อัครศิลปิน

อัครศิลปิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระอัจฉริยภาพในศิลปะด้านต่าง ๆ นานัปการ ทรงเป็นมิ่งขวัญและแรงบันดาลใจให้ศิลปินหลากหลายสาขา และทรงเป็นพลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานให้พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานาม “อัครศิลปิน” แด่พระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

พระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” พระองค์ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณทั้ง จากพสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ ทรงเป็นเอตทัคคะในศิลปะหลายสาขา อาทิ

ด้านจิตรกรรม จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ มีจำนวนถึง 47 ภาพ สามารถจำแนกได้ ใน 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ภาพเหมือนจริง (Realistic) ภาพแสดงออกทางอารมณ์ (Expressionism) และศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism)

ด้านประติมากรรม ประติมากรรมฝีพระหัตถ์เป็นประติมากรรมลอยตัว (Round relief) ได้แก่ รูปปั้นดินน้ำมันเป็นรูปผู้หญิงเปลือยนั่งคุกเข่า และพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูปเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้แนวพระราชดำริ แก่ช่างปั้นพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะงดงาม มีลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ดูมีพระเมตตาสงบและเยือกเย็นสุขุม และได้ทรงทดลองหล่อพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อพระราชทานไประดิษฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร

ด้านการถ่ายภาพ ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนทรงเป็นนักถ่ายภาพผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะคิดค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ส่วนใหญ่เป็นภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และภาพถ่ายสถานที่ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎร เป็นต้น

ด้านหัตถศิลป์ ทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่าง ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง เป็นต้น โปรดที่จะต่อเรือใบฝีพระหัตถ์ที่สำคัญมี 3 ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise 
Class) เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class)

ด้านดุริยางคศิลป์ ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีหลายชนิดโดยมีเครื่องดนตรีที่โปรดปราน เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต นอกจากนี้ยังทรงกีตาร์และเปียโน โดยพระองค์ท่านได้ทรงดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย อาทิ เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) ยอดนักคลาริเน็ตชื่อก้องโลก หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักเป่าทรัมเป็ต แจ็ค ทีการ์เดอร์ (Jack Teagarder) นักตีระนาดเหล็กสากล สแตน เก็ตส์ (Stan Getz) นักเป่าแซกโซโฟนชื่อดัง ทรงสนพระราชหฤทัยวิชาดนตรีอย่างจริงจังและทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งจนถึงการเขียนโน้ตและการบรรเลงแบบคลาสสิก

นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์ เพลงไว้ถึง 48 เพลง โดยบรรเลงในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งในลีลาของเพลงแจ๊ส คลาสสิก เพลงสมัยนิยม บทเพลงขับร้อง บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกคือ “แสงเทียน” ในขณะที่มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา บทเพลงพระราชนิพนธ์นั้นมีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองก่อนและใส่เนื้อร้อง ภาษาอังกฤษภายหลัง 5 เพลง คือ แว่ว (Echo) ในดวงใจนิรันดร์ (Still on my mind) เตือนใจ (Old Fashioned Melody) ไร้เดือน (No Moon) และเกาะในฝัน (Dream Island) ส่วนเพลงที่พระราชนิพนธ์คำร้องก่อน และใส่ทำนองภายหลัง คือ ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เฉพาะทำนองเพลง และโปรดฯ ให้ผู้อื่นประพันธ์เนื้อเพลง มีทั้งสิ้น 41 เพลง

ด้านวรรณศิลป์ และวาทศิลป์ พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์จะเห็นได้จากผลงานพระราชนิพนธ์ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นผลงานที่แสดงทั้งความสนพระราชหฤทัยในเรื่องต่าง ๆ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดเรื่องนั้น ๆ ออกมาเป็นตัวอักษร 
พระราชนิพนธ์เล่มแรก ได้แก่ พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 

พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระและติโต นอกจากนี้ยังทรงเขียนบทความที่พระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงอีกจำนวน 10 บทความ

ด้านภูมิสถาปัตยกรรม งานภูมิทัศน์และการออกแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นงานที่มักจะพระราชทานพระราชดำริ พระราชวินิจฉัย หรือพระราชประสงค์ให้คณะทำงานรับไปปฏิบัติ โดยมีได้ทรงปฏิบัติเองดังเช่นงานช่างกลุ่มอื่น ๆ 

 

พระอัจฉริยภาพ ด้านศิลปกรรม

 

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีมากมาย เพราะจิตรกรรมเป็นศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่พระองค์สนพระราชหฤทัยมาก จนกระทั่งได้ทรงฝึกฝนเขียนภาพด้วยพระองค์เอง จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในระยะแรก ๆ จะเป็นที่ทราบกันและมีโอกาสได้ชมกันในวงแคบ เฉพาะผู้ที่สนใจในงานด้านนี้เท่านั้น 

บรรดาศิลปินอาวุโสและมีชื่อเสียงของไทยซึ่งเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เพื่อร่วมปฏิสันถารและแข่งขันการวาดภาพ ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ท่านในช่วงระยะเวลาระหว่างที่พระองค์สนพระราชหฤทัยใคร่จะได้มีผู้สนใจงานด้านนี้ไว้เพื่อทรงวิสาสะด้วย จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เพื่อถวายคำปรึกษาในการเขียนภาพ 

ในระยะนั้นมีอาจารย์เหม เวชกร, อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ, อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง, อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์, อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์, อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ และอาจารย์อวบ สาณะเสน ศิลปินที่กล่าวนามมานี้ ต่างก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มี อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ และอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น 

จากปากคำของศิลปินเหล่านี้เป็นที่ทราบว่าพระองค์ทรงเขียนภาพด้วยพระองค์เองตามแนวพระราชดำริ การถวายคำปรึกษานั้นเป็นเพียงด้านเทคนิคในการเขียนภาพเท่านั้น และพระองค์มักจะมีพระราชดำรัสถามแต่เพียงว่า "พอไปได้ไหม"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ครั้งที่ยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ประมาณ พ.ศ.2480-2488) โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เองทรงฝึกเขียนเอง และทรงศึกษาจากตำราต่าง ๆ ทั้งที่ทรงซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตร วิธีการทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สี การผสมสี ตลอดจน เทคนิควิธีการต่าง ๆ 

เมื่อทรงเข้าพระราชหฤทัยการทำงานของเขาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ก็มิใช่ว่าจะเสด็จฯ ไปเพียงครั้งเดียว แต่จะเสด็จฯ ไปบ่อย ๆ จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์งานของศิลปินเหล่านั้น
เป็นอย่างดี การที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงานของศิลปินที่พระองค์สนพระราชหฤทัยนั้น มิใช่เพื่อจะทรงลอกเลียนแบบงานของศิลปินเหล่านั้น เพียงแต่พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง

ภายหลังที่เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังเมื่อราว พ.ศ.2502 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญบรรดาจิตรกรไทยเข้าเฝ้าฯ ร่วมสังสรรค์ด้วยเป็นครั้งคราว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารบ้าง มาร่วมเขียนภาพแข่งขันกันบ้าง การเขียนภาพทรงใช้เวลาเมื่อว่างพระราชภารกิจในตอนค่ำหรือตอนกลางคืน โดยทรงใช้ทั้งแสงไฟฟ้าและแสงธรรมชาติ ภาพที่ทรงเขียนส่วนมากจะเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ ซึ่งมักจะเป็นภาพเขียนครึ่งพระองค์เป็นส่วนใหญ่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมอยู่เสมอ เมื่อทรงว่างเว้นจากพระราชภารกิจคราวที่เสด็จฯ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เป็นการส่วนพระองค์และเสด็จฯ เยี่ยมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ขณะประทับเพื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ต แคว้นซัสเซกส์ พ.ศ.2509 ทรงซื้อหนังสือและสีเขียนภาพกลับมาด้วย

ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เริ่มเผยแพร่มากขึ้นในคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพเข้าร่วมแสดง ในการแสดงศิลปกรรม ครั้งที่ 14 ปี พ.ศ.2506 และในครั้งต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ.2508 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม 

และในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี กรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีจำนวน 47 ภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 เมษายน พ.ศ.2525 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงผลงานศิลปะของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ให้ประชาชนไทยและชาวต่างประเทศได้ชมกันทั่วถึง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์เท่าที่ปรากฏแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ ลักษณะหนึ่งเป็นภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) อีกลักษณะหนึ่ง คือ โดยคตินิยมแบบลัทธิ Expressionism และที่ได้เห็นกันช่วงหลัง ๆ เป็นศิลปะแบบนามธรรม (Abstractionism)

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งแบ่งออกเป็นแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มิได้หมายความว่า พระองค์ทรงเขียนตามวิธีการในศิลปะนั้น หากแต่ลักษณะการแสดงออกเป็นไปในแบบอย่างที่ใกล้เคียงกัน เทคนิคที่ทรงใช้มากในการเขียนภาพคือ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ

ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์ว่าทรงวาดเอง มิได้ทรงปล่อยให้แบบหรือแนวทางของผู้ใดเข้ามามีอิทธิพลต่อกับงานเขียนภาพ และในการวาดภาพนั้นก็ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่นคือ ทรงวาดตามที่พระราชหฤทัยนึกจะวาด มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์ท่านออกมาจากพระจินตนาการของพระองค์เอง ฉะนั้นเมื่อชมภาพเขียนฝีพระหัตถ์ก็จะเห็นชัดแจ้งถึงลักษณะที่เป็นอิสระเฉพาะตัว

 

 

ภาพเขียนแบบเหมือนจริงที่ทรงเขียน ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและทูลกระหม่อมทุกพระองค์ นอกเหนือจากภาพดังกล่าว ได้แก่ ภาพที่ชื่อ "สมเด็จพระราชบิดา" ภาพเหล่านี้มีความกลมกลืน งดงามของแสงเงาอย่างนุ่มนวล ให้บรรยากาศลึกซึ้ง ชวนฝัน และที่ทรงใช้ฝีแปรงอย่างกล้าหาญมากกว่าภาพอื่น ๆ ก็คือ ภาพหญิงชรา (ไม่ประทานชื่อ 11-6-07) เป็นต้น

สำหรับภาพเขียนแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์นั้นทรงแสดงออกด้วยพระอารมณ์ความรู้สึกที่ออกมาจากส่วนลึกของพระราชหฤทัยโดยตรง มิได้ทรงกลั่นกรองให้เกิดความสวยงามหรือถูกต้องใด ๆ มีลักษณะเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ ทรงใช้สีอย่างกล้าหาญสดใส และรุนแรง

ส่วนภาพเขียนแบบนามธรรม เป็นผลงานที่พระองค์ทรงพัฒนามาจากงานเขียนในลักษณะ "เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์" จนกลายเป็นการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกอย่างอิสระ ปราศจากรูปทรงและเรื่องราว มีความรู้สึกจริงจัง แฝงอยู่ในผลงานที่แสดงออกด้วยการใช้ฝีแปรงหยาบ ๆ สีสันที่ตัดกันลงตัว เช่น ภาพชื่อ "ดินน้ำลมไฟ" เป็นต้น

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือนซึ่งเหมือนจริง และละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือนอันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงเคยใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่นภาพที่พระราชทานชื่อว่า "วัฏฏะ" "โลภะ" "โทสะ" "ยุแหย่" "อ่อนโยน" "บุคลิกซ้อน" ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารักได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ไม่สู้จะตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงานทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้ง
บางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย"

พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานจิตรกรรมตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงราว ๆ พ.ศ.2510 ก็มิได้ทรงเขียนภาพอีก เพราะทรงมีพระราชภารกิจด้านอื่นที่ต้องทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่เพื่อประชาชน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรและทรงเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของราษฎร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกจำนวนมากทั้งด้าน การเกษตร การชลประทาน ฯลฯ เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม จึงไม่ทรงมีเวลาสร้างผลงานด้านจิตรกรรม ถึงกระนั้นก็ปรากฏว่ามีภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่เผยแพร่แล้วจำนวน 47 ภาพ และที่ยังไม่เคยเผยแพร่อีกจำนวนประมาณ 60 ภาพ 

ขอขอบคุณ www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com และ http://kanchanapisek.or.th/

 

.................................................

“ข้าแผ่นดินในรัชกาลที่ ๙” ภายในเล่มประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านตลอดระยะเวลา 89 ปี และพิเศษสุดด้านในยังแทรกด้วยพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ผลงานของอาจารย์ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ จำนวน 8 ภาพ ซึ่งสามารถนำออกมาประกอบกันเป็นภาพชุด “เป็นรวงทอง รวงข้าวของพ่อ” เพื่อใส่กรอบเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้อีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อได้ตามแผงหนังสือชั้นนำ หรือสั่งซื้อโดยตรงได้ที่ บริษัท มิตรมายา จำกัด ในราคา 140 บาท (ไม่รวมค่าจัดส่ง 50 บาทต่อ 1 เล่ม)
Tel: 0-2460-1534-5 หรือ 08-7795-2111
E-mail: [email protected]
Facebook: MiXMagazineThailand
Line: mixmagazine

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อัครศิลปิน