Man and Woman Behind the Curtain

Man and Woman Behind the Curtain

ภาพแห่งความสำเร็จของงานหลายๆ ชิ้นที่เราได้เห็นทั้งจากอดีตและปัจจุบัน ภาพถ่ายที่สวยงาม รายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมติดตามมากมาย รายการวิทยุที่มีคนติดตามฟังจำนวนมาก เสียงพากย์ที่คุ้นหู เว็บไซต์ที่เคยใช้ ดาราดัง ทั้งหมดที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงปลายทางของงานแต่ละชิ้นเท่านั้น แต่กว่างานแต่ละชิ้นจะเดินทางมาสู่ หน้าม่านของความสำเร็จได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการและมีเบื้องหลังอีกมากมาย สกู๊ปฉบับนี้จะพาคุณแหวกม่านเข้าไปข้างหลังเวทีเพื่อไปสัมผัสกับ 8 คนเบื้องหลังในอาชีพต่างๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้จัก หรือถ้ารู้จักก็ไม่เคยพบตัวตนที่แท้จริงของเขาและเธอมาก่อน

ยงยุทธ ทองกองทุน : คนเบื้องหลังภาพยนตร์

สตรีเหล็ก, สตรีเหล็ก2, แจ๋ว, แก๊งชะนีกับอีแอบ, 4 แพร่ง, 5 แพร่ง, ความจำสั้นแต่รักฉันยาว รวมไปถึง 15 ค่ำ เดือน 11 ภาพยนตร์ไทยทั้งหมดนี้ ล้วนมีฝืมือของ คุณสิน-ยงยุทธ ทองกองทุน เกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้านการกำกับภาพยนตร์ เขียนบท โพรดิ๊วเซ่อร์ หรือผู้อำนวยการสร้าง เบื้องหลังแห่งความสนุกเหล่านี้ เขาคิดและทำขึ้นมาได้อย่างไร
“จากหนังเรื่องแรกมาจนถึงวันนี้ก็สิบเอ็ดปีพอดีครับ ก่อนหน้านั้นผมก็อยู่ในแวดวงของโพรดักชั่นโฆษณา ทำโฆษณามาสิบกว่าปีกับ หับ โห หิ้น แล้ววันหนึ่งก็มีโอกาสได้รู้จักกับ 
คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารบริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เขามีโพรเจ็กต์ที่เรียกว่า สตรีเหล็ก เพราะเขาไปซื้อลิขสิทธิ์ของทีมนี้มา ตอนนั้นผมกับพี่เก้ง-จิระ มะลิกุล ก็มีความฝัน
ที่อยากจะทำหนังอยู่แล้ว ผมก็ลองเสนอโพรเจ็กต์ทำสตรีเหล็กอยู่ปีกว่า สุดท้ายคุณวิสูตรก็ตัดสินใจให้ผมได้ทำเรื่องนี้

“จริงๆ ตอนนั้นที่ทำ แม้จะต้องรอเวลานานถึง 1 ปี แต่ผมก็ไม่ท้อนะครับ ผมอยากเอาชนะมากกว่า ผมทำสตอรี่บอร์ดสองสามร้อยช็อต เพื่อไปเล่าให้คุณวิสูตรฟังว่าไคล์แม็กซ์ของเรื่องในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร แล้วก็ลงรายละเอียดกันมันมากๆ อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเรื่องสตรีเหล็กมันเป็นเรื่องของจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นบ้านเกิด ทำให้เราเห็นภาพหมดว่าเราจะไปถ่ายทำที่ไหน แต่ละซีน แต่ละฉากเป็นอย่างไร คือมันเต็มไปด้วยเรื่องส่วนตัว และผมก็คิดเสมอว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะทำหนังไทยที่ต่างจากหนังไทยที่ผ่านมา”
ในวัยเด็กของ เขาผูกพันกับโรงหนังมากๆ แต่ก็ไม่ถึงกับชัดเจนว่าโตมาแล้วอยากจะทำหนังหรือวาดภาพให้กับตัวเองแต่แรกเลยว่าจะต้องมาทำหนัง แต่สุดท้าย ด้วยความรักที่มีต่อหนัง ในที่สุดก็ทำให้เขาเข้ามาสู่วงการหนังจนได้

“บ้านผมที่ลำปางอยู่ใกล้ตลาด แล้วในตลาดมีโรงหนังแบบสแตนอโลนอยู่สามเจ้า จะฉายหนังแตกต่างกันไป มีหนังควบ หนังไทย หนังฝรั่ง แล้วตอนนั้นสมัยเด็กๆ ก็ไม่มีกิจกรรมอะไรมาก ทีวีก็ไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เอ็นเทอร์เทนที่สุดก็คงเป็นการเข้าโรงหนัง แล้วที่บ้านผมทุกคนก็ชอบดูหนัง ผมก็เลยซึมซับมา

“พอช่วงที่เข้ามากรุงเทพฯ เพราะสอบติดเตรียมอุดมฯ ชีวิตผมก็ถูกวางไว้ว่าจะต้องเป็นหมอ ก็เลยต้องไปเรียนกวดวิชา แต่ปรากฏว่าพอเรียนเสร็จ ผมเข้าโรงหนัง บางทีดูสองเรื่อง อาทิตย์หนึ่งดูสามสี่เรื่อง ก็ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจจะเป็นหมอแล้ว อยากเรียนเกี่ยวกับหนัง ก็ไปปรึกษาคุณครูแนะแนว ท่านก็ขอเวลาสองสามวันเพื่อไปหาข้อมูล คือสมัยนั้นอาชีพที่เกี่ยวกับหนังมันยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไร แล้วท่านก็มาบอกว่าที่จุฬาฯ มี ผมก็เลยไปขอคุณพ่อ ท่านก็อนุญาต สุดท้ายก็สอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่ได้เรียนทำหนังอยู่ดี เพราะคิดว่ามันไม่น่าจะพอกิน ก็โดดไปเรียนวิทยุโทรทัศน์ และสุดท้ายก็ได้รู้จักกับพี่เก้ง-จิระ มะลิกุล เพราะเขาเป็นรุ่นพี่ที่กลับมาเรียกใช้ผมบ่อยที่สุด พอจบมาผมก็เลยไปทำงานกับแก แล้วก็เลยยาวมาจนถึงปัจจุบัน”
งานเบื้องหลังที่เขาทำนั้น อย่างที่บอกแต่แรก เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้กำกับอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเขาบอกว่าสนุก ท้าทาย และมีความสำคัญไม่แพ้กัน

“ถ้าโดยส่วนตัวงานที่สนุกที่สุดผมก็ยังชอบงานกำกับอยู่นะครับ แต่ด้วยหน้าที่รับผิดชอบ มันมีคนอื่นๆ ที่เขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเราด้วย ทำให้บางเวลามันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องลงไปกำกับ อาจจะควรไปทำหน้าที่โพรดิ๊วเซ่อร์มากกว่า หรืออาจจะต้องทำหน้าที่ของผู้อำนวยการสร้างมากกว่า คือเราลงไปคุยเรื่องเนื้อหาด้วย แต่เราก็หาเงินหาทองมาให้เขาเพื่อให้ทำหนังด้วย

“ผมเชื่อว่าเวลาทำหนัง ส่วนใหญ่สิ่งที่อยู่ในหนังก็สะท้อนทัศนคติของคนทำอยู่แล้ว มันบอกไม่ถูกเหมือนกันว่าให้อะไรกับมัน แต่พอมองย้อนกลับไป เราก็จะพบว่าสิ่งที่เราทำส่วนใหญ่ เราก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากทีเดียว อย่างหนังของผม จะไม่มีฉากสูบบุหรี่ เพราะผมไม่เคยเห็นความจำเป็นของมัน คือเราพยายามมองให้อยู่ในพื้นฐานของหนังที่เรียกว่า Feel Good เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ก็คือทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังในการให้กำลังใจคนอื่นๆ”

อรรถกานท์ พิมพ์วงศ์ : คนเบื้องหลังของ “ผู้หญิงถึงผู้หญิง”

รายการโทรทัศน์ที่สะท้อนทัศนคติที่ผู้หญิงมีต่อผู้ชายในบ้านเราน่าจะมีหลากหลายรายการ แต่รายการหนึ่งที่โดดเด่นเป็นที่สุดคงหนีไม่พ้น “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” ที่มีสี่สาว คุณกาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ, คุณไก่-มีสุข แจ้งมีสุข, คุณปุ้ย-พิมลวรรณ หุ่นทองคำ และ คุณนีน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ เป็นพิธีกร ถ้าใครเป็นแฟนรายการนี้ คุณน่าจะเคยได้ยินชื่อของผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยมาก เขาคนนั้นชื่อ คุณเจ๋ง-อรรถกานท์ พิมพ์วงศ์ บรรณาธิการรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง

“ที่สี่สาวเขาชอบพูดถึงผมในรายการ ก็คงเป็นเพราะเราทำงานด้วยกัน แล้วก็มีความรู้สึกสนิทกัน และลักษณะของรายการมันไม่ใช่การมาอ่านข่าวอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการพูดคุยกันมากกว่า คล้ายๆ กับ
คุณรู้จักเพื่อนคนหนึ่ง แล้วอยากแนะนำเพื่อนคนนี้ให้คนอื่นได้ฟัง แล้วพวกเธอก็ไม่ได้พูดถึงผมคนเดียว ทีมงานคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตากล้องพวกเธอก็พูดถึง คือแซวบ้างอะไรบ้าง เหมือนเป็นการเพิ่มสีสันให้รายการ

“จุดเริ่มต้นของรายการคือทางฝ่ายข่าวต้องการผลิตรายการที่เกี่ยวกับผู้หญิง ช่วงนั้นผมเป็นบรรณาธิการข่าวสังคม แล้วก็ทำในเรื่องของเด็กและสตรีอยู่พอดี ผมก็เลยได้มาดูแลรายการ พอพิธีกรทำหน้าที่ได้ดี ก็ทำให้เรตติ้งรายการดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็ปรับรายการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นรูปแบบอย่างในปัจจุบันครับ”
หลายๆ คนอาจจะมองว่า รายการนี้ดีแต่จะหยิบยกเรื่องของผู้ชายมาต่อว่าหรือวิจารณ์ในทางลบอย่างเดียว แต่คุณเจ๋งยืนยันว่ามีทั้งแง่ดีและไม่ดีผสมปนเปกันไป ซึ่งก็ล้วนมาจากการกระทำของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงในสังคมจริงๆ

“เราพยายามเสนอภาพรวมของสังคมที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งมันก็มีทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องความรุนแรง เพราะฉะนั้นบางเนื้อหาก็เลยทำให้ผู้ชายถูกตำหนิมากหน่อย แต่ทุกครั้งที่ตำหนิก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุผล ในบางวันที่เราหยิบยกมุมดีๆ มาพูดถึงก็มีเหมือนกัน เพราะความตั้งใจของเราก็คืออยากให้มีความเข้าใจระหว่างกัน รวมไปถึงเพศที่สามด้วย

“ในรายการที่เราเน้นหลักๆ เลยก็คือ ทำให้ผู้หญิงได้รู้ถึงศักยภาพของตัวเอง ผู้หญิงเป็นได้มากกว่าแม่บ้าน เราจะเพิ่มบทบาท สิทธิ หน้าที่ให้เขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญ มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งสามีอย่างเดียว และใครที่พบกับความรุนแรงอยู่ก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไร เราก็พยายามช่วยหาทางออกให้ ผู้หญิงเหล่านี้จะได้ไม่ต้องทนรับความรุนแรงอีกต่อไป”
ในการทำหน้าที่ของคุณเจ๋งนั้น เขาต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาถึงสถานีตั้งแต่ตีห้า เพื่อเตรียมเนื้อหาของข่าวที่จะให้พิธีกรได้เล่าในแต่ละวัน บางครั้งถึงขั้นต้องย่อข่าวเองก็มี

“ทีมงานของรายการมีทั้งหมด 8 คน แต่ละคนก็ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ทั้งประสานงาน ทำข่าว แต่ในช่วงเช้าผมก็ต้องมาคอยประสานงานรายการ มาเตรียมข่าว แล้วก็ดูรายการข่าวอื่นๆ ไปด้วยว่าเขาหยิบเรื่องอะไรไปเล่าแล้วบ้าง มากน้อยแค่ไหน แล้วเราสามารถจะหยิบข่าวนี้ไปเล่าในมุมอื่นๆ ได้ไหม บางครั้งก็ต้องย่อข่าวด้วย เพราะเนื้อข่าวอาจจะยาวเกินไป เราเตรียมกันวันต่อวัน เพราะอยากให้เนื้อหานั้นสดใหม่ แต่ก็มีการวางแผนล่วงหน้า อย่างถ้าช่วงไหนมีงานหรือเทศกาลอะไรที่น่าสนใจ ทีมข่าวเราก็จะออกไปทำข่าวมา 

“หลังจากที่จบรายการ ก็จะมีการประชุมกับพิธีกรว่าในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง พอใจไหม หรือมีอะไรที่ผิดพลาดบ้างไหม แล้วก็คุยกันว่าพรุ่งนี้เราจะคุยกันเรื่องอะไรบ้าง หัวข้อที่เราตั้งไว้เพื่อให้คน SMS มาน่าสนใจไหม อย่างถ้าวันไหนพูดถึงเรื่องปัญหาครอบครัว หย่าร้าง ผู้ชายมีชู้ SMS จะเข้ามาเยอะมาก แต่เราก็เน้นเรื่องแบบนี้บ่อยๆ ไม่ได้ ก็ต้องมีสลับเปลี่ยนกับเรื่องอื่นๆ บ้างครับ”

เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร : คนเบื้องหลังดาราดัง

จากเด็กคนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่งตัวไม่เป็น ไม่รู้จักและดูไม่ออกว่าคนเซ็กซี่เป็นอย่างไร แต่ วันนี้ เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของดาราดังหลายคน อาทิ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ, ป๋อ-ณัฐวุฒิ สะกิดใจ, เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ, วิน-ธาวิน เยาวพลกุล, ปู-ไปรยา สวนดอกไม้, โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือแม้กระทั่ง มาริโอ้ เมาเร่อ และณเดชน์ คูกิมิยะ สองซุป’ตาร์ที่มาแรงมากๆ ในยุคนี้
“จริงๆ ต้องบอกว่า อั้มเป็นคนปั้นเราขึ้นมามากกว่านะ ตอนนั้นอั้มฝากให้เข้าทำงานในหนังสือเปรียว ก็ทำไปสักพักแล้วปรากฏว่ามันไม่ใช่เรา อั้มก็เลยบอกว่าเธอมาเป็นผู้จัดการชั้นไหม ชั้นให้เธอแบบนี้ๆ ตรงนั้นเป็นก้าวแรก จากนั้นก็มี ป๋อ มีวิน-เวียร์ มีปู-ไปรยา ฯลฯ

“เวลาที่เราทำงาน เราจะเป็นคนที่ทำเต็มที่ อย่างตอนที่ไปทำพวกตัวประกอบ เวลาเขาให้ทำอะไรก็จะทำให้สุดๆ ให้กระโดดก็กระโดดให้สูงที่สุด หรืออย่างเอ็มวีพี่เบิร์ด เราก็เต้นเต็มที่ จ้างสองพันเหมือนจ้างสองล้าน”
และด้วยความที่ เอ-ศุภชัย เป็นคนที่ทำอะไรเต็มที่ ทำให้ศิลปิน ดารา ที่เขาดูแลนั้น ต่างก็มีชื่อเสียงทั้งสิ้น เรียกได้ว่า ปั้นใครก็ดังได้ และหนึ่งในความภูมิใจที่สุดของเขาก็คือ การปั้น กุ๊บกิ๊บ-สุมณทิพย์ เหลืองอุทัย ให้กลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการแสดงได้

“การปั้นนักแสดง มันก็เหมือนกับการทำกับข้าว คือถ้าใช้แค่เอาหมูมาต้มอย่างเดียว มันจะอร่อยเหรอ มันก็ต้องปรุงรสด้วยโน่นนี่ อย่างเวลาทำแกงคนใต้เขาก็จะใส่ขมิ้นลงไป ใส่พริกเต็มมือ ใส่กะทิเต็มเหนี่ยว การทำคนก็เหมือนกัน ถ้ารสชาติจืดชืด ก็ไม่ใช่ เอ-ศุภชัย ทำ 

“การที่จะให้แซบ ให้รสชาติดี มันไม่ใช่แค่ความสวยความหล่ออย่างเดียว มันมีประเด็นอื่นๆ อยู่อีกด้วย อย่างเรื่องของเสน่ห์ บางคนสวยให้ตายอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ คนพวกนี้เหมือนภาพวาด เหมาะกับการถ่ายภาพอย่างเดียว หรือบางคนปั้นมาหล่อแทบตาย แต่ถ้าผู้จัดถามว่าคนนี้จะเป็นซุป’ตาร์ได้ไหม เราก็บอกตรงๆ เลยว่า ถ้าตัวสองตัวสามน่ะได้ เขาก็บอกว่าทำไมโค่นเด็กตัวเองล่ะ เราก็บอกว่าไม่อยากที่จะแนะนำไปแล้วไม่เหมือนกับที่คาดหวัง เพราะปัจจุบันคนคาดหวังกับเราเยอะ เราก็ต้องบอกไปตามเนื้อผ้าที่แท้จริง คือกำลังจะบอกว่าคนที่จะเป็นซุป’ตาร์ หรือคนของประชาชน มันต้องมีจริตจก้าน คือไม่ใช่เวลาเจอใครก็จะนั่งเป็นไม้ท่อนหิน เป็นสากกะเบือ แต่ถ้าเป็นคนมีจริตจก้าน หรือมีเสน่ห์ ก็จะเข้าไปคอยถาม ดื่มน้ำไหมคะ สบายดีไหมคะ หรือถ้าเป็นผู้ชายก็ ผมช่วยถือนะครับ เขาเรียกว่ามีน้ำใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ”
ในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวของ เอ-ศุภชัย นั้น เขาต้องพบกับอุปสรรคจากคำติฉินนินทาต่างๆ ทั้งอาชีพนี้เหมือนปลิงสูบเลือด หรือจะเป็นทำนาบนหลังคน

“หลายๆ คนชอบมองว่า คนทำงานอาชีพเดียวกันต้องเป็นศัตรูกัน แต่จริงๆ ไม่ใช่ อย่างตอนเด็กๆ เราเป็นนักกีฬาวิ่ง เราก็รู้สึกเลยว่า ตอนที่เรามีคู่แข่งเนี่ย มันทำให้เราวิ่งได้เวลาดีกว่าปกติ ถึงแรงจะหมด ก็ต้องกลั้นใจวิ่งต่อ การทำงานก็เหมือนกัน ถ้าเรามีคู่แข่ง ประสิทธิภาพในการทำงานของเรามันก็ดีขึ้น บางคนเดินมาบอกว่ามีคนปั้นเด็กขึ้นมาเพื่อเอาชนะเด็กของเรา ก็อยากจะบอกตรงนี้เลยว่าดีเสียอีกที่มีคนมาแข่งกับเรา อย่างมีรุ่นน้องทำอาชีพเดียวกัน เราก็แนะนำไปเลยนะว่ารู้จักผู้ใหญ่คนนี้หรือยัง ถ้ายังก็ให้เบอร์ไปแล้วบอกเลยว่าพี่เอให้มา แล้วเด็กก็โทรมาบอกว่า หนูเข้ารอบแล้วนะ เราก็ดีใจ จะได้มาแข่งกันบนเวที 

“หรืออย่างถ้าใครบอกว่าเราไปแย่งชิงเด็กมาอยู่ในสังกัด จริงๆ แล้วผู้จัดการไม่มีสิทธิ์เลือกนักแสดงนะ คนที่เลือกคือนักแสดง บางครั้งมีคนบอกว่าเราไปหยิบคนนั้นมา คนนี้มา ทำไมไม่ไปถามนักแสดงบ้างล่ะ ว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เหมือนเด็กเรา ถ้าวันหนึ่งคุณอยากจะย้าย ก็ไม่มีปัญหาเลย เดินมาบอกเราได้เลย คือมีเหมือนกันสำหรับบางคนที่เราต้องทำหน้าเป็นผู้ให้อย่างเดียว เราต้องไม่รับอะไรจากเขาแม้แต่นิดเดียว เพราะถ้าเรารับแล้ว เขาจะรู้สึกว่าเป็นผลประโยชน์ และเขาก็จะเรื่องเยอะ”
ความสำเร็จของเขาในทุกวันนี้ที่มีบ้านราคาเป็นร้อยล้าน เขาบอกว่ามาจากความกดดันในวัยเด็กที่โดนถากถาง เยาะเย้ย และกดดัน ทำให้เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องสู้และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

“ตอนเด็กๆ เราจะถูกเพื่อนในรุ่นเยาะเย้ย ถากถางมาก แต่งตัวเสี่ยวบ้าง ไม่ดีบ้าง เสล่อบ้าง แต่ทุกวันนี้ ถึงจะเสล่อแต่เสื้อก็ตัวละแสนกว่าบาท กระเป๋าก็หลายแสน แล้วก็เดินไปหาเพื่อนที่เคยเยาะเย้ยเรา ถากถางเราว่ามีอะไรให้ช่วยไหม อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็พึ่งเลี้ยงรุ่นไป สองสามร้อยคนก็มาที่บ้าน เราก็เอาอั้มมา เชิญดารามาหมดเลย ว่ายน้ำกันอย่างมีความสุข คือกำลังจะบอกทุกคนว่า สิ่งที่เขาดูถูกมันไม่จริงไปหมดทุกอย่าง เราสามารถทำให้เขาเห็นได้ 

“แต่ ณ วันนี้ก็ยังไม่ใช่บั้นปลายของชีวิต อาจจะมีวันตกก็ได้ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองมีทุกอย่างแล้ว ก็มีเตรียมพร้อมชีวิตในบั้นปลาย เปิดร้านส้มตำด้วย ซื้อที่ไว้ด้วย หรืออย่างห้องนอนก็มีห้องสำหรับพยาบาลนอน เพื่อว่าอนาคตเราแก่ขึ้นมาเดินไม่ได้ ก็จ้างพยาบาลมาดูแลเราได้ เราเตรียมพร้อมให้ชีวิตตลอด อนาคตจะได้ไม่กลับมาลำบากอีก” 

ธาดา วาริช : คนเบื้องหลังภาพถ่าย

“ผมไม่ชอบอยู่เบื้องหน้า มันเหมือนเราถนัดตรงนี้ ไม่ชอบเปิดเผยตัวเท่าไร ที่เห็นผมไปอยู่เบื้องหน้าก็เกร็งๆ ผมว่าคนเรามีความสามารถคนละแบบ ผมว่ามีคนที่ทำหน้าที่ตรงนั้นดีอยู่แล้ว แล้วเราก็มีหน้าที่ตรงนี้ที่เป็นเบื้องหลังที่ดีเช่นกัน”
คงไม่ผิดอะไรทีจะบอกว่า จอร์จ-ธาดา วาริช คือช่างแนวแฟชั่นที่เนื้อหอมที่สุดในเวลานี้ เพราะเขาคือช่างภาพที่ดารานางแบบเรียกร้องต้องการทำงานกับเขามากที่สุด ดารานางแบบเกรดเอแทบจะทุกคนต้องผ่านการกดชัตเตอร์ด้วยมือของเขาทั้งสิ้น ทุกเดือนจะต้องมีปกนิตยสารแฟชั่นชั้นนำที่ถ่ายโดยเขาอย่างน้อยหนึ่งปกปรากฏตัวอยู่บนแผง แม้เขาจะไม่ใช่พระเจ้าจอร์จ! แต่งานของเขามันก็ยอดมาก!

ธาดา วาริช ไม่ได้เริ่มต้นสายงานจากการถ่ายภาพ เขาเพียงแค่อยากทำงานโฆษณาและงานกราฟิกดีซายน์ให้ดีมากกว่า สิ่งที่เขาทำนั้น เริ่มต้นจากการวาดรูป แต่ด้วยเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มมองเห็นว่าการทำงานด้วยการถ่ายภาพนั้นมีแนวโน้มที่ดีกว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ โดยเฉพาะข้อดีที่มันใช้เวลาในการผลิตแต่ละภาพน้อยกว่าการวาดรูป เขาจึงไปสมัครเป็นช่างภาพและทำอยู่ถึง 4 ปี 
ช่วงเวลานั้นจึงเหมือนเป็นการค้นหาแนวทางของตัวเอง การถ่ายภาพของเขาเป็นไปในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เขาจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการถ่ายที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาพร้อมกับเทคนิคใหม่และแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ตอนนั้นด้วยวัยผมด้วย คือผมทำงานมา 4 ปี อายุประมาณ 24 ปี ก็อยากเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเองมากขึ้น พอกลับมาก็ได้แนวทางการถ่ายภาพใหม่ คือวัฒนธรรมมันต่างกัน ทำให้งานของเรามันดูเต็มที่และแรงกว่า เหมือนเราได้ฝึกซ้อมมา และลิมิตมันก็มากกว่าเมืองไทย”ใครที่เคยเห็นเบื้องหลังการทำงานของเขา จะพบว่ามันเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย บางครั้งก็ไม่ต้องใช้ไฟในการจัดฉาก นางแบบบางคนเหมือนเพิ่งตื่นนอน แต่กลายเป็นว่างานที่ออกมากลับกลายเป็นความดิบ เซอร์ มีสไตล์ และเน้นไปที่อารมณ์ของนางแบบ

“ผมเลือกนางแบบให้เหมาะสมกับค็อนเส็ปต์ และรูปแบบงานที่จะทำ แล้วต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะผมถือคติการทำงานแบบบ้านๆ ว่าต้องมีความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นสักเท่าไหร่นัก”
ส่วนในเรื่องปัญหาของการทำงานเขาบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจออยู่ตลอดเวลา ไม่จะเป็นเรื่องของสภาพอากาศ ตัวนางแบบ ชุดที่อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ เรื่องของอุปกรณ์ในการถ่ายแบบ ล้วนผสมปนเปเป็นเนื้อเดียวจนแยกไม่ออก
และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในวงการการถ่ายภาพมากขึ้น เดี๋ยวนี้ไม่ว่าใครก็เลยเป็นช่างภาพได้อย่างไม่ยากนัก ไหนยังจะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการตกแต่งภาพ เขามีความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“ผมว่าความละเมียดหรือการต้องรอคอยมันหายไป ผมมองว่าบางทีมันดูมีค่ามากน้อยกว่าเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้มันเป็นสูตรสำเร็จไปหมด มันดูง่ายไปหมด อะไรที่มันง่าย คุณค่ามันก็จะลดไปด้วย เพราะฉะนั้นต้องหาอะไรที่มันยากมาทำบ้าง ต้องนำพาตัวเองไปเจอปัญหาที่เทคโนโลยีช่วยไม่ได้ ผมว่างานถ่ายภาพกับคนมันมีระยะเวลาจำกัด จึงต้องแก้ปัญหาเก่ง แต่เรื่องของเทคนิค เราก็ต้องฝึกให้คล่องตามไปด้วย”
แม้จะเป็นมือโปรเรื่องการถ่ายนิ่ง แต่ตอนนี้เขาอยากลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างภาพเคลื่อนไหวบ้าง และตอนนี้ใครหลายคนก็อาจจะเคยชมผลงานของเขาไปแล้ว กับมิวสิควิดีโอเพลง “ทุ้มอยู่ในใจ” เพลงประกอบภาพยนตร์ “SuckSeed ห่วยขั้นเทพ” ที่เขาเป็นผู้กำกับภาพประกอบเพลงนี้ และเราคงจะได้เห็นงานภาพเคลื่อนไหวของเขาในโอกาสต่อไปอีกแน่นอน

ศันสนีย์ วัฒนานุกูล : คนเบื้องหลังเสียงตัวการ์ตูน

ถ้ามีการโหวตว่าตัวการ์ตูนตัวไหนที่เด็กๆ อยากเป็นมากที่สุด เชื่อได้แน่ว่าตัวการ์ตูนอย่าง โนบิ โนบิตะ ในเรื่อง โดเรมอน จะต้องติดท็อปเท็นอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนหนึ่งเพราะโนบิตะมีเพื่อนที่แสนวิเศษคอยหยิบของวิเศษมาช่วยเหลืออยู่ตลอด ครั้งนี้เราได้มีโอกาสคุยกับเบื้องหลังเสียงพากย์ตัวละครที่โด่งดังตัวนี้ นอกจากเสียงแล้ว เธอคนนี้ยังเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของใครหลายๆ คน เพราะเธอมีผลงานการแสดงดังๆ หลายเรื่อง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2520 ที่รับบทเป็น พจมาน สว่างวงศ์ ในบ้านทรายทอง มาจนถึง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ในบทบาทของป้าสมพิศ เราไปรู้จักจุดเริ่มต้นของผู้หญิงคนนี้ คุณนิด-ศันสนีย์ วัฒนานุกูลกัน 

“จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ที่คุณประมุท สูตะบุตร ผู้อำนวยการ อสมท. ในขณะนั้น ไปซื้อการ์ตูนเรื่องโดเรมอนมา ก็ตั้งทีมพากย์ขึ้นใหม่ มีทั้งคุณฉันทนา ธาราจันทร์, คุณนิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ ฯลฯ แล้วเราก็มาดูว่าใครจะเป็นตัวการ์ตูนตัวไหน ก็ตกลงว่า คุณฉันทนาเป็นโดเรมอน ส่วนเราก็เป็นโนบิตะ มันก็เริ่มต้นจากตรงนั้นมา”
ไม่เพียงเฉพาะต้องมาพากย์เสียงให้กับตัวการ์ตูนที่เป็นเด็กผู้ชายเท่านั้น คุณนิด-ศันสนีย์ ยังมีพากย์เสียงในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย 

“ตอกแรกก็ยากนะคะ เพราะโนบิตะเป็นคนหลายอารมณ์ มีทั้งงอแง เกเร แล้วก็ขี้อ้อน ส่วนเสียงที่เป็นเด็กผู้ชายนั้น ก็เป็นเสียงจริงๆ ของเรานั่นล่ะ แต่ก็ดัดเสียงนิดหน่อย คือเราใส่อารมณ์เข้าไปให้เหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เวลาที่เราจะพากย์ เราก็ต้องดูหน้า ดูปากของตัวการ์ตูนว่าขยับอย่างไร คือเขาพูดเราก็พูด เขาหยุด เราก็หยุด มันต้องได้จังหวะเดียวกัน มีบางครั้งที่สคริปต์ที่เราได้มามันไม่ตรงกับปากของตัวละคร หรือตัวการ์ตูนที่เราจะพากย์ เราก็ต้องปรับ หรือในการพากย์บางเรื่องเราไม่ได้พากย์แค่ตัวละครตัวเดียว เราก็จะดูหน้า แล้วก็ปรับเสียงให้เข้ากับตัวละครตัวนั้นๆ ถ้าแก่หน่อยเสียงก็จะสั่นๆ หน่อย แต่ถ้าเด็กผู้หญิงก็จะบีบเสียงให้เล็กลง ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละตัวละคร

“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง พากย์ๆ อยู่ เสียงก็หายไปเลย เราก็ต้องหยุด เพราะทำอะไรไม่ได้ เสียงไม่ออกเลย ก็ต้องไปหาหมอ บอกบอกเป็นหลอดลมอักเสบ คือเราต้องดูแลตัวเองตลอด เพราะเราใช้เสียงตลอด สูบบุหรี่นี่ไม่ได้เลย เหล้าก็ไม่ดื่ม น้ำเย็นจัดๆ ก็ไม่ดื่ม ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง แล้วเราก็ต้องระวังเรื่องอากาศ เวลาไปที่อากาศหนาวๆ ก็ต้องเตรียมเสื้อหนาว ผ้าพันคอไป เพื่อให้คอเราอุ่น อย่างในห้องพากย์จะหนาวมาก ก็ต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เข้าไป และไม่ว่าจะมีงานพากย์หรือไม่มีงานพากย์ก็ต้องดูแลตัวเองแบบนี้เสมอๆ”
จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน การพากย์ก็มีการพัฒนาไปอย่างมาก จากเมื่อก่อนที่เคยต้องพากย์กันสดๆ พร้อมกับสัญญาณที่ยิงตรงมาจากญี่ปุ่น ก็มีการบันทึกเทปได้แล้วในปัจจุบัน 

 “ตอนช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ช่วงนั้นพากย์สดเลย ตอนนั้นยังไม่มีเทป ข้อผิดพลาดก็เลยเยอะมาก บางทีเราได้บทพากย์มาแล้ว พร้อมแล้ว พอหนังการ์ตูนมา เราจะพากย์ก็ปรากฏว่า บทกับหนังไม่ตรงกัน แต่ก็ต้องตัดสินใจตะลุยพากย์ไปเลยแบบลืมบทพากย์กันไปเลย เหมือนกับแต่งเรื่องใหม่ แต่ด้วยความที่ในกลุ่มทำงานด้วยกันมานาน เขาส่งมา เราก็ส่งกลับไปได้ และมันก็ผ่านมาได้ พอมาถึงปัจจุบันที่มีการบันทึกเทป มันก็ง่ายมากขึ้น จนถึงตอนนี้ก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากแล้ว มาถึงก็พากย์ได้เลย”
การทำงานตรงนี้ เสียงที่ออกไปทำให้คนดูรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องยากสักเท่าไร เพราะไม่ว่าใครก็สามารถพูดตามบทได้อยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่จะเป็นนักพากย์ได้นั้น ต้องมีพรสวรรค์เรื่องเสียงส่วนหนึ่งด้วย รวมไปถึงต้องมีพรแสวงในการฝึกและใส่ใจในอาชีพนี้

“พรสวรรค์และพรแสวง มันต้องมาด้วยกันค่ะ อย่างแรกคือ ต้องพูดภาษาไทยให้ชัดก่อน แล้วก็ต้องอ่านหนังสือไทยให้คล่อง รวมทั้งสามารถแยกโสตประสาทในการพากย์ได้ด้วย เพราะเราจะต้องใส่หูฟัง เพื่อฟังเสียงออริจินอล ทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือภาษาอื่นๆ ส่วนตาเราก็ต้องดูบท ดูตัวละครในทีวี ปากก็ต้องพูดไปพร้อมๆ กัน และยังต้องฟังเพื่อจับจังหวะของแต่ละตัวละครที่พูดออกมา มันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เราต้องทำพร้อมๆ กัน หรือพูดง่ายๆ ว่า ตา ปาก และหู ต้องไว รวมทั้งต้องเป็นคนที่อ่านหนังสือแตกด้วย”
ในทุกๆ การทำงาน ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ผู้คนส่วนมากมักจะมองเห็นแต่ปัญหา แต่สำหรับเธอแล้ว ยิ่งเจอปัญหา ยิ่งสนุก และไม่มีสิ่งไหนที่ไม่ชอบในงานที่เธอทำ เหตุผลเดียวที่เธอบอกก็คือเพราะเธอรักมันมาก

“ถ้าถามถึงสิ่งที่ไม่ชอบสำหรับเราในงานพากย์ ไม่มีนะ เพราะมันเป็นงานที่เรารักมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพากย์การ์ตูน มันมีความสนุก เหมือนเราได้ย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ยิ่งตอนเด็กๆ เราชอบอ่านการ์ตูนด้วย ก็ทำให้เราได้ย้อนไปคิดถึงตอนนั้น แม้ตอนนี้เราจะไม่ได้อ่านการ์ตูนแล้ว มาพากย์อย่างเดียว แต่มันมีความรู้สึกว่ามันเป็นความบันเทิงที่น่ารักน่าเอ็นดู ให้ความรู้สึกที่ดี และให้ความสุขกับคนที่ได้ดูเรา ถ้าถามว่าจะทำไปจนถึงเมื่อไร ก็คงทำงานพากย์ไปเรื่อยๆ เท่าที่เรายังมีแรงทำค่ะ”

วันฉัตร ผดุงรัตน์ : คนเบื้องหลังเว็บไซต์

จากกรณีของ นาธาน โอมาน จอมลวงโลกที่เคยบอกว่าได้มีโอกาสไปเล่นภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย หรือกรณีของ น้องอุ้ม-พรภัชญา สุพรรณรัตน์ นักเรียนสาวไทยในอเมริกา ที่อ้างว่าเป็นเพราะความผิดพลาดของภาษาทำให้คนเข้าใจผิดว่าตนเองได้รางวัลที่เมืองคานส์นั้น เว็บไซต์ที่มีอิทธิพลโดดเด่นที่สุด ในการที่สื่อระดับประเทศนำไปเสนอข่าว คงหนีไม่พ้น เว็บพันทิปดอทคอม (www.pantip.com) และชายผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์อันดับต้นๆ ของประเทศก็คือผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ 

“ถ้ามองย้อนกลับไปสักสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังใหม่ๆ อยู่ ผมก็คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ที่จะมีเว็บแบบนี้ แล้วที่ประเทศไทยเราก็ยังไม่มีเว็บไซต์สักเท่าไร ส่วนใหญ่ก็เป็นของต่างประเทศ ก็เลยคิดว่าน่าจะมีสักเว็บที่เป็นภาษาไทยสำหรับให้ความรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องไอที เว็บพันทิปก็เริ่มจากตรงนั้นก่อน

“หลังจากนั้น ด้วยแรงจากสมาชิกบ้าง คนรอบข้างบ้าง แรงผลักดันจากตัวเราเองบ้าง โดยเฉพาะช่วงที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ช่วงนั้นคนในเว็บบอร์ดไอทีที่เรามีอยู่ ซึ่งมีเว็บบอร์ดเดียวนี่ล่ะ ก็จะคุยเรื่องนี้กันเยอะ แล้วก็มีสมาชิกบางกลุ่มที่ไม่ชื่นชอบ เพราะอยากคุยเฉพาะเรื่องไอทีเท่านั้น สุดท้ายก็เลยต้องแตกออกเป็นสองบอร์ดก่อน ก็คือ เทคนิคอลแชท ที่คุยเรื่องไอที กับ สภากาแฟ ที่คุยเรื่องการเมือง แล้วหลังจากนั้นคนในห้องสภากาแฟก็เริ่มคุยกันมากกว่าเรื่องการเมือง เช่น ปรัญชา ศาสนา เศรฐกิจ ฯลฯ ก็เลยทำให้เราต้องแยกออกมาเป็นเซ็กชั่นกลายเป็นห้องต่างๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้ 

“ส่วนกระแสบนโลกอินเตอร์เน็ตที่ดังไปถึงสื่อระดับชาติต่างๆ นั้น ผมมองว่ามันเป็นส่วนสะท้อนของคนที่อยู่ในสังคมแวดล้อมนั้นๆ คือมีทั้งเรื่องที่เกิดจากเว็บบอร์ดหรือ
โซเชียลเน็ตเวิร์ก และสื่อระดับชาตินำไปเป็นข่าว และมีทั้งเรื่องที่สื่อระดับชาตินำไปเป็นข่าว แล้วคนในเว็บบอร์ดหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กหยิบมาคุยกันอย่างมีประเด็น ทั้งหมดมันสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมนั้นๆ ที่เป็นความจริง”
ปัจจุบันเว็บไซต์พันทิปดอทคอมมีสมาชิกเกินหนึ่งล้านคนแล้ว ในแต่ละวัน มีผู้ที่สลับเปลี่ยนกันใช้งานประมาณ 3-5 แสนคน ซึ่งคุณวันฉัตรเองบอกว่าไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้

“ไม่เคยคิดเลยนะครับว่าจะก้าวมาได้ไกลขนาดนี้ ตอนแรกๆ ที่ทำก็คิดแค่ว่าสนุกดี น่าทำ แต่ยังไม่ได้คิดอะไรมาก ในช่วงแรกๆ ผมยังต้องเดินไปขายโฆษณาเอง แล้วก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า สมัยช่วงปี พ.ศ 2539-2540 อินเตอร์เน็ตคืออะไร คนยังไม่เข้าใจ ต้องไปนั่งอธิบายทีละนิดๆ ผิดกับปัจจุบันที่มันง่าย แล้วผมก็มีบริษัทที่เขารับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ไม่ต้องไปเดินขายโฆษณาเอง 

“ผมเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังโตได้อีกมาก เพราะผู้ใช้บริการมีจำนวนมากขึ้นๆ คนรู้จักอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เคยมีคนมาขอซื้อผมเหมือนกัน แต่ผมก็บอกเลยว่าไม่ขาย ที่ขายไม่ได้ เพราะสิ่งที่อยู่ในเว็บพันทิปไม่ใช่เกิดขึ้นจากผมคนเดียว แต่เกิดจากคอนเท้นต์ที่คนในอินเตอร์เน็ตช่วยๆ กันสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำก็แค่ในส่วนโปรแกรมกับส่วนเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น มันน่าจะอารมณ์เดียวกับวิกิพีเดีย ถ้าเขาจะขาย ผมว่ามันคงไม่ใช่ เพราะสิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่โปรแกรม แต่อยู่ที่มีคนเอาข้อมูลไปใส่เยอะแยะมากมาย ผมว่าถ้าเขาขายมันก็คงเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ใช่ผลงานของเขา พูดถึงตรงนี้มีอีกอย่างผมที่อยากพูดถึงก็คือข้อมูลของเว็บพันทิปดอทคอมในวิกิพีเดีย ผมบอกได้เลยว่ามันไม่จริง เราไม่เคยถูกฟ้องร้องใดๆ จากห้างพันธุ์ทิพย์ทั้งสิ้น เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอมา ทุกวันนี้เวลาห้างมีโพรโมชั่นอะไรเขาก็จะมาฝากผมให้ลงให้ และผมมีโพรโมชั่นอะไรก็ฝากทางห้างไปโพรโหมตได้ เคยลบออกไปรอบหนึ่งแล้ว แต่ก็กลับมาอีกจนได้ ก็คงต้องระวังเรื่องข้อมูลพวกนี้กันหน่อย บางอย่างก็ไม่จริงเสมอไป”
ณ วันนี้ หากคุณอยากรู้ว่า อะไรดี หรือไม่ดี ลองเข้าไปเสิร์ชในเว็บพันทิปดอทคอมดู แล้วคุณจะได้ความเห็นจากผู้คนที่หลากหลายมากๆ แต่ก็ใช่ว่าข้อมูลที่ได้มาจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถเข้ามาพิมพ์ได้ ซึ่งคุณวันฉัตรเองก็ยอมรับและพยายามจะพัฒนาไปให้ถึงจุดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

“เป็นคำพูดที่ดีนะครับ สำหรับใครที่อยากโพรโหมตอะไรหรืออยากจะรู้ว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี ให้เข้ามาค้นในเว็บพันทิป แต่ผมว่ามันยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดวิกิพีเดียเขายังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยสำหรับภาษาไทย ผมว่าเว็บพันทิปน่าจะสักประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะถึงแม้เราจะปรู๊ฟด้วยบัตรประชาชน แต่ถ้ามีกลุ่มคนที่มีบัตรประชาชนจำนวนมาก แล้วต้องการปั่นกระแสอะไรบางอย่าง ก็สามารถทำได้ แต่กว่าจะทำได้ก็ต้องเหนื่อยหน่อย ยากหน่อย เพราะผมก็มีทีมงานคอยตรวจสอบตลอดเวลา

“ผมว่ามันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบที่สุด คงต้องมีการพัฒนาต่อไป ตอนนี้เราก็มีโพรเจ็กต์ที่เรียกว่า 3G คือชื่อมันอาจจะพ้องกับเครือข่าย 3G แต่จริงๆ แล้วสำหรับเรามันคือ เจเนอเรชั่นที่สามของเว็บพันทิป จากรุ่นแรกที่ผมเขียนเอง มาถึงรุ่นที่สองที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และในอนาคตเราก็จะมีการปรับเปลี่ยนอีกเป็นรุ่นที่สาม ผมก็จะหยิบข้อดีของสิ่งต่างๆ ที่ได้มีโอกาสพบเจอ และคิดค้นขึ้นใหม่ เพื่อสร้างให้เว็บพันทิปไปสู่จุดที่ดีๆ ยิ่งๆ ขึ้นกว่านี้ครับ”

เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน : คนเบื้องหลังงานอีเว้นต์ระดับชาติ

Exhibition To Celebrate the Auspicious Occasion of the 76th Birthday Anniversary of Her Majesty the Queen, Thailand Pavilion Expo 2010 Shanghai China, True Move 3 G Launching, SCG Inspiration on Paper, The 116 Days Mother’s days to father’s day Project ฯลฯ อีเว้นต์ที่ว่ามานี้ ชื่อบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จก็คือ Index Creative Village ภายใต้การดูแลของพี่น้องฝาแฝด คุณเกรียงไกร-เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ในตำแหน่งเดียวกันคือ Co-Chief Executive Officer และครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณหมอก เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ที่จะมาเปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จของพวกเขากัน

“สิ่งหนึ่งที่เป็นความสำเร็จของพวกเราคงเป็นเรื่องของครีเอถีฟ เราอยู่บนพื้นฐานของครีเอถีฟตั้งแต่แรกเริ่มตั้งบริษัท ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน เราก็จะใช้ครีเอถีฟนำตลอด อย่างล่าสุดที่เรากำลังจะทำคือ รักเธอเสมอ เดอะมิวสิคัล ผมก็เอาครีเอถีฟเป็นตัวตั้งเลย แต่ละซีนแต่ละฉาก ผมคุยกับคนเขียนบทเลย ขอเปิดฉากมาเป็นไอซ์สเก็ตได้ไหม ให้คนดูได้ ว้าว เห็นหิมะตก แล้วก็ปลิวมาหาคนดู ส่วนฉากที่พระเอกกับนางเอกจะต้องเจอกัน ผมก็ไม่เอาว่าต้องเจอกันตามร้านอาหาร ผมอยากได้เป็นซีนหักมุม แบบเซอร์ไพร้ส์ ผมก็คิดว่าให้ไปเจอกันบนยอดของเทพีเสรีภาพ คือคิดให้มันหลุดเลย เพราะนี่เป็นโลกมายา ไม่ใช่ชีวิตจริง แล้วด้วยความที่ผมเป็นคนเดินทางเยอะ ดูละครเวทีเยอะ เห็นประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ เยอะ ผมก็เก็บไว้ในลิ้นชักของผม พอถึงเวลาผมก็หยิบมาใช้ อย่างครั้งนี้เรียกได้ว่าปล่อยของกันเต็มที่ เพราะ Index ทำเอง”
 ครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้เปิดบริษัทนี้ขึ้นมา ไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทนี้จะกลายเป็นบริษัทอีเว้นต์อันดับ 8 ของโลก และเมื่อปี ค.ศ. 2010 ก็มียอดขายสูงถึง 2,050 ล้านบาท

“ตอนนั้นที่ทำบริษัท ผมไม่ได้มองไกลว่าจะต้องมาให้ถึงทุกวันนี้ เราคิดแค่ว่าครีเอถีฟคนหนึ่ง จะทำอย่างไรให้อีเว้นต์มันน่าสนใจ หรือทำอย่างไรให้โปรดักชั่นมันน่าสนใจ ให้มันมีครีเอถีฟ แต่พอเราเริ่มขายงานออกไป ปรากฏว่างานครีเอถีฟของเรามันช่วยสนับสนุนเรื่องงานขายได้จริงๆ เราก็เริ่มหยิบมาร์เก็ตติ้งมาผสม แต่ทั้งหมดก็อยู่ในไอเดียของเรา 

“อย่างงาน Thailand Pavilion Expo 2010 Shanghai China สิ่งแรกที่เราคิดก็คือ เราต้องดูก่อนว่างานจัดที่ไหน ที่ประเทศจีน ก็สำรวจก่อนเลยว่า เขาชอบอะไรในไทยบ้าง มุมไหนบ้าง รู้จักเมืองไทยอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ค่อยดีซายน์ออกมา ตอนแรกที่ทำเสร็จโดนโจมตีเยอะมาก บางกระแสวิจารณ์ก็บอกว่าเอาไทยๆ ไปขายอีกแล้ว คิดอะไรใหม่ๆ ไม่เป็นเหรอ แต่คุณลองนึกดูว่า พาวิลเลียนประเทศอื่นๆ ถ้าเขาถอดโลโก้ประเทศออก จะมีใครรู้ไหมว่า ประเทศอะไร และที่สำคัญ อะไรที่เป็นไทยๆ ทำไมต้องอายด้วย ก็เราเป็นคนไทย และจริงๆ แล้วข้างในพาวิลเลียนเราไฮเทคมาก สามห้องนี่โชว์เทคนิคกันเต็มที่ สุดท้ายสิ่งที่เราทำก็ติด 1 ใน 7 พาวิลเลียนยอดนิยม นั่นคือบทพิสูจน์”
แม้ว่า ณ วันนี้ Index Creative Village จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ก็มีบางครั้งที่พวกเขาคิดงานไม่ออกเหมือนกัน 

“ถ้าคิดไม่ออกผมจะหยุดเลย พอกลับบ้าน หรือไม่ก็พักการประชุม ทุกคนจะถูกโยนการบ้านไป แล้วก็ไปช่วยกันคิด คือเวลาประชุมเรื่องครีเอถีฟมันเครียดไม่ได้ มันต้องสนุก เวลาประชุมก็ต้องสนุก ท้าทาย อย่างผมเคยไปประชุมกับทางแกรมมี่ เขาก็สนุก และผมว่าทุกที่ก็เป็นเหมือนกัน 

“ผมมองว่าอุปสรรคใหญ่ในการทำงานไม่ใช่เรื่องคิดไม่ออก แต่เป็นเรื่องเวลาที่ลูกค้าให้เรามา บางทีเรามีเวลาน้อยมาก ก็ต้องบริหารเวลาที่มีให้ดีที่สุด อย่างภาพโลเกชั่นแต่ละที่ที่เราจะไปทำ ภาพทั้งหมดจะอยู่ในหัวผมหมดเลย หลับตานี่นึกออกหมดว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ทางเข้างานอยู่ไหน ในงานมีอะไรบ้าง ถ่ายรูปตรงไหน นักข่าวอยู่ตรงไหน คือต้องนึกภาพให้ออกให้หมด ต้องแม่น ที่งานส่วนใหญ่มันออกมาไม่ดี เป็นเพราะคิดกันไม่จบ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนทำงานมือไม่ถึง ลืมคิดนั่น ลืมคิดนี่ แต่สำหรับผมแล้ว รูปแบบงานทั้งหมดจะอยู่ในหัวหมดแล้วค่อยลงมือทำ

“อย่างงานเปิดตัวรถอัลฟ่าโรมิโอ เป็นงานที่ผมชอบมากที่สุด เพราะผมมีภาพในหัวหมดแล้ว ตอนนั้นผมทำกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเลย เซอร์ไพร้ส์คนดูตั้งแต่ต้นจนจบ แขกและสื่อมวลชนมารอที่ท่าน้ำโรงแรมโอเรียนเต็ล แล้วก็เจอกับรถโบราณของยี่ห้อนี้จอดอยู่ ด้านบนของเรือก็เป็นแฟชั่นโชว์ชั้นนำจากอิตาลี พอเรือแล่นไปถึงสะพานพระรามเก้า นางแบบก็โพสตรงตอม่อสะพานพระรามเก้า ภาพก็ถูกฉายลงบนตอม่อ ว่าภายในรถรุ่นนี้เป็นอย่างไรบ้าง นวัตกรรมเป็นอย่างไร แล้วเรือก็ลอดอุโมงค์ไป ใช้เรือประมาณ 7 ลำ พอไปถึงจุดที่เรากำหนด เรือแพขนาดใหญ่ก็ยิ่งพลุขึ้นฟ้า แล้วก็มีโชว์ต่างๆ ขึ้น พอเรือแล่นกลับมา แนวดนตรีก็เริ่มเปลี่ยน พอถึงท่าเรือโอเรียนเต็ล รถรุ่นใหม่ก็มาจอดรออยู่แล้ว
“อย่างช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ผมก็อยากทำเซอร์ไพร้ส์ดีๆ ให้กับคนทั้งประเทศ ให้แบบได้จดจำกันไปเลย ผมจะทำประกวดหัวเราะ เพราะเข้าสู่ปี พ.ศ. 2555 ก็เรียกได้ว่า พื้นฐานการทำงานทั้งหมดของเรา เริ่มต้นที่ครีเอถีฟล้วนๆ ครับ”

สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา : คนเบื้องหลังคลื่นเพลง

“ใกล้เกินไป ก็ไม่เชื่อ ห่างเกินไป ก็ไม่รู้จัก” ประโยคหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักความเป็นอาชีพดีเจมากขึ้นจากน้ำเสียงของ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา หรือที่ใครๆ เรียกเธอว่า พี่ฉอด ผู้ที่คอยคุมบังเหียนและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคลื่นวิทยุทั้ง Chill89, Hot Wave91.5, EFM94 และ Green Wave 106.5 รวมไปถึงเอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์, โชว์บิสคอนเสิร์ต, ค่ายเพลง และอีกมากมาย

“ต้องบอกก่อนเลยว่า อาชีพวิทยุหรือดีเจมันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก และเป็นอะไรที่แตกต่างจากสื่อเบื้องหลังอื่นๆ อย่างถ้าเราอ่านหนังสือ คนเขียนมีคอลัมน์ มีนามปากกา เราก็จะรู้จักเขาแค่ผ่านตัวหนังสือ แต่เขาจะเขียนใหม่ แก้ใหม่ กลั่นกรองกี่รอบก็ได้ แต่อาชีพดีเจคืออาชีพสด นั่งอยู่ตรงนี้ พูดออกไปเดี๋ยวนี้ คือตัวตนของดีเจมันออกไปหมด มันไม่สามารถเฟค ตัดต่อ หรือแก้ไขอะไรได้เลย เพราะรายการวิทยุส่วนใหญ่มันเป็นรายการสด เพราะฉะนั้นมันมีลักษณะตัวตนของคนๆ นั้นสูง และอย่างที่บอก ระยะห่างระหว่างคนที่เป็นดีเจ กับคนฟังมันอยู่ในช่วงที่กำลังพอดี

“อย่างตอนทำ Club Friday เรื่องตั้งมากมายที่บางคนไม่กล้าบอกใคร คนข้างๆ ตัวไม่เคยบอก แต่เขามาบอกเรา จริงๆ อย่างบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ที่เขาไม่ควรนำมาเล่าให้เราฟังด้วยซ้ำ แต่เขาก็เล่า มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องพยายามมากขึ้น เมื่อเราได้รับความไว้วางใจอันนั้น เราก็ต้องดูแลสิ่งที่เขาเล่าให้ดีที่สุด คือรายการนี้จัดยากนะ ต้องคิดเยอะมาก เพราะสิ่งที่เราพูดออกไป มันอาจไปตัดสินหรือไปทำให้เขาเข้าใจผิด หรือไปทำอะไรกับชีวิตเขาก็ได้ ดังนั้นทุกอย่างต้องกลั่นกรองก่อนพูดออกไปเสมอ และเราจะไม่พูดว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่คุยเรื่องเรียนรู้และหาข้อมูลซึ่งกันและกันมากกว่า และนั่นล่ะมันคือความมหัศจรรย์ของดีเจที่อาชีพอื่นๆ ไม่มีวันมี และไม่มีวันทำได้”
ในการทำงานหนึ่งวัน เธอไม่เคยระบุว่าวันนี้จะต้องดูแลงานไหนหรือจะต้องทำงานไหน แต่ทุกอย่างจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายๆ คนที่ทำงานที่นี่อยู่กับเธอมานาน ทำให้ทำงานกันแบบรู้ใจ รู้ทางกัน และก็ทำให้เธอรู้ว่าจังหวะไหนควรจะดูตรงไหน ควรจะปล่อยตรงไหน

“ส่วนใหญ่เราจะทำงานกันเป็นทีม จากเราลงไปก็มีผู้อำนวยการฝ่ายผลิต จากนั้นก็เป็นโพรดิ๊วเซ่อร์ แล้วก็
โพรดิ๊วเซ่อร์แต่ละคลื่น แล้วก็ลงไปเป็นทีมต่างๆ ที่อยู่ในคลื่นนั้นๆ เช่น ครีเอถีฟ ฝ่ายข้อมูล ฝ่ายข่าว ฯลฯ ก็จะกระจายกันออกไป แล้วการทำงานเป็นทีมของเราก็คือ เราให้เกียรติกับคนที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานนั้นๆ อยู่แล้วด้วย โดยโพรดิ๊วเซ่อร์ก็จะเป็นคนคุมทั้งหมด แล้วเราเองก็จะถอยมาแล้วดูในเรื่องของนโยบาย อาจจะมีลงรายละเอียดบ้างหรือมีคำแนะนำบ้าง แต่ก็จะเป็นการช่วยกันคิด ช่วยกันพูดมากกว่า” 
แม้คลื่นวิทยุที่ต้องดูแลจะมีมากถึง 4 คลื่น แต่เธอก็ยืนยันกับเราว่าไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันเองแต่อย่างใด เพราะแต่ละคลื่นก็มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและแตกต่างกันไปอยู่แล้ว และในความแตกต่างที่มีนั้น ก็ยิ่งทำให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน

“อย่างคลื่น Chill จะเป็นแบบสบายๆ ฟังเพลงเยอะ ไม่ค่อยจะวุ่นวายอะไรมากมาย ส่วน EFM จะเป็นแบบสนใจอยากรู้เรื่องราวในวงการซุบซิบดารา เพราะฉะนั้นแม้สองคลื่นนี้กลุ่มคนฟังดูอายุจะใกล้กัน แต่ความชอบก็คนละแบบ ส่วน Green Wave ก็จะโตขึ้นมากว่า 2 คลื่นนั้นอีกหน่อย ส่วน Hot Wave ก็จะดูเด็กไปเลย เพราะฉะนั้นแต่ละคลื่นจะมีค็อนเส็ปต์ที่ชัดเจน และก่อนที่จะมีคลื่นก็มีการทำการสำรวจเยอะมาก อย่าง EFM ก็ได้กระแสตอบรับที่แรงพอสมควร หรืออย่าง 
แฉแต่เช้า ก็มีกระแสตอบรับที่ดีมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะรูปแบบของรายการที่เป็นการท้อล์กโชว์ แต่เราก็ปรับไปเรื่อยๆ นะคะ เวลาเราสร้างรายการสักรายการหนึ่ง มันก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด สิ่งไหนคนฟังชอบก็เก็บไว้ สิ่งไหนไม่ชอบก็เปลี่ยน ยิ่งคลื่นนี้เป็นคลื่นที่พูดถึงเรื่องของวงการบันเทิง เน้นเรื่องวงการบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งดีเจเราเป็นดารา เป็นนักแสดง เป็นคนในวงการบันเทิง ก็ทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นมันเอื้อต่อกันอยู่แล้ว ก็ทำให้ยิ่งน่าสนใจ แต่ถ้าอันไหนแรงไปเราก็จะเตือนบ้าง แต่จริงๆ ก็มีคนทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว คือโพรดิ๊วเซ่อร์เขาจะคุมหมดอยู่แล้ว ทั้งการเลือกข่าว เลือกเนื้อหาต่างๆ ในรายการ ซึ่งถ้าเขาทำได้ เราก็จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขา”
หลายๆ คนคงมองเห็นภาพความสำเร็จของเธอคนนี้ และอยากเป็นแบบเธอบ้าง แต่จะมีใครรู้บ้างว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ ต้องผ่านอุปสรรคมามากน้อยแค่ไหนและต้องเจอกับอะไรบ้าง

“อยากจะบอกทุกๆ คนว่า อย่ามองอะไรเพียงแค่ฉาบฉวย หลายคนอยากเป็นดีเจ ถามว่าอยากเป็นเพราะอะไร บางคนก็บอกว่าเพราะสนุกดี หรือไม่ก็มันเด่น มันดัง แต่การทำอะไรก็ตามที่เป็นอาชีพ มันไม่ได้ทำเล่นๆ เหมือนเล่นสนุก เพราะพอเป็นอาชีพมันจะมีปัญหาเข้ามาให้เราแก้อีกมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะก้าวไปในอาชีพอะไรก็ตาม ก็ขอให้มั่นใจก่อนว่ามีความรัก มีความตั้งใจจริง ไม่อยากให้คิดว่าอาชีพต่างๆ มันสวยงามเหมือนอย่างที่เราเห็น เพราะเมื่อเราไปลงมือสัมผัสกับมัน แล้วหากพบว่ามันเหนื่อย มันยาก ก็อาจจะผิดหวัง แต่เชื่อเถอะค่ะว่าทุกคนผ่านการทำงานหนักกันมาทั้งนั้น”

 

 

8 คนเบื้องหลังในอาชีพต่างๆ