Center Composition
การจัดองค์ประกอบภาพ (Composition) ถือเป็นพื้นฐานของการถ่ายภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของงานศิลปะ โดยหลักการจัดองค์ประกอบภาพ “กฎสามส่วน” เป็นหนึ่งในไบเบิ้ลที่ช่างภาพทั่วโลกยึดไว้เป็นพื้นฐาน แต่คนส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการถ่ายภาพโดยให้สิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอไว้ตรงกลางของภาพ เราลองมาพัฒนาวิธีการในการจัดองค์ประกอบภาพที่เราคุ้นเคย (คือให้วัตถุหรือแบบอยู่ตรงกลางภาพ)กันดูนะครับ ผมว่าวิธีนี้แม้ไม่ถูกตามกฎแต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้วิธีอื่นได้เหมือนกัน
ตัวอย่างภาพทั้งสาม ผมได้ถ่ายภาพจากตลาดพอร์ทโทเบลโล (Portobello Market) ตลาดนัดอันแสนคึกคักในกรุงลอนดอน มีร้านค้ามากมายหลากหลาย ทั้งขายเสื้อผ้า ของเก่า ของสะสม และของแปลก ๆ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง “Notting Hill” หากท่านผู้อ่านได้มาเยี่ยมเยียนมหานครลอนดอน อยากให้ลองมาเดินเล่นช้อปปิ้งที่นี้ รับรองว่านอกจากได้ของถูกใจแล้ว อาจจะได้ภาพถ่ายสวย ๆ จากฝีมือท่านผู้อ่านเองกลับไปเป็นที่ระลึกด้วยนะครับ
ศิลปินเล่นดนตรีเปิดหมวกบนเวทีข้างถนน
ผมเฝ้ารอจังหวะพื้นที่ว่างตรงหน้าของศิลปินท่านนี้ท่ามกลางผู้คนที่เดินขวักไขว่จะเปิดออก และต้องการที่จะให้ศิลปินเป็นจุดสนใจหลักในภาพ ผู้คนที่เดินไปมาสร้างเรื่องราวอันเปล่าเปลี่ยวของนักดนตรีท่านนี้ที่ไม่มีคนสนใจที่จะฟัง และการที่มีผู้คนเดินผ่านทั้งด้านหน้าและด้านหลังของนักดนตรียังช่วยบีบมุมมองให้ไปสนใจที่จุดตรงกลาง อีกทั้งยังเพิ่มความลึกของภาพให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น
นักสะสมภาพโบราณ
การใช้รูปภาพที่อยู่ล้อมรอบชายคนนี้ สร้างเรื่องราวว่าเขากำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน อีกทั้งทำหน้าที่สร้างเส้นนำสายตาที่จะช่วยสร้างมิติ ความลึก และนำสายตาของผู้ชมไปยังจุดที่เราต้องการได้ การจัดองค์ประกอบให้นักสะสมภาพโบราณท่านนี้อยู่ตรงกลางพอดีจะทำให้ภาพดูสมมาตร
ช่างภาพวัยเยาว์
การใช้เส้นสายของรูปทรงรถยนต์เป็นเส้นนำสายตาไปหาช่างภาพตัวน้อยที่กำลังถ่ายภาพของเล่นบนฝากระโปรงรถ โดยมีฉากหลังเป็นผู้คนที่หันหลังอยู่ทั้งหมด แต่มีแบบของเราเพียงคนเดียวที่หันหน้ามา ทำให้เกิดจุดสนใจเพียงจุดเดียวเท่านั้นในภาพ หลักการจัดองค์ประกอบภาพ นอกจากการใช้เส้นนำสายตา การเน้นสี การเน้นรูปร่าง การเน้นรูปทรง การเน้นพื้นผิว ถ้ามีใครบอกกับท่านผู้อ่านว่า ไม่ควรวางจุดสนใจตรงกลางภาพ เพราะจะทำให้ไม่น่าสนใจ ภาพดูน่าเบื่อและนิ่งเกินไป อีกทั้งยังไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้ดี ก็คงจะไม่จริงเสมอไป งานศิลปะนั้นยากที่จะมีใครมาตีกรอบได้อย่างชัดเจนว่าดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร แต่เราก็ควรศึกษาข้อมูลและศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ แต่ก็ไม่ควรให้สิ่งเหล่านี้มาจำกัดกรอบความคิดที่จะสื่อสารผลงานออกมา ทุกสิ่งล้วนมีสองด้านเสมอ บางทีท่านผู้อ่านอาจจะทำลายและสร้างแนวคิดการจัดองค์ประกอบขึ้นมาใหม่ก็ได้ ขอให้ท่านผู้อ่านมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ