รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม

รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยของเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของพืชพรรณนานาชนิด หนึ่งในนั้นเป็นพืชที่คุ้นเคยกันดีและนิยมนำมาประกอบอาหารได้สารพัดเมนู นั่นคือผักบุ้ง และเมื่อไม่นานมานี้นักวิจัยไทยได้ค้นพบพืชในวงศ์ผักบุ้งชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษาโรคได้ในป่าธรรมชาติของประเทศไทยบริเวณรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเขตป่าอุดมสมบูรณ์

“หลังจากจบปริญญาเอกแล้วก็ได้มีโอกาสไปทำโพสต์ด็อกที่สวนพฤกษศาสตร์คิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับงานทางด้านอนุกรมวิธานพืช โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพรรณพืชจากทั่วโลก ที่นั่นทำให้เราได้รู้จักกับผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายท่าน และได้พูดคุยงานวิจัยกับ Dr. George Staples นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกันอีกครั้ง ซึ่งสมัยเรียนปริญญาโท เคยทำงานร่วมกันเพียงช่วงสั้น ๆ หลังจากจบโพสต์ด็อกก็ได้มาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลยมีโอกาสได้ทำงานวิจัยที่ตัวเองชอบแบบจริงจัง โดยทำงานร่วมกับ Dr.Staples จากงานวิจัยได้พบพืชอีกหลายชนิดที่คาดว่าจะเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก 
“เราเลือกทำกลุ่มพืชให้มันแคบลง โดยศึกษาพืชกลุ่มนี้ทั่วโลก เน้นที่ประเทศไทย เนื่องจากมีคนศึกษาน้อย พืชวงศ์ผักบุ้งเป็นกลุ่มใหญ่ วงศ์ (Family) สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ลงมาอีก เรียกว่าสกุล ชื่อสกุลของผักบุ้ง มันเทศน์ และ ดอกชมจันทร์ ที่เรารับประทาน คือ Ipomoea L. แต่เราเลือกศึกษาวิจัยพี่น้องของเขา คือสกุลเครือพูเงิน (Argyreia Lour.) ซึ่งทั่วโลกมีประมาณ 135 ชนิด ในประเทศไทยมีมากกว่า 40 ชนิด จำนวนชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกอยู่เสมอ
“เวลาเราเจอพืชชนิดใหม่ในป่าธรรมชาติ ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ต้องเปรียบเทียบกับตัวอย่างพืชต้นแบบ (Type Specimens) กับหลาย ๆ ชนิด ใกล้เคียง คือไม่ใช่ว่าพอเราเจอในป่าแล้วจะสามารถบอกได้เลยว่าเป็นพืชชนิดใหม่ มันต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ ใช้เวลานานเป็นปี ๆ มีบางชนิดก็ 5-6 ปี กว่าที่จะแน่ใจ ก็มีที่ต้องเดินทางไปเทียบตัวอย่างต้นแบบ ที่ Kew และก็พิพิธภัณฑ์พืชอื่น ๆ ในต่างประเทศ ให้มั่นใจก่อนว่านี่คือ New Species จริง ๆ จากนั้นจึงจะมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติทางพฤกษศาสตร์  
“ซึ่งการจะตั้งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เราจะต้องมีตัวอย่างต้นแบบสำหรับอ้างอิง พืชทุกชนิดในสกุลเครือพูเงินก็จะมีตัวอย่างต้นแบบ เรากับ Dr.Staples ศึกษาพืชกลุ่มนี้ที่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลกเพราะฉะนั้นจะโชคดีหน่อย เพราะจะมีภาพถ่ายของตัวอย่างต้นแบบที่เราและ Dr.Staples เคยไปศึกษาในพิพิธภัณฑ์พืชต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว เอาไว้ให้ศึกษาก่อนนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างจริง 
“ส่วนพืชทั้ง 5 ชนิดที่เราเพิ่งค้นพบ เรียกง่าย ๆ คือ เป็นผักบุ้งเลื้อยในสกุลเครือพูเงิน ได้แก่ “เครือพูพิสุทธิ์” (Argyreia albiflora Staples & Traiperm) “เครือพูลานสาง” (Argyreia ankylophlebia Traiperm & Staples) “เครือพูดอกหอม” (Argyreia dokmaihom Traiperm & Staples) “เครือพูพวงผกา” (Argyreia inaequisepala Traiperm & Staples) และ “จิงจ้อภาชี” (Argyreia suddeeana Traiperm & Staples) โดยพืชทั้ง 5 ชนิดนี้ถูกตีพิมพ์รับรองแล้วในวารสาร Phytotaxa ของ ประเทศนิวซีแลนด์และ Systematic Botany ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวารสารวิชาการทางพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลก 
“การค้นพบของเรามันน่าสนใจตรงที่พืชในสกุลเครือพูเงิน มีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloid) อยู่ ซึ่งสารเหล่านี้เคยถูกใช้มานานแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งในจีนและอียิปต์ อย่างเช่น ในใบระบาด ซึ่งจะมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งใช้รักษาเกี่ยวกับโรคไมเกรน และพาร์กินสัน ได้ 
“งานวิจัยการค้นพบพืชชนิดใหม่ ทำให้รู้ว่ายังมีพืชอีกหลายชนิดที่อาจเป็นประโยชน์และเรายังไม่รู้จัก มีความสำคัญกับงานวิจัยต่อยอด บ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดยังไม่เป็นระบบ การนำมาใช้ประโยชน์ยังจำกัดอยู่กับพืชชนิดเดิม ๆ เพราะการส่งเสริมงานวิจัยด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายจากภาครัฐยังมีน้อยมาก ทุนวิจัยส่วนใหญ่เน้นไปทางนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อปากท้องของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันสัมพันธ์กันไปหมด พืช มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ทั้งนั้น ต้องอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกัน” 
หากมีการสนับสนุนศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับสาระสำคัญในพืชสกุลนี้ต่อไป โดยใช้พื้นฐานทางอนุกรมวิธานที่เรามีอยู่ แล้วร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในด้านสารเคมีในพืช เพื่อวิจัยต่อยอดอย่างจริงจัง ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจค้นพบสารอัลคาลอยด์ที่มีปริมาณสูงในพืชสกุลเครือพูเงิน และนำมาต่อยอดเป็นยารักษาโรคเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในวงการการแพทย์ได้มหาศาลในอนาคต 

Know Her
•    ศึกษาจบปริญญาเอกที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
•    ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ALTERNATIVES FOR HERBAL MEDICINE