HURRY UP SLOW LIFE

HURRY UP SLOW LIFE

นานแค่ไหนแล้วที่เราถูกดึงเข้าสู่นาฬิการของสังคมที่ต้องใช้แรงวิ่งวนอย่างเร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การทานอาหาร การไปแฮงก์เอ้าท์ ไปจนถึงการนอนเพื่อเก็บแรงไว้ปั่นจักรกลไกของสังคมวันใหม่ๆ ซ้ำๆ กันในแต่ละวัน

คฑา มหากายี
เคารพจังหวะของธรรมชาติ 
หากพูดถึงชีวิตแบบ Slow life ‘พระนครนอนเล่น’ ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งหนึ่งสัญลักษณ์ที่พอจะทำให้หลายคนมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ที่นี่นอกจากจะเน้นให้ทุกสิ่งในธรรมชาติสร้างความสัมพันธ์กันแบบมีตัวตนแล้ว ยังทำให้หลายคนที่มาเยือนได้หันไปปรับแนวคิดและการใช้ชีวิตให้เรียบง่ายอย่างพอดี 
หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนเขายังคงเป็นหนึ่งอีกหลายล้านคนที่มีชีวิตที่คุ้นชินกับเมืองใหญ่ แต่ด้วยความที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม เขาจึงพาตัวเองไปค้นพบสัจธรรมที่พ้องกับความต้องการชีวิต ผละจากเมืองใหญ่เข้าสู่ชนบทผืนป่าอันแสนไกล เมื่อปราศจากสิ่งเร้าจากภายนอก เสียงเงียบภายในจิตใจจึงเริ่มดังขึ้น เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราเคยเป็นหรือเคยพบเจอมานั้น มันจริงไหม?” 
“มันเกิดภาวะสงบ ความรู้สึกบางอย่างข้างในใจก็เกิดขึ้น มันคือความสงบ ความนิ่ง มันอิ่มเอม แบบเย็นสบาย เรารู้สึกว่าไม่ได้มีความต้องการอยากได้อะไรแล้ว ไม่ใช่ไม่อยากได้เพราะมีอยู่นะ แต่มันเกิดบนความไม่มีนี่แหละ มันคือรู้สึกไม่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะอยากมีอยากได้อะไร ไม่รู้สึกว่าจะต้องดิ้นรนไปทำอะไรเพื่อให้ได้สิ่งไหนมารองรับกับความต้องการในตัวตนของตัวเอง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมทำงานเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติมาตลอด ก็พบว่าธรรมชาตินี่แหล่ะคือครูที่ดีของเรา
“ลองสังเกตสิ่งรอบตัวเราทุกวันนี้สิ ชีวิตคนเรามันถูกทำให้ผูกติดกับคำว่าด่วนมากขึ้น ลองถามตัวเองกันไหมว่าจริงๆ แล้วเราต้องการให้อะไรๆ มันเร็วขนาดนั้นเลยหรือ อย่างเมื่อก่อนเราจะมีช่วงเวลารอว่าเมื่อไหร่จะหน้าทุเรียน เงาะ ลำไย ฯลฯ แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถหากินกันได้ทั้งปี เมื่อมันมากเกินความต้องการ ปัญหามันก็เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่เพราะความไม่พอ เมื่อเราไปเร่งไปดัด มันก็ออกมาเพี้ยนๆ 
“อย่างที่โรงแรมของผมไม่มีทีวีนะ เพราะอยากให้แขกให้ความสัมพันธ์แบบตรงไปตรงมาระหว่างกันมากกว่าจอสี่เหลี่ยมที่ยัดอะไรก็ไม่รู้มาให้เรา ที่นี่จะมีต้นไม้เยอะๆ เพื่ออาศัยประโยชน์จากร่มเงา และระบบนิเวศตามธรรมชาติ เราปลูกผักไว้บนดาดฟ้านอกจากจะเพื่อลดความร้อนจากหลังคาตึกแล้ว ยังได้ผักทานผักที่ไม่มีสารพิษจริงๆ และมันก็งอกงามดีมีพอที่จะรองรับแขกและแจกจ่ายไปยังชุมชนรอบๆ นี้ด้วย เราทำขนมปังกันเอง แม้กระทั่งเสื้อผ้า เครื่องใช้ ไปจนถึงถุงใส่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ 
“การใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก มันต้องเริ่มที่ทัศนคติ ความคิด เพราะเอาจริงๆ แล้วมันไม่ใช่การ Slow อะไรเลย คำว่า Slow Life มันเป็นการยืมคำมาใช้อธิบายแนวคิดนี้ให้เข้าใจกันง่ายๆ เสียมากกว่า มันก็แค่กลับไปใช้ชีวิตแบบปกติ อย่างผมใช้ชีวิตแบบนี้ไปสักพักก็รู้สึกว่ามันสบายมาก ถ้าจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ มันกลับเป็นเรื่องยากลำบากไปแล้ว (หัวเราะ)” 

ธนา อุทัยภัตรกูร 
คืนชีวิตอยู่ติดธรรมชาติ
การพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยมนั้นสิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คือ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งความต้องการเรื่องของที่อยู่อาศัย บ้านและคอนโดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ผู้คนก็ยังต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตคนเมืองต่างแปรเปลี่ยนไปตามระบบของสังคมในรูปแบบที่เร่งรีบ นิยมความสะดวกสบาย มากกว่าการมุ่งสู่หลักการของธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของชีวิตมนุษย์
แต่อย่างน้อยก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เดินตามเวลาที่เร่งรีบของสังคมเมือง พยายามสร้างไลฟ์สไตล์ชีวิตในแบบของตนเองโดยการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างการปลูกสร้างบ้านดิน
เพื่ออยู่อาศัย ซึ่งกลายเป็นว่ายังมีผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มโหยหาความเป็นชนบท ใช้ชีวิตด้วยความเรียบง่าย กำลังทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 
โดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องบ้านดินคนหนึ่งของเมืองไทย ก็คือ โจ้ ธนา อุทัยภัตรากูร 
เจ้าของหนังสือ “จากดินสู่บ้าน สร้างบ้านด้วยดิน” ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์
อาจารย์โจ้กล่าวว่าช่วงที่เขากำลังสอบเป็นสถาปนิกเพื่อทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง เขาไม่รู้จักว่าบ้านดินคืออะไร จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2545 อาศรมวงศ์สนิทได้จัดอบรมเรื่องนี้อย่างจริงจัง 
“ที่ผมชอบบ้านดินคือมันสามารถสร้างได้เอง มีการใช้วัสดุในพื้นที่ และมีกระบวนการลงแขกช่วยเหลือกันของชาวบ้าน สิ่งที่ผมได้มากที่สุดก็คือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมู่บ้าน บ้านดินจะแบ่งออกเป็นชุดโบราณดั้งเดิม คือชาวเขาทางภาคเหนือ กับที่เป็นทางอีสานใต้โดย
คนจีน แต่ใช้คนเวียดนามทำ ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่มันพังไปหมดแล้ว 
“ผมเคยไปดูบ้านดินที่จังหวัดอุบลอายุกว่า 80 ปี ไม่ได้ซ่อมเลย แต่ดินมันมีความสามารถในการหน่วง อุณหภูมิมันจะดีมากในสภาพอากาศที่กลางวันร้อน กลางคืนหนาว แต่ถ้ามันไปตั้งอยู่ในอุณหภูมิที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน มันจะแสดงศักยภาพออกมาได้ไม่เท่าไหร่ 
“โครงการบ้านดินครั้งแรกที่ทำเรามุ่งเป้าไปที่ชาวบ้านครับ เพราะวัสดุการสร้างบ้านนับวันมันมีแต่จะแพงขึ้น จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่มีเงิน เรียกว่าทำอย่างไรให้คนมีบ้านได้ด้วยตัวเองโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีในชุมชน แต่พอทำจริงๆ กลายเป็นว่ามีคนต้องการไม่มาก เพราะคนเปลี่ยนวิธีคิดไปหมดแล้ว และกลับกลายเป็นว่าคนเมืองมีความสนใจมากกว่าเสียอีก เพราะอยากกลับไปสัมผัสธรรมชาติ 
“สำหรับผม คิดว่าการสร้างบ้านดินแบบพึ่งตัวเองนั้น ความรู้ตอนนี้มันมีพออยู่แล้ว สามารถทำได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่มีเงินแต่อยากได้บ้าน แต่ในส่วนที่รับจ้างสร้างบ้านดิน ผมคิดว่ามันยังมีปัญหาอยู่ ที่มีการบอกว่าราคาหมื่นต้นๆ แต่นั่นต้องใช้วัสดุของตัวเองและแรงงานในพื้นที่ ซึ่งความจริงราคาแพงกว่ามาก แล้วคนรับเหมาก็ไม่ได้มีความสามารถเท่ากัน จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐาน และกฎหมาย ซึ่งบ้านเรายังไม่มีเท่าที่ควร
“ผมรู้สึกว่าบ้านดินมันคือกระบวนการเรียนรู้เรื่องของตัวเองกับธรรมชาติที่ดีที่สุด ผมคิดว่าคนเรานั้นมีความทุกข์มันอยู่ที่ความอยากเราอยากได้ในสิ่งที่เราไม่มี แล้วเราก็พยายามทำในสิ่งที่อยากได้ อย่างนั้นมันจะทุกข์ อย่างการอยู่ในเมืองแม้อยากให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกมากเท่าไหร่นัก สิ่งที่ทำได้คือเราจึงต้องรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน”

พงศ์พัฒน์ สำราญเวชพร
รื่นรมย์บนท่วงทำนองอนาล็อก
แผ่นเสียงในมือเขาเพิ่งถูกวางลงบนเครื่องเล่นเก่าสัญชาติอังกฤษ ก่อนโทนอาร์มหรือหัวเข็มจะถูกวางลงอย่างแผ่วเบา เครื่องเริ่มทำงาน แผ่นบนแท่นเริ่มหมุน เสียงร้องของ Nat King Cole ในบทเพลง Fascination ก็ดังขึ้น 
“พงศ์พัฒน์ สำราญเวชพร” หรือ “ลุงพง” ต้อนรับเราด้วยเพลงนี้ เขาคือผู้ที่พิสมัยในสุ้มเสียงแบบอนาล็อกมาตั้งแต่วัยหนุ่ม และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaigramophone.com ชุมชนผู้ชื่นชอบแผ่นเสียงจะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน บรรยากาศในห้องรับแขกขณะนี้จึงอบอวลด้วยความรื่นรมย์ในอารมณ์ ในยุคที่การฟังเพลงรวบรัดง่ายดายพาไปไหนได้ทุกที่ ของเดิมอย่างแผ่นเสียงก็ยากเต็มทนที่จะเบียดสู้กับแหล่งเสียงใหม่อย่างดิจิตอลไฟล์ จนเมื่อของเก่าและใหม่เกิดการเปรียบเทียบกัน หลายคนเริ่มเห็นว่าแผ่นเสียงนั้นมีเสน่ห์ของท่วงทำนองที่ดิบ ไม่ผ่านการขัดเกลา 
“เป็นที่ยอมรับกันทั่วแล้วครับว่าเสียงจากแผ่นเสียงถือเป็นแหล่งเสียงที่ดีที่สุดในโลก ยังไม่มีอะไรให้เสียงได้ดีเท่าแผ่นเสียง”  
ลุงพงในวัยเกษียณเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองถึงความชอบส่วนตัวที่มีต่อเสียงที่เกิดจากแผ่นเสียง สมัยหนุ่มๆ เมื่อเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เงินสามสี่หมื่นเมื่อสี่สิบปีก่อนถูกแลกมาด้วยเครื่องเสียงชุดธรรมดา “ซื้อเพราะความบ้า” ลุงพงบอกอย่างนั้น กระทั่งธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และรักในทางนี้จึงซื้อเครื่องเสียงชุดแพงขึ้น “ในเมืองไทยตอนนั้นคนที่มีเหมือนผมมีไม่กี่คนหรอก” ถึงวันนี้แผ่นเสียงในคลังจำนวนหลักหมื่นคงบอกอะไรได้บางอย่าง
แผ่นเสียงของศิลปินในหลายอัลบั้มถูกเลือกวางบนเครื่องเล่นแบบไม่ขาดตอน “ความสุขของนักฟังไฮไฟคือเหมือนได้เห็นภาพตามตำแหน่งของนักดนตรีตอนบันทึกเสียง เวลาเล่นแผ่นทุกครั้งจะเช็ดทำความสะอาด ปัดหัวเข็มโดยอัตโนมัติ จนดูเหมือนลำบาก แต่คนที่เล่นเขามีความสุขกับมัน ได้หยิบได้จับแผ่น ดึงออกจากซองก็ได้เห็นหน้าปก วางแผ่นบนเครื่องเล่น นี่คือความสุขที่ติดเป็นนิสัยจนขาดไม่ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของการฟังเพลง”
บนเครื่องเล่น แผ่นเสียงอันเก่ายังคงหมุนวนช้าๆ ซ้ำๆ ไม่ยี่หระต่อโลกที่เร่งรอบจนความรื่นรมย์หล่นหายไปไม่รู้ตัว

ต่อพงศ์ จันทบุปผา 
ไปช้าๆ
สังคมของคนขี่จักรยานกำลังกลายเป็นพลังเงียบที่เพิ่มทวีคูณขึ้นทุกที แม้บางคนอาจมองเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม แต่เชื่อว่าในใจลึกๆ ของหลายคนแล้วก็อยากนำจักรยานมาขี่บนท้องถนนเหมือนกัน ต่อพงศ์ จันทบุปผา หรือชื่อที่คนในวงการเพลงรู้จักกันดีว่า “บอล Scrubb” ปัจจุบันเขาเป็น A&R Director หรือผู้จัดการฝ่ายคัดสรรและพัฒนาของ Believe Records ในอีกด้าน ชายผู้นี้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายโดยมีจักรยานสองล้อคู่ใจเป็นพาหนะ และแน่นอนไม่ใช่เรื่องของแฟชั่นที่ผ่านมาและก็ผ่านไป แต่บอกได้เลยว่าจักรยานคือวิถีชีวิตประจำวันของเขา
“ผมขี่จักรยานมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วมหาวิทยาลัยมันก็กว้างมาก จักรยานจึงเป็นอะไรที่ผมใช้ประจำ พอโตมาได้เรียนหนังสือ ได้ทำงาน ก็ห่างหายจากมันไปพักหนึ่ง จนตัวผมเองเริ่ม
มีปัญหาเรื่องของสุขภาพ แต่ผมไม่ชอบกินยา ก็เลยไปถามหมอว่าธรรมชาติบำบัดอะไรที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายได้บ้าง เพราะเวลาออกกำลังกายของเราไม่เหมือนคนอื่น เนื่องจากผมมีเวลาว่างที่ไม่แน่นอน หมอก็เลยแนะนำให้ขี่จักรยาน พอผมเริ่มขี่จักรยาน ร่างกายก็ดีขึ้น 
“จักรยานมันไม่ได้ตอบโจทย์เราแค่ร่างกาย แต่มันส่งไปถึงทางด้านจิตใจ มันสามารถปรับการใช้ชีวิตของเราให้ช้าลงได้ด้วย ผมคิดว่าคนทำงานในเมืองชอบคิดว่าเวลาปัจจุบันความเร็วเท่านี้คือความเร็วปกติ คนอยู่ในเมืองด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ แต่ผมเชื่อว่าความเร็วของเวลาตอนนี้มันไม่ปกติ มันเหมือนรถยนต์อะไรที่เร็วเกินไป มันก็จะมองไม่เห็นข้างทาง สามารถเกิดอุบัติเหตุเกิดความเสียหายได้ 
“ชีวิตก็เหมือนกับจักรยาน มันทำให้ผมคิดว่าเราจะไปใช้ชีวิตให้มันเร็วกว่านี้ไม่ได้ ผมก็มาจัดลำดับความคิดใหม่อะไรที่เร่ง ควรเร่งทำ อะไรที่ไม่ควรเร่ง ก็ไม่ควรเร่งทำ มันทำให้เรามีกระบวนการในการคิด โดยไม่ต้องทำอะไรทุกอย่างพร้อมกันตรงหน้าทั้งหมด
“การขี่จักรยานต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ผมคิดว่าจะขี่มันอยู่แล้ว ถ้าจะขี่ในสังคมที่ถนนไม่ได้เอื้อมาให้ คำถามคือแล้วเราจะทำยังไง ต้องรอให้สังคมปรับถนนเพื่อให้เราขี่ได้ หรือเราจะออกไปขี่แล้วเซฟตัวเองให้ปลอดภัย อะไรที่ควรป้องกันก็ทำ ศึกษาเส้นทางและกฎจราจรวิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ผมเป็นคนขี่บ่อย ก็จะรู้ว่าช่วงเวลาไหนควรไปหรือไม่ควรไป เราจึงควรเริ่มจากตัวเองเพื่อให้สังคมมันเปลี่ยน แล้วถ้าส่งต่อได้จริง เดี๋ยวทุกอย่างจะตามมา
“ทุกวันนี้ผมขี่จักรยานมาทำงานนะ เมื่อก่อนอาคารที่ผมทำงานอยู่มีผมกับเพื่อนแค่ 2-3 คนเท่านั้นที่ขี่จักรยาน แต่ตอนนี้มีจักรยานจอดอยู่ที่อาคารกว่า 40 คันแล้ว เราได้เห็นแล้วว่าผู้คนให้ความสนใจในการขี่มากขึ้น 
“ผมเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่อยากขี่จักรยาน เพราะเบื่อการจราจรที่มันติดมากขึ้นทุกวัน นอกเหนือจากขนส่งมวลชนอื่นๆ ผมว่ารถจักรยานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีมาก เพียงแต่ที่คนไม่ขี่ก็เพราะบ้านเมืองเราไม่ได้มีถนนที่รองรับเท่าที่ควร แต่ใครที่มีความพร้อม ไม่ต้องรอ ผมแนะนำให้ออกมาขี่ เพราะนอกจากตัวเองจะได้แล้ว ยังสื่อไปถึงสังคมว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้คนหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้จริงๆ”

กุลรัตน์ ทวีนุช 
กีฬาช้าๆ แต่ได้เหงื่อ
ถือเป็นเรื่องปกติของคนเมืองที่มักจะรู้สึกว่าเข็มนาฬิกาหมุนเร็วกว่าหัวใจ ความรีบเร่งกลายเป็นส่วนผสมหนึ่งของชีวิตโดยที่เราเองก็ดูจะเต็มใจกับมัน ทุกอย่างเปลี่ยนวนรวดเร็ว หากข้างในกลับสับสนจนยุ่งเหยิงเพราะมัวแต่โฟกัสสิ่งรอบตัวที่เคลื่อนไหว แต่กลับรู้จักตัวเองน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนผสมในการใช้ชีวิตที่ลงตัวของใครบางคนอาจถูกค้นพบได้โดยบังเอิญ กุลรัตน์ ทวีนุช หรือ ครูบี แห่ง Yoga & Me คือหนึ่งในนั้น ความกังวลใจเรื่องน้ำหนักตัวช่วงเริ่มต้นการทำงาน เป็นเหตุผลที่พาเธอให้ได้มารู้จักกับโยคะและชื่นชอบจนเธอตัดสินใจเบนเข็มมาเป็นครูสอนอย่างเต็มตัว
“ตอนนั้นกำลังหาวิธีทำให้ตัวเองหุ่นดี ก็เลยลองดูหลายอย่างจนเพื่อนแนะนำให้มาเล่นโยคะร้อน วันแรกที่เล่น รู้สึกได้ว่าเหนื่อยมาก ไม่เคยเล่นกีฬาอะไรที่เหงื่อออกเยอะขนาดนี้ ก็เลยชอบตั้งแต่นั้นมาจนในที่สุดก็ได้มาเป็นครูสอน” 
โยคะคือศาสตร์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีก่อน ซึ่งสามารถปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจไปได้พร้อมๆ กัน
“ถ้าได้ลองฝึกโยคะร้อนแล้วจะรู้สึกเลยว่าร่างกายสดชื่นขึ้น กล้ามเนื้อยืดหยุ่นมากขึ้น จากไม่เคยก้มลงได้ก็ก้มได้ หรือจะเป็นโยคะฟลายซึ่งประยุกต์มาจาก Aerial Dance โดยจะใช้ผ้าผูกคล้ายเปลผสมกับโยคะ พิราทิส ซึ่งส่วนนี้คือการสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางร่างกายให้แข็งแรง เหมาะกับคนที่ชอบอะไรท้าทาย รู้สึกสนุกเหมือนได้เล่นเครื่องเล่นขอแค่เลือกประเภทที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าผู้ชายได้ลองมาเล่นโยคะดู แล้วจะรู้ว่าโยคะไม่ได้เหมาะกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว 
“โยคะถือว่ามีส่วนช่วยให้เราใจเย็นลงมาก เพราะเวลาฝึกโยคะ จะรู้สึกนิ่ง จิตใจจะจดจ่อกับตรงนั้นไม่คิดเรื่องอื่น อะไรที่เครียดอยู่ก็คลายลงไป พอฝึกโยคะบ่อยๆ เข้าก็เริ่มปล่อยมากขึ้น” 
เธอบอกกับเราว่าสิ่งที่เธอหลงใหลในโยคะก็คือมันทำให้ได้อยู่กับตัวเอง และเมื่อฝึกบ่อยๆ เข้าก็จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงว่าสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของร่างกายไปสู่การฝึกท่าที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ 
ทั้งหมดคือความสุขที่สัมผัสได้ผ่านแววตาและน้ำเสียงของเธอผู้รักการออกกำลังกายแบบช้าๆ แต่หนักแน่นอย่างโยคะจริงๆ

ธานี วงศ์นิวัฒน์ขจร
ดูนก-ดูใจตน
“ชีวิตของผมคือการทำงานพร้อมกับเที่ยวไปได้ตลอดเวลา นี่คือแผนชีวิตที่ผมวางไว้แต่แรก ซึ่งอาชีพนักแต่งเพลงที่ผมทำอยู่มันทำได้ เวลาผมไปดูนกก็สามารถแต่งเพลงได้ มันก็เลยลงตัวมาก เพราะผมเคยไปทำงานออกแบบ ต้องมีการประชุม ต้องถกเกียงกัน ผมไม่ต้องการชีวิตแบบนั้น ก็เลยลาออกมาออกแบบชีวิตตัวเองเสียใหม่”
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณธานี วงศ์นิวัฒน์ขจร นักแต่งเพลงที่แต่งเพลงให้กับนักร้องวัยรุ่นกลุ่ม KAMIKAZE คิดที่จะใช้เวลาท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงาน เดิมทีเขาหลงใหลการถ่ายรูปแบบแลนด์สเคปเป็นทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อวันหนึ่งเขาได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการถ่ายภาพเสียใหม่ เริ่มจากที่โรงเรียนที่ลูกสาวเรียนนั้นจับนกกาเหว่าตัวหนึ่ง เขาได้เห็นเด็กๆ ก็ช่วยกันเลี้ยง จึงเกิดความคิดที่อยากจะถ่ายทอดความสวยงามของนกตัวนั้นออกมาผ่านภาพถ่าย เขาจึงมีความคิดที่จะหาความรู้เกี่ยวกับมันให้มากขึ้น
“จากนั้นมาก็เริ่มไปถ่ายที่สวนหลวง แล้วก็ได้รับ
คำแนะนำจากผู้รู้ พอเริ่มถ่ายเป็นก็เลยหลงใหลนับตั้งแต่นั้นมา ชีวิตทุกวันนี้ตื่นเช้าผมก็จะไปส่งลูก ระหว่างทางก็แต่งเพลงไปด้วย ฟังเดโมไปด้วยในรถ เพราะการทำงานของผมมันไม่ใช่แค่บนโต๊ะหรือในห้องทำงาน มันทำที่ไหนก็ได้ 
“ผมจัดตารางเวลาชีวิตให้ลงตัวในแต่ละปี การทำงานเป็นนักแต่งเพลง นอกจากมันตอบโจทย์การดำเนินชีวิตของเราแล้ว มันยังเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน การออกไปยังโลกกว้างมันก็ให้มุมมองอะไรใหม่ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นวัตถุดิบที่ดีในงานของเราด้วย ผมทำแบบนี้มา 15 ปีแล้ว เดือนนึงผมออกเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ครั้งละ 5-7 วันเป็นอย่างต่ำ อย่างเขาใหญ่หรือแก่งกระจานนี่ผมไปกลับเกือบทุกวัน เชื่อไหมว่าที่แก่งกระจานเป็นแหล่งรวมนกหลากหลายชนิดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย 
“การถ่ายภาพนกนั้นไม่เหมือนกับการถ่ายภาพแบบอื่นๆ ที่ผมเคยถ่ายมา เพราะนกนั้นเคลื่อนไหวตลอดเวลา และที่สำคัญเขาบินได้ มันก็เลยเป็นเรื่องยาก มันต้องใจเย็น ต้องเฝ้ารอ 
ตอนนี้ผมถ่ายนกไปแล้วทั้งหมด 700 ชนิด อีก 300 กว่าชนิดที่เหลือในประเทศไทยก็คิดว่าน่าจะค่อนข้างหายากขึ้นแล้ว แต่ผมก็สบายๆ ครับ เพราะไม่ได้จะไปแข่งขันกับใคร เมื่อก่อนก็จะเคยคิดว่าอยากถ่ายสวยแบบนั้นแบบนี้ จะต้องพยายามหาให้เจอชนิดยากๆ แต่พอคิดอย่างนั้นก็ไม่ค่อยสนุกนะ ตอนหลังก็เปลี่ยนค่อยๆ ผ่อนคลายกับมัน ผลที่ได้คือมันมีความสุขมากขึ้น อิ่มเอมมากขึ้น ความสวยงามมันก็มากขึ้นตามไปด้วย
“เมื่อมีโอกาสถ่ายภาพนก เราก็จะมีความรู้สึกอยากถ่ายไปเรื่อยๆ เพราะว่านกมันสวย เราก็อยากถ่ายให้ออกมาสวย อยากให้ได้บรรยากาศ แล้วมันก็ท้าทายไปในตัว ขณะที่เรามองผ่านเลนส์ เห็นนกเขายืนอยู่อย่างสงบ สบายในที่ของเขา มันก็เกิดความสงบในใจเราได้เหมือนกัน” 

 

 

 

 

 

 

 

 

คงไม่เป็นไรหรอกถ้าจะมีใครแซงบ้าง...ก็ไม่เห็นเป็นไร