สุเทพ วงศ์กำแหง

สุเทพ วงศ์กำแหง

สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ปี พ.ศ.2533 เจ้าของคำนิยาม “เสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” ผู้คนรู้จักเขาเป็นอย่างดี จากผลงานตำนานเพลงรักมากมายที่ขับกล่อมหวานสุดซึ้งกินใจ จนกลายเป็นเพลงอมตะนิรันดร์กาลมามากมาย อาทิ รักคุณเข้าแล้ว เธออยู่ไหน นางใจ บทเรียนก่อนวิวาห์ พ่อแง่แม่งอน เทพเจ้าแห่งความระทมค่าน้ำนม เพียงคำเดียว เท่านี้ก็ตรม อำนาจเงิน และอีกนับพันๆ เพลงที่กินเนสบุ๊กเวิลด์เร็คคอร์ดต้องหันมามองชีวิตที่ผ่านมาของเขาเสมือนสายนทีที่มีขึ้นมีลง ผ่านศึกอย่างโชกโชน ดั่งชะตาชีวิตคิดเล่นตลก เมื่อจบจากรั้วเพาะช่างออกมาเขาอยากมีชีวิตที่อิสระเป็นช่างศิลป์ เขียนโปสเตอร์อย่างสงบ แต่กลับถูกชักชวนจากครูเพลงให้ละทิ้งกลิ่นสีและปลายพู่กัน หันมาจับไมค์ไฟส่องหน้าในฐานะนักร้องชื่อก้องนามระบือ และได้เป็นทั้งนักแสดง ทหารอากาศ นักเขียน นักการเมือง เขามีเลือดศิลปินในกายทุกอณู แต่ทว่ากลับต้องระหกละเหินลี้ภัยมืดไปใช้ชีวิตยังแดนปลาดิบ จนหวิดสิ้นชื่อ เมื่อครั้งรับงานร้องเพลงกล่อมทหารหาญ แต่กลับได้ของฝากเป็นลูกกระสุนปืนจนหวิดสิ้นชื่อ มีเพียงปาฏิหาริย์เท่านั้นที่เขานำกลับมาเล่าแจ้งแถลงไข ฉบับนี้เราจะลองมาประมวลภาพของศิลปินรุ่นลายครามวัย 74 ปี เป็นฉากๆ จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ช่างเขียนป้ายที่ใฝ่ฝัน

“ผมเกิดที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา อยู่รวมกับญาติๆ เป็นลูกไม่มีพ่อ พ่อเขาทิ้งไปตั้งแต่ผมยังไม่เกิด เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงไปเรียนหนังสือชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมารีวิทยา ชั้นประถมศึกษาโรงเรียนเทศบาล 2 หรือวัดสมอราย ชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา จบ ม.ศ.5 ตอนนั้นปี พ.ศ.2486-2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

“ผมเองเป็นคนที่ชอบศิลปะตั้งแต่วัยเยาว์ วาดภาพวิวทิวทัศน์ วาดภาพหัวรถจักร ขบวนรถไฟ การประดิษฐ์ตัวอักษร กำหนดช่องไฟ จนกระทั่งครูประจำชั้นเขาเห็นแววว่าชอบวาดรูป จึงส่งเสริมให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ผมต้องไปอยู่บ้านน้าเขยที่กรุงเทพฯ เรียนปลายปี พ.ศ.2490 มาจบปี พ.ศ.2493 จำได้ว่าเพื่อนร่วมรุ่นที่ดังๆ ตอนนี้ก็มี ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ.2541และอีกหลายคน รุ่นน้องๆ หลายคนที่จบเพาะช่างก็ได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติอีกหลายท่านขณะที่เรียน มี หลวงกวี อรรถวิโรจน์ เป็นอาจารย์ใหญ่ ครูที่สอนมีครูใหญ่น้ำทิพย์ ครูเฉลิม นาคีรัตน์ ครูจิตร บัวบุศย์ ครูทวี นันทขว้าง และอีกหลายท่าน บางครั้งต้องนั่งเรียนกับพื้นดิน เพราะโรงเรียนโดนระเบิดลงสมัยสงครามโลก

“ผมชอบเรียนแลนด์สเค็ป พวกภาพวิวทิวทัศน์ ภาพดอกไม้ เรียนทุกอย่างที่ครูแต่ละท่านสอน เวลาเรียนจึงสนุกไปไหนมาไหนเป็นกลุ่ม ไปเขียนรูปที่วัด จะนั่งกระจายกันเขียนไป ร้องเพลงกันไป มีความสุขดี ช่วงนั้นสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ 1ปน.มีอิทธิพลกับพวกเรามากสำหรับการฟังเพลง นอกจากนี้ก็ยังได้อานิสงส์จากเพลงประกอบละครวิทยุอีก อย่างเพลงที่ดังจากเรื่องนางไพร ของ สุวัฒน์ วรดิลก ช่วงปี พ.ศ.2493-94 ชื่อเพลง เดียวดาย ตอนนั้นคนทั่วประเทศมีทั้งหมด 17-18 ล้านคนเท่านั้นเวลาจะไปเขียนรูปทุกคนต้องร้องเพลงพวกนี้ คือช่างเขียนรูปแต่ละคนจะเขียนรูปไปร้องเพลงกันไป เหมือนกับหมอหลายๆ ท่านที่ชอบร้องเพลง มันเป็นเรื่องปกติของพวกที่ชอบความสวยความงาม การร้องเพลงมันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ตอนนั้นผมยังไม่มีความคิดคาดหวังในอนาคตว่าจะกลายมาเป็นนักร้องอาชีพ

“เมื่อเรียนจบจากเพาะช่าง เราก็ไปทำงานตามที่เราถนัด ศิลปินใหญ่ๆ บางท่านก็เริ่มจากการรับจ้างเขียนป้าย ผมจึงไปเป็นช่างเขียนป้ายตามร้าน รับจ้างเขียนป้ายโฆษณาใหญ่ๆ หลังจบออกมา บังเอิญตอนที่ผมไปเรียนเพาะช่าง ผมทำงานอยู่กับโรงพิมพ์ศรีการช่าง ย่านแม้นศรี งานใหญ่ๆ คืองานบนโต๊ะ ไม่ใช่งานสีน้ำมัน มีตัวเรียงพิมพ์ด้วยมือ ผมทำตัวเขียน มันทำให้เรายึดติดกับอาชีพตรงนั้น เมื่อจบออกมาผมก็ไปเป็นช่างเขียนตามร้านบล็อก ชื่อร้าน “แสงนภาบล็อก” ย่านวงเวียน 22 กรกฎาคม มีอยู่คูหาเดียว แต่ทำงานเยอะแยะมาก ทำงานที่นั่นเกือบ 2 ปี ก็ไปรู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนอยู่ที่อัสสัมชัญคอมเมอร์ซ ชื่อ บุญสร้างเอกสุภาพรรณ เขาเป็นคนบ้าการประพันธ์ จะต้องเขียนและแต่งบทประพันธ์ออกมาตลอด มันทำให้เขามีความสุข จากนั้นเขาก็ชวนผมไปเล่นละครวิทยุที่เขาแต่งเรื่องขึ้นเอง ที่กรมประชาสัมพันธ์ 1 ปน. เล่นเดือนละครั้ง เมื่อเล่นไปสักพัก ก็อยากจะหาเพลงเข้าไปประกอบในละคร เลยไปหาน้าไหล (ครูไศล ไกรเลิศ) นักประพันธ์เพลงที่ฮิตมากในสมัยนั้น แต่งเพลงนางไพร เพลงเดียวดาย เพลงดวงใจในฝัน ‘รำพึงรำพันฝันรัก รักเธอใฝ่หา ยังจำติดตาชวนปลื้ม ฉันลืมไม่ลง’ ชรินทร์ นันทนาคร เคยนำเอาไปร้องสลับฉาก อิทธิพลของเพลงพวกนี้ทำให้ผมได้รู้จักกับน้าไหล”

วางพู่กันหันมาจับไมค์

หลังเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่าง เพื่อนๆ กอดคอกันไปสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรกันเป็นทิวแถว แต่เขามุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างเดียว เพราะฐานะทางบ้านขัดสน เขาเล่าเรื่องราวอย่างออกรส มีความสุข มองเห็นแววตาปลื้มปีติ

“หลังจากนั้นผมก็ไปทำงานที่ แสงนภาบล็อก ตามปกติ น้าไหลก็จะไปตามผมที่ร้าน ขอให้ผมไปเขียนโน้ตเพลงให้ เขียนลงในสมุดเล่มใหญ่ๆ ของแก ตั้งแต่ผมรู้จักกับน้าไหล ชีวิตผมเปลี่ยนไป หักเหให้มาเป็นนักร้อง ผมมาอยู่กับน้าไหล เหมือนคอหอยกับลูกกระเดือกไปไหนด้วยกันตลอด จากอาชีพช่างศิลป์ก็ไม่ได้ทำแล้ว เป็นคนตกงาน (หัวเราะ) ผมอยู่กับน้าไหลก็ไม่ได้ร้องเพลงสักทีเพราะเขาไม่ให้ร้อง เดินตามอยู่ 1 ปี ถังแตกไม่มีเงินใช้ งานที่น้าไหลรับได้ร้องเพลงน้อยมีแค่งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่งานแต่งงาน ร้องนิดๆ หน่อยๆ พอมีกินมีใช้ ไม่ถึงกับมีสตางค์เก็บ แผ่นเสียงก็ไม่ได้อัดเสียที จึงเกิดความน้อยใจ ผมจึงแอบย่องไปหา ครู ป.ชื่นประโยชน์ ท่านอยู่แถววัดเลียบไปบอกว่า ผมอยากร้องเพลง ครูช่วยผมหน่อย เมื่อเราร้องให้ท่านฟัง ท่านก็บอกว่าใช้ได้ จึงนำเพลงมาให้ร้องอีกหลายเพลง

“จากนั้นพาไปรู้จักกับครูมงคล อมาตยกุล ครูแก้ว รักษ์ไทย ครูเชาว์ แคล้วคล้อง ทำให้รู้จักกับครูเพลงและนักดนตรีมากขึ้น จึงเริ่มซึมเข้าไปในวงการเพลง เขาเห็นหน้าค่าตา เขาก็รู้ว่าผมเป็นลูกศิษย์น้าไหล ก็เลยเข้ามาไกลกว่าคนอื่นในวงการเดียวกัน ผมเลยตัดสินใจเดินบนถนนสายนี้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะไม่กลับไปเป็นช่างเขียนรูปอีก เพราะช่างเขียนสมัยนั้นมันยากจน ทำให้เราคิดว่ามันต้องหาทางออก มันถึงจะมีชื่อเสียง ยิ่งได้พี่เปรื่อง หรือป.ชื่นประโยชน์ให้อัดเพลงให้ร้อง มันทำให้เรามีความหวังที่จะได้เป็นนักร้อง จึงมาคลุกคลีอยู่กับพวกนักแต่งเพลง นักประพันธ์เพลงได้ร้องบ้างไม่ได้ร้องบ้าง แต่พอน้าไหลเห็นว่าร้องเพลงได้ จึงนำเพลงมาให้ร้องบ้าง แต่เป็นเพลงที่ชรินทร์ร้องมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นลูกศิษย์อาจารย์คนเดียวกัน ผมเป็นคนที่ 2 ชรินทร์ เป็นศิษย์คนแรก ตอนหลังมาเจอ ชาญ เย็นแข บนเวทีละครเพราะผมร้องเพลงสลับละครเวที สมัยนั้นเขามีละครเล่น 13-14 วันใน1 โปรแกรม หลังจากนั้นจะว่างอีก 2-3 วันเพื่อรอละครเรื่องใหม่เข้ามา เราต้องหาที่ร้องบนเวทีสลับม่านฉากละคร ได้โปรแกรมละ 700-800 บาทก็ยังพออยู่เอาตัวรอดได้

“เพลงแรกที่ได้อัดของ ครู ป. รู้สึกดีใจมากที่เราได้เป็นนักร้องเต็มภาคภูมิ คือเพลง ดวงใจที่รอคอย ‘ดวงใจป่านนี้คงคอย ขวัญคอยสะอื้น ทุกคืนคงห่วงใย ขวัญเอ๋ยจากมาเจ้าเป็นไฉน ขวัญใจเจ้าคงคอยหา’ รู้สึกตัวเองว่าได้เป็นนักร้องแล้ว และเคยฝันว่าวันหนึ่งจะต้องมีเสียงเราในวิทยุบ้าง จึงเก็บความภาคภูมิใจเอาไว้ว่าเมื่อไรน้าไหล จะให้เราร้องเพลงของแกบ้าง ผมก็ไม่กล้าถามว่าเพราะอะไร จึงเก็บไว้ในใจ พลาคิดในใจว่าทำไมให้คนอื่นร้องได้ จนกระทั่งผมมาเจอครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร กับครูสมาน กาญจนะผลิน ครูสง่าบอกว่าจะขอเพลงครูสมานมาให้ร้อง ผมก็รับปาก แล้วครูสง่าก็ให้มาอีก 2เพลงเป็นเพลงเก่าของแกที่ไม่เคยมีใครร้องมาก่อน นำมาให้เราร้อง จนกระทั่งต่อมาได้ร้องเพลงของน้าไหล คือเพลงชมละเวงและเพลงต่างๆ ที่แต่งไว้นานแล้ว แกค่อยๆ ขุดมันขึ้นมาให้ร้องทีละเพลง (หัวเราะ) ตอนนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ มันเริ่มมีเมื่อปี พ.ศ.2499 มีเพียงช่อง 4 บางขุนพรหมที่เดียว ผมเริ่มมีชื่อเสียงในปี พ.ศ.2497 จากการร้องเพลงจริงๆ จังๆ ในปี พ.ศ.2494-2497 ในช่วงระยะเวลา 3 ปีได้อัดแผ่นเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ.2496

“เพลงที่ส่งเสริมผมและแสดงให้เห็นว่าผมมีชื่อเสียงก็มาจากเพลง รักคุณเข้าแล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยทั่วประเทศทั้ง 18 ล้านคนในยุคนั้น ร้องเพลงนี้ได้ พวกนักร้องต่างประเทศที่เข้ามาในเมืองไทยยังต้องนำเพลงนี้ไปร้องกันใหญ่ รักคุณเข้าแล้วใช้คำว่า ‘รักคุณเข้าแล้ว เป็นไร รักจนคลั่งไคล้จริงจัง คุณรักใครหรือยัง ฉันท์ใด หวั่นใจว่าคงไม่แคล้ว…’ เป็นเพลงที่ใช้คำสมัยใหม่ เพลงนี้สร้างชื่อเสียงให้กับผมมาก ผมคนแรกที่ร้อง ผู้ประพันธ์เพลงนี้คือครูสมานกับครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ศิลปินแห่งชาติปีพ.ศ.2549”

เกณฑ์ทหารรับใช้ชาติ

“เมื่อผมเริ่มมีชื่อเสียง จึงมีเพลงเข้ามาให้ร้องมากมาย มีบริษัทภาพยนตร์ ทำหนัง 16 มิลลิเมตร มาจองตัวให้ร้องเพลงขึ้นไตเติ้ลหนัง ต้องนำผมไปร้องพร้อมกับภาพยนตร์ มีร้องเพลงให้ละครโทรทัศน์ ช่วงนั้นผมเริ่มมีผู้สนับสนุนปั้นผมขึ้นมาอีกท่านคือคุณ สุวัฒน์ วรดิลก ที่แต่งเพลงนางไพรและอีกหลายเพลง พร้อมภรรยาท่านคือคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ที่มีพระคุณกับผมมากและได้ให้ผมร้องเพลงคู่ ด้วยเพลง “จุฬาตรีคูณ” ต่อมาคุณสุวัฒน์ทำละครเพลงนวลจันทร์ แกให้น้องชายคือคุณทวีป แต่งคำร้องเป็นกลอนแต่งเนื้อร้องเป็นกาพย์กลอน โดยให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนองเอามาร้องคู่กับคุณเพ็ญศรีที่โรงละครเฉลิมนคร ร้องโต้ตอบกันโดยไม่ต้องมีการบอกบท ช่วงนั้นวงสุนทราภรณ์เริ่มมีอิทธิพลกับนักร้องส่วนใหญ่ แต่เราอยู่คนละฝ่าย เราต้องเป็นตัวของเราเอง ฝ่ายเพลงไทยสากล พวกนี้ก็มีครูสมาน ครูไศล ครูสง่า ครู ป. ส่วนครูเอื้อ วงสุนทรภรณ์ อยู่ฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ เสียงร้องของเขาจะไม่มีลูกคอ ไม่มีเอื้อน มันเป็นเพลงคนละสไตล์กัน เราก็คิดว่าวิธีร้องของเราถูกต้อง เขาจะมีชื่อเสียงทางวิทยุมากกว่า ก็ไม่ว่ากัน แต่การที่ครูเอื้อมาแต่งทำนองให้กับคุณสุวัฒน์ ก็ถือว่าครูเอื้อนั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่บุคคลหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าทำนองของท่านดีมาก แต่พอจะอัดแผ่นเสียง เรารู้เลยว่ามันหาคนที่จะร้องยาก ต้องใช้เสียงสูงมาก ไม่ค่อยมีใครร้องได้

“ช่วงที่ผมดังสุดขีดแต่ผมกลับถูกหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติในปี พ.ศ.2498 เราสามารถเลือกกรม กองลงได้ ทหารบกก็อยากได้เราไปอยู่กับเขา ทหารเรือก็อยากให้เราไปเป็นนักร้องของเขา ทหารอากาศก็ต้องการ ผมตัดสินใจสมัครไปเป็นทหารอากาศคนเดียว เกณฑ์ทหารที่วัดแถวศรีย่าน จากนั้นเขากักตัวผมไว้ที่นั่นเลย โดยไม่ให้กลับไปเอาเสื้อผ้าที่บ้าน ผมไม่ได้เตรียมตัวหรือเอาเพื่อนๆ ไปด้วยเพราะเป็นทหารทั้งที เดี๋ยวเขาจะหาว่านิสัยคล้ายผู้หญิงที่นำพรรคพวกไปเชียร์ ผมใส่แหวนเพชรนาฬิกา สร้อยทอง เต็มไปหมด ตกตอนเย็นเขาก็ขนพวกขึ้นรถ นำเราไปไว้ที่กองทัพอากาศ ดอนเมือง เช้าขึ้นมาเขาก็แจกชุดฝึกทหารเกณฑ์ให้เราแต่ง แล้วออกฝึก ไอ้เราก็ไม่กล้าถอดเครื่องประดับออกมาไว้ที่หัวเตียงโรงนอนเพราะดูแล้ว ถ้าถอดวางไว้ต้องหายแน่ๆ จึงตัดสินใจใส่ไว้ ทั้งที่เขามีกฎไม่ให้ใส่ แต่ไม่รู้จะนำไปฝากไว้ที่ไหน นอนก็นอนที่ดอนเมือง พอลงมาข้างล่าง จ่าอากาศเอกเห็นเข้า เขาหมั่นไส้ที่เห็นเราใส่เครื่องประดับ จึงจับผมซ่อม ให้วิ่งรอบสนาม ทั้งที่เขาก็รู้ด้วยว่าผมเป็นศิลปินมีชื่อเสียง

“2-3 วัน เราโดนซ่อมตลอด จนกระทั่งทางกองดุริยางค์ กองทัพอากาศ มารับตัวไปอยู่ด้วย ได้รับยศจ่าอากาศตรี ระหว่างที่รับราชการทหารได้ปฏิบัติงานทางด้านดนตรีของกองทัพอากาศ อย่างดีจนวง ‘ลูกฟ้า’ ได้รับความนิยมจากประชาชนเหนือวงดนตรีอื่นๆ และได้รับรางวัลจากจอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์และพลเอก กฤษณ์ สีวะรา ถึง 3 ถ้วยรางวัล ได้ไปเล่นดนตรีกล่อมขวัญทหารและประชาชนทั่วไป อัดเสียงก็อัดอยู่ในค่ายนั้นแหละ จนครบ 2 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2500 ได้มีโอกาสเดินทางไปสร้างสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมคณะศิลปินไทย เหมือนเป็นทูตทางวัฒนธรรม ครูเพลงก็มี นักดนตรีก็ไปหลายคนมี ครูบุญยังค์ กับครูบุญยง เกตุคง 2 ศิลปินแห่งชาติ ด้านลิเกและดนตรีไทย ครูบุญยง ท่านตีระนาดเก่ง ทูตวัฒนธรรมของจีนได้ให้คำสรรพนามไว้ดีมากว่า ‘เสียงตีระนาด ครูบุญยง ไพเราะ เหมือนไข่มุกที่หล่นลงบนจานหยก’

“เมื่อกลับจากเมืองจีน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะฉลอง 25 ทศวรรษที่ศาลายา ทำให้ จอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศกับเพื่อนคู่หู พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พวกผมจึงถูกจับไปด้วย คุณสุรัฐ พุกกะเวส เป็นคนไปประกันตัวออกมา เพราะจอมพลสฤษดิ์หมายหัวบรรดาพวกที่ไปเมืองจีนทุกคนว่าเป็นคอมมิวนิสต์หมด ผมจึงต้องลี้ภัย ไปเรียนต่อด้านศิลปะยังประเทศญี่ปุ่น ที่ Tokyo University of Art อีก 3 ปี ตอนนั้นผมได้เล่นหนังแล้ว แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย เรียนไปเรื่อยๆ จนเงินหมด ต้องบากหน้าไปขอยืมเงินทางสถานทูตไทยในญี่ปุ่นใช้ จนเป็นหนี้ ต้องตระเวนร้องเพลงหาเงิน จนกระทั่งบริษัทโตชิบาที่ญี่ปุ่นเขานำเพลงรักคุณเข้าแล้ว ไปใส่เนื้อญี่ปุ่นแล้วยังอัดเสียงที่นั่น จากนั้นส่งมาให้บริษัทกมลศุโกศล ในประเทศไทยช่วยจัดจำหน่าย แต่เขาไม่จัดจำหน่าย มันก็เลยค้างสต็อก หากจัดจำหน่ายขึ้นมา มันจะมีอะไรดีๆ อีกเยอะ เพราะในยุคนั้น เอลวิส เพรสลี่ย์ เพิ่งเข้ามาบ้านเรา ก่อนหน้านั้นมี พวกแฟรงค์ ซิเนตร้า ยังร้องเพลงอยู่ เอลวิสเขาดังเพราะท่าเต้นและทำนองร็อคแอนด์โรลที่ฮิตมาก เขาเข้ามามีอิทธิพลในบ้านเราและยังมีพวกฝรั่งจีไอที่เข้ามาเป็นทหารรบในเวียดนาม พวกดนตรีร็อคก็เริ่มตามเข้ามา ช่วงนั้นเพลงไทยสากลของเราไม่เคยซบเซาลงเลยเพราะเอลวิสจะมีเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นของพวกเขา ในช่วงปี พ.ศ.2499 ธานินทร์ อินทรเทพ เริ่มเข้ามาร้องเพลงในปีเดียวกัน หลังจากผมไปเมืองจีนกลับมาแล้ว”

หลงดงการเมือง

“ปี พ.ศ.2510 ผมเริ่มเขียนหนังสือ สุรชัย หยกวิลาศ ซึ่งเป็นเพื่อน บอกให้เขียนหนังสือ ‘สุเทพโชว์’ เขียนลงไป 2-3 ฉบับ แต่ขายไปแล้วเก็บเงินไม่ได้ ต่อมาพี่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ บอกให้ผมมาเขียนลงที่หนังสือ ‘ฟ้าเมืองไทย’ ทุกอาทิตย์ตอนหลังเขียนมากขึ้น บังเอิญ ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร นักการเมืองเก่าบอกให้เขียนเกี่ยวกับการบ้านการเมืองบ้าง เขียนแต่วงการนักร้องมันแคบเกินไป คนไทยทุกคนต้องรู้เรื่องการเมือง จึงเริ่มเขียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2513-2514 เขียนลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บ้านเมืองสยามรัฐและอีกหลายแห่ง ต่อมาคุณขรรค์ชัย บุญปาน ทำหนังสือ จึงเขียนให้เขาด้วย ทั้งแนวนักร้องและการเมืองผสมผสานกันไป

“หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากนั้นไม่นานก็มีการตั้งพรรคการเมือง หมอกระแส ชนะวงศ์ ตั้งพรรคพลังใหม่ ท่านเพิ่งได้รางวัลแมคไซไซ ผมก็เลยไปสมัครในตำแหน่งที่ปรึกษาพรรค ตอนนั้นแต่งเพลงให้พรรคหลายเพลง ผมสมัครลงเขตพญาไท แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ไม่มีคะแนน ผมจึงเบนเข็มไปสมัครที่บ้านเกิดที่โคราชในปี พ.ศ.2518-2519 ก็ไม่ได้อีก จึงตัดสินใจกลับบ้านทุกอาทิตย์ ไปคุยเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ราษฎร์ถามสารทุกข์สุกดิบไปเรื่อยจนเกิดความคุ้นเคย พอปี พ.ศ.2522ไปลงสมัครอีก คราวนี้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ พรรคพลังใหม่อยู่ 4 ปี เพลงก็หยุดร้องเพราะคู่แข่งคอยจ้องจะว่าผมอยู่เรื่อย เลือกใครไม่เลือก ดันไปเลือกส.ส.ที่มาจากนักร้อง เดี๋ยวมันก็เอาแต่ร้องเพลง (หัวเราะ) ผมเลยหยุดร้องชั่วคราวจนกระทั่งปี พ.ศ.2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ผมก็ลงสมัครใหม่ การเลือกตั้งครั้งนั้นผมได้คะแนนเสียงมากก็จริง แต่เสียงไม่พอที่จะเป็นส.ส. ตื่นเช้าพอรู้ผลว่าผมไม่ได้รับเลือกตั้ง แม่ค้าร้องไห้กันระงมทั่วตลาดเลย

“ผมผิดหวังครั้งนั้น จึงไปอยู่กับลูกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยเจอโน้ตเขียนวางไว้ที่โทรศัพท์ว่า ‘พี่เทพ กลับจากอเมริกาโทรหาผมด้วย ลงชื่อวินัย สมพงศ์ เลขาธิการพรรคพลังธรรม’ ผมจึงไปหาที่พรรค คุณวินัยเข้าเดินมากับพลตรีจำลองศรีเมือง นักข่าวล้อมเต็มไปหมด จากนั้นจึงชวนกันลงสมัครส.ส. ปีนั้นผมได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.อีกสมัยในเขตกรุงเทพฯระหว่างปี พ.ศ.2531-2534 เป็นส.ส.ได้ 3 ปี ก็เกิดปฏิวัติ เกิดเหตุการณ์ รสช.ขึ้นมาอีก ตั้งแต่นั้นมา ผมไม่เคยคิดที่จะลงสมัครผู้แทนราษฎร์อีกเลย

“จนกระทั่งปี พ.ศ.2533 ผมได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ นี่คือส่วนสำคัญที่เราได้รับจากประชาชน เพราะตำแหน่งนี้ต้องมีผลงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้เราเป็นส.ส.เรายังร้องเพลงและยังสอนลูกศิษย์ลูกหาอีกหลายคน หลังจากนั้นผมได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสาขาสื่อสารมวลชน จากสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี พ.ศ.2543 ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานยศเรืออากาศตรีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ”

เสียงขยี้แพร...บนฟองเบียร์

แม้จะปลดประจำการจากลูกทัพฟ้ามาแล้วก็ตาม เขายังวนเวียนไปช่วยวงดนตรีทหารอากาศพร้อมกับนายทหารระดับสูงของกองทัพฯ โดยได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจให้กับกระทรวงกลาโหม ในการไปกล่อมขวัญทหารไทยที่ไปรบเวียดนามถึง 2 ครั้งจนได้รับเหรียญสนองเสรีชน ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 4 แผ่นในปี พ.ศ.2506 จากเพลง ในโลกแห่งความฝัน และเพลง ใจพี่ ปี พ.ศ.2512 จากเพลง ม่านประเพณี ปี พ.ศ. 2522จากเพลง ตัวไกล-ใจยัง และได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ 2 ครั้งจากเพลง ดาว และเพลง เพียงคำเดียว

“ถ้าจะนับผลงานเพลงที่ผมร้องและสร้างสรรค์มา ที่บันทึกไว้มีทั้งหมด 2,000 กว่าเพลง ยังไม่หมดเท่านั้น ยังมีอีกเยอะแยะที่ยังไม่ได้บันทึกกำลังรวบรวมอยู่ น่าจะประมาณ 4,000 กว่าเพลง ถือว่ามาก ผมจึงอยากฝากไว้ว่าการทำงานทุกอย่างให้สำเร็จต้องตั้งใจในการทำงาน ความตั้งใจจะช่วยให้ทุกอย่างสำเร็จ ถ้าหากไม่ตั้งใจหรืออ่อนแอ จะประสบผลสำเร็จยากมาก เพราะชีวิตเราไม่ได้โรยไว้ด้วยดอกกุหลาบเสมอไป เราต้องดิ้นรนทุกทางที่จะทำได้ และต้องระวังชื่อเสียงความเป็นอยู่อย่าให้ผิดทำนองคลองธรรม ความซื่อสัตย์ ความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญ ต่อการดำรงชีวิตต้องซื่อสัตย์กับวิชาชีพและคนที่มีบุญคุณกับเรา เราต้องแยกแยะให้ดี การร้องเพลงต้องร้องด้วยความสามารถจริงๆ เพราะอย่างน้อยการที่เราตีบทแตก เมื่อดูเนื้อเพลงแล้วว่ามันเจ็บช้ำแค่ไหน เราก็ต้องพยายามเอาฟีลลิ่งใส่เข้าไป เพื่อให้คนฟังเขาเกิดจินตนาการตามเพลงได้ นั่นคือสิ่งที่จำเป็น เพราะฉะนั้นหากเราไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกตรงนั้นออกมาได้ เพื่อให้ประชาชนคล้อยตาม ก็ถือว่าไม่สำเร็จ ถ้าทำให้เขาคล้อยตามได้ ก็ถือว่ามีชัยชนะ เราอย่าคิดว่าเรายิ่งใหญ่ เราคิดว่าตัวเรายังเล็กอยู่ แต่สิ่งที่เราทำไป ถ้าดีพร้อมมันก็จะดีตามมา

“ผมไม่เคยมีความรู้สึกท้อใจเลยในชีวิต จะมีก็แค่ผิดหวัง บ้างเท่านั้น ผมเคยมีความรักที่สวยงาม และผมก็ต้องอกหัก ผมเคยขับรถไปต่างจังหวัดไปแปดริ้ว กินเหล้าเมามายอยู่ที่นั่น เพราะผมรักเขามากๆ แต่เขามาขออนุญาตผม เพื่อไปแต่งงานกับลูกชายนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง เราเป็นเพียงแค่นักร้อง มันไม่เหมือนกับเขาที่เป็นลูกนายก

“การที่ผมเคยอกหักผมรู้รสชาติ มันจึงมีส่วนผลักดันให้เกิดแรงบันดาลใจในการร้องเพลงเศร้า เรานำเอาความเจ็บปวดที่เราไม่มีวาสนาพอกับความรักครั้งอดีต นำกลับมาใช้ได้ มันเหมือนนักแสดงที่แสดงออกทางสีหน้า สายตา อารมณ์ อากัปกิริยา แต่นักร้องเราไม่มีอย่างอื่นนอกจากเสียงเพลงเท่านั้น มันคือความรู้สึกที่แทรกเข้าไปในเพลงที่เราต้องทำเท่าที่เราทำได้

“ในฐานะนายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ผมอยากจะเป็นหลักให้กับนักร้อง แต่ละคนเกิดมาแล้ว มันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรกับการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราสามารถหาสิ่งที่มันเป็นกรอบที่ดีสำหรับชีวิตของคนที่จะอยู่ได้ในกรอบ มันก็น่าทำ ผมพยายามที่จะทำให้เพลงของทุกคนมีค่า คนร้องมีส่วนเป็นเจ้าของๆ เพลงนั้น เสียงร้องเพลงที่อยู่ในเพลงให้เขาเป็นเจ้าของให้ได้ เสียงร้องมันเป็นของคนๆ นั้นไม่ว่าของใครก็ตาม ทุกคนต้องมีสิทธิในเสียงของตัวเอง”

นักร้องลูกกรุงที่มีพรมแดงมีกลีบกุหลาบโปรย