ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา

ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา

1

คุณปิยพันธ์นั้นไม่ได้เรียนจบเศรษฐศาสตร์ บัญชี หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินเลยแม้แต่น้อย เขาเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวาดหวังว่าจะได้เป็นวิศวกรที่ดี ทันทีที่เรียนจบ เขาจึงสมัครงานทันที และก็ได้งานในทันทีเช่นกัน

“บังเอิญว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่วิศวกรขาดตลาด ประมาณ พ.ศ.2530-2531 ผมเขียนใบสมัครไว้ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลก็เรียกสัมภาษณ์ แล้วก็รับเข้าทำงานเลย เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดในไทย ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตผม 

“งานแรกที่ผมต้องดูแลก็คือการติดตั้งระบบแอร์ ต้องไปประจำที่หน่วยงาน แต่พูดตรงๆ เลยว่าตอนเรียน ผมยังไม่เคยเห็นแบบก่อสร้างเลย เพราะในมหาวิทยาลัยสอนแต่การคำนวณ ทฤษฎี พอผู้จัดการโยนแบบก่อสร้างมาให้ ผมก็จ้องอยู่นานว่าจะทำอย่างไรดี 

“ผมทำตั้งแต่ดูแบบ ถอดแบบ เพื่อประมาณการว่าจะต้องใช้วัสดุอะไรเท่าไหร่ ต้องขออนุมัติส่งวัสดุในตอนเช้ากับเจ้าของโครงการ จากนั้นก็ต้องไปติดตั้ง แต่สุดท้ายผมก็ทำสำเร็จผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

“หนึ่งในงานใหญ่ที่ผมต้องดูแลก็คือการก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอนนั้นรัฐบาลต้องการจะสร้างสถานที่เพื่อประชุมWorld Bank โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม ก็เลยสร้างศูนย์ประชุมนี้ขึ้นมากลางเมือง ภารกิจตอนนั้นเร่งมากๆ ต้องเสร็จภายใน 1 ปี เพราะฉะนั้นผมและวิศวกรคนอื่นๆ ก็ต้องกินนอนอยู่ในไซท์งาน มีชีวิตอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ เช้ามาทำงานกลางคืนต้องเฝ้า ต้องอยู่กับงานที่คลุกฝุ่น 

“แต่การเจองานหนักแบบนี้ตั้งแต่แรกมันก็ดีตรงที่ทำให้เราไม่ติดสบาย อย่างที่สองก็คือผู้บริหารเขาก็จะมองว่าพนักงานคนนี้ใช้ได้ลุยดี”

เมื่อผลงานดี หัวหน้าก็เห็นความสามารถ คุณปิยพันธ์จึงถูกโปรโมทให้ได้ระดับงานที่สูงขึ้น ได้เป็น Project Site Manager ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นระดับชั้นการทำงานที่รวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับอายุที่ยังน้อยอยู่ 

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นข้อดี แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างความกดดันให้กับตัวเองไม่น้อย

“โปรเจ็คท์ต่อมาของผมก็คือ ตึกไทยวา 2 ตรงถนนสาทร ตอนนั้นถือว่าเป็นตึกสูงระดับประเทศรองจากตึกใบหยก เวลาประชุมก็จะมีเจ้าของตึกที่เป็นชาวสิงคโปร์ มี Interior Designer มี Consult มีผู้รับเหมาบริษัทต่างๆ แล้วผมเองตอนนั้นอายุประมาณ24 ปีเท่านั้นเอง ผู้ชายด้วยกันยังไม่ค่อยเท่าไหร่ เขาก็อาจจะคิดว่าหนุ่มคนนี้ไฟแรง แต่มี Interior ที่เป็นผู้หญิงบอกว่าทำไมบริษัทนี้ส่งเด็กเข้ามาประชุม จากนั้นก็พยายามชี้นำให้คนอื่นคิดตาม ผมก็รู้สึกกดดัน แต่ก็ท้าทายดี สุดท้ายก็สามารถสร้าง
ผลงานให้เขายอมรับได้ 

“ตอนที่อยู่ไซท์งาน ผมจะคิดเสมือนว่าผมเป็นเจ้าของบริษัทเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำไร ขาดทุน งานมีปัญหา คนงานไม่มีเงิน ผมต้องรับผิดชอบทั้งหมด 

“ช่วงที่ทำอยู่ตึกไทยวา 2 มันมีความพิเศษอยู่นิดนึง เนื่องจากว่ามันเป็นตึกที่สเปคสูง ใช้ตัวโครงสร้างด้านข้างที่เป็นลิฟท์เป็นแกนหลักของตึก เพื่อรับน้ำหนักของตึกที่แบนๆ มันเลยต้องใช้เวลาก่อสร้างนานมากถึง 4 ปี 

“พอขึ้นปีที่ 3 งานทุกอย่างเริ่มลงตัว พอชั้นล่างเสร็จ ชั้นบนก็สบาย เพราะทุกอย่างมันจะเหมือนๆ กัน ช่วงปีที่ 3 นี่เองที่บริษัทเห็นว่าผมมีศักยภาพ น่าจะทำอะไรได้มากกว่ามานั่งเฝ้าตึก เขาก็เลยส่งผมไปที่ญี่ปุ่นครึ่งปี” 

การไปเรียนรู้งานที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่หลายเดือนนี่เองที่เปิดโอกาสใหญ่ให้กับเขาอีกครั้ง เมื่อมีโครงการยักษ์จากอเมริกาเข้ามาลงทุน ชื่อโครงการ Alfa TI (Texas Instrument) ซึ่งต้องใช้คนไทยที่สามารถทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นได้ เพราะทีมที่เข้ามาทำงานทั้งหมดนั้นมาจากญี่ปุ่น คุณปิยพันธ์จึงได้รับเลือกให้มาร่วมงานในตำแหน่ง Project Engineer เพื่อประสานงานระหว่างวิศวกรญี่ปุ่นกับโฟร์แมนคนไทย และถ้างานนี้สำเร็จ เขาจะเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ทำงานกับโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย 

แต่แล้วปี 2540 ก็เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้โครงการนี้ล้มลงในที่สุด 

“วันแรกที่คนญี่ปุ่นเดินมาประกาศที่ไซท์งาน ผมตกใจ ทุกคนเหวอกันไปเลย แต่ยังดีที่บริษัทเขาก็ยังหาที่ให้เราทำงานจนได้ ผมถูกส่งไปอยู่นิคมที่ฉะเชิงเทรา แต่งานนี้มันก็จะต่างจากที่เคยทำมา กลายเป็นคุมโรงงานเล็กๆ แทน 

“ถึงผมจะเป็นคนดูแลโรงงานทั้งหมดก็จริง แต่ก็รู้สึกว่าชีวิตทำไมมันเร่ร่อนอย่างนี้ จะต้องไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้กี่ปี จุดหมายชีวิตอยู่ตรงไหน แล้วงานมันก็เหนื่อยมาก ไม่มีงานกลางวันกลางคืน ทำตลอด ปัญหามีทุกวัน นอกจากเรื่องทางวิศวกรรมแล้ว ผมยังต้องไปคอยรับปัญหาอื่นๆ เช่น บริษัทนี้มาวางของขวางทาง คนงานเราไปทำของเสียหาย เรียกว่าปัญหามันเยอะมาก 

“ทำงานมา 7 ปีก็เริ่มอิ่มตัว เริ่มอยู่ไม่ไหว ผมก็เลยไปปรึกษาทาง Manager ซึ่งเป็นลูกพี่ผม ผมไปขอลาออก 
ใจอยากจะมาหางานที่นั่งประจำแล้ว อาจจะเป็นที่ปรึกษาหรือคนออกแบบ แต่ยังอยู่ในสายงานวิศวกรรมอยู่ เพราะยังคิดไม่ออกว่าเราจะออกไปทำอะไรดี”

2

การลาออกของเขาในครั้งนั้นไม่เป็นผล เพราะหัวหน้าได้ยื่นข้อเสนอใหม่ให้ นั่นคือการย้ายตำแหน่งจากที่เคยทำงานด้านวิศวกรไปเป็นตำแหน่ง Purchasing Assistance Manager หรือ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ แถวย่านสีลม แต่ก็ถือว่าเป็นไปตามจุดประสงค์ของเขาที่อยากได้งานอยู่กับที่ ไม่อุดอู้อยู่ในโรงงาน จึงเหมือนได้เปลี่ยนบริษัทใหม่ ทั้งๆ ที่ยังอยู่บริษัทเดิม 

คุณปิยพันธ์ยังทำงานอยู่ที่นี่อีกหลายปี ช่วงนั้นเขาเริ่มคิดถึงความมั่นคงทางการเงิน จึงคิดหาวิธีหลุดพ้นจากงานประจำ 

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่ตลาดหุ้นที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในทุกวันนี้

“ผมมีทางเลือกไม่เยอะ จะเปิดบริษัทของตัวเองก็เสี่ยงเกินไป จึงมองหาแนวทางอื่นๆ ที่จะทำรายได้สูง ยอมรับว่า
ช่วงหนึ่งผมเคยหลงเข้าไปอยู่ในโลกของการพนันบอล แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าถ้าไปเล่นการพนัน เราก็อยู่ในเกมเขา 
จนในที่สุดก็ได้มาเจอกับตลาดหุ้น 

“ผมพบว่าการเล่นหุ้นนั้นเราได้อยู่ในเกมของเรา มันอยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ถ้าไม่ใช่เงินร้อน ไม่ขายก็ไม่เป็นไร ผมก็เริ่มเห็นแสงสว่างเลยตัดสินใจเปิดพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีใครแนะนำเลย ทั้งที่ความจริงพ่อผมก็เล่นหุ้นนะ แต่ผมไม่เคยคุยเรื่องหุ้นกับพ่อเลย เพราะพ่อไม่เคยบอกผมว่าได้กำไร (หัวเราะ)

“ผมเข้ามาเล่นหุ้นใหม่ๆ ค่อนข้างจะฮือฮากับฝีมือตัวเอง เพราะซื้อแล้วได้กำไรเลย ก็เลยถลำตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ติดการเล่นหุ้นแบบDay Trade คือซื้อแล้วต้องการกำไรวันนั้นเลย นานเข้าก็เลยเล่นเกินตัว เนื่องจากได้ Margin ในพอร์ตของตัวเองที่สามารถซื้อหุ้นได้มากกว่าเงินที่เรามี จะห้าแสน ล้านนึงก็ได้ เงินยังไม่มีก็ไม่เป็นไร 

“ช่วงแรกๆ ผมกำไรก็จริง แต่สุดท้ายก็เสียหมด มองกลับไปตอนนั้นมันนรกมาก คือตัวเองก็ทำงานประจำอยู่ ความเก่งด้านTechnical ก็ยังไม่เท่าไหร่ แค่พอจะดูกราฟเป็น แต่ไปต่อสู้กับคนที่พอร์ตใหญ่ๆ อยู่หน้าจอทั้งวัน เทรดอย่างเดียว มีประสบการณ์ มีข้อมูล 

“สุดท้ายปาฏิหาริย์ก็ไม่มีจริง ผมเสียหุ้นทุกวัน รวมตัวเลขทั้งปีแล้วออกมาเป็นล้านบาท ผมจำเป็นต้องขาย
ในนาทีที่ขาดทุน คือถ้าไม่ขาย ต้องหาเงินสดมาให้ได้ภายใน 3 วันเพื่อเข้าพอร์ตให้ได้ เนื่องจากหลักทรัพย์จะไปหักบัญชีเราในอีก 3 วันถัดมา 

“แล้วไม่รู้เป็นอะไรเวลาที่หุ้นมันวิกฤติขึ้นมาเมื่อไหร่ มันมักจะเกิดขึ้นเวลาที่ผมมีประชุม ประชุมออกมาปั๊บ แดงทั้งจอ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซ้ำซากอยู่ทุกวัน พอสี่โมงเราต้องมาคอยลุ้นว่าจะพลิกจากแดงกลับมาเป็นเขียวได้หรือเปล่า” 

ในสถานการณ์แบบนั้น เขานำเอากระบวนการคิดแบบวิศวกรมาปรับใช้กับหุ้น นั่นคือ PDCA หรือ Plan-Do-Check-Actionเมื่อทบทวนแล้วว่าจุดประสงค์ของการลงทุนในหุ้นของเขาคืออะไร ก็จัดแจงวางแผนใหม่ เปลี่ยนกลยุทธ์ แทนที่จะไปอยู่ในเกมของคนอื่น ก็ดึงให้มาอยู่ในเกมของตัวเอง เล่นหุ้นให้ช้าลง เปลี่ยนจากแนวนักพนันมาเป็นแนวนักลงทุนตัวจริง 

ภายในเวลาไม่นาน พอร์ตของเขาก็กลับมาอยู่ในแดนบวกจนสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตได้ เขาตัดสินใจออกจากงานประจำในที่สุด

“อิ่มตัวแล้ว อยู่ไซท์งานมา 7 ปี อยู่จัดซื้อมาอีก 12 ปี รวมๆ แล้วทำงานประจำมา 19 ปี เลยตัดสินใจลาออกดีกว่า ทั้งๆ ที่อีกปีเดียวผมจะได้โบนัสเป็นทองคำจากบริษัทอยู่แล้ว เพราะที่บริษัทมีนโยบายว่าใครที่ทำงานมาครบ 20 ปี จะได้รับทอง 5 บาท แต่ตอนนั้นใจของคนที่ตั้งใจจะลาออก เดือนเดียวมันก็นานมากๆ แล้ว ทอง 5 บาทก็เลยไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ก่อนจะออกจากงาน ผมมีทางออกไว้แล้วนั่นคือลงทุนในหุ้น และทำเว็ปไซต์ Stock2morrow ควบคู่กันไปด้วย”

3

สมัยที่คุณปิยพันธ์ยังไม่ได้เปิดเว็บไซต์เป็นของตัวเองนั้น ก็ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับสมาชิกของเว็บไซต์หุ้นอื่นๆ อยู่แล้วเขามักจะทำการโพสต์หุ้นที่คิดว่ากำลังจะมาแรง แน่นอนว่าก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เรื่องนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาถกเถียงกันไม่รู้จบในสังคมออนไลน์ นอกจากนี้สังคมของคนเล่นหุ้นก็มักจะไม่ยอมเปิดเผยตัวตนให้ชัดเจนไปเลยว่าใครเป็นใคร 

นั่นจึงจุดประกายให้เกิดเป็นแนวคิดสร้างสรรค์เว็บไซต์ในแบบที่ตัวเองต้องการ เว็บไซต์ที่ต่อมามีผู้เข้าเยี่ยมชมถึงเดือนละหลายแสนครั้งอย่าง www.Stock2morrow.com จึงเกิดขึ้น ที่นี่ทุกคนที่เข้ามาโพสต์ล้วนมีตัวตนและเชื่อถือได้ทั้งสิ้น

“ช่วงที่ผมทำ Stock2morrow ใน 2-3 ปีแรกนั้นมันคือการลงทุนแบบที่แทบจะไม่ได้อะไรเลย กินเนื้อตัวเองตลอด ต้องเติมเงินเข้าไปตลอด ไม่มีรีเทิร์นกลับมาเลย ตอนนั้นผมมีแต่เว็บไซต์ ไม่มีออฟฟิศ ทุกอย่างอยู่ที่บ้านหมด 

“เดือนที่ 2 หลังจากลาออกแล้ว ผมไม่ได้ทำงาน อยู่ว่างๆ รู้สึกว่าชีวิตมันล่องลอย คิดว่าต้องทำจริงจังมากขึ้นแล้ว ก็เลยมาตั้งหลัก คิดอยากจะเปิดสำนักพิมพ์ขึ้นมา ก็เลยพยายามดูว่าใครมีศักยภาพพอในการออกหนังสือบ้าง

“พอดีไปเจอน้องคนนึงในเว็บ เขาบอกว่าผมมีบล็อกนะครับ ถ้าพี่รู้สึกว่าเนื้อหาในนั้นมันมีประโยชน์ ผมอนุญาตให้พี่เผยแพร่ได้ผมก็เลยลองเข้าไปอ่านดู รู้สึกว่าน้องคนนี้ไม่ธรรมดา เขาเก่งมาก ใครอ่านบทความหรือผลงานเขียนของเขาก็จะรู้สึกว่าน่าติดตามผมก็เลยอีเมลกลับไปว่าบทความเจ๋งมากนะ แต่มันจะเจ๋งมากกว่า ถ้าคุณเอามาเผยแพร่เองในเว็บไซต์ Stock2morrow คือแทนที่เราต้องไปเอามาลง เราก็เปิดประตูให้เขามาโพสต์เอง 

“หลังจากนั้นไม่เกินสองอาทิตย์ เขาก็เข้ามาโพสต์เรื่อยๆ พอดีผมมีแผนจะทำหนังสืออยู่แล้วด้วย ก็เลยนัดเจอกันที่ร้านสตาร์บัคซอยคอนแวนต์”

น้องคนที่คุณปิยพันธ์บอกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือนักลงทุนหนุ่มที่ดังที่สุดในชั่วโมงนี้อย่าง แพ้ท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม นั่นเองการพบกันในครั้งนั้นทำให้เกิดเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกของสำนักพิมพ์ Stock2morrow โดยมีโจทย์อยู่ว่า อีกสองสัปดาห์จะมีงานมีตติ้งครั้งแรกของชุมชนที่เกิดขึ้นในเว็บไซต์ Stock2morrow ที่พัทยา และจะต้องนำหนังสือเล่มแรกเล่มนี้ไปวางขายในงานให้ทันเวลา 

“นั่นคือที่มาของหนังสือ แกะรอยหยักสมอง รวยหุ้นหมื่นล้าน แบบ buffet ซึ่งอ่านว่าบุฟเฟ่ต์ แต่ความจริงมันจะต้องเป็นbuffett ซึ่งอ่านว่าบัฟเฟตต์ ที่เป็นชื่อของนักลงทุนอันดับต้นๆ ของโลก เพราะตอนนั้นเรามือใหม่มาก ตัวอักษรก็เลยตกไป แถมมีเวลาแค่ 2 อาทิตย์ที่หนังสือจะต้องเสร็จ แพ้ทก็ต้องปั่นต้นฉบับให้เสร็จภายใน 1 อาทิตย์ ผมมีหน้าที่หาโรงพิมพ์ แล้วก็
ทำทุกอย่าง เล่มแรกออกมาสะกดผิดทั้งเล่ม แต่ปรากฏว่าคนชอบ (หัวเราะ) 

“เล่มนั้นไม่มีขายที่ไหน ต้องมาสั่งซื้อในเว็บไซต์เท่านั้น พอมีเล่มสองซึ่งเป็นภาคสองออกมา เราก็เลยจัดจำหน่ายในวงกว้าง ขึ้นเบสท์เซลเลอร์อันดับหนึ่งวันแรกทันที ซีเอ็ดโทรมาหาว่าขอให้ช่วยส่งเล่มหนึ่งมาได้ไหม เพราะตอนนี้มีปัญหากับทางเคาน์เตอร์ว่าคนมาเดินหาไม่มีเล่มหนึ่งขาย เราก็เลยกลับไปทำเล่มหนึ่งมาวางขาย แล้วหลังจากนั้นมาเราก็ไม่เคยหยุด งานทุกชิ้นที่ออกไป
สามารถขึ้นเป็นเบสท์เซลเลอร์ของซีเอ็ดได้ทั้งหมด”

4

เป็นไปตามแผนที่คุณปิยพันธ์ได้วางเอาไว้ สำนักพิมพ์ Stock2morrow ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ก้าวต่อมาของเขาก็คือการเปิดคอร์สอบรมสัมมนา เขารวบรวมเพื่อนๆ ในวงการหุ้นที่ถือเป็นเซียนตัวจริงเข้ามาช่วย และก็เป็นไปตามความคาดหมายคอร์สอบรมสัมมนามีคนสนใจสมัครเข้ามาเต็มทุกคอร์ส

“วิชาชีพเกือบทั้งโลกนี้มันมีการเรียนการสอนเกิดขึ้น แต่น่าแปลกที่กลับไม่ค่อยมีใครสอนเรื่องการลงทุนแบบจริงจัง ผมว่าStock2morrow เป็นจุดเริ่มต้นของตรงนี้ได้ หมายความว่า คุณเป็นหมอ เป็นทนาย ด้วยวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยสอนหมดแล้วแต่การลงทุนในหุ้นซึ่งทำเป็นอาชีพได้กลับไม่เคยมีมหาวิทยาลัยที่ไหนสอน เพราะฉะนั้นเราก็จะรับหน้าที่ทำตรงนี้

“Stock2morrow คือสังคมของนักลงทุน คอนเส็ปต์ของการสอนมันก็เป็นการสอนแบบนักลงทุน ผมไม่ได้บอกว่าสัมมนาหุ้นที่อื่นไม่ดีนะครับ แต่ที่อื่นมักจะนำนักวิชาการมาคุย ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์จริงๆ ที่มีชั่วโมงบินสูง” 

ถึงจะประสบความสำเร็จทางด้านหนังสือ เว็บไซต์ หรือแม้แต่การจัดสัมมนามาแล้ว แต่คุณปิยพันธ์ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น “รายการทีวี” คือก้าวต่อไปที่เขาทำมันขึ้นมาแล้ว และดูเหมือนว่ามันก็จะประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

“พอมาทำทีวีช่อง Money Channel เรทติ้งก็ดีมาก ชื่อรายการ ‘แกะรอยหุ้น’ ผมวางรูปแบบรายการว่าบริษัทๆ หนึ่ง ถ้าเราไปศึกษาเอง บางทีอาจจะต้องใช้เวลาทั้งอาทิตย์ แต่รายการนี้ใช้เวลาดูแค่ชั่วโมงเดียว ก็สามารถเข้าใจธุรกิจนี้ได้ทันที

“นอกจากจะมีรายการใน Money Channel แล้ว ตอนนี้ทางกรุงเทพธุรกิจเขาก็เปิดช่องโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ เขาเลือกเราเป็นลำดับต้นๆ ให้ไปทำรายการให้ ชื่อรายการว่า ‘เม่าปีกเหล็ก’ ทั้งสองรายการนี้ผมดำเนินรายการเอง

“จริงๆ ผมไม่อยากออกทีวีเท่าไหร่ การพูดต่อหน้าทีวีมันไม่ใช่เรื่องง่าย ผมแฮปปี้กับการเป็นเบื้องหลังมากกว่า ทั้งการเป็นผู้บริหาร วางแผน ในอนาคตผมก็คงจะพยายามผลักดันคนอื่นให้เข้ามาแทน

“ตอนนี้สิ่งที่ผมทำอยู่ถือว่าเกินฝันของผมแล้ว แต่ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป ความฝันส่วนตัวก็คือผมอยากจะมีพอร์ต 10 หลัก แล้วในส่วนของ Stock2morrow ผมมองว่ายังไปต่อได้อีกมาก 

“ส่วนเรื่องการทำบุญหรือเรื่องการบริจาคนั้น เราทำอยู่แล้ว แต่แนวทางของ Stock2morrow นั้น เราอยากจะช่วยสร้างคนให้มีคุณภาพ ผมอยากส่งเสริมนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ใครที่คิดว่ามีความพร้อม แต่ขาดเรื่องเงินทุน เราจะออกทุนในการทำโครงการให้เพราะผมอยากเห็นคนที่มีความสามารถแล้วได้รับโอกาส ตอนนี้เราให้โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องหุ้น แต่ใครมีไอเดียอะไรก็ได้ที่สามารถเปลี่ยนประเทศ เอาไอเดียมานำเสนอ ถ้าดี เราจะมาลงทุนร่วมกัน แบบนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่า

“ทุกอย่างในโลกนี้ง่ายหมด แต่มันจะเจออุปสรรคทันทีเมื่อลงมือทำ ผมเป็นคนที่มองอุปสรรคว่าไม่ใช่ปัญหา แต่ทำให้เรามีผลงานอุปสรรคมันจะอัพเกรดตัวเราเองให้เก่งขึ้น เหมือนอย่างเว็บเรื่องหุ้นที่เกิดขึ้นและตายไปก็เยอะมาก บางคนผ่าน 2 ปี ก็ไม่เอาแล้วแต่ไม่ใช่ผม เพราะผมไม่ได้ทำวันนี้เพื่อพรุ่งนี้ แต่ทำวันนี้เพื่ออีก 3 ปีข้างหน้าครับ”

Stock2morrow เปรียบเหมือนสังคมของนักลงทุนรายย่อย