5 เหตุผลที่คุณเศร้าทิพย์
เคยเป็นกันไหมอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเศร้าขึ้นมาแบบไร้สาเหตุ วันนี้เปิดประตูเข้าบ้านก็อยากจะทรุดตัวลงนั่งเปิดเพลงดิ่ง ๆ คลอตัวเองให้ซึมเฉย ๆ ไม่อยากเจอผู้คน ไม่อยากออกจากบ้าน แต่ก็ใช่ว่าจะมีเรื่องราวก่อนหน้าที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าเลยแม้แต่น้อย หรือนี่คือสิ่งที่เค้าเรียกว่า “เศร้าทิพย์” อาการเศร้าที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุ เช่น จู่ๆก็เก็บตัวอยู่คนเดียว ขึ้นสเตตัสดิ่ง ๆ ฟังเพลงเศร้า ร้องไห้คนเดียวแบบที่หาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น เรามาคลายความสงสัยอาการ “เศร้าทิพย์” ว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไรบ้างกันดีกว่าค่ะ
1. ฤดูเปลี่ยน
- ฟังดูแปลกแต่จริง สภาพอากาศนั้นมีผลต่ออารมณ์ของคนเรามากกว่าที่เราคิด หลายคนเมื่อมีการเปลี่ยนฤดูจะรู้สึกหดหู่และเศร้าได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาว เราเรียกกลุ่มอากาศเหล่านี้ว่า S.A.D. หรือ Seasonal Affective Disorder เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวผู้ที่มีอาการ S.A.D. จะรู้สึกหดหู่ เหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้ เก็บตัวผิดปกติ และมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมๆ ของทุกปี ลองสังเกตตนเองและคนใกล้ตัวกันเล็กน้อยว่าคุณเศร้าในช่วงนั้นหรือเปล่า คุณอาจมีอาการ S.A.D. ก็เป็นได้
2. ฟังเพลงเศร้า
- ไม่ได้อกหัก รักคุด โดนทิ้งแต่อย่างใด แต่จู่ ๆ ก็อยากจะเศร้าทิพย์เปิดเพลย์ลิสยิงเพลงเศร้าดึงให้ตัวเองดิ่งยาว ๆ จริงๆแล้วเพลงเศร้านั้นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเศร้าเสมอไป จากการวิจัยพบว่า เพลงเศร้านั้นกลับทำให้อาการผู้ป่วยซึมเศร้าดีขึ้นมากกว่าให้ฟังเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานมากกว่า เพราะเพลงเศร้าทำให้อารมณ์ของคนเป็นซึมเศร้ามั่นคงขึ้น มีสมาธิขึ้น นอกจากนี้คนฟังเพลงเศร้ามักมีนิสัยใจคอเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและเปิดกว้างในการรับฟัง คนที่อยู่ดี ๆ มาฟังเพลงเศร้านั่นอาจเพราะลึก ๆ แล้วต้องการสมาธิหรืออาจเป็นคนที่มีพื้นฐานเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั่นเอง!
3. ไม่ค่อยเจอแสงแดด
แสงแดดนั้นช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ที่มีส่วนช่วยในการผลิตฮอร์โมนเรียกความรู้สึกตื่นตัวได้ หากเราเศร้า มีอารมณ์ขุ่นมัวแบบงง ๆ นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยได้พบแสงแดด ลองเดินเล่นวันละ 15 นาทีในช่วงเช้าเพื่อให้ร่างกายได้เจอแสงแดดบ้าง อาการเศร้าทิพย์จะได้โดนดีดให้กระเด็นไป
4. ภาวะเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- สภาวะเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนอาจเป็นสาเหตุของการเศร้าทิพย์ หลังคลอดคุณแม่หลายคนต้องเผชิญกับอาการเหวี่ยงของฮอร์โมนทำให้ป่วยเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือก่อนเป็นประจำเดือนผู้หญิงบางคนจะมีอาการ PMS หรือ Premenstrual Syndrom ทำให้อารมณ์อ่อนไหวง่ายและเศร้าง่าย
5. สารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ
- สดใสอยู่ดีๆ แต่อาทิตย์ต่อมากลับรู้สึกหดหู่แบบอธิบายไม่ได้ ถ้าคุณมีอาการสับสนทางอารมณ์ เศร้าผิดปกติทั้งที่ไม่มีสาเหตุใดๆ คุณอาจมีอาการไบโพลาร์ หรือซึมเศร้าได้ การขึ้นลงของอารมณ์นั้นจะผิดปกติ อาจเป็นวันเดือนหรือปี ซึ่งเกิดจากการที่สมองของเรานั้นทำงานผิดปกติทำให้ส่งสารสื่อประสาทผิดจากเดิม ดังนั้นหากคุณเข้าข่ายข้อนี้อาจต้องลองปรึกษาหาทางรักษากับจิตเเพทย์เพื่อหาทางออกค่ะ