พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง
พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในการวางรากฐานวงการดนตรีคล้าสสิกสากลคนสำคัญของประเทศไทยและได้มีส่วนในการพัฒนาศิลปะแขนงนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจาก Royal Academy of Musicและ Trinity College of Music ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ.2515
ระหว่างศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ท่านได้เรียนการบรรเลงไวโอลินเป็นวิชาเอก และประสบความสำเร็จในการศึกษาอย่างโดดเด่น โดยได้รับรางวัล Harry Fargeon ของสถาบัน ได้รับเลือกให้เป็นวาทยกร ผู้อำนวยการเพลงเพิ่มเติมที่ Musik Hochschule ที่เมือง Koln ประเทศเยอรมนี โดยทุนจากรัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนี
ขณะเดียวกันท่านได้พัฒนานำวงดุริยางค์ราชนาวี ออกแสดงงาน “กาชาดคอนเสิร์ต” อย่างสม่ำเสมอและการร่วมจัดตั้งวง “โปรมูสิกา” จึงทำให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น พร้อมกับร่วมก่อตั้งวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ท่านได้สร้างผลงานการอำนวยเพลงในโอกาสสำคัญมากมาย อาทิ พิธีเปิดและปิดมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13ในปี พ.ศ.2541 คอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ โรงคอนเสิร์ต Dewan Filharmonik กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2542
นอกจากการอำนวยเพลงบรรเลงไวโอลินแล้ว ท่านยังช่วยพัฒนาการศึกษากลุ่มเครื่องสายแก่เยาวชน และนักศึกษา โดยร่วมกันก่อตั้งสถาบันสอนดนตรีเครื่องสาย BST และสร้างหลักสูตร ดุริยางคศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันท่านบริหารงานที่โรงเรียนดนตรีวีระพันธ์ดุริยางค์ โดยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร และเป็นผู้อำนวยการเพลงให้กับวง BSO โรงเรียนดนตรีวีระพันธ์ดุริยางค์ เปิดสอนดนตรีหลายประเภท เช่น ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล กีตาร์ เปียโน ฟลุต
ขับร้อง และดนตรีไทย อำนวยการสอนโดยท่านเองและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในหลายสาขา
ดุริยางค์ลูกประดู่
“สมัยเด็กๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องด้านดนตรีเท่าไร พ่อผมเป็นทหารเรือชั้นประทวน ยศพันจ่า อยู่เหล่าพลาธิการ บ้านอยู่กรมอู่ทหารเรือ แม่เย็บเสื้อผ้าและขายผักตามตลาด บ้านผมอยู่ใกล้กับโรงเรียนกองดุริยางค์ทหารเรือ ผมอายุราวๆ 12-13 ปี ผู้ใหญ่เขาอยากให้ผมเข้าไปเรียน ตอนนั้นยังไม่เป็นโรงเรียนจ่า เข้ามาฝึกเฉยๆ เราเรียนเพื่อฝึกให้เป็นนักดนตรีของกองทัพเรือ พอเข้าไปแล้วไม่ต้องเสียเงินเรียน มีเงินเดือนให้ มีเบี้ยเลี้ยงอีก แม่ผมก็เห็นดีด้วย จึงให้ไปเรียนอยู่ถึงชั้น ม.1 ผมได้เงินเดือนเดือนละ200 บาท ได้เบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 5 บาท สมัยนั้นทองคำบาทละ 400 บาท
“เผอิญผมเป็นคนขยันตั้งแต่เด็ก ผมไม่เหมือนคนอื่น ถ้าเราไม่ขยันก็เรียนดนตรีไม่ได้ มันไม่ใช่เรียนง่ายๆ นักเรียนมี 60 คน เขามีครูคนเก่าชื่อครูเทียม ท่านเห็นผมตัวเล็กจึงให้เล่นไวโอลิน ส่วนเพื่อนตัวโตให้ไปเป่าทรัมเป็ต ท่านชี้เอาเลย ผมไม่ได้เลือกไวโอลิน เพราะดุริยางค์ทหารเรือสมัยนั้นมีวงหลายชนิด มีวงเดินแถวเป็นหลัก มีวงไวโอลิน วงดนตรีไทย เขาดูว่าเครื่องไหนขาดเขาก็ให้เด็กหัดเครื่องนั้น
“ผมเข้าไปเรียนปี พ.ศ.2500 หลังจากช่วงนั้นก็ย้ายกองทัพเรือมาอยู่ที่ถนนอิสรภาพ ก็มีนายทหารเรือจากโรงเรียนนายเรือ เขาส่งมาเป็นผู้กอง ท่านก็มาตั้งโรงเรียน ทำเป็นหลักสูตรเพื่อให้มีวุฒิจะได้เป็นจ่าทหารเรือได้ เขาไล่พวกผมไปเรียนลัดหมด(หัวเราะ) นั่นก็เพื่อให้มีวุฒิด้วยการสอบเทียบที่วัดยาง และไปสอบเทียบกระทรวงศึกษาธิการ
“จาก 60 คนไปสอบเทียบ 3-4 คน มีผมสอบได้คนเดียว สอบได้ ม.6 และไปสอบเทียบ ม.8 ที่วัดมหาธาตุอีก 3 ปี ผมเรียนจบ ม.8 ราวอายุ 16-17 ปี เรามีสิทธ์สอบเข้ามหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ เป็นอาจารย์สอนดนตรีอยู่ที่จุฬาฯ คณะครุศาสตร์เพิ่งจะมาตั้งดนตรีเป็นวิชาโท ผมก็ไปสอบเข้าคณะครุศาสตร์จุฬาฯ ได้ ผมอยู่กองทัพเรือผมได้ยศพลทหาร แต่ทางกองทัพเรือไม่ให้ผมเรียน เขาบอกว่าผมเป็นวิชาโท มันต้องวิชาเอก รุ่นหลังๆ เขารับจบม.3 เข้าโรงเรียนจ่าทหารเรือได้เลย
“เมื่อไม่ให้ผมเรียนก็ไม่เป็นไร ผมจึงไปเข้าวิศวจุฬาฯ สอบติดอีก ผมไม่เรียนหมอ เพราะผมกลัวเลือด แต่ลูกชายผมคนหนึ่งเป็นหมอนะ (หัวเราะ) ลูกชายอีกคนเป็นอาจารย์สอนดนตรี ที่ผมสอบติดที่จุฬาฯ ผมมักจะพูดเสมอว่าความขยันคือความเก่ง ใครไม่ขยันไม่มีทางสอบได้ ขนาดผมเรียนลัดจาก ม.3 มา ม.6 ผมก็ยังขยันสีไวโอลิน
“ผมไปเรียนที่จุฬาฯ อยู่หนึ่งเทอม ทำให้กองทัพเรือเกิดเสียดายที่ผมจะออกไปอยู่วิศวฯ ก็เลยส่งคนมาสืบประวัติผม ทราบว่าผมเรียนได้ที่ 1 ตลอด ทางเสธฯ ทร. พลเรือเอกท่านหนึ่งก็เรียกผมไปพบ ท่านพูดกับผมว่าอยากจะเรียนวิศวฯ หรือจะไปเรียนดนตรีที่เมืองนอก นั่นก็เป็นทางแยกของชีวิต สุดท้ายทางกองทัพเรือก็ให้ผมไปศึกษาต่อ”
ประสบการณ์ต่างแดน
“ผมมานั่งคิดว่าถ้าผมไปอยู่เมืองนอก ผมจะอยู่ที่ตรงไหน ตอนนั้นปี พ.ศ.2508 กองทัพเรือให้ทุนเรียนเป็นคนแรก แต่ที่วิศวฯจุฬาฯ ผมยังพักการเรียนไว้ก่อน ในที่สุดพอไปเรียนแล้วไปเลย เพราะเป็นนักเรียนทุน ไปเรียนโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ นอกเมืองลอนดอน หลักสูตร Band Master Royal Marines School of Mic L.R.A.M. จาก Royal Academy of Musicและ L.T.C.L จาก Trinity College of Music ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปอยู่โรงเรียนทหารเรืออังกฤษก่อน เรียนการสอนไวโอลิน ผมอยู่ที่นั่น 5 ปี ที่บ้านผมก็เข้าใจ เขาเชื่อใจผม ไม่มีอะไรที่ผมทำแล้วไม่ดีเลย
“ตอนผมไปอยู่โรงเรียนทหารเรือ ต้องมีการตรวจแถว ต้องไปหัดเครื่องเป่า ดรัมเมเยอร์ของทหาร ผมเรียนอยู่ 2 ปี ขณะเดียวกันก็ไปเรียนต่อที่ลอนดอนด้านไวโอลินและอำนวยการเพลง ต้องสอบเข้าเป็นหลักสูตรของอังกฤษเครือจักรภพ มีพวกเมืองขึ้นของอังกฤษ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ เข้ามาเรียนรวมกันพวกแบนด์มาสเตอร์ พวกนี้จะขี้เกียจ ชอบเมาเหล้า พวกทหารฝรั่งพวกนี้เรียนสู้ผมไม่ได้สักคน เมื่อผมเรียนจบหลักสูตร ผมก็รีบหนี เพราะใจผมรักไวโอลิน มากกว่า
“พออยู่ลอนดอน เรียนไวโอลินจนจบจึงกลับมาบ้าน ถามตัวเองว่าจะทำอะไร จะสอนไวโอลินอย่างเดียว หรือจะทำอะไรดีสุดท้ายมาทำวงไวโอลินวงออเคสตรา ทำให้มันดี ทำให้มันเป็นมาตรฐาน การเรียนคอนดักเตอร์ ไม่ใช่ว่าใครก็เรียนได้ ใครผิดใครถูก เขาเล่นอย่างไร ต้องศึกษาอย่างไร สมาธิต้องดีมาก ซึ่งขณะที่ทำหน้าที่นั้น ต้องไม่คิดถึงเรื่องอะไรเลย เวลาฟังแล้วซ้อมต้องเป๊ะ เวลาของจริงมีคอนเสิร์ต หากไม่ซ้อมมันจะสายไปเสียแล้ว
“ทุกอย่างเวลาขึ้นคอนเสิร์ต เขาเล่นอย่างไร ก็ต้องเล่น มันแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่เวลาซ้อมหนสองหนก็แล้วแต่ มันถูกต้องอย่างไรใครผิดอะไร ใครเล่นไม่ถูกต้อง เราก็ต้องบอกเขา อย่างนี้ได้ เอาอย่างนี้นะ ต้องการอย่างนี้ ยาวไปนิด ต่อสั้นหน่อย หนักไปหน่อย เล่นดังอีกนิดนะ เราก็ต้องรู้ ตอนที่ผมเรียนรุ่นหนึ่ง เขารับไม่เกิน 5-6 คนเท่านั้น
“เพราะเขาสอนไม่ไหว เขาให้ซ้อมกับวง ให้เราศึกษาว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้เสียงออกมาตามต้องการ แล้วใครเล่นผิดเล่นถูก ไม่ใช่หลับหูหลับตาบ่อย ใครเล่นผิดมาก็ต้องแก้ไขได้ ถ้าไม่แก้ไขก็เป็นคอนดักเตอร์ไม่ได้ เขาบอกมาว่าถ้าเราเอาทุนเขามาเรียน เป็นทุนหลวง เราทำไม่ได้เขาเรียกตัวกลับ เราจะสอบตกไม่ได้ มันขายขี้หน้าเขา ผมเรียนจบมาจากที่นี่เมื่อ 45 ปีที่แล้ว
“อยู่ที่ลอนดอน มันมีวงลอนดอน ซิมโฟนี แต่ก็มีพวกสมัครเล่น เป็นวงลอนดอน คอมมิวนิตี้ เป็นวงชุมชนของลอนดอน เป็นพวกที่เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นมาแล้วเล่นได้หลายอย่าง พวกนี้ก็ไปทำงานอย่างอื่น เป็นพวกนายแบ๊งก์ เป็นวิศวฯ ฯลฯ แต่อยากเล่นดนตรี เขาเรียกคอมมิวนิตี้ เมืองใหญ่ๆ ทุกเมืองจะมีพวกนี้แฝงอยู่จำนวนมาก แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ พวกนี้จะเล่นไม่ได้ดี บางครั้งเขาจะแอบจ้างนักดนตรีมืออาชีพมาช่วยเล่นเสริม ผมจึงรู้จักพวกเขา
“พอผมกลับมากรุงเทพฯ ผมมารับราชการเป็นนักดนตรีเล่นไวโอลินในวงดุริยางค์ของกองดุริยางค์ทหารเรือ ต่อมาเป็นวาทยกรของวงดุริยางค์ มีผลงานสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากหัวหน้าแผนกดนตรี จนได้เป็นผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือ หลังจากเออรี่รีไทร์ ผมก็มาตั้งวงคอมมิวนิตี้แบบพวกเขา เคยออกคอนเสิร์ตมา 2 หน เป็นพวกมือสมัครเล่น มีชาวต่างชาติฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี เบลเยี่ยม พวกนี้ทำงานอยู่ที่เมืองไทย ผมจะซ้อมกันทุกวันศุกร์ ที่คริสตจักร สะพานหัวช้าง ข้างโรงแรมเอเชีย เวลาหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม เมื่อพร้อมก็จะออกคอนเสิร์ต นี่คือสิ่งที่ผมได้จากลอนดอน แล้วมาต่อยอดที่บ้านเรา ผมอยากทำมานานแล้ว”
แบ่งปันสังคม
“ช่วงที่ผมกลับมาจากอังกฤษใหม่ๆ ผมยังหนุ่มไฟแรง สอนรุ่นหลังๆ รุ่นน้องที่ดุริยางค์ทหารเรือสอนได้ดี รุ่นที่แก่กว่านี้สอนยากพวกนี้เถียงหูแดงเลยกว่าจะได้ เพราะเขาผ่านมาเยอะ ตอนหลังวงทหารเรือค่อยๆ เป็นวงดีขึ้น เผอิญทหารเรือมีดีอย่างเราได้ทำวงในวัง ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระองค์ทรงใช้วงเราเป็นประจำ ให้จัดงานกาชาดคอนเสิร์ต หาเงินบำรุงสภากาชาดไทยก็เลยจัดงานกาชาดคอนเสิร์ตทุกปี
“ตั้งแต่กลับมา ผมก็รับราชการทหาร ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์สอนดนตรีหลายๆ อย่าง นำเทคนิคสมัยใหม่เข้ามาหมด ถือว่าใช้ได้ก็ดีขึ้นระดับหนึ่ง แล้วก็เล่นในวัง งานกาชาดคอนเสิร์ต ตอนนั้นใครจ้างผมด้านดนตรี ผมทำทุกอย่าง ผมเคยเขียนเพลงภาพยนตร์เรื่อง ‘ไม่มีสวรรค์ สำหรับคุณ’ เพลงประจำโรงเรียนเซนต์คาเบรียลผมก็เขียน เพลงหลังๆ อะไรที่ใครจ้าง ทำด้านดนตรี ผมเอาทั้งนั้น เพราะเราไม่ต้องการให้ครอบครัวลำบาก จะต้องส่งน้องๆ เรียนอีกหลายคนจนจบ ทำงานให้ครบทุกอย่างที่เกี่ยวกับดนตรีที่จะได้เงินมาจุนเจือครอบครัว สอนดนตรี เล่นไวโอลิน
“ผมไปเล่นดนตรีที่โรงแรมโอเรียลเต็ล ผมก็เป็นคนฟอร์มวงตั้งขึ้น เล่นตามโรงแรมสมัยนี้ ลูกศิษย์ผมทั้งนั้น โน้ตที่เล่น ของผมเขียนเองทั้งนั้น เล่นเพลงไทย เพลงพ็อพที่เป็นวงนี่ผมเขียนหมด โรงแรมโอเรียลเต็ลมีสาขาที่ประเทศฮ่องกง ผมก็เขียนเพลงคริสตมาส เจ้าของโรงแรมเกิดชอบใจ ขอโน้ตเพลงผมไปเล่นที่โน่น
“ดนตรีจะดีเมื่อมีอาชีพ อย่างดุริยางค์ทหารเรือ ในหนึ่งปีมีคอนเสิร์ตกาชาดเพียงหนเดียว ผมจึงหันมาทำวง BSO เป็นระยะเวลา7-8 ปี มีผมเป็นคอนดักเตอร์คนเดียว เมื่อถึงเวลาผมก็หยุด เพราะจะต้องมีคนสืบทอดต่อไป ไม่ใช่ว่าเราทำคนเดียวตลอดกาลวงมันจะพัฒนาดีกว่านี้ได้ ต้องมีคนเก่งๆ หูตากว้างขวาง ต่อมาก็มีคนรัสเซียมาช่วยทำต่อไปเรื่อยๆ วงก็ดีขึ้น มันก็เริ่มเป็นอาชีพ
“จนกระทั่งผมอายุ 50 กว่า จึงเออรี่รีไทร์ ตอนนั้นครองยศนาวาเอกพิเศษ ราชการก็ให้ตำแหน่งพลเรือตรี ผมคิดตลอดว่าถ้าผมออกจากกองทัพเรือ แล้ววงดุริยางค์ทหารเรือเขาสามารถอยู่กันได้หรือไม่ เผอิญผมมีลูกศิษย์ที่สอนมากับมือ สืบทอดมาจากผมเก่งพอหรือยัง สามารถทำแทนผมได้หรือไม่ ถ้าทำได้ผมก็ลาออก
“ช่วงนั้นผมสนับสนุนให้ลูกศิษย์อีกหลายคนไปเรียนดนตรีที่เมืองนอก ทั้งประเทศอังกฤษ ประเทศ อเมริกา ไปเรียนต่อจากผมอีกจำนวนมาก จะได้กลับมาเป็นอาจารย์ เมื่อพวกเขาสามารถทำได้ดี ผมจึงตัดสินใจลาออก ตอนหลังผมไปดูคอนเสิร์ตงานกาชาด ไปเจอลูกศิษย์ที่เราสอนมาทั้งนั้น เมื่อมาขึ้นคอนเสิร์ตมันก็เลยสบายใจ ประจวบเหมาะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเริ่มตั้งคณะดนตรี ดุริยางคศาสตร์ เขาก็ให้ผมมาสอนพิเศษ และมาเป็นคณบดีตอนอายุ 54-55 ปี ก็ทำอยู่ได้ 3-4 ปี
“หลังจากนั้นผมก็ลาออกแล้วถามตัวเองว่าชอบอะไร ทำอะไรแล้วมีความสุขที่สุด ถ้าเล่นดนตรีแล้วมีความสุข เล่นไวโอลินหากินเขียนเพลง แต่งเพลง เป็นคอนดักเตอร์ทำอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายผมชอบสอนลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์เขาทำได้ ผมจะมีความสุขมากกว่าอย่างอื่น ผมมองไปถึงคอนดักเตอร์การเป็นวาทยกร ผู้อำนวยเพลงก็คือครู ผมจึงสอนพวกเขาให้เขาทำอย่างไรจึงเล่นได้อดทนกับเขา
“เมื่อผมได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2551 ผมคิดอยากจะทำอะไรให้กับสังคมบ้าง อันนี้ผมทำฟรี ไม่ได้สตางค์ คอมมิวนิตี้ทุกคนฟรีหมด ผมไปซ้อมทีหนึ่ง ผมก็ซื้อซาลาเปาไปเลี้ยงคนเล่น เขาก็ซื้อขนมมากินเลี้ยงกัน แล้วพวกเราเล่น ก็ไม่เก็บเงินคนดู เล่นกันสนุกๆ คล้ายๆ เล่นดนตรีในสวน แต่ค่อนข้างซีเรียสหน่อย แต่ว่าดนตรีดีๆ ที่เขาเล่นในโบสถ์หรือสถานที่ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย สิ่งที่ผมทำมาในบั้นปลายของชีวิต ทำให้ผมมีความสุขมาก บ้านเราชาวไทยทุกวันนี้มีแต่งก เอาแต่ได้ มีใครเคยให้สังคมกลับคืนมาบ้าง เปิดไวโอลินมาก็จะเอาเงินแล้ว มีวงอาชีพมาเล่น เดี๋ยวก็เปิดกล่องวางเงินแล้ว
“ผมเปิดสอนดนตรีมา 10 กว่าปี ผมไม่เคยขึ้นเงินค่าสอนดนตรีเลย ที่เขาสอนไวโอลินทุกวันนี้ ชั่วโมงละ 1,500-3,000 บาทของผมยังเหมือนเดิม ของผมสอนตั้งแต่เด็กเล็ก มีตั้งแต่เดือน 600-1,100 บาท ผมเปิดมาตั้งสิบกว่าปียังไม่เคยขึ้นราคาเลยผมมาสอนที่นี่ทุกวันตั้งแต่เช้าวันอังคารถึงวันอาทิตย์ และจะไปประชุมราชบัณฑิตทุกเช้าวันอังคารสิบโมงเช้า หยุดวันจันทร์ คนที่ช่วยสอนอีก 10 คนเป็นลูกศิษย์ผมทั้งนั้น เรื่องวัตถุเรื่องเงินไม่ใช่ผม ผมต้องการเล่นดนตรีด้วยใจรัก”
ซึมซับอรรถรส
“วาทยกรหรือผู้อำนวยการเพลงจะมีความสำคัญมาก ถ้ามีนักดนตรีหลายคนแล้วเป็นวงเล็กๆ จะไม่ใช้วาทยกร แต่ถ้ามีหลายคนต่างจิตต่างใจ ความคิดไม่พร้อมเพรียง จะเล่นเร็วขนาดไหน ก็ต้องมีคนตัดสินประกอบ ต้องเร็วขนาดนี้ ฉะนั้นวาทยกรหัวใจอยู่ที่หูคนที่ทำหน้าที่คอนดักเตอร์ก็ต้องตาม ต้องให้เล่นเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่อย่างนั้นต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเล่น มันจะไม่ไปด้วยกันให้จังหวะพร้อมกัน คอนเสิร์ตไม่ต้องใหญ่ก็ได้ วงเล็กๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถ ถ้าเผื่อเด็กพยักหน้ากัน จังหวะยังไม่เป็น ก็ต้องมีคนให้จังหวะให้คุม ก่อนอื่นต้องให้เล่นพร้อมเพรียงกัน
“เมื่อพร้อมเพรียงแล้วจะให้จังหวะอย่างไร ถ้าเป็นวงดนตรีออเคสตรา เครื่องดนตรีหลายชนิด เครื่องไหนจะเด่น เครื่องไหนจะเป็นพระเอก เครื่องไหนจะเป็นทำนอง เครื่องไหนจะเป็นตัวหลัก ตัวไหนเป็นตัวเสริม อันไหนเป็นตัวประกอบ เป็นซับเมโลดี้ ทำนองหลัก ทำนองรอง ถ้าไม่มีคนคุมคนไดเร็คชั่น เขาจะเล่นดังหมด จะเป็นพระเอกอย่างเดียว มันก็จะกลบเมโลดี้ กลบทำนอง มันไม่เป็นเพลงก็จะเละไปหมด ถึงเวลานี้ เครื่องนี้ต้องเบา ปล่อยให้เครื่องนี้เด่น เครื่องนี้คือทำนองสร้างสีสัน แล้วจะเล่นอย่างไร จบอย่างไร
“ทุกชิ้นสามารถเป็นพระเอกได้ทุกชิ้น ทั้งฟลุต ไวโอลิน เชลโล เปียโน ขึ้นอยู่กับแต่ละโอกาส เวลา อยู่ที่ทำนองของคนแต่งไม่เหมือนกัน บางครั้งเขาให้ไวโอลินโซโล่ปิด ไวโอลินเอาทำนองไม่อยู่ ไปอยู่ที่ทรัมเป็ตแล้ว ไปอยู่ที่โอโบ ผมก็มีหน้าที่บอกเครื่องพวกนี้ให้เบาๆ หน่อย
“คนที่จะเป็นคนให้จังหวะ จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีอย่างสูง เมื่อขึ้นไปยืนอยู่ด้านหน้าตรงนั้นแล้ว ต้องแก้ไขเวลาซ้อม จะได้ไม่ผิดพลาดเวลาเล่นจริง ก่อนอื่นถ้าหูคุณไม่ดี ตาถั่วเลย คุณต้องรู้ว่าใครเล่นถูก ใครเล่นผิด ถ้าคุณแก้ไขไม่ได้ก็อย่ามาเป็นเลย นอกจากคอนดักเตอร์จะควบคุมจังหวะแล้วยังต้องแก้ไขด้วย เวลาเล่นผิด คุณปล่อยให้เขาเล่น แล้วเสียงมันจะเข้ากันไหม อันไหนเพี้ยนสูง อันไหนเพี้ยนต่ำ คุณก็ต้องปรับให้เข้ากัน
“เพราะการจะเรียนดอนดักเตอร์ ไม่ใช่ใครจะไปเรียนได้ เขาต้องมีการสอบ ถ้าคุณยืนอยู่หน้าวง แล้วเขาถามว่า ใครเล่นผิดบ้างใครเครื่องไหน ถ้าคุณไม่สามารถบออกได้ เขาก็ไม่รับ สมัยโบราณคอนดักเตอร์ไม่ต้องมีไม้ ตอนหลังวงใหญ่ๆ ก็ต้องมีไม้เพื่อต่อให้มันยาว นักดนตรีจะได้มองเห็น แต่ถ้าวงเล็กๆ ก็ไม่จำเป็น คนแค่นี้พยักหน้า ก็เล่นได้แล้ว บางครั้งไม่ต้องมีคอนดักเตอร์ เล่น4-5 คนมองหน้ากันก็รู้จังหวะ โดยเฉพาะดนตรีด้านคล้าสสิกสากล
“คอนเสิร์ตครั้งแรกของวง Bangkok Symphony Orchestra ที่ AUA ตอนนั้นผมเป็นคอนดักเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือลูกมือ คนเล่น ก็เป็นทหารเรือลูกศิษย์ผมทั้งนั้น มีโซโล่อิสต์ไวโอลินเป็นคนจีนชื่อจาง นั่นคือวงใหญ่ที่ผมทำ แล้วเราก็ทำต่อไป
“ต่อมาผมมาก่อตั้งวง Chamber Music วงเล็กๆ เพื่อเป็นการพัฒนาฝีมือนักดนตรีให้ฝีมือดีขึ้น ถ้าเป็นวงใหญ่หลายคนมีใครเล่นผิดพลาดก็ยังกลมกลืนกันไปได้ แต่ถ้าเล่น Chamber Music แบบคนเดียว นักดนตรีก็ต้องเก่ง คุณเล่นผิด คุณต้องแก้ไข ถ้ามีนักดนตรีเพียงแค่ 3 คน คุณเล่นแนวหนึ่ง ผมเล่นสี คุณก็เล่นสี ใครเล่นผิดมันไม่ได้ แต่ถ้าเล่นสิบคน เล่นเสียงเดียวกัน ผิดถูกมันมีโอกาสกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้
“หัวใจสำคัญของวงดนตรี Chamber Music จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่ต้องมีคอนดักเตอร์ มีเครื่องดนตรี 3ชิ้นไปถึง 9 ชิ้น การพัฒนาคนแม้กระทั้งวงใหญ่อย่าง BSO นอกจากจัดคอนเสิร์ตใหญ่แล้ว เขายังต้องจัดกลุ่มเล็กๆ ให้เล่นเพื่อพัฒนาฝีมือและไอเดียของทุกคน ต้องเปลี่ยนกลุ่มกันเล่นด้วย เพื่อจะได้พัฒนาฝีมือให้เท่ากัน หมุนเวียนกัน ดนตรีคล้าสสิก พวกนี้ส่วนมากจะไม่ใช้เครื่องขยายเสียง เพราะเสียงเป็นธรรมชาติจะฟังดีกว่า นอกจากเวลาไปเล่นเพลงพ็อพ เพลงร็อคก็ต้องใช้เครื่องขยาย ถ้าไม่ใช้ เสียงมันจะไม่เท่ากัน
“นักร้องที่บ้านเราไม่ค่อยร้องเพลงคล้าสสิก ถ้าร้องคล้าสสิกจริง ต้องร้องเสียงเพียวๆ ต้องสู้กับวง เขาต้องฝึกมาอย่างดี มีหลอดเสียงในลำคอ ออกจากท้อง เล่นสู้กับวงได้ แต่นักร้องบ้านเราไม่ได้ฝึกมาทางนั้น แล้วมีปอดเล็ก ตัวเล็ก ไม่เอาจริงอีก แต่ตัวเล็กเราก็สามารถฝึกได้ ดูอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น เขายังทำได้เลย แต่บ้านเรา ทำอะไรไม่จริงสักอย่าง บางส่วนคิดแต่ตัวเอง ไม่คิดถึงสิ่งที่ให้สังคม มันเป็นปัญหาที่ต้องไปแก้ตรงนี้ แถมวินัยก็ไม่มี”
ไม่มีพิษภัยใสสะอาด
“ผมคิดว่าประโยชน์ของดนตรีที่เด็กรับมันสำคัญมาก เขาจะได้หัดเล่นดนตรี ฟังดนตรี จะทำให้เขาเป็นคนดี มีรสนิยม จิตใจงาม มีสมาธิ รู้จักฟัง มันจะแตกต่างจากดนตรีพวกเย้วๆ ดนตรีคล้าสสิกมันจะนุ่มนวล จิตใจจะอ่อนโยนกว่า นอกจากมีระเบียบวินัย จิตใจอ่อนโยนแล้ว ยังฝึกความอดทน กว่าจะได้มาแต่ละเพลง ต้องซ้อมมาวันละกี่ชั่วโมง
“ผมแนะนำเสมอว่าพ่อแม่ควรให้ลูกหัดดนตรี เพราะดนตรีไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร หัดดนตรีไม่จำเป็นต้องเล่นเก่ง หรือยึดเป็นอาชีพ ดนตรีช่วยให้เด็กมีพัฒนาด้านจิตใจ มีความอดทน เพราะการหัดดนตรีนั้นยาก ต้องมีสมาธิ ต้องอดทนมาก มีความพยายามมาก เมื่อโตขึ้นเด็กจะทำงานอะไร ก็จะเพียรพยายามจนสำเร็จ
“ผมมีลูกชาย 2 คน ตอนเล็กๆ ผมหัดให้เขาเล่นไวโอลินทั้งคู่ เมื่อโตขึ้นคนไหนอยากเรียนอะไรก็ตามใจเขา เขาเล่นไวโอลินได้ทั้งคู่ คนเล็กเรียนจบหมอ คนโตไปเรียนดนตรีที่อังกฤษ กลับมาเป็นครูสอนดนตรี พวกนี้เมื่อโตขึ้น จิตใจเขาก็อ่อนโยนขึ้น ไม่ว่าเขาจะทำงานอาชีพอะไรก็แล้วแต่ เขาจะเป็นคนละเอียด อดทน พูดคุยอะไรเขารู้เรื่อง โลกกว้างขึ้น เพราะเขารักดนตรี รู้จักประวัติศาสตร์ รู้จักโมสาร์ท บีโธเฟ่น ไปเมืองไหนในต่างประเทศ เขาก็ไปร่วมเล่นตามเมืองต่างๆ มีคอมมิวนิตี้ทุกเมือง ดนตรีคือความสุข ไม่ใช่เพื่อเงิน ดนตรีคือเสียง เสียงเกิดจากการสั่นไหวสม่ำเสมอไปมางดงามจนไพเราะ ถ้าสั่นไหวไม่สม่ำเสมอก็รกหูดนตรีเกิดมาก่อนยุคสมัย เวลาฟังจะช่วยให้ผ่อนคลาย เพราะดนตรีเป็นศาสตร์ เป็นศิลปะที่มีความงดงามละมุนละไม ใสสะอาด