ภูชี้ฟ้า-เชียงของ

ภูชี้ฟ้า-เชียงของ

ใช่ มันทำให้เราและพวกเขาได้มีโอกาสมาพบเจอกัน ผมหมายถึงสิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างอันหลากหลาย ซึ่งใครก็ตามที่ได้สัมผัสควรต้องทำใจยอมรับ ทั้งการคงอยู่อันมีค่า หรือสิ่งที่เราคาดหวังไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง

ถนนบางช่วงโอบล้อมด้วยดอกไม้แห่งฤดูหนาว สวยพราว มีมิติ บางช่วงก็สูงชันและโหดร้ายกับกำลังเครื่องยนต์คันเล็ก แต่ก็แลกมาด้วยวิวกระจ่างตา ขณะบางกิโลเมตรก็ทอดขนานไปกับแม่น้ำ สวยงาม อบอุ่น

ไม่กี่วันวันบนเส้นทางจากอำเภอเชียงคำของพะเยา พาดผ่านคดโค้งของภูเขา ไปจนจดริมชายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ว่าที่แท้แล้วนิยามของถนนนั้นแทบไม่แตกต่างกับจิตใจคนรายทาง

หลากหลายเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง และเอื้ออาทรเสมอกับผู้ที่ผ่านพาตัวเองเข้ามาทำความรู้จักอย่างใกล้ชิด

ภูเขาคงทน

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1093 แยกขวาออกมาจากเชียงคำ รอบด้านร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ อากาศปลายฤดูหนาวทำให้รอบด้านสวยงามเป็นพิเศษ ผู้คนเริงร่าออกเดินทาง ภูเขาและสายลมดูจะเป็นคำตอบที่หลายคนดั้นด้นขึ้นไปหา ถนนกลายเป็นตัวแทนของการเชื่อมโยงคนข้างบนและข้างล่างให้ติดต่อกัน

เราผ่านน้ำตกภูซางในเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง สายน้ำโปรยตัวเป็นม่านขาวไหลลงสู่แอ่งเบื้องล่าง แลนด์สเคปถูกตกแต่งอย่างน่านั่ง ผู้คนจอแจขวักไขว่ในวัดปลายสัปดาห์ ร้านอาหารและลานหญ้ามากมายด้วยสีสัน

นาทีที่เราผ่านจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาวบ้านฮวก นั้นไม่ใช่วันที่ 1 หรือ 30 ของเดือน หย่อมบ้านเรือนและพื้นที่ที่กันไว้เป็นการซื้อขายสินค้าดูเงียบเหงา “หากมาวันตลาดสินค้ามากมาย ของสด พืชผลจากลาวเยอะแยะ ทางฝั่งเราก็สนุก เอาข้าวของมาขาย” เฒ่าชราว่าเอากับภาพอยู่กินร่วมตรงขอบแดนที่เกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่ง 

ถนนไต่ความชัดขึ้นไปในหุบเขา รายทางคือบ้านเรือนของพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง รถกระบะและบ้านไม้ที่คงทนแน่นหนาบอกถึงชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา

กะหล่ำปลีและข้าวโพดเรียงราย ยังไม่นับบ้านพักรีสอร์ตที่พวกเขาสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยวอันมีจุดขายที่ความหนาวเย็นและไอหมอกในยามเช้า ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปจากการรับรู้ของผู้คน ทั้งข้างบนนี้และเบื้องล่างมาได้เนิ่นนาน

จากพื้นที่ภูเขาที่ทอดผ่านเป็นชายแดนยาวโดยเรียกรวมว่าเทือกดอยยาว-ดอยผาหม่น ที่ครั้งหนึ่งเคยดังก้องด้วยเสียงปืนและความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ความทุกข์ยากแร้นแค้นรวมถึงความไม่เป็นธรรมที่คนข้างบนได้รับก่อเกิดเป็นสงครามยืดเยื้อยาวนาน พื้นที่แถบพะเยา-เชียงรายอันเป็นขอบแดน
สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอดีตคือเส้นทาง และหนึ่งในฐานที่มั่นที่ พคท. ใช้เป็นแหล่งรวบรวมผู้คน พี่น้องชาวไทยภูเขาเข้าร่วมต่อสู้

ภูเขายังคงความงดงาม หากทะเลหมอกและดอกไม้มีให้เห็นแต่ในดวงตาของ “คนบนภูเขา” และถูกปิดบังอยู่ด้วยสงคราม

ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานท่ามกลางเขตภูเขา กองกำลังทหารจีนยูนนานจากกองพล 93 ที่อพยพเข้าสู่ชายแดนไทยในเชียงใหม่ในส่วนกองพันของนายพลหลี่ เหวิน ฝาน ถูกเกณฑ์มาร่วมรบให้เขตรัฐบาลที่ดอยผาตั้ง หลังสิ้นสุดสงคราม ผู้คนปักหลักใช้ชีวิตต่อบนเทือกดอยทั้งพี่น้องจีนยูนนานและชาวไทยภูเขา

เราหาที่พักเล็กๆ ได้ในวันที่วนอุทยานภูชี้ฟ้าเนืองแน่นไปด้วยผู้คน หมู่บ้านพักเรียงรายอัดแน่นอยู่ตามไหล่เขาของบ้านร่มฟ้าไทยอาหารการกินมากมายเรียงรายสองฟากถนน ลมเย็นกระโชกแรง อากาศเริ่มลดอุณหภูมิ

ยังไม่ค่ำ เพื่อนร่วมทางชวนให้ทิ้งด้านบนไว้ก่อน ไต่ความคดเคี้ยวสูงชันเลยไปทางดอยผาตั้ง แอบรถเข้าไปในเขตของโครงการฟาร์มเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก ตามพระราชดำริ บ้านร่มฟ้าทอง เมื่อเข้าไปถึง สันดอยไล่ลึกลงไปในหุบเป็นวิวสวยงาม คอกแกะสะอาดสะอ้านข้างในมีเสียงร้องราวเด็กอ่อนร้องกินนมแม่ สุริโย โพธิอิน และคนงานชาวม้งอีกสองสามคนง่วนอยู่กับการประคบประหงม ทั้งแกะ เป็ด และไก่ ที่ต่างก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่ช่วยเหลือความเป็นอยู่ของผู้คนแถบเทือกดอย

“แกะเลี้ยงตัดขนครับ 6 เดือนตัดที เอาไปชาวบ้านทอผ้า แถบบ้านห้วยหานน่ะครับ” ยังไม่รวมเป็ด ไก่ ที่ทางโครงการฯ เพาะลูกพันธุ์เพื่อแจกให้ชาวบ้านรายรอบ “ทำกันไม่กี่คนครับ แต่เพื่อหลายๆ คน” เขาบอกกับเราง่ายๆ แต่มันสื่อสารถึงโลกในอุดมคติอันมีอยู่จริงกลางหุบเขา

โลกที่เอื้อเฟื้อ ดูแลและอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น

เราเลาะไปเยือนดอยผาตั้งกันในยามเย็น ทางเดินขึ้นสู่สันปันน้ำที่กั้นเขตไทย-ลาวนั้นเย็นสบายด้วยลมและแดดอุ่น เด็กน้อยเชื้อสายลีซอพาเราสวนความสูงขึ้นไปชมวิวกระจ่าง “ช่องผาบ่อง” ที่เป็นจุดขึ้นลงระหว่างสองดินแดนเหลือเพียงแนวสนามเพาะและช่องหินให้จ้องมองความสมบูรณ์ของป่าไม้ในแขวงไชยะบุรีของฝั่งลาว

แนวทางเดินดินเล็กๆ ไล่ไปตามเนินเขา ที่เนิน 102 และเนิน 103 คือจุดที่ขึ้นไปมองเห็นวิว 360 องศาของทั้งสองประเทศแม่น้ำโขงคดโค้งอยู่ลิบตา “ที่นี่ทะเลหมอกสวยไม่แพ้ภูชี้ฟ้าครับ” หนุ่มน้อยพูดเจื้อยแจ้ว “แวะกินอาหารยูนนานหรือซื้อของฝากก่อนนะครับ ซื้อบ๊วย ท้อ ชา ก็ได้ครับ เราปลูกกันเอง” เขาพูดไทยยังไม่ค่อยชัด ทว่ากำลังสื่อสารถึงอีกรูปแบบหนึ่งของการดำรงชีวิตที่คนรุ่นพ่อแม่เคยผ่านพ้น ปรับเปลี่ยน และกำลังดำเนิน

นาทีนั้นภูเขาไม่ได้ห่างไกลและผู้คนข้างบนอาจไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่เคยเป็นมา

ตีสี่ครึ่ง ผมและผู้คนในชุดกันหนาวเดินกันขวักไขว่ที่บ้านร่มฟ้าไทย ขบวนรถปิกอัพของชาวบ้านทยอยพาผู้คนในชุดกันหนาวมารวมกันที่ตีนภูชี้ฟ้า ฟ้ายังมืดสนิท ดาวระยิบ หากเสียงคนจอแจราวงานรื่นเริง เราเริ่มเดินขึ้นภูชี้ฟ้ากลางความมืดและอากาศหนาวเหน็บ

ยืนนิ่งกลางลมเย็นเสียดผิว แสงส้มแดงเริ่มแตะตีนฟ้า ละลายแสงดาวให้เลือนหาย ฟ้าเปลี่ยนจากสีบลูสู่ส้มแดง เมื่อตะวันโผล่พ้นทะเลหมอกเบื้องล่างก็ละมุนราวคลื่นน้ำนม มียอดเขาหยึกหยักของฝั่งลาวโผล่พ้น คล้ายเกาะแก่งกลางทะเลสักผืน

ผู้คนจับจองพื้นที่มองดวงตะวันเจิดจ้า ฟ้าใสสดและผู้คนมากมายเรียงรายบนยอดภูเขาที่มีสัณฐานชี้ปลายขึ้นไปเหนือท้องฟ้า เด็กชาวเขาในชุด “เต็มยศ” ทาแก้มแดงเรียกร้องให้คนถ่ายรูป

ยอดภูชี้ฟ้าไม่ได้ลึกลับและแปลกหน้าสำหรับผู้คนอีกต่อไป

ไม่เกินเก้าโมงเช้าบนยอดภูเหลือเพียงลมหนาว ฟ้าใสสด และความว่างเปล่า นานๆ จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยือนภูชี้ฟ้าในเวลากลางวันกันสักกลุ่ม

หากในนามของภูเขาอันเป็นพื้นที่อันอบอุ่นแข็งแกร่ง ความหมายของมันไม่ได้เปลี่ยนไป

แม่น้ำอารี

เราลงจากยอดดอยกันด้วยทางชัน ภาพทะเลภูเขากว้างสุดตาค่อยๆ เลือนหาย ตามความสูงจากระดับทะเลปานกลางที่ลดลง และเมื่อลงสู่บ้านปางหัด ในเขตอำเภอเวียงแก่นความอุ่นและชีวิตชายแดนของผู้คนที่นี่กลับเล่าเรื่องราวด้วยแม่น้ำสายสำคัญของอินโดจีนอย่างแม่น้ำโขง

เข้าสู่เวียงแก่น ฉีกเลาะจุดผ่อนปรนชายแดนบ้านห้วยลึกที่มีเพียงสินค้าก่อสร้างและเครื่องสาธารณูปโภคจำเป็นบางอย่างรอลงลำเรือข้ามโขง บนตลิ่งคือแปลงผักและไร่ข้าวโพดเรียงราย

ผู้คนกับแม่น้ำโขงดูจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาเนิ่นนาน ชายชราในเรือประมงลำเล็กรู้ว่าแก่งไหนปลาชุม ตรงไหนน้ำเชี่ยวอย่างไรก็ตาม คนเวียงแก่นมีข้อห้ามไม่จับปลาในระยะ 300 เมตรจากฝั่งตัวอำเภอ เพื่อการวางไข่และความสมบูรณ์ต่อเนื่องของอาหารและความอยู่รอดที่อยู่หน้าบ้านของพวกเขา

แก่งก้อนคำและแก่งผาไดพลอยมีผู้มาเยือนจากทิศทางการขึ้นล่องท่องเที่ยวเป็นวงรอบไปสู่บนภูเขาที่เราจากมา ภาพเรือช้าล่องผ่านจากเชียงของมุ่งล่องไปสู่หลวงพระบางเลาะเลียบแก่งหินกลางลำน้ำดูราวภาพเขียนจากจิตรกรจีน พวกเขามานั่งทอดสายตาเพียงครู่แล้วก็จากไปตามจุดมุ่งหมาย

เราจากเวียงแก่นและใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 เลาะไปตามแม่น้ำโขงจนเข้าสู่อำเภอเชียงของ แม่น้ำโขงไหลขนาบอยู่เบื้องขวามือ บางถนนก็แนบชิดและเปิดกว้างให้เห็นภาพแม่น้ำกระจ่างตา มีแนวเขาหินปูนหยึกหยักห่มหมอกราวไม่รู้กาลเวลา

เมื่อเข้าเขตเชียงของ ถนนขนาดใหญ่ถูกขยายตามเส้นทางสาย R3A หรือระเบียงเศรษฐกิจที่จะข้ามไปสู่ลาว เชียงรุ่ง มุ่งขึ้นไปคุนหมิงและจีน รองรับสินค้าและการท่องเที่ยวนานาที่มีถนนเป็นตัวเชื่อมโยง

กลางตลาดเติบโตจาก 3 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ร้านบะหมี่ไหหลำคู่เมืองเชียงของใหญ่โต ร้านกาแฟ โปสการ์ดประเภทเอาใจนักเดินทางเรียงราย โรงแรมขนาดใหญ่ก่อสร้าง เกสต์เฮาส์และโรงแรมประเภท “ริมโขง” แบบดั้งเดิมก็ไม่ได้ลดน้อยผู้คนลงไปนัก ตรงข้ามกันที่เมืองห้วยทรายแน่นขนัดด้วยตึกรามและเสียงเพลงยามค่ำคืน ขณะที่ร่องน้ำตรงบ้านหาดไคร้ที่เคยเนืองแน่นด้วยการจับปลาบึกอันลือชื่อ ขณะนี้เหลือเพียงศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกร้างไร้การดูแล

ใครบางคนว่าอาจเป็นเรื่องของ “เขื่อน” และการเปลี่ยนแปลงไปของแม่น้ำและคืนวัน

หากทว่าเชียงของก็ยังสงบงามในยามเช้า ผู้คนแท้ๆ ของที่นี่คล้ายกับมีกระดาษ 2 ใบที่พร้อมจะยื่นให้เราอ่าน ทั้งด้านที่เป็นตัวตนอันสงบสุขและด้านการเติบโต ปรับเปลี่ยน และต้องการการทำความเข้าใจในความแตกต่างของคืนวัน

ผมได้ที่พักเป็นโรงแรมเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงอันเก่าแก่ ยามเช้า แม่น้ำอันอุ่นเอื้อและยิ่งใหญ่ ชายชราดูแลแปลงผักริมน้ำอยู่ครู่ใหญ่ก่อนจะลงเรือลำเดิม ค่อยๆ กลายเป็นจุดเล็กๆ ที่หากินกับแม่น้ำสายเคยคุ้น

กลางตลาด พระสงฆ์ยังคงออกเดินรับบาตรและลัดเข้ามาตามบ้านแต่ละคุ้มที่มีพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยนบกับข้าวขึ้นเหนือหัว นั่งนิ่งรับคำให้พร สงบเย็น

คงเป็นเรื่องไม่ยาก ตามการหลากไหลของวันเวลา ที่ใครสักคนจะรู้จักและเปิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ หากเป็นคนละเรื่องกับคำว่ายอมรับและทำความเข้าใจ

ระหว่างถนนที่ทอดผ่านที่ราบ ข้ามขุนเขาอันทบทวีทั้งความงดงามและเรื่องราว จนจรดชายดินแดนที่แม่น้ำสายชรายังคงหลากไหลหล่อเลี้ยงพวกเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าบนฝั่งจะเปลี่ยนไปเช่นไรก็ตาม

จริงๆ แล้ว ผมได้แต่หวังว่าใจคนจะหนักแน่นยิ่งใหญ่และแข็งแรง เหมือนกับภูเขาและแม่น้ำที่โอบล้อมเส้นทางแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ทุกคืนวัน 

บนถนนสายคดเคี้ยวบนภูเขาชองเชียงราย