazda” ด้วยการหลอมรวมทุกหน่วยงานเข้าสู่รูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพ และไร้รอยต่อในทุกภาคส่วน ทั้งการขาย การบริการหลังการขาย และการผลิตให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทั้งมาสด้าเซลส์ประเทศไทย มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รวมถึงผู้จำหน่าย เพื่อจะได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เป็น “One Mazda One Team” ที่ทุกคนล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
การบริหารงานโดยมีมาสด้า ประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง
บริหารองค์กรในลักษณะ Distribution Business ที่มีมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง และผู้จำหน่ายเป็นด่านแรกในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีไปยังลูกค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เรายึดหลักว่า ต้องให้การดูแลผู้จำหน่ายอย่างดีที่สุด ประเมินว่าสิ่งใดที่ทำแล้วเกิดผลดีต่อทั้งบริษัทและผู้จำหน่าย เน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิผล เพราะถ้าหากผู้จำหน่ายอยู่ไม่ได้ มาสด้าก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน ก็ยังทำงานควบคู่ไปกับมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น การผลักดันให้ผู้บริหารคนไทย และพนักงานทุกคนที่มีความเข้าใจในตลาด และเข้าใจความต้องการของลูกค้าคนไทย ได้มีโอกาสบริการจัดการอย่างเต็มที่ในทุกๆ ฟังก์ชัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดต่อลูกค้า ตามแนวคิด “Optimize Global and Local Initiatives, Empower local Thai Management Team”
การบริหารความแตกต่างด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
เราได้นำข้อดีจากความต่างของสองวัฒนธรรมมาใช้ในการบริหารงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในองค์กรของเรามีทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นที่ทำงานร่วมกัน ดังนั้น เราจึงเน้นการขจัดอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงาน เช่น อุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อลดความไม่เข้าใจและเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ส่งเสริมความเข้าใจของแต่ละวัฒนธรรมการทำงาน และนำข้อดีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สื่อสารกับ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ถึงความต้องการและเสียงสะท้อนของลูกค้าในประเทศไทยในด้านต่างๆ เพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ประธานบริหารยังได้แสดงวิสัยทัศน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่า “แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นทิศทางที่สดใสอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศและทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะชะลอตัวลงและต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่เรายังมีความหวังว่า ด้วยแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน และจากความร่วมแรงร่วมใจกันจากทุกภาคส่วนเชื่อว่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งมาสด้าเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ด้วยกลยุทธ์หลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
การบริหารธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด
เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การบริหารธุรกิจต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดคิด สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและส่งผลในทางลบต่อการดำเนินธุรกิจ และผู้บริโภคในวงกว้าง ปัจจัยสำคัญคือการสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารและการจัดการ เมื่อสถานการณ์ตลาดไม่เอื้ออำนวยและทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เราต้องเน้นให้เกิดทักษะการบริหารงานจากความผิดพลาดเพื่อปรับเกม ปรับแท็คติก ที่สอดรับกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งการบริหารงานลักษณะนี้จำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะส่วนบุคคลของพนักงาน แบบ Meta Skill ที่ต้องมองปัจจัยรอบด้าน เข้าใจองค์ประกอบของปัญหา ปรับวิกฤตของสถานการณ์ให้เป็นโอกาส จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ใช้ประสบการณ์รอบด้านที่เก็บสะสมมา การทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ใช้จุดแข็งของตัวเองและคนในทีมเพื่อกำจัดจุดอ่อน และสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การให้อำนาจในการตัดสินใจและความคล่องตัวในการบริหาร ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ทันต่อเวลาและสถานการณ์ การเรียนรู้จากการผิดพลาดหรือ Resilience skill คือหัวใจของการบริหารงานภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับวิกฤต และนำไปสู่ความสามารถในการก้าวพ้นวิกฤตได้ดีกว่าคู่แข่ง
กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์
มาสด้าจะยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้กลยุทธ์ “Product and Technology Value Enhancement” เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดและนำเสนอแต่สิ่งที่ดีให้แก่ลูกค้า โดยต้องเป็นผลิตภัณที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ด้วยการพัฒนาคุณค่าของแบรนด์ในทุกๆ ด้าน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของความต้องการลูกค้าเป็นหลัก เพื่อสร้างสรรค์ให้รถยนต์ของเราสามารถนำมาซึ่งความสนุกสนานในการขับขี่ และช่วยให้ทุกช่วงเวลาบนท้องถนนเต็มไปด้วยความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้มาสด้าได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (xEV) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภท HEV, PHEV และ BEV เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้เตรียมพร้อมเพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเป็นไปทีละขั้นตอน จากวิสัยทัศน์ Mazda Building Block Strategy ซึ่งมี 3 องค์ประกอบคือ
1. กรอบเวลาของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์
2. การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
3. การเปลี่ยนถ่ายจากเทคโนโลยีปัจจุบันสู่เทคโนโลยีอนาคตในช่วงเวลาที่เหมาะสม
กลยุทธ์ด้านการขายและยุทธศาสตร์การบริหารเครือข่ายผู้จำหน่าย
สร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาศักยภาพผู้จำหน่าย พร้อมนำ KPI มาเป็นดัชนีชี้วัด โดยผู้จำหน่ายจะต้องมีผลกำไรที่ดีและสามารถส่งมอบความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ ควบคู่กับให้การสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งในโชว์รูมและห้างสรรพสินค้า โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำในทุกๆ เดือน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้มาตรการการป้องกันโควิด-19 พร้อมเตรียมขยายเครือข่ายผู้จำหน่าย จากปัจจุบัน 138 เป็น 150 แห่ง ภายในปีงบประมาณนี้
กลยุทธ์ด้านบริการหลังการขายและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า
ยกระดับการบริการหลังการขาย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที ด้วยการเปิดตัวบริการ Mazda Fast Track ที่ให้บริการแบบเร่งด่วนแก่ลูกค้าที่มีเวลาจำกัดภายในระยะเวลา 60 นาที รวมถึงแผนการเปิดให้บริการแบบ Fast Service (Satellite) ที่พัฒนาเป็นศูนย์บริการมาตรฐานขนาดย่อมเพิ่มเติมจากศูนย์บริการหลัก เพื่อยกระดับการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว พร้อมยังได้พัฒนาการส่งมอบอะไหล่และการขนส่ง โดยได้ปรับปรุงทั้งคุณภาพและราคาจนเป็นที่ยอมรับในตลาด หรือบางชิ้นส่วนมีราคาที่ต่ำกว่าตลาด ด้านการจัดส่งอะไหล่ไปยังศูนย์บริการ มีบริการจัดส่ง 2 รอบต่อวัน สำหรับเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และต่างจังหวัด 1 รอบต่อวัน
“นอกจากนี้นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ารับการบริการได้ทุกโชว์รูมทั่วประเทศ และเพื่อลบภาพจำเรื่องของค่าแรงในการให้บริการที่ไม่เท่ากัน มาสด้าขอประกาศอย่างเป็นทางการว่า ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์มาสด้ารุ่นใหม่ทุกรุ่นจะได้รับแพ็คเกจพิเศษ คือ ฟรีค่าแรงเช็กระยะตลอด 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจที่จะร่วมเข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวมาสด้า และให้คำมั่นสัญญาว่า มาสด้าจะให้การดูแลรถของลูกค้าไปตลอดอายุการใช้งาน” นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติม
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลยุทธ์ของมาสด้ารถยนต์พรีเมียมสัญชาติญี่ปุ่น ที่จะมาเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2564 และมาสด้าพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อจะให้รถยนต์มาสด้าได้เข้าไปครองใจลูกค้าชาวไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน